กะตังใบ เป็นยาเย็นในหลายตำรา ช่วยแก้ไข้ แก้ปวดเมื่อย แก้ท้องเสียและรักษาโรคนิ่ว
กะตังใบ มีดอกตูมเป็นรูปทรงกลมสีแดง ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลสุกจะมีสีม่วงดำ

กะตังใบ

กะตังใบ (Bandicoot Berry) เป็นพืชในวงศ์องุ่นที่มักจะพบตามป่าทั่วไปและสามารถพบได้ทุกภาคในประเทศไทย เป็นต้นที่มีชื่อเรียกหลากหลายตามแต่ท้องที่ มีดอกตูมเป็นรูปทรงกลมสีแดงทำให้ดูโดดเด่นและแยกออกง่าย ส่วนของผลนั้นเมื่อสุกจะมีสีม่วงดำรูปทรงกลมคล้ายกับองุ่น ในส่วนของยาสมุนไพรนั้นกะตังใบเป็นยาเย็นที่นิยมในตำรายาไทย ชาวม้ง ชาวอินโดนีเซีย ตำรายาพื้นบ้านอีสานและหมอยาพื้นบ้านในจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนั้นยังนำส่วนต่าง ๆ มารับประทานได้เช่นกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกะตังใบ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leea indica (Burm.f.) Merr.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Bandicoot Berry”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ตองจ้วม ตองต้อม” จังหวัดเชียงใหม่และจันทบุรีและกรุงเทพมหานครเรียกว่า “กะตังใบ” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “ต้างไก่” จังหวัดตราดเรียกว่า “คะนางใบ” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ขี้หมาเปียก” จังหวัดนราธิวาสเรียกว่า “ช้างเขิง ดังหวาย” จังหวัดตรังเรียกว่า “บังบายต้น บั่งบายต้น” ไทใหญ่เรียกว่า “ไม้ชักป้าน” ชาวกะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “เหม่โดเหมาะ” ชาวเงี้ยวเรียกว่า “ช้างเขิง” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “ต้มแย่แงง” ชาวม้งเรียกว่า “อิ๊กะ” ฉานเรียกว่า “ช้างเขิง” มีชื่ออื่น ๆ เรียกว่า “กระตังใบ เรือง เขืองแข้งม้า”
ชื่อวงศ์ : วงศ์องุ่น (VITACEAE)

ลักษณะของกะตังใบ

กะตังใบ เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดย่อมหรือไม้ต้นขนาดเล็กที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย เนปาล พม่า บังกลาเทศ ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซียไปจนถึงออสเตรเลียและฟิจิ ในประเทศไทยพบกระจายอยู่ทั่วทุกภาค มักจะพบขึ้นตามป่าดิบ ป่าผลัดใบและป่าเต็งรัง
ลำต้น : ลำต้นค่อนข้างเกลี้ยงหรือปกคลุมด้วยขนสั้น ๆ ต้นฉ่ำน้ำ ตามต้นและตามกิ่งอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ออกเรียงสลับกัน แกนกลางใบประกอบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นขึ้นปกคลุม ก้านใบประกอบเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ริ้วประดับมีตั้งแต่รูปสามเหลี่ยมค่อนข้างกว้างไปจนถึงรูปสามเหลี่ยมแคบ หูใบเป็นรูปไข่กลับแผ่เป็นแผ่น ใบย่อยมีประมาณ 3 – 7 ใบ ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรียาว รูปไข่ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรี ปลายใบแหลมไปจนถึงเรียวแหลม โคนใบแหลมเล็กน้อย มนหรือเว้าเล็กน้อย ขอบใบจักเป็นซี่ฟัน แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย เนื้อใบหนาปานกลาง หลังใบเป็นลอนตามแนวเส้นใบ ท้องใบเป็นลอนสีเขียวนวลและมีต่อมขนาดเล็กรูปเหลี่ยมหรือกลม สามารถเห็นเส้นใบได้ชัดเจน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตั้งขึ้นโดยจะออกตามซอกใบหรือตรงเรือนยอดของกิ่ง ก้านชูช่อดอกยาว แต่ละช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีขาวอมเขียว ขาวอมเหลืองหรือสีเขียวอ่อน ดอกตูมเป็นรูปทรงกลมสีแดงเข้ม เมื่อดอกบานจะเปลี่ยนเป็นสีขาว กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบ เชื่อมติดกันที่โคน กลีบดอกส่วนล่างติดกัน ส่วนด้านในเชื่อมติดกับส่วนของเกสรเพศผู้ ส่วนบนแยกเป็นกลีบเรียว 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่กับหลอดเกสรเพศผู้ ปลายอับเรณูจะโผล่พ้นหลอดออกไปเป็นแฉกมน ปลายแฉกเว้า เกสรเพศเมียมีรังไข่ 6 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรสั้นและปลายมน ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือกลมแป้น ด้านบนแบน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มไปจนถึงสีดำ ผิวผลบางและมีเนื้อนุ่ม ออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดเป็นรูปไข่

สรรพคุณของกะตังใบ

  • สรรพคุณจากกะตังใบ ชาวอินโดนีเซียนำมาใช้เป็นยาพอกศีรษะแก้ไข้
  • สรรพคุณจากราก ตำรายาไทยใช้เป็นยาขับเหงื่อ ระงับความร้อน แก้ไข้ แก้ไข้รากสาด แก้อาการกระหายน้ำ
    – แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้ปวดท้องและแก้ท้องเสีย แก้ท้องร่วงและแก้บิด แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นยา
    – แก้ท้องเสีย โดยตำรายาพื้นบ้านอีสานนำรากมาผสมกับลำต้นขมิ้นเครือ ลำต้นเมื่อยดูกและรากตากวางอย่างละเท่ากันแล้วนำมาต้มกับน้ำเดือดเพื่อดื่ม
    – แก้ตกขาวของสตรี รักษามะเร็งมดลูกและมะเร็งลำไส้ ด้วยการนำรากมาผสมกับสมุนไพรอื่นแล้วนำมาต้มกับน้ำกินวันละ 3 ครั้ง จนยาหมดรสฝาด
    – รักษาแผลไฟไหม้และน้ำร้อนลวก โดยหมอยาพื้นบ้านอุบลราชธานีนำรากมาฝนกับเหล้าใช้ทา
  • สรรพคุณจากลำต้น
    แก้ไอ แก้อาการท้องร่วงและรักษาโรคนิ่ว โดยชาวม้งนำลำต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ
    – แก้วิงเวียนและมึนงง เป็นยาพอกศีรษะ ด้วยการนำใบมาย่างไฟให้เกรียมแล้วใช้พอกศีรษะ
    – แก้อาการคันหรือผื่นคันตามผิวหนัง แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอกเป็นยา
    – บำรุงร่างกายให้สมบูรณ์ ด้วยการนำใบมาต้มแล้วอาบ
  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – รักษามะเร็งเต้านม ด้วยการนำทั้งต้นมาผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นแล้วต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากน้ำยางจากใบอ่อน เป็นยาช่วยย่อย
  • สรรพคุณจากรากและลำต้น
    – แก้อาการปัสสาวะขัดและรักษาโรคนิ่ว ด้วยการนำรากและลำต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา

ประโยชน์ของกะตังใบ

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลสุกนำมารับประทานได้ ใบอ่อนและยอดอ่อนนำมาทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกหรือนำมาลวกหรือต้มรับประทานได้โดยให้รสฝาดมัน
2. เป็นอาหารและรักษาแผลของสัตว์ ใช้เป็นเหยื่อสำหรับตกปลา ชาวกะเหรี่ยงแดงนำใบมาต้มให้หมูกิน รากนำมาตำใส่แผลที่มีหนองของวัว ควายและช้างได้

กะตังใบ เป็นต้นที่มีรากเป็นยาเย็นและรสเบื่อเมา จึงเป็นส่วนที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรมากที่สุดของต้น ในส่วนของใบนั้นสามารถนำมารับประทานเป็นผักสดหรือลวกต้มจิ้มกับน้ำพริกซึ่งให้รสฝาดมัน และยังนำมาใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์ได้อีกด้วย กะตังใบมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยแก้ไข้และดับร้อน แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ท้องเสีย รักษาโรคนิ่ว แก้ตกขาวของสตรี รักษามะเร็งมดลูกและมะเร็งลำไส้ได้ ถือเป็นต้นที่ดีต่อระบบขับถ่ายและระบบย่อยอาหาร

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “กะตังใบ (Katang Bai)”. หน้า 41.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “กะตังใบ”. หน้า 69.
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กะตังใบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [21 มิ.ย. 2015].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “กะตังใบ”. อ้างอิงใน : สยามไภษัชยพฤกษ์ (146). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [21 มิ.ย. 2015].
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กระตังใบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [21 มิ.ย. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “กะตังใบ”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [21 มิ.ย. 2015].
พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “กะตังใบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th. [21 มิ.ย. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/