ต้นต้างใหญ่
ต้นต้างใหญ่ หรือโฮย่าประกายแก้ว ผักสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา เป็นพรรณไม้ล้มลุกเลื้อยพัน มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง แผ่นใบมีเนื้ออวบหนา มียางสีขาว ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Hoya pachyclada Kerr อยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ดอกตั้ง, โฮย่าประกายแก้ว, ต้าง, ประกายแก้ว, ป้าง[1],[2]
ลักษณะโฮย่าประกายแก้ว
- ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุกเลื้อยพันเกาะ จะอาศัยบนพรรณไม้ชนิดอื่น จะมีน้ำยางสีขาว มีเขตการกระจายพันธุ์ที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย มักพบขึ้นที่ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ[1],[2]
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ใบเป็นรูปไข่กลับกว้าง ใบกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบมีเนื้ออวบหนา ก้านใบมีความยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอก ออกเป็นช่อแบบซี่ร่มหรือรูปครึ่งวงกลม ดอกจะออกที่บริเวณซอกใบ มีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก ประมาณ 20-30 ดอก ก้านช่อมีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีขาวครีม มีกลีบ 5 กลีบ ที่โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก ที่ขอบกลีบจะม้วนลงด้านล่าง กลางดอกมีเส้าเกสรเป็นแผ่นรยางค์รูปมงกุฎสีเหลืองหรือสีชมพู 5 แฉก มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านดอกย่อยมีความยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร[1],[2]
- ผล เป็นฝักยาวคู่ ที่ปลายฝักจะแหลม ฝักกว้างประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร เมื่อแห้งจะแตกตามตะเข็บเดียว มีเมล็ดสีน้ำตาลอยู่ภายใน เมล็ดเป็นรูปรีและแบน มีขนคล้ายเส้นไหมที่ปลาย[1],[2]
สรรพคุณของโฮย่าประกายแก้ว
- ในตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบต้างใหญ่ มาอังไฟแล้วใช้นาบที่ข้อเป็นยาบรรเทาอาการปวดบวมที่ตามข้อ (ใบ)[1]
ประโยชน์ของโฮย่าประกายแก้ว
- ดอกต้างใหญ่จะออกดอกเป็นช่อสวยงาม นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ[2]
สั่งซื้อเนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1.หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ต้างใหญ่”. หน้า 127.
2.หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3. “ต้างใหญ่”.
อ้างอิงรูปจาก
1.https://worldofsucculents.com