กะหนานปลิง เนื้อไม้รสฝาดแต่มีสรรพคุณบำรุงเลือดได้

0
1651
กะหนานปลิง เนื้อไม้รสฝาดแต่มีสรรพคุณบำรุงเลือดได้
กะหนานปลิง ไม้ยืนต้น ดอกตูมรูปทรงกระบอกห้าเหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลอมเหลือง เปลือกผลหนาและแข็ง
กะหนานปลิง เนื้อไม้รสฝาดแต่มีสรรพคุณบำรุงเลือดได้
กะหนานปลิง ไม้ยืนต้น ดอกตูมรูปทรงกระบอกห้าเหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลอมเหลือง เปลือกผลหนาและแข็ง

กะหนานปลิง

กะหนานปลิง (Pterospermum acerifolium) เป็นไม้ยืนต้นที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทั้งการนำมาใช้ในด้านยาสมุนไพรและการรับประทานเป็นผักสด ชาวอินเดียทางเหนือนำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลง ชาวเมี่ยนนำมาใช้สร้างบ้านและใช้ทำสะพานในพิธีตานขัว นอกจากนั้นยังนำมาใช้เป็นไม้ปลูกประดับได้อีกด้วย กะหนานปลิงเป็นต้นที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกะหนานปลิง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterospermum acerifolium (L.) Willd.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ปอช้างแหก สลักกะพาด ปอหูช้าง หนานปิง” ภาคเหนือเรียกว่า “ตองเต๊า ปอเต๊า” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “เต้าแมว” จังหวัดอุตรดิตถ์เรียกว่า “ปอหูช้าง สนานดง สากกะเท้า” จังหวัดสระบุรีเรียกว่า “สลักกะพาด” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า “กะหนานปลิง หูควาย” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ชะต่อละ” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “ตะมุ่ย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ชบา (MALVACEAE)

ลักษณะของกะหนานปลิง

กะหนานปลิง เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย พม่าและมาเลเซีย ในประเทศไทยพบกระจายอยู่ทั่วทุกภาค มักจะพบขึ้นในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา
เปลือกต้น : ทรงต้นเปลาตรง เปลือกต้นเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อนและค่อนข้างเรียบ มีช่องอากาศตามยาวอยู่ทั่วไป ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีแดงแทรกลายเส้นสีขาว เนื้อไม้สดมีสีชมพูเรื่อแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ต้นที่มีอายุมากจะมีพูพอนสั้นลักษณะเป็นหลืบ ตามยอดและกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นหนาแน่น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบมีรูปทรงไม่แน่นอน ส่วนใหญ่มักเป็นรูปไข่หรือรูปวงรี แผ่นใบแผ่ค่อนข้างกว้างจนเกือบเป็นแผ่นกลม ปลายใบแหลม โคนใบเว้าลึกคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบมักเว้าห่างไม่เป็นระเบียบ ใบของต้นกล้ามีขนาดใหญ่มาก แผ่นใบเว้าเข้าเป็นแฉกลึกประมาณ 3 – 6 แฉก มีเส้นใบออกจากโคนใบ 6 – 11 เส้น แผ่นใบด้านบนค่อนข้างเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้มและมัน ส่วนด้านล่างนุ่มมือเพราะมีขนสีเทาหรือสีขาวเป็นกระจุกขึ้นหนาแน่น มีเส้นร่างแหปรากฏชัดเจน ก้านใบมีสีน้ำตาลอมเหลือง ใบที่อยู่ช่วงล่างของลำต้นมักจะมีก้านใบยาวมาก หูใบมีขอบรุ่ยเป็นแฉกแคบแต่หลายแฉกไม่เป็นระเบียบและร่วงได้ง่าย
ดอก : เป็นดอกเดี่ยวตั้งขึ้นตามง่ามใบ ดอกตูมรูปทรงกระบอกห้าเหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นหนาแน่น กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนานแคบประกบกันเป็นรูปทรงกระบอก เมื่อดอกบานกลีบจะแยกออกจากกันและตลบลงด้านล่าง ด้านนอกกลีบมีขนสีน้ำตาลอมเหลือง ด้านในมีขนอ่อนนุ่มสีขาวหนาแน่น กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีขาวอมเหลือง ลักษณะเป็นรูปขอบขนานแคบ ดอกมีเกสรเพศผู้สมบูรณ์ 15 อัน แยกออกเป็น 5 มัด มัดละ 3 อัน และมีเกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์อีก 5 อัน เรียงสลับกับมัดเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ รังไข่สั้นเป็นรูปทรงกระบอกห้าเหลี่ยม มีขนขึ้นหนาแน่น มี 5 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุลจำนวนมาก มักจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกสัน 5 เหลี่ยม ปลายผลแหลมมน โคนผลคอดเรียวเป็นก้านทรงกระบอกแคบ ผลแก่จะแตกออกเป็น 5 เสี่ยง เปลือกผลหนาและแข็ง ผิวผลด้านนอกมีขนแข็งสั้นสีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นหนาแน่น ผลจะแก่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีความหนาเล็กน้อย ด้านบนเป็นปีกบางยาว มีสีชา

สรรพคุณของกะหนานปลิง

  • สรรพคุณจากเนื้อไม้ เป็นยาบำรุงโลหิต

ประโยชน์ของกะหนานปลิง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกเป็นอาหารได้
2. ใช้เป็นยาฆ่าแมลง ในประเทศอินเดียทางภาคเหนือนำดอกเป็นยาฆ่าแมลง
3. ใช้ในงานก่อสร้าง เนื้อไม้ใช้ในงานก่อสร้างทั่วไป ชาวเมี่ยนนำเนื้อไม้ในการใช้สร้างบ้านและใช้ทำสะพานในพิธีตานขัว
4. ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาและปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป

กะหนานปลิง เป็นต้นที่มีเนื้อไม้รสฝาดและมีดอกสีเหลืองชวนให้ดูสวยงาม จึงสามารถนำมาใช้เป็นไม้ประดับได้ อีกทั้งใบยังมีความกว้างและโดดเด่นจนนำมาปลูกเพื่อความร่มเงาในบ้านได้ นอกจากนั้นเนื้อไม้ยังนำมาประยุกต์ใช้ในงานก่อสร้างและยังนำดอกมาใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้ กะหนานปลิงมีสรรพคุณทางยาจากส่วนของเนื้อไม้ซึ่งมีสรรพคุณในการบำรุงเลือดได้ดี

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “กะหนานปลิง”. หน้า 70.
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กะหนานปลิง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [21 มิ.ย. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “กะหนานปลิง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [21 มิ.ย. 2015].
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “กะหนานปลิง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [21 มิ.ย. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/