โหราข้าวโพด
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pinellia ternata (Thunb.) Makino (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pinellia ternata (Thunb.) Ten. ex Breitenb., Pinellia tuberifera Ten.) จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE) ชื่อเรียกอื่นว่า ปั้นเซี่ย ซันเยี้ยะปั้นเซี้ย (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของโหราข้าวโพด
- ต้น เป็นไม้ล้มลุก ความสูงโดยเฉลี่ย 15-30 เซนติเมตร หัวจะอยู่ใต้ดินลักษณะเหมือนรูปไข่แบนนิดหน่อย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ส่วนหัวใต้ดินจะมีรากฝอยเป็นจำนวนมากมาย
- ใบ เป็นใบเดี่ยว จะมีก้านใบแทงขึ้นมาจากหัวใต้ดิน ตอนแรกๆจะแตกใบเพียง 1 ใบ ตอนโตเต็มที่ ก้านหนึ่งจะแตกถึง 3 ใบ ใบตรงกลางจะมีขนาดใหญ่ ใบจะมีลักษณะรูปไข่วงรี ส่วนใบปลายแหลม โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ด้านหลังใบและท้องใบเป็นมันเงา ขนาด 3-4 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร ก้านใบยาว 6-23 เซนติเมตร มีเส้นใบแบบขนนก ทางก้านใบมีปุ่มงอกออกมามีสีขาว เหมือนไข่ไก่
- ดอก เป็นช่อบริเวณปลายยอด ขนาดยาว 30 เซนติเมตร จะมีกาบใบสีเขียวหุ้มยาว 6-7 เซนติเมตร ช่อดอกจะยาวกว่าก้านใบ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียจะอยู่ในต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้จะอยู่ด้านบนและดอกตัวเมียจะอยู่ด้านล่าง ช่วงห่าง 3-5 มิลลิเมตร ดอกจะมีรูปกลมยาวทรงกระบอก ด้านในเป็นสีม่วงดำ ด้านนอกเป็นดอกสีเขียว
- ผล ภายในดอกจะมีผลลักษณะเป็นรูปไข่กลมรีสีขาว ขนาดยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ผลเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง
สรรพคุณของโหราข้าวโพด
- หัว จะมีรสเผ็ด มีพิษเป็นยาร้อนใช้เป็นยาแก้ปวดหัววิงเวียน นอนไม่หลับ ช่วยสงบประสาท ช่วยในเรื่องแก้เสมหะข้น ละลายเสมหะ แก้ไอ คลื่นไส้อาเจียน ลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้หูน้ำหนวก แก้คออักเสบ ช่วยบรรเทาแก้หลอดลมอักเสบ หอบหืด แน่นหน้าอก ขับน้ำขึ้นในกระเพาะ ท้องอืดท้องเฟ้อ แพ้ท้อง แก้ฝีหนอง ปวดบวม เต้านมอักเสบ
ข้อควรระวัง
- เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้เป็นยาที่มีพิษ จึงไม่ควรรับประทานมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนด หรือรับประทานยาที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีกำจัดพิษ
กรรมวิธีกำจัดพิษ
- นำหัวล้างให้สะอาด นำไปแช่น้ำสะอาดประมาณ 1-2 อาทิตย์ ให้เปลี่ยนน้ำวันละ 2 ครั้ง ตอนเปลี่ยนน้ำให้กวนน้ำไปด้วย เสร็จแล้วให้ไปแช่ในน้ำสารส้มจนกว่าจะไม่เห็นฟองสีขาวหรือจนกว่าหัวจะเริ่มมีสีชมพูแล้วนำน้ำทิ้ง ต่อจากนั้นให้แช่ในน้ำสะอาดอีก 1 วัน แล้วนำหัวที่ได้มาต้มน้ำสารส้มแล้วใส่ขิงลงไปต้มด้วยจนสุกเนื้อในจะมีสีเหลืองอ่อน แล้วเอามาตากแห้ง ก่อนจะนำมาทำยา
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
- จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าเมื่อให้คนสูดดม จะมีอาการหืดและเยื่อจมูกอักเสบ แต่ไม่พบความเป็นพิษต่อหนูขาวทดลองที่ได้รับตำรับอาหารซึ่งมียาผสมอยู่ 10% ของอาหาร
- รายงานผลการทดลองเมื่อปี ค.ศ.1989 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากเหง้าในหนูขาวทดลอง ผลการทดลองพบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในหนูขาวทดลองได้
- น้ำที่ต้มได้จากหัวความเข้มข้น 20% เมื่อนำมาให้แมวทดลองกินในปริมาณ 0.6 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม พบว่าสามารถช่วยแก้อาการไอของแมวทดลองได้
- เมื่อนำน้ำที่ต้มกับหัวในความเข้มข้น 20% หรือใช้ยาแห้ง 3 กรัม ต้มเป็นน้ำ ให้แมวทดลองกิน พบว่าสามารถช่วยระงับอาการอาเจียนของแมวได้
- มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิตสูง ลดไขมัน ลดคอเลสเตอรอลในเลือด มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้แท้ง ป้องกันการเกิดแผลที่กระเพาะ บรรเทาอาการปวด ลดไข้ ระงับประสาท เพิ่มความจำ ต้านการชัก
- ในหัวหรือเหง้าจะพบน้ำมันระเหยและในน้ำมันระเหยจะพบสาร B-aminobutyricacid, Glutamicacid, Arginine, Aspartic acid และยังพบสาร B-sitosteryl-D-glucoside, Glucose, Glucolin, Amino acid, Alkaloid (ที่ออกฤทธิ์คล้ายกับ Conine) เป็นต้น[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า สารสำคัญที่พบ ได้แก่ amylose BX-W, anethole, campesterol, choline, daucosterol, fluoride, flavone, pinellia lectin, pinellia ternata trypsin inhibitor, pinellian G, β-sitosterol, stigmasterol, tridecanoic acid
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1 หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โหราข้าวโพด”. หน้า 632.
2 หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “โหราข้าวโพด” หน้า 155-156