เมื่อย เปลือกใช้ทำอุปกรณ์ ลำต้นเป็นยา มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย
เมื่อย หรือมะเมื่อย เมล็ดเป็นรูปกระสวยสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดงหรือสีแดง

เมื่อย

เมื่อย (Gnetum montanum Markgr) หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “มะเมื่อย” เป็นต้นที่มีถิ่นกำเนิดในราชอาณาจักรเนปาล มักจะพบได้ในป่าดงดิบทั่วไปและมีเมล็ดเป็นรูปกระสวยสีเขียวหรือสีแดงโดดเด่นอยู่บนต้น สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาใช้ประโยชน์ในการแปรรูปเป็นอาหารหรือใช้ในการทำอุปกรณ์ได้ แต่ที่สำคัญเลยก็คือเป็นยาสมุนไพรที่อยู่ในตำรายาไทย ชาวเขาเผ่าอีก้อและตำรายาพื้นบ้านอีสานในการบำรุงและแก้อาการ

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเมื่อย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gnetum montanum Markgr.
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “มะม่วย” จังหวัดเชียงรายและอุบลราชธานีเรียกว่า “ม่วย” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “ม่วยขาว เมื่อยขาว” จังหวัดเลยเรียกว่า “แฮนม่วย” จังหวัดสุโขทัยเรียกว่า “เถาเมื่อย” จังหวัดตราดเรียกว่า “เมื่อย” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “แฮนเครือ มะเมื่อย ม่วยเครือ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ GNETACEAE

ลักษณะของมะเมื่อย

มะเมื่อย เป็นไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มรอเลื้อยขนาดใหญ่ที่มีถิ่นกำเนิดในราชอาณาจักรเนปาล มักจะพบขึ้นได้ตามป่าดิบแล้ง
เถา : เลื้อยพันไปตามต้นไม้ใหญ่
ลำต้น : ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก
เปลือกต้น : เปลือกนอกแตกเป็นสะเก็ด เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลปนดำ กิ่งเป็นข้อต่อกันและตามข้อพองบวม ลักษณะเป็นข้อปล้อง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปไข่จนถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ มีขนาดแตกต่างกันมาก ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบกลม มนหรือแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาและเหนียว เมื่อแห้งจะเป็นสีออกดำ เส้นใบมีลักษณะโค้ง มีเส้นใบประมาณ 6 – 8 คู่
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเชิงลดที่ปลายยอดและตามลำต้น ช่อดอกแตกแขนงมากและมีดอกย่อยอยู่เป็นจำนวนมาก ช่อดอกแยกเป็นช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียแต่อยู่บนต้นเดียว สร้างโคนหรือสตรอบิลัสออกเป็นช่อแกน มีลักษณะเป็นกลุ่ม โดยจะออกเรียงกันเป็นชั้นตามซอกใบ มีสีเขียวปนเหลือง โคนเพศผู้เป็นช่อเชิงลด แตกแขนง และออกตามลำต้นหรือปลายยอด โดยโคนย่อยมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ปลายมน โคนมน มีสีเขียวและมีขนสั้นจำนวนมากและหนาแน่น แต่ละโคนมีชั้น 8 – 15 ชั้นและในแต่ละชั้นมีเกสรเพศผู้ 8 – 25 อันเรียงเป็นวงรอบข้อ เป็นสีเหลืองหรือขาวอมเหลือง ส่วนอับเรณูเป็นสีขาว มีก้านชูเกสรเพศผู้เป็นรูปทรงกระบอก ส่วนโคนเพศเมียแตกแขนง ในแต่ละโคนจะมีชั้น 6 – 14 ชั้น และในแต่ละชั้นจะมีเมล็ด 1 – 8 เมล็ด มีขนเล็กน้อย ช่วงการออกดอกเพศผู้คือช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ส่วนช่วงการออกดอกเพศเมียและติดเมล็ดจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม
ผลหรือเมล็ด : มีลักษณะเป็นรูปกระสวย โคนและปลายมน ผิวเกลี้ยง เมล็ดไม่มีผลห่อหุ้มแต่จะมีกลีบนุ่มคล้ายหนังหุ้มอยู่ เมื่ออ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดงหรือสีแดง ก้านเมล็ดสั้นและเกลี้ยง

สรรพคุณของมะเมื่อย

  • สรรพคุณจากลำต้น ทำให้จิตใจชุ่มชื่นและทำให้แข็งแรง
    – ช่วยในการอยู่ไฟของสตรี บำรุงร่างกายของสตรีหลังการคลอดบุตร โดยยาพื้นบ้านอีสานนำลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
    – แก้เมื่อยหรือทำให้เส้นเอ็นหย่อน โดยตำรายาไทยนำเถาหรือลำต้นเป็นยา
    – แก้ปวดเมื่อย โดยตำรับยาพื้นบ้านอีสานนำลำต้นผสมกับลำต้นของเถาเอ็นอ่อนแล้วต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ
    – ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น โดยชาวเขาเผ่าอีก้อนำใบเมื่อยขาวมาต้มกับน้ำดื่ม
    – ล้างแผลสด ล้างแผลเปื่อยอักเสบ แก้ฝี แก้หนองและตุ่ม ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำเพื่อชะล้าง
  • สรรพคุณจากราก
    – แก้ไข้มาลาเรีย แก้พิษได้บางชนิด ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น
    – แก้บวมพอง ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา

ประโยชน์ของมะเมื่อย

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร เมล็ดหรือผลนำมาทำให้สุกหรือต้มใช้ทานได้ ใบใช้รับประทานเป็นผัก เมล็ดให้น้ำมัน นำมาทานหรือใช้ทำไวน์ได้
2. ใช้ในการทำอุปกรณ์ เปลือกต้นมีความเหนียวมากจึงนำมาใช้ทำเชือก เส้นใยจากเปลือกนำมาใช้ทำกระสอบหรือแหจับปลา ชาวขมุและชาวเมี่ยนนำเครือมาทำสายหน้าไม้เพราะมีความเหนียวมาก

มะเมื่อย เป็นไม้ที่มีเปลือกเหนียวจึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำอุปกรณ์ของชาวบ้านได้ และยังนำส่วนต่าง ๆ มาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารได้ด้วย ถือเป็นต้นที่นิยมในหมู่ชาวเขาและชาวบ้านทั่วไป รวมถึงชาวขมุและชาวเมี่ยนด้วย มะเมื่อยมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของลำต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ปวดเมื่อย แก้ไข้มาลาเรีย ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นและช่วยบำรุงร่างกายได้ เป็นต้นที่ช่วยแก้อาการพื้นฐานทั่วไปโดยเฉพาะการบำรุงกำลังให้กับร่างกายและการแก้ปวดเมื่อยตัว

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “เมื่อย”. หน้า 127.
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เมื่อย”. หน้า 119.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เมื่อยขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [27 พ.ค. 2014].
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เมื่อยขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [27 พ.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เมื่อย, มะเมื่อย”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), สมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [27 พ.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพืชอนุรักษ์ ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518. “วงศ์นีเทซีอี GNETACEAE”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.narm.buu.ac.th/Forest/cites.php?. [27 พ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/