ต้นตานฟัก
พรรณไม้ล้มลุก ขึ้นบริเวณทุ่งหญ้าเปิดในป่าผลัดใบหรือป่าดงดิบ ดอกเป็นช่อสีเหลือง ผลเป็นฝักยาว

ต้นตานฟัก

ต้นตานฟัก เป็นพรรณไม้ล้มลุก ขึ้นบริเวณทุ่งหญ้าเปิดในป่าผลัดใบหรือป่าดงดิบ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Crotalaria ferruginea Benth. อยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น พวนดอย, หมากขิ่งหนู[2]

ลักษณะตานฟัก

  • ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี ต้นสูงประมาณ 20-100 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง แตกกิ่งก้านจะมีขนขึ้นปกคลุมหนาแน่น มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย ศรีลังกา จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนิวกินี ในประเทศไทยสามารถพบได้เกือบทุกภาค มักขึ้นที่บริเวณทุ่งหญ้าที่เปิดโล่งในป่าผลัดใบหรือป่าดงดิบ หรือที่ตามพื้นที่ชุ่มชื้นริมทาง ที่มีระดับความสูงประมาณ 350-1,800 เมตร[1],[2],[3]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงสลับ ใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน รูปใบหอกแคบ รูปวงรีแกมขอบขนาน รูปใบหอก รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ใบกว้างประมาณ 1.5-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ผิวใบจะมีขนทั้งสองด้าน ที่ผิวใบด้านล่างเป็นสีขาวนวล มีหูใบติดคงทน[1],[2],[3]
  • ดอก ออกดอกเป็นช่อที่ตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง มีความยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร จะมีดอกย่อยประมาณ 2-8 ดอก กลีบดอกเป็นสีเหลือง เป็นรูปดอกถั่ว ดอกมีกลีบรองดอก ปลายแยกเป็น 2 ปากเว้าลึก จะมีขนสีออกแดงขึ้นอย่างหนาแน่น กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบบนจะแผ่เป็นรูปรี กลีบด้านข้างจะเป็นรูปขอบขนาน กลีบด้านล่างจะเชื่อมเป็นรูปท้องเรือ ที่ปลายกลีบเป็นจะงอย ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน รังไข่มีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ผิวเกลี้ยง จะออกดอกช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[2],[3]
  • ผล เป็นฝักยาว ฝักเป็นรูปขอบขนาน ฝักกว้างประมาณ 0.8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร มีเมล็ดภายในฟักประมาณ 20-30 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปหัวใจเบี้ยวขนาดเล็ก[1],[2],[3]

สรรพคุณของต้นตานฟัก

  • ในตำรายาพื้นบ้านล้านนาใช้ตานฟักทั้งต้นมาต้มกับน้ำ ใช้อาบเป็นยาแก้ฟกบวม (ทั้งต้น)[1],[3]

สั่งซื้อเนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1.หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ตานฟัก”. หน้า 83.
2.ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ตานฟัก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [19 ธ.ค. 2014].
3.หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7. “ตานฟัก”.

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/