เข็มม่วง
ชื่อสามัญของเข็มม่วง คือ Violet ixora, Blue sage[4] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Pseuderanthemum andersonii Lindau อยู่วงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[1] ชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น เข็มสีม่วง, รงไม้ (จังหวัดสุราษฎร์ธานี), เฒ่าหล้งลาย (จังหวัดชลบุรี), เข็มพญาอินทร์, ร่องไม้ (ภาคใต้), เฒ่าหลังลาย (จังหวัดชลบุรี), ยายปลัง (จังหวัดสุราษฎร์ธานี), เฉียงพร้าป่า (จังหวัดตรัง) [1],[4]
ลักษณะเข็มม่วง
- ต้น เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงประมาณ 1-1.5 เมตร อาจจะสูงได้ถึง 2 เมตร จะแตกกิ่งก้านเป็นจำนวนมาก ลักษณะเป็นทรงพุ่มแน่นทึบ ขยายพันธุ์โดยการตัดกิ่งปักชำ วิธีการตอน เติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี ต้นเข็มแดงชอบความชื้นปานกลาง และที่มีแสงแดดปานกลางถึงรำไร อัตราการเติบโตอยู่ระดับปานกลาง จะนิยมปลูกกันที่ที่มีแสงแดดแบบรำไร[1],[2] สำหรับประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค ส่วนมากจะพบตามป่าภาคใต้ พื้นที่ร่มรำไรที่ตามป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบแล้ง ตั้งแต่ที่ระดับน้ำทะเลถึงความสูงประมาณ 400 เมตร[3]
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงตรงข้ามเรียงเวียนสลับ ใบเป็นรูปรี รูปใบหอกจนถึงรูปไข่แกมใบหอก ที่ปลายใบจะแหลม ส่วนโคนใบจะแหลมหรือมน ที่ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะเป็นมันและเป็นสีเขียวสด มีเส้นใบสีเขียวเข้ม[1],[2]
- ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อฉัตร ออกดอกที่ตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกมีลักษณะเป็นสีม่วง สีฟ้าอมสีม่วง มีใบประดับสีเขียวเข้ม ที่โคนกลีบดอกจะเชื่อมกันเป็นหลอดเล็กยาว ที่ปลายจะแยกเป็น 5 กลีบ สองกลีบบนนั้นจะติดเป็นคู่ จะมีขนาดเล็กกว่าสามกลีบล่าง กลีบดอกมีลักษณะเป็นสีม่วงอ่อน มีจุดประสีม่วง ออกดอกได้ทั้งปี ดอกจะโรยเร็ว ออกดอกเยอะช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[2]
- ผล เป็นผลแห้ง สามารถแตกได้ ผลเป็นรูปไข่ยาว[1]
สรรพคุณเข็มม่วง
1. นำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม สามารถช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวารได้ (ต้น)[1]
2. ในตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะนำต้นผสมกับหัวยาข้าวเย็น (ไม่ได้ระบุว่าเป็นข้าวเย็นเหนือหรือข้าวเย็นใต้) แล้วต้มกับน้ำดื่ม สามารถช่วยแก้อาการปวดเมื่อยได้ (ทั้งต้น)[1]
3. ชาวบ้านจะนำต้นรวมรากมาต้มใช้ทานเป็นยา ว่ากันว่าช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ (ทั้งต้น)[3]
4. ชาวเขาเผ่าแม้ว ชาวกะเหรี่ยง นำต้นมาต้มกับน้ำ สามารถใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลียได้ (ต้น)[1]
5. นำใบมาตำแล้วนำมาพอกหรือต้มกับน้ำใช้อาบ สามารถช่วยแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน หูดได้ (ใบ)[1]
ประโยชน์เข็มม่วง
- ความเชื่อของคนไทยโบราณมีความเชื่อกันว่า ถ้าบ้านไหนปลูกต้นเข็มไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะทำให้มีความเฉลียวฉลาด คนไทยจึงใช้ดอกเข็มในพิธีไหว้ครู และใช้ในพิธีทางศาสนา ใช้ดอกเข็มเป็นเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์[3]
- ดอกมีสีที่สวย ออกดอกได้ทั้งปี ตัดแต่งทรงพุ่มได้ ปลูกเป็นไม้ประดับได้ นิยมปลูกที่ตามลำธาร สวน สระว่ายน้ำ ริมน้ำตก [2]
สั่งซื้อ อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม. “สมุนไพรพื้นบ้านดอกเข็มม่วง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: m-culture.in.th. [24 พ.ค. 2014].
2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ร่องไม้”. หน้า 179.
3. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “เข็มสีม่วง (Blue Sage)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [24 พ.ค. 2014].
4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “เข็มม่วง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [24 พ.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/