โรคหัวใจ
โรคหัวใจ ( Heart Disease) คือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆของหัวใจ ทำให้โรคหัวใจมีอาการต่างกันไปในแต่ละชนิด โรคหัวใจไม่ใช่แค่โรคที่เกิดขึ้นในหัวใจเท่านั้น และรวมถึงโรคที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการทำงานของหัวใจด้วย
สาเหตุของโรคหัวใจ แบ่งออกเป็น 5 ชนิด คือ
1. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นความผิดปกติในการเจริญเติบโตของหัวใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมหรือการติดเชื้อ การได้รับสารเสพติด รังสี ยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของหัวใจในขณะที่มารดาตั้งครรภ์อยู่ ทำให้หัวใจไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ ความผิดปกติแต่กำเนิดของหัวใจที่พบได้แก่ ผนังกั้นหัวใจรั่ว ไม่มีผนังกั้นหัวใจเลย ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ หรือความพิการแบบซ้ำซ้อน คือ มีความพิการของหัวใจหลายๆ แบบอยู่ด้วยกัน เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว ( Tetralogy of Fallot หรือ TOF ) คือมีผนังหัวใจห้องล่าง ขวาหนาโต หลอดเลือดเอออร์ต้าคร่อมอยู่ระหว่างห้องล่างและบนจึงรับทั้งเลือดดำและแดงเข้าห้องซ้าย ผนังกั้นหัวใจที่กั้นระหว่างห้องล่างซ้ายและขวามีรูรั่ว ( Ventricular Septal defect ) และเส้นเลือดที่ออกสู่ปอดตีบตันเกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นต้น
2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม ( Dilated Cardiomyopathy ) คือ การที่กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ เนื่องจากเซลล์ที่ทำการปล่อยคลื่นไฟฟ้าทำงานผิดปกติ ทำให้การบีบตัวหรือหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติรวมถึงความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจที่มาจากโรคอื่นๆ ภายในร่างกาย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
2.1 โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ผิดปกติ ( Dilated Cardiomyopathy ) คือ การที่กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหรือห้องล่างขวาเกิดการขยายตัวออกมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถหดตัวหรือหดตัวได้น้อยส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อย เป็นผลให้อวัยวะเกิดอาการขาดเลือดและเกิดอาการเลือดคั่งอยู่ในหัวใจและปอดมากเกินไป
2.2 โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดที่กล้ามเนื้อหนา ( Hypertrophic Cardiomyopathy ) คือ การที่กล้ามเนื้อหัวใจมีความหนามากกว่าปกติและความหนาของแต่ละตำแหน่งมีความหนาไม่เท่ากัน โดยเฉพาะหัวใจห้องล่างซ้ายนั้นจะส่งผลมากที่สุด เพราะเมื่อความหนาของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นจะทำให้ขนาดของห้องหัวใจมีขนาดเล็กลงส่งผลหัวใจได้รับเลือดได้น้อยลง ส่งผลให้เลือดที่ส่งไปหล่อเลี้ยงร่างกายมีปริมาณที่ไม่เพียงพอ หรืออีกกรณีหนึ่งคือกล้ามเนื้อหัวใจที่หนาขึ้นอยู่ใกล้กับทางออกของเลือด จึงไปบดบังทางออกของเลือดทำให้เลือดไหลออกจากหัวใจได้น้อยลง ส่งผลให้เลือดออกจากหัวใจไม่ได้หรือออกไปได้น้อยมาก โรคกล้ามเนื้อหัวใจแบบนี้เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างกะทันหัน
2.3 โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัวมากกว่าปกติ ( Restrictive Cardiomyopathy ) คือ การที่กล้ามเนื้อหัวใจมีธาตุเหล็ก โปรตีนบางชนิดหรือเซลล์มะเร็งเกิดขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการแข็งตัว ไม่สามารถทำการบีบรัดตัวหรือบีบรัดตัวได้น้อยลงกว่าปกติที่ควรเป็น ส่งผลให้การส่งเลือดไปยังปอดและอวัยวะตามร่างกายน้อยลง ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียไม่มีแรง เกิดสภาวะร่างกายขาดออกซิเจน
3.โรคหลอดเลือดหัวใจ ( Coronary Artery Disease ) คือ เกิดจากการที่หลอดเลือดแดง ( Coronary artery ) ที่เข้าสู่หัวใจเพื่อไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการตีบตัน เนื่องจากไขมันหรือเนื้อเยื่อสะสมอยู่บนผนังของหลอดเลือดทำให้ช่องทางเดินเลือดในหลอดเลือดมีขนาดเล็กลง เลือดจึงส่งไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดสภาวะขาดเลือดเป็นที่มาของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งโรคหัวใจแบบนี้จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆหรืออาจเสียชีวิตได้ในทันที
4.โรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ คือ โรคที่เกิดแทรกซ้อนจากการที่ลิ้นหัวใจมีความผิดปกติ นั่นคือ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดแต่ร่างกายกำจัดได้ไม่ทันก่อนที่จะเข้าสู่หัวใจ ทำให้เชื้อโรคนี้จะเข้าไปจับกับลิ้นหัวใจที่มีความผิดปกติจนลิ้นหัวใจเกิดการอักเสบ เมื่อกระแสเลือดผ่านบริเวณลิ้นหัวใจที่อักเสบจะทำให้เชื้อโรคจากการอักเสบนี้แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นที่มาของโรคที่มาของการติดเชื้อในกระแสเลือดและโรคร้ายแรงอื่นๆ ได้
5.โรคลิ้นหัวใจพิการจากไข้รูห์มาติก ไข้รูห์มาติก คือ โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเสตปโตคอคคัสในช่องปากแพร่เข้าสู่ร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อแบคทีเรียเสตปโตคอคคัสขึ้นมา แต่ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นมานี้จะมีผลข้างเคียงต่อร่างกายโดยเฉพาะในเด็กอายุ 5-12 ปี จะทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบเกิดหรือลิ้นหัวใจรั่ว ชนิดของลิ้นหัวใจที่เกิดภาวะอักเสบหรือรั่วจากไข้รูห์มาติกที่พบได้บ่อย คือ ลิ้นหัวใจไมตรัลและลิ้นหัวใจหัวใจเออร์ติก
โรคหัวใจ ( Heart Disease) คือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆของหัวใจ
การสังเกตอาการโรคหัวใจ
นอกจากความพิการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว หัวใจยังมีความผิดปกติที่พบได้อีก คือ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตสูงหรือต่ำ โรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมไร้ท่อ โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งโรคที่เกี่ยวกับหัวใจนี้อาจจะนำมาซึ่งการเสียชีวิตได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นโรคหัวใจหรือไม่ การที่เราจะรู้ว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่นั้นเราสามารถสังเกตความผิดปกติของร่างกายได้ ดังนี้
1.ปลายมือ ปลายเท้าและปากมีสีเขียวคล้ำเพียงแค่นั่งอยู่เฉยๆ หรือทำกิจกรรมเล็กน้อยที่ไม่ได้ออกแรงมาก
2.อวัยวะช่วงล่างบวมโดยไม่รู้ต้นเหตุ ไม่ว่าจะเป็นขาหรือเท้าและเมื่อทำการกดบริเวณที่บวดแล้วเกิดรอยบุ๋มตามแรงกดให้เห็นอย่างชัดเจน
3.เหนื่อยง่าย ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายที่ไม่หนักมากก็รู้สึกเหนื่อยหอบ หายใจไม่ทันเหมือนจะขาดใจหรือรู้สึกว่าหัวใจเต้นแรงผิดปกติ
4.วูบหมดสติ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีอาการวูบหมดสติบ่อยๆ ไม่ว่าจะนั่ง ยืน นอน ทั้งที่กินอาหารตามปกติแล้วก็ตาม
5.เจ็บหรือแน่นหน้าอกบ่อยๆ มีอาการอึดอัดหายใจไม่ออก เจ็บแปลบที่บริเวณหน้าอกโดยเฉพาะเวลาที่ต้องออกแรงมากหรือเวลาที่ออกกำลังกาย
6. หัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ มีความรู้สึกว่าเดี๋ยวหัวใจก็เต้นแรงขึ้นมาสลับกับเต้นช้าๆ ทำให้ใจสั่น เหนื่อยง่าย หายใจไม่ทัน
7.หัวใจล้มเหลว รู้สึกว่านอนแล้วหายใจไม่ได้ต้องลุกขึ้นมานั่ง หรือเวลานอนรู้สึกว่าหายใจลำบากจนบางครั้งตอนกลางคืนต้องสดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะขาดอากาศ เหนื่อยแม้จะนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำสิ่งใดก็ตาม
วิธีการตรวจโรคเกี่ยวกับหัวใจ
ถ้าคุณมีอาการที่กล่าวมาข้างต้นไม่ว่าจะเพียง 1 ข้อ แสดงว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจแล้ว ทางที่ดีควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจและวินิจฉัยว่าคุณนั้นเป็นโรคหัวใจหรือไม่ โดยการตรวจร่างกายโดยละเอียด ซึ่งการตรวจโรคเกี่ยวกับหัวใจนั้นมีวิธีการตรวจดังนี้
1.การตรวจแบบพื้นฐาน เป็นการตรวเบื้องต้นเพื่อดูว่ามีอัตราเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ซึ่งการตรวจแบบพื้นฐาน คือ
1.1 การตรวจร่างกาย แพทย์จะทำการวัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนักเพื่อตรวจสอบว่าร่างกายอยู่ในสภาวะอ้วนหรือไม่ ฟังการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิตเพื่อตรวจเช็คว่าหัวใจทำงานปกติหรือไม่
1.2 การตรวจเลือด เพื่อหาค่าของไขมัน คอเรสเตอรอลหรือสารอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคที่ส่งผลต่อหัวใจ เช่น ไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคเบาหวาน เป็นต้น
1.3 การเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อตรวจสอบว่าในทรวงอกนั้นมีสภาวะผิดปกติเกิดใดเกิดขึ้น เช่น ขนาดของเส้นเลือดใหญ่ปกติดีหรือมีการขยายใหญ่ ขนาดของหัวใจ เป็นต้น
1.4 การตรวจคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ เป็นการตรวจสอบเกี่ยวกับหัวใจโดยเฉพาะ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับหัวใจและโรคที่เกิดขึ้นกับหัวใจ เช่น ขนาดของหัวใจแต่ละห้อง ความผิดปกติของเยื่อหุ้มหัวใจ ลักษณะกล้ามเนื้อหัวใจว่ามีส่วนใดเกิดตายหรือมีความผิดปกติหรือไม่
2. การตรวจแบบพิเศษ เป็นการตรวจเพื่อเจาะลึกรายละเอียดลงไปอีกว่าหัวใจในขณะนี้มีปัญหาใดเกิดขึ้นแล้ว
2.1 การตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง ( Echocardiogram ) หรือเรียกสั้นว่า เอคโค ( Echo ) เป็นการตรวจโดยใช้หลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสี่ยงที่มีความถี่สูง เป็นการตรวจที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและไม่สร้างความเจ็บปวดต่อร่างกาย การตรวจวิธีนี้เราจะเห็นการทำงานของหัวใจ เช่น การบีบตัว ขนาดห้องหัวใจ การไหลเวียนและการทำงานของลิ้นหัวใจ เป็นต้น ทำให้รู้ว่าหัวใจทำงานปกติดีหรือไม่
2.2 การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย ( Exercise Stress Test ) เป็นการตรวจกล้ามเนื้อหัวใจหรือภาวะของหลอดเลือดที่ส่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ สำหรับคนที่มีอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติในขณะที่ออกกำลังกาย ซึ่งการตรวจแบบนี้ผู้ทดสอบต้องทำการเดินบนสายไฟฟ้าหรือจักรยานและทำการบันทึกข้อมูลของคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ ความดันโลหิต เพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูลว่าเป็นโรคที่เกี่ยวกับหัวใจหรือไม่ต่อไป
2.3 การตรวจด้วยเตียงปรับระดับ ( Tilt Table Test ) เป็นการตรวจโดยใช้เตียงที่สามารถปรับระดับได้เพื่อหาสาเหตุในการเป็นหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งการตรวจนี้จะทำให้ทราบสาเหตุการหมดสติว่าเกิดปัญหาจากสมอง หัวใจหรือระบบประสาท นิยมใช้ในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอาการหมดสติบ่อยๆ โดยที่ไม่ทราบสาเหตุทั้งที่นอนหรือนั่งอยู่เท่านั้น
2.4 การบันทึกคลื่นหัวใจ ( Electrocardiography หรือ ECG ) เป็นการตรวจที่ทำการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจไว้กับตัวผู้ทดสอบ ส่วนจะติดกี่วันนั้นก็ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ทำการทดสอบ การติดเครื่องบันทึกแบบนี้จะทำให้เราทราบว่าการเต้นของหัวใจนั้นมีความผิดปกติหรือไม่ และการเต้นที่ผิดปกตินั้นเกิดจากสาเหตุใด
2.5 การฉีดสีสวนหัวใจ เป็นการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจและทำการถ่ายภาพด้วยการเอกซเรย์ ซึ่งสารทึบรังสีที่ใช้ก็คือสารไอโอดีน ดังนั้นผู้ป่วยที่แพ้อาหารทะเลไม่ควรได้รับการตรวจแบบนี้เพราะอาจจะมีอันตรายได้ การตรวจแบบนี้จะช่วยตรวเช็คได้ว่าหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดตีบหรือตันที่ส่วนใดหรือไม่ ลิ้นหัวใจมีการเปิดปิดปกติและยังสามารถตรวจเช็คการทำงานของหัวใจได้ด้วย
ที่กล่าวมานี้ คือ การตรวจหาความผิดปกติของหัวใจทั้งอวัยวะภายในหัวใจและอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจทุกส่วน ถ้ารู้สึกตัวว่าตัวเองมีอาการที่เสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจแล้ว ควรรีบทำการตรวจทันทีเพราะว่าโรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ เลยทีเดียว แต่ถ้าเราได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีแล้วเราก็โอกาสรอดชีวิตจากโรคหัวใจสูง นั่นคือ โรคหัวใจเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ซึ่งการรักษาโรคหัวใจมีอยู่ด้วยกัน คือ
วิธีการรักษาโรคหัวใจ
1.การทำบอลลูน ( Balloon Angioplasty ) คือ การขยายหลอดเลือดส่วนที่ตีบตันให้ขยายกลับเข้าสู่ปกติ เพื่อที่เลือดจะไหลไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดังเดิม โดยสอดเอาบอลลูนสอดเข้าไปในหลอดเลือดที่เกิดการตีบตัน เมื่อบอลลูนถึงตำแหน่งที่มีการตีบตันหรืออุดตันก็ทำให้บอลลูนขยายตัว ซึ่งหลอดเลือดก็จะเกิดการขยายตัวตามไปด้วย ทำให้เลือดสามารถผ่านเข้าไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพิ่มมากขึ้น แต่วิธีการนี้เมื่อทำการรักษาผ่านไปสักระยะหลอดเลือดอาจจะกลับมาตีบตันได้อีก จึงมีการนำนวัตถกรรมใหม่เข้ามาช่วยลดการกลับมาตีบตันซ้ำของหลอดเลือด คือ ขดลวดเคลือบยา ( Drug Eluting Stent ) ที่จะส่งเข้าไปพร้อมกับบอลลูนเพื่อที่ยาที่เคลือบอยู่บนขดลวดเข้าไปช่วยยับยั้งการสมานแผลที่ผนังหลอดเลือดซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดกลับมาตีบตันได้อีก
2.การรักษาด้วยคลื่นไฟฟ้า ( Ablation therapy ) เป็นการรักษาโรคหัวใจที่เต้นผิดจังหวะ โดยการสอดสายสวนเข้าไปยังตำแหน่งที่มีความผิดปกติในการปล่อยคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ และทำการปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูงไปยังตำแหน่งนั้น เพื่อกระตุ้นหรือทำลายกล้ามเนื้อหัวใจที่เกิดความผิดปกติให้กลับสู่สภาวะปกติ ซึ่งวิธีการนี้สามารถรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างได้ผล
3.การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ( Pacemaker implantation ) เป็นการฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กเข้าไปบริเวณใต้ผิวหนังหน้าอกเพื่อกระตุ้นการเต้นของหัวใจให้ถูกจังหวะโดยการปล่อยกระแสไฟฟ้าส่งไปยังหัวใจ ทำให้กัวใจสามารถสูบแดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ การรักษาแบบนี้จะช่วยใช้ในการรักษากรณีที่ผู้ป่วยมีการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติทำให้อวัยวะตามร่างกายขาดเลือด ซึ่งจะพบมากในผู้สูงอายุ เครื่องกระตุ้นหัวใจจะมีขนาดประมาณ 4-5 เซ็นติเมตร
หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด เราจึงต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่อยู่เสมอ คอยสังเกตุถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแม้จะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เพราะสิ่งที่ตามมาอาจจะหมายถึงการสูญเสียชีวิตก็เป็นได้ การดูแลสุขภาพที่ดีนอกจากจะออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์แล้ว การทำให้จิตใจผ่องใสไม่เครียดย่อมส่งผลดีกับหัวใจมากที่สุด วันนี้คุณดูแลหัวใจตัวเองดีพอแล้วหรือยัง?
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
Dantas AP, Jimenez-Altayo F, Vila E (August 2012). “Vascular aging: facts and factors”. Frontiers in Vascular Physiology 3 (325): 1–2. PMC 3429093. PMID 22934073. doi:10.3389/fphys.2012.00325.
Countries, Committee on Preventing the Global Epidemic of Cardiovascular Disease: Meeting the Challenges in Developing; Fuster, Board on Global Health ; Valentin; Academies, Bridget B. Kelly, editors ; Institute of Medicine of the National (2010). Promoting cardiovascular health in the developing world : a critical challenge to achieve global health. Washington, D.C.: National Academies Press. pp. Chapter 2. ISBN 978-0-309-14774-3.
Mendis, S.; Puska, P.; Norrving, B.(editors) (2011), Global Atlas on cardiovascular disease prevention and control, ISBN 978-92-4-156437-3
Finegold, JA; Asaria, P; Francis, DP (Dec 4, 2012). “Mortality from ischaemic heart disease by country, region, and age: Statistics from World Health Organisation and United Nations.”. International journal of cardiology 168 (2): 934–945. PMID 23218570. doi:10.1016/j.ijcard.2012.10.046.