ไนอาซิน
ไนอาซิน (ไนอะซิน) หรือ วิตามินบี 3 ( Niacin-Vitamin B3 ) เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ และเป็นหนึ่งในวิตามินบีรวม มีหน่วยวัดเป็นมิลลิกรัม มีส่วนสำคัญในการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศ ร่างกายสามารถสร้างไนอะซินขึ้นเองได้โดยใช้กรดแอมิโนทริปโตแฟน ผู้ที่ร่างกายขาดวิตามินบี1 บี2 และบี6 จะไม่สามารถสร้างไนอะซินจากทริปโตแฟนได้
ปี ค.ศ.1730 มีการพบโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีอาการผิวแห้ง แตกและมีสีแดงกุหลาบ ชื่อว่า Mal de la Rosa โดยพบมีการระบาดมากในประเทศอิตาลี สเปนและอเมริกาใต้ สันนิษฐานว่าจะเป็นเพราะการกินทอร์ทิลาร์ เป็นอาหาร หลัก แต่โรคนี้จะมีอาการเกิดแบบเป็นฤดูเท่านั้น
ปี ค.ศ.1771 ในประเทศอิตาลีก็ได้พบโรคหนึ่งที่มีอาการเดียวกัน โดยตั้งชื่อโรคชนิดนี้ว่า เพลลากรา ( Pellagra )
ปี ค.ศ.1795 เคอร์รีก็ได้ทำการทดลอง โดยให้คนกินอาหารข้าวโพดที่คาดว่าเป็นสาเหตุของโรคและทำการรักษาด้วยอาหารผสม โดยจากการสังเกต เคอร์รี ก็ได้ตั้งข้อสงสัยว่าโรคนี้น่าจะเกิดจากการติดเชื้อหรือได้รับสารพิษบางอย่างที่มีอยู่ในข้าวโพด ซึ่งจะพบได้เฉพาะในบางฤดูกาลเท่านั้น และใน
ปี ค.ศ.1920 โกลด์เบอร์เกอร์ ก็ได้พบว่าโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ จึงสรุปว่าน่าจะเกิดจากการขาดสารอาหารบางอย่างที่ไม่ใช่โปรตีนและทำการคิดค้นสารป้องกันโรคขึ้นมา
ปี ค.ศ.1937 Elvehjem ก็ได้ทำการสกัดไนอะซินออกมาได้สำเร็จ และพบว่าสามารถใช้ในการรักษาและป้องกันโรคดังกล่าวได้ จึงได้ข้อสรุปว่า สาเหตุของโรคเพลลากรา น่าจะมาจากการขาดสารไนอาซินหรือขาดสารแรกเริ่มของไนอาซินนั่นเอง
คุณสมบัติของไนอาซิน หรือ วิตามินบี 3
ไนอาซิน หรือไนอะซิน วิตามินบี 3 คือ สารชนิดหนึ่งที่สามารถละลายน้ำได้ โดยหากทำเป็นผลึก จะพบว่ามีสีขาวและไม่มีกลิ่นแต่มีรสขม และมีสูตรทางเคมีคือ C6H5O3N สามารถทนต่อความเป็นกรด-ด่าง ความร้อนและแสงสว่างได้ดี นอกจากนี้ก็สามารถใช้สำหรับป้องกันและรักษาโรคเพลลากราได้อีกด้วย
ไนอาซินสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 อย่างคือ กรดนิโคตินิก ที่ละลายได้ดีในอีเทอร์ และนิโคตินาไมด์ ที่ละลายได้ดีในน้ำและแอลกอฮอล์
หน้าที่ของไนอาซิน หรือ วิตามินบี 3
ไนอาซิน มีหน้าที่สำคัญคือ
1. เป็นส่วนประกอบของโคเอนไซม์นิโคตินาไมด์อะดินินไดนิวคลีโอไทด์ ( Nicotinamide Adenine Dinucleotide, NAD ) และนิโคตินาไมด์ อะดินีนไดนิวคลีโอไทด์ฟอสเฟต ( Nicotinamide Adenie Dinucleotide Phosphate, NADP ) โดยจะมีความสำคัญต่อการทำปฏิกิริยาหลายอย่างในร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น
NAD จะช่วยในการขนถ่ายอิเล็กตรอนในลูกโซ่ของการหายใจของเซลล์ และทำหน้าที่ในการทำปฎิกิริยาออกซิเดชั่นในกระบวนการไกลโคลิซีสอีกด้วย
NADP มีส่วนช่วยในการเปลี่ยนเฟนิลอะลานีนให้เป็นไทโรซีน และช่วยในการสังเคราะห์กรดไขมันและคอเลสเตอรอลในร่างกาย
2. มีส่วนช่วยในการบำรุงสมองและประสาท พร้อมเสริมสร้างความจำให้ดียิ่งขึ้น
3. ทำหน้าที่ในการรักษาสุขภาพของลิ้น ผิวหนังและเนื้อเยื่อในระบบการย่อยอาหารให้มีสุขภาพดีและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
4. มีส่วนช่วยในการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศ และรักษาสมดุลของฮอร์โมนเพศ
5. ทำหน้าที่ในการลดระดับของคอเลสเทอรอล ไตรกลีเซอไรด์และแอลดีแอลที่ไม่ดีต่อร่างกาย พร้อมกับเพิ่มเอชดีแอล ที่เป็นคอเลสเตอรอลชนิดนี้ให้มากขึ้น
สาเหตุของโรคเพลลากรา น่าจะมาจากการขาดสารไนอาซินหรือขาดสารแรกเริ่มของไนอาซินและไนอาซิน คือ วิตามินบี 3 (Niacin-Vitamin B3) นั่นเอง
การดูดซึมไนอาซินหรือ วิตามินบี 3
ไนอาซิน ที่อยู่ในรูปของกรดนิโคตินิกและนิโคตินาไมด์จะสามารถถูกดูดซึมได้ดีในส่วนของลำไส้เล็ก จากนั้นเนื้อเยื่อต่างๆ ก็จะนำเอาไปสังเคราะห์ต่อไป ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของคนเราก็สามารถที่จะสังเคราะห์ไนอาซินได้เองจากทริปโทเฟน โดยมีอัตราส่วนทริปโทเฟน 60 มิลลิกรัม ต่อ ไนอาซิน 1 มิลลิกรัม
Tryptophan ⇓ ⇓ ⇓ ⇓ ⇓ ⇒ ⇓ |
โดยจากแผนผังดังกล่าวจะเห็นว่าการเมแทบอลิซึมที่มีความสมบูรณ์ของทริปโทเฟน จำเป็นต้องใช้ไพริดอกซาลฟอสเฟตเข้ามาช่วยในการเร่งปฏิกิริยาการเมแทบอลิซีมของทริปโทเฟนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งหากไม่มีตัวช่วยดังกล่าวก็จะทำให้ขาดวิตามินบีหก และเป็นผลให้ขาดไนอาซินตามมาได้เหมือนกัน
วิตามินบี 3 หาได้จากอาหารอะไรบ้าง
ไนอาซินสามารถพบได้ทั้งในอาหารจำพวกพืชและสัตว์ โดยมีปริมาณการพบดังนี้
แหล่งอาหารที่พบวิตามินบี 3 หรือไนอาซินได้มาก | ถั่ว ข้าว เนื้อสัตว์ เนื้อปลา เครื่องในสัตว์ |
แหล่งอาหารที่พบวิตามินบี 3 หรือไนอาซินปานกลาง | ธัญพืช และมันฝรั่ง |
แหล่งอาหารที่พบวิตามินบี 3 หรือไนอาซินได้น้อย | ไข่ น้ำนม ผักและผลไม้ |
โดยปกติแบคทีเรียในลำไส้ของคนเราก็สามารถสังเคราะห์กรดนิโคตินิกขึ้นมาได้ แต่สังเคราะห์ได้น้อยมาก และไม่เป็นแหล่งวิตามินที่สำคัญต่อร่างกายอีกด้วย
สำหรับปริมาณของไนอาซิน (วิตามินบี 3) ที่ควรได้รับในแต่ละวัน ได้กำหนดว่าให้ยึดเอาตามปริมาณของพลังงานและโปรตีนที่บริโภคเข้าไป และรวมถึงไนอาซินที่ร่างกายสังเคราะห์เองได้ จึงประมาณได้ว่าควรจะบริโภคไนอาซินที่ 6.6 มิลลิกรัมต่อ 1000 กิโลแคลอรี่ต่อวันนั่นเอง และเนื่องจากในขณะเดียวกันทริปโทเฟนก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นไนอาซินได้ จึงได้มีการกำหนด อ้างอิงสารอาหารที่คนไทยควรได้รับประจำวันดังต่อไปนี้
ปริมาณของไนอาซินที่ควรได้รับประจำวันของคนไทยในช่วงวัยต่างๆ
เพศ |
อายุ |
ปริมาณที่ได้รับ |
หน่วย |
เด็ก | 1-3 ปี | 6 | มิลลิกรัม/วัน |
เด็ก | 4-8 ปี | 8 | มิลลิกรัม/วัน |
วัยรุ่นผู้ชาย | 9-12 ปี | 12 | มิลลิกรัม/วัน |
วัยรุ่นผู้ชาย | 13-18 ปี | 16 | มิลลิกรัม/วัน |
วัยรุ่นผู้หญิง | 9-12 ปี | 12 | มิลลิกรัม/วัน |
วัยรุ่นผู้หญิง | 13-18 ปี | 14 | มิลลิกรัม/วัน |
ผู้ใหญ่ผู้ชาย | 19 –≥ 71 ปี | 16 | มิลลิกรัม/วัน |
ผู้ใหญ่ผู้หญิง | 19 –≥ 71 ปี | 14 | มิลลิกรัม/วัน |
หญิงตั้งครรภ์ | ควรเพิ่มอีก | 4 | มิลลิกรัม/วัน |
หญิงให้นมบุตร | ควรเพิ่มอีก | 3 | มิลลิกรัม/วัน |
นอกจากนี้ หากพบว่ามีการเมแทบอลิซึมภายในร่างกายเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดความต้องการไนอาซินเพิ่มขึ้นไปด้วย เช่น กรณีที่บาดเจ็บ เป็นไข้ หรือบุคคลที่ออกกำลังกายบ่อยๆ เป็นต้น
หากขาดไนอาซิน หรือ วิตามินบี 3 เกิดปัญหาอะไรกับร่างกาย
เมื่อร่างกายขาดไนอาซิน จะทำให้เป็นโรคผิวหนังชนิดที่เรียกว่าเพลลากรา โดยเฉพาะเมื่อมีการขาดวิตามินตัวอื่นๆ ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม โรคนี้ ก็อาจมีผลมาจากปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น
1. การทานข้าวโพดหรือข้าวฟ่างมากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อทานเป็นอาหารหลัก นั่นก็เพราะในข้าวโพดมีทริปโตเฟนต่ำมาก และไนอาซินในข้าวโพดก็รวมอยู่กับสารตัวอื่น ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมเอาไนอาซินมาใช้ประโยชน์ได้ ส่วนในข้าวฟ่างก็มีลูซินสูง ซึ่งจะมีผลให้ไม่สามารถเปลี่ยนไนอาซินเป็น NAD และ NADP ได้ จึงทำให้ร่างกายขาดไนอาซินในที่สุด
2. ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ เพราะฤทธิ์ของสุราจะทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมไนอาซินได้น้อยลง และยังได้รับคุณค่าทางโภชนาการของอาหารที่น้อยกว่าปกติอีกด้วย
3. ผู้ที่มีปัญหาการย่อยและการดูดซึมอาหารผิดปกติ รวมถึงผู้ที่มีปัญหาลำไส้อักเสบ และเป็นโรควัณโรคของลำไส้
4. ผู้ที่ขาดโปรตีนและพลังงาน เพราะจะส่งผลกระทบให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมไนอาซินลดต่ำลง รวมถึงประสิทธิภาพในการเปลี่ยนไนอาซินไปเป็น NAD และ NADP ก็ต่ำลงไปด้วยเช่นกัน
อาการของโรคเพลลากราที่ร่างกายขาดวิตามิน B3 หรือ ไนอาซิน อย่างรุนแรง
- อาการแสดงในระยะเริ่มแรก จะเริ่มรู้สึกเบื่ออาหาร อ่อนเพลียมากกว่าปกติ อาหารไม่ย่อยและมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและผิวหนังอย่างเห็นได้ชัด
- อาการที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ลิ้น ปากจะมีการอักเสบ บวมแดงขึ้นมา และมีอาการปวดท้อง ท้องเดินร่วมด้วยในบางคน
- อาการทางผิวหนัง สังเกตได้ชัดคือ ผิวหนังจะมีอาการอักเสบ โดยเฉพาะในจุดที่ถูกแสงแดดจัด ซึ่งจะเป็นผื่นแดงคล้ายแดดเผาให้เห็นอย่างชัดเจน โดยหากปล่อยไว้ก็จะเริ่มเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลเข้ม แห้งแตก และจะยิ่งมีความรุนแรงขึ้นเมื่อถูกความร้อนหรือแดดเผา
- อาการทางประสาท จะมีอารมณ์ที่แปรปรวนง่าย หงุดหงิดบ่อย นอนไม่ค่อยหลับ มีอาการมึนศีรษะ ความจำแย่ลงและอาจเป็นโรคความจำเสื่อมได้ นอกจากนี้ในบางคนก็อาจมีอาการประสาทหลอนได้เช่นกัน
โดยอาการที่เกิดขึ้นจากการขาดไนอาซินเหล่านี้ ก็ถูกเรียกโดยรวมว่า “4 D S” ซึ่งก็คือ ผิวหนังอักเสบนอกร่มผ้า ท้องเสีย อาการทางจิตและตาย โดยอาการเหล่านี้จะไม่ปรากฏออกมาในตอนแรก แต่จะเริ่มปรากฏหลังจากมีอาการเริ่มแรกไปแล้วประมาณ 5 เดือน
การรักษาโรคเพลลากรา
สำหรับการรักษาเมื่อป่วยด้วยโรคเพลลากรา แพทย์จะให้ทานไนอาซินนาไมด์ร่วมกับการทานอาหารเหลว แล้วจึงเปลี่ยนเป็นอาหารอ่อนและอาหารที่มีโปรตีนสูงเมื่ออาการดีขึ้นตามลำดับ
ผลจากการได้รับไนอาซินมากเกินไป
หากร่างกายได้รับไนอาซินมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะและเป็นตะคริวได้อย่าง และหากได้รับมากกว่า 2,000 มิลลิกรัม ก็จะทำให้เสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โรคตับและภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งมีความเป็นอันตรายมากอีกด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
Krutmann, Jean; Humbert, Philippe (2010). Nutrition for Healthy Skin: Strategies for Clinical and Cosmetic Practice. Springer Science & Business Media.
Cantarella L, Gallifuoco A, Malandra A, Martínková L, Spera A, Cantarella M (2011). “High-yield continuous production of nicotinic acid via nitrile hydratase-amidase cascade reactions using cascade CSMRs”. Enzyme and Microbial Technology.