ตะคร้ำ กับสรรพคุณและประโยชน์ที่สุดยอด !

0
1410
ตะคร้ำ
ตะคร้ำ กับสรรพคุณและประโยชน์ที่สุดยอด ! เป็นไม้ยืนต้น ยอดอ่อนมีขนหนา ดอกสีเหลืองอ่อนหรือชมพู ผลสีเขียวอมเหลืองเนื้อนุ่มรสเฝื่อนเนื้อฉ่ำน้ำ เมื่อแก่เป็นสีดำ
ตะคร้ำ
ยอดอ่อนมีขนปกคลุมหนา ดอกสีเหลืองอ่อนหรือชมพู ผลเนื้อนุ่ม มีรสเฝื่อน เนื้อผลฉ่ำน้ำ ผลสีเขียวอมเหลือง เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ

ตะคร้ำ

ตะคร้ำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Garuga pinnata Roxb. จัดอยู่ในวงศ์มะแฟน (BURSERACEAE)[1]
นอกจากนี้ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า อ้อยน้ำ (จันทบุรี), กะตีบ แขกเต้า ค้ำ หวีด (ภาคเหนือ), คร้ำ ตำคร้ำ (ไทย), เก๊าค้ำ ไม้หวิด ไม้ค้ำ (คนเมือง), ไม้ค้ำ (ไทใหญ่), ปีซะออง ปิชะยอง (กะเหรี่ยง-จันทบุรี), กระโหม๊ะ (ขมุ), ลำคร้ำ ลำเมาะ (ลั้วะ), เจี้ยนต้องแหงง (เมี่ยน) ด้วย[1],[2],[4]

ลักษณะของตะคร้ำ

  • ต้น เป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีความสูงอยู่ที่ประมาณ 10-20 เมตร จะแตกกิ่งก้านตรงรอบ ๆ เรือนยอดของต้น โคนต้นเป็นพูพอน กิ่งอ่อน ก้านช่อดอกมีขนสีเทาขึ้น และใบจะมีรอยแผลให้เห็นตามกิ่ง เปลือกต้นจะมีสีเทาหรือสีน้ำตาลปนเทาแตกเป็นหลุมตื้น ๆ ส่วนเปลือกด้านในมีสีนวล สีชมพู และยางจะมีสีชมพูปนแดง หากทิ้งยางไว้นาน ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองคล้ำ ๆ ส่วนกระพี้มีสีชมพูอ่อน มีแก่นเป็นสีน้ำตาลแดง จะสามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด จัดเป็นไม้กลางแจ้ง ในประเทศไทยพบขึ้นตามที่ราบตามป่าโปร่ง ป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้งในที่ค่อนข้างราบและใกล้ลำห้วยทั่วไป ป่าดิบเขา และตามป่าเบญจพรรณชื้น ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลอยู่ที่ประมาณ 50-800 เมตร ในต่างประเทศจะพบได้ตามประเทศอินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา เป็นต้น[1],[2],[3],[5]
  • ใบ เป็นใบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับกันเป็นกระจุกตรงปลายกิ่ง ก้านช่อหนึ่งจะมีใบย่อยอยู่ประมาณ 7-13 ใบ จะออกเรียงตรงข้ามหรืออาจทแยงกันเล็กน้อย ความยาวประมาณ 10-12 นิ้ว ปลายก้านจะมีใบเดียว ลักษณะเป็นรูปมนรีหรือรูปวงรีขอบขนาน ปลายใบจะสอบหรือหยักแหลม โคนใบแหลมเบี้ยว ขอบใบหยัก ใบมีความกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร และมีสีเขียว มีเส้นแขนงใบอยู่ 10-12 คู่ ใบอ่อนมีขนขึ้น ส่วนใบแก่จะไม่มีขนหรือมีนิดหน่อย ก้านใบจะสั้น ใบแก่จะร่วงก่อนจะผลิดอก และจะเริ่มผลิใบใหม่เมื่อดอกเริ่มบาน[1],[2],[3],[5]
  • ดอก จะออกเป็นช่อใหญ่ตรงปลายกิ่งหรือยอดของต้น ช่อดอกมีความยาวประมาณ 6 นิ้ว ดอกย่อยมีจำนวนเยอะ เป็นดอกสมบูรณ์ เป็นรูปคล้ายระฆัง กลีบรองกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกมี 5 แฉก กลีบรองกลีบดอกมีรูปสามเหลี่ยม ขนาดประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีครีม สีเหลือง สีเหลืองอ่อน หรือสีชมพู มี 5 กลีบ จะออกเรียงสลับกับกลีบเลี้ยง ลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปหอก ยาวประมาณ 2.5-3.5 มิลลิเมตร มีขน ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีเกสรเพศผู้ 10 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน ยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร รังไข่มี 5 ช่อง แต่ละช่องจะมีไข่อ่อน 2 ใบ ปลายหลอดท่อรังไข่มี 5 แฉก ก่อนจะออกดอกจะผลัดใบหมด โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[3],[5]
  • ผล เป็นผลสด ลักษณะเป็นรูปทรงกลม มีความอวบน้ำ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีเมล็ด สีเขียวอมเหลือง เมื่อแก่มากๆจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผลเนื้อนุ่มแต่ข้างในมีความแข็ง จะมีผลในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[3],[5]

สรรพคุณของตะคร้ำ

1. ผล สามารถใช้เป็นยาบำรุงธาตุหรือบำรุงกระเพาะอาหาร (ผล)[1],[2]
2. ต้น สามารถนำมาคั้นเอาน้ำใช้หยอดตา แก้ตามัวเนื่องจากเยื่อตาอักเสบ (ต้น)[1],[2]
3.ใบ ตำรายาไทยจะใช้น้ำคั้นจากใบนำมาผสมกับน้ำผึ้ง ใช้เป็นยารักษาโรคหืด (ใบ)[1],[2]
4. เปลือกต้น สามารถนำมาต้มกับน้ำกินหรือนำมาบีบเพื่อเอาน้ำกินเป็นยาแก้บิด แก้ท้องร่วง (เปลือกต้น)[1],[2])
5. เปลือกต้น สามารถใส่น้ำร่วมกับเปลือกต้นมะกอกและตะคร้อ ใช้ดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (เปลือกต้น)[4]
6. เปลือกต้น สามารถนำมาใช้ต้มอาบสำหรับสตรีหลังคลอดได้ (เปลือกต้น)[5]
7. เปลือกต้น สามารถใช้ภายนอกเป็นยาทาห้ามเลือด (เปลือกต้น)[1],[2]
8. เปลือกต้น สามารถนำมาแช่กับน้ำใช้ล้างแผลเรื้อรังได้ดีมาก (เปลือกต้น)[1],[2]
9. เปลือกต้น พวกชาวเขาเผ่าอีก้อจะนำเปลือกต้น นำมาตำพอกหรือต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้อักเสบ บวม ติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ฝีหรือตุ่ม (เปลือกต้น)[1]
10. เปลือกต้น ส่วนคนเมืองจะใช้เปลือกต้นนำมาแช่กับน้ำ ให้เด็กทารกอาบ ป้องกันไม่ให้ผิวหนังมีผื่นหรือตุ่มขึ้น[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

สารสกัดจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ทำให้เลือดแข็งตัวเร็วและกล้ามเนื้อเรียบเกร็งในหลอดทดลอง[1]

ประโยชน์ของตะคร้ำ

1. ผล สามารถรับประทานได้[4]
2. เปลือกต้น ชาวขมุจะใช้เปลือกต้นนำมาขูดใส่ลาบ[4]
3. ใบ สามารถใช้มัดเสาของบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลในการช่วยค้ำชู (คนเมือง)[4]
4. เนื้อไม้ สามารถนำมาใช้ในการสร้างบ้านเรือ ทำเครื่องตกแต่งบ้าน เครื่องเรือน [3],[4]
5.ผล สามารถใช้ย้อมตอกให้เป็นสีดำ[5]
6. เปลือกต้น จะมีน้ำฝาดชนิด Pyrogollol และ Catechol[3]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ตะคร้ำ”. หน้า 115.
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ตำคร้ำ”. หน้า 303-304.
3. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ตะคร้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/. [21 ธ.ค. 2014].
4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ตะ คร้ำ, หวีด”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม), หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [21 ธ.ค. 2014].
5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตะคร้ำ”. อ้างอิงใน : หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [21 ธ.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://indiabiodiversity.org/observation/
2.https://efloraofindia.com/2012/05/24/melia-dubia/