นมแมวซ้อน
นมแมวซ้อน เป็นพรรณไม้เลื้อยลำต้นแข็งแรงและยังเป็นผลไม้ป่าที่มีรสหวานรับประทานได้ จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และเกาะอินโดนีเซีย ลักษณะจะมีดอกสีเหลืองอ่อนสวยงาม มีกลิ่นหอม มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Anomianthus dulcis (Dunal) J.Sinclair ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตบหู ตีนตังน้อย (นครพนม), ตีนตั่ง (อุบลราชธานี), นมวัว เป็นต้น
ลักษณะของนมแมวซ้อน
- ต้น เป็นไม้เถาเลื้อยที่ต้องอาศัยไม้อื่นเพื่อพยุงตัวขึ้นไป สามารถเลื้อยได้ไกลประมาณ 4-8 เมตร เปลือกเถาค่อนข้างเรียบมีสีเทา ลำต้นเหนียว เนื้อไม้แข็ง และมีกิ่งที่ปลายเป็นหนามแข็งอยู่ทั่วลำต้น กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้น สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง
ใบ เป็นใบเดี่ยว มีการเรียงสลับสองด้านเป็นระนาบเดียวกัน ลักษณะเป็นรูปไข่กลับแกมขอบขนาน หรือรูปหอกกลับแกมขอบขนาน ปลายใบมีความแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบจะมีขนาดกว้างกว่าส่วนที่ค่อนมาทางโคนใบ ใบมีความกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร หลังใบด้านบนจะเกลี้ยง ส่วนท้องใบด้านล่างมีขน ก้านใบมีความป่องเล็กน้อยและมีขนสาก ๆ ขึ้น ยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร ใบอ่อนมีขนนุ่มทั้งสองด้าน[1],[2] - ดอก ออกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกตามซอกใบและปลายยอด มีประมาณ 2-4 ดอก ก้านช่อดอกมีความเรียว ดอกมีสีเหลือง สีชมพูอ่อน หรืออาจจะสีเหลืองอมชมพู มีลักษณะห้อยลง กลีบดอกมี 6 กลีบ แบ่งเป็น 2 ชั้น มีชั้นละ 3 กลีบ วางสับหว่างกัน กลีบดอกบางคล้ายรูปไข่ ปลายกลีบมีความแหลม ขอบกลีบดอกจะบิดเป็นลอน มีความกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร มีขนนุ่มอยู่ด้านนอก กลีบเลี้ยงดอกมีสีเขียว มีความคล้ายรูปไข่ มีอยู่ 3 กลีบ ความกว้างและความยาวอยู่ที่ 0.5 เซนติเมตร ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น จะออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม ดอกจะบานและร่วงภายในวันเดียวกัน กลิ่นจะมีความหอมอมเปรี้ยว ช่วงกลางวันมีกลิ่นหอมอ่อน จางๆ แต่จะหอมมากในช่วงเย็นจนถึงช่วงกลางคืน[1],[2]
- ผล ออกเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีผลย่อยประมาณ 8-15 ผล จะมีลักษณะเป็นรูปกระสวยหรือรูปทรงกระบอก ผิวเรียบ ผลสดมีสีเขียว แต่พอสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงสีแดงเข้ม มีรสหวาน มีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด[1],[2]
ประโยชน์ของและสรรพคุณของนมแมวซ้อน
- ผลสุก จะมีรสหวาน สามารถใช้รับประทานได้[1],[2]
- จะนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามรั้วหรือซุ้ม[3]
- ลำต้นหรือราก สามารถนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงน้ำนมขณะอยู่ไฟของสตรี (ลำต้น, ราก)[1],[2]
สั่งซื้ออาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “นม แมว ซ้อน (Nom Maeo Son)”. หน้า 151.
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “นม แมว ซ้อน”. หน้า 124.
3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “นมวัว”. อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้เมืองไทย ไม้ต่างถิ่นในเมืองไทย 1. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [02 ธ.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com
2.https://cuisineofvietnam.com