อาหารที่มีส่วนผสมกัญชารสชาติอร่อยจริงหรือ ?
ขึ้นชื่อว่ากัญชา ในประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายรองรับ การใช้ส่วนประกอบของกัญชา หากไม่ขออนุญาตเพื่อการศึกษาหรือทางการแพทย์ก็ยังถือว่าผิดกฎหมายอยู่นะคะ แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเรื่อง อาหารกับส่วนผสมของกัญชา ทำไมถึงให้รสชาติอร่อย กินแล้วติดใจ พืชกัญชามีสารออกฤทธิ์สำคัญอยู่ 2 ตัวหลัก ได้แก่ THC หรือ Delta-9-Tetrahydrocannabinol ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และ CBD หรือ Cannabidiol ที่ช่วยยับยั้งการออกฤทธิ์ของ THC
THC หรือ Tetrahydrocannabinol คือสารที่เกี่ยวข้องกับการผ่อนคลาย มีความรู้สึกสบาย เคลิบเคลิ้ม อยากอาหาร ตาหวาน และคอแห้ง
CBD หรือ Cannabidiol ระงับอาการเกร็งหรือชักกระตุก ช่วยลดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน เป็นสารยับยั้งการออกฤทธิ์ของ THC
จากการศึกษาเรื่องกัญชากับเรื่องพื้น ๆ ทั่วไปของชาวบ้าน ชาวเขา ที่นิยมนำ กัญชา มาเป็นส่วนประกอบในอาหาร
มีการใช้ใบกัญชาและดอกกัญชาในการปรุงอาหาร คนไทยส่วนมากใช้กับอาหารคาว เช่น ต้มยำ เพราะจะดูไม่ออกว่าในน้ำซุปมีกัญชาหรือไม่ จนกว่าจะได้ลิ้มลองรสชาติเวลาเราไปรับประทานอาหารตามร้านต่าง ๆ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ร้านไหนใส่กัญชาหรือไม่นั้น ต้องดูอาการหลังรับประทานว่า ขณะรับประทานอาหารนั้นอร่อยจนซดน้ำหมดชามหรือเปล่า หลังรับประทานมีอาการคอแห้งผิดปกติหรือไม่ เป็นต้น
ส่วนประเทศแถบตะวันตกที่บางประเทศ กัญชาได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฏหมาย จะสามารถใช้ส่วนประกอบของกัญชาได้หลากหลายทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน เช่น นิยมใช้ดอกกัญชามาเป็นส่วนผสมของขนม หรือของหวาน เช่นบราวนี่ คุ๊กกี้ รวมถึงมีการใช้น้ำมันสกัดจากดอกกัญชามาผสมอาหาร ซึ่งทั้งสองอย่างก็จะมีข้อแตกต่างกัน
ปกติ ใบกัญชา จะมีปริมาณสาร THC ที่ทำให้รสชาติติดอกติดใจและหลงใหลในความอร่อยน้อยกว่าปริมาณสาร THC ในดอกกัญชามากพอสมควร หากนำไปใช้ในอาหารประเภท ต้ม แกง ทอด ที่ใช้ความร้อนสูง ก็จะทำให้ปริมาณสาร THC ที่ได้หายไปอีกระดับหนึ่ง จึงส่งผลให้การกินอาหารประเภท ต้มยำไก่ใบกัญชา นั้นไม่ทำให้เมาถึงขนาดเคลิบเคลิ้ม แต่จะช่วยชูรสให้อาหารมีรสชาติดีและอร่อยมากยิ่งขึ้นนั่นเอง อาจจะทำให้คอแห้ง ปากแห้ง อาจจะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่ก็ไม่ถึงขนาดเมา ( ยกเว้นใส่ในปริมาณมากเกินขนาดกำหนด )
ส่วน ดอกกัญชา นั้นจะมีปริมาณสารที่สูงกว่าใบมาก การทำอาหารแบบตะวันตกจะนิยมใช้การละลายสารจากกัญชาออกมาอยู่ในรูปของของเหลวก่อนนำไปใช้ทำอาหาร เช่น เนยกัญชา หรือ น้ำมันกัญชา
ก่อนที่จะใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร ส่งผลให้สารสำคัญโดยเฉพาะ THC และ CBD ในปริมาณที่สูงมาก และอาหารเหล่านี้บางครั้งก็ถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้เป็นยากับผู้ป่วยบางกลุ่ม ฉะนั้นอาหารในกลุ่มนี้ก็จะมีความรุนแรงมากกว่าการใช้ใบกัญชา
4 เรื่องกัญชาน่ารู้กับอาหาร
1. การรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมกัญชานั้น จะคำนวณปริมาณที่เหมาะสมได้ยาก ปกติกัญชาจะออกฤทธิ์กับร่างกายในเวลาไม่ถึง 5 นาที แต่สำหรับการรับประทานต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที กัญชาถึงเริ่มออกฤทธิ์ นั่นทำให้บางคนรับประทานไปแล้วไม่รู้สึกอะไรในตอนต้น ก็มักจะรับประทานเพิ่มเข้าไป มารู้ตัวอีกทีก็ได้รับปริมาณที่มากเกินไปแล้ว
2. การได้รับกัญชามากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการ ” พารานอยด์ ” หรืออาการวิตกกังวล กระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจให้หัวใจเต้นแรง การปรับอุณหภูมิของร่างกายจะผิดปรกติรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ มีอาการคลื่นไส้ บ้านหมุน ซึ่งบางครั้งจะทำให้คนนั้นรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังจะตาย
3. การใช้กัญชาในปริมาณสูงจะเป็นอันตรายอย่างมากสำหรับคนที่มีปัญหากับหัวใจ หรือเป็นโรคหัวใจ เพราะกัญชาจะไปกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้
4. การได้รับกัญชาโดยที่คนใช้ไม่รู้ตัว จะยิ่งทำให้เกิดอาการข้างต้นมากขึ้นกว่าเก่า เพราะร่างกายจะสับสนเป็นอย่างมากว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 404 กัญชารักษาโรค สู่ยุคฟื้นฟูกัญชาวิทยา เดือนตุลาคม 2561
วารสารสำนักงาน ป.ป.ส. ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2561