ทองแดงมีความสำคัญอย่างไร (Copper)
ทองแดงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในร่างกาย พบในเมล็ดพืชไม่ขัดขาว หรือธัญพืช และอาหารทะเล

ทองแดง คืออะไร ?

ทองแดง ( Copper ) คือ แร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มักจะจับกับโปรตีน หรือองค์ประกอบหนึ่งของเอนไซม์หลายชนิด โดยเฉพาะเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์กรดอะมิโน ในเนื้อเยื่อคอลลาเจนและอีลาสติน รวมถึงบทบาทสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยส่วนใหญ่แล้วทองแดงจะพบอยู่ในร่างกายในปริมาณที่น้อยมากและพบในเนื้อเยื่อของตามากที่สุด ส่วนในเด็ก ทารกจะพบทองแดงในตับมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 5-10 เท่าเลยทีเดียว

หน้าที่ของทองแดง

ทองแดงมีหน้าที่ที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. ทองแดงมีความสำคัญในกระบวนการเมแทบอลิซึมของเหล็ก ซึ่งจะทำหน้าที่ในการขนถ่ายเหล็กในร่างกาย โดยทองแดงที่อยู่ในรูปของเซรูโรพลาสมิน Ceruloplasmin จะเปลี่ยนเหล็กในรูปของเฟอรัสให้กลายเป็นเฟอริค จากนั้นก็จะรวมตัวเข้ากับอะโพทรานส์เฟอร์รินและกลายเป็นทรานส์เฟอร์ ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวนั่นเอง
2. ทองแดง เป็นส่วนหนึ่งของน้ำย่อยไทโรซีเนส Tyrosinase โดยจะทำหน้าที่ในการเปลี่ยนไทโรซีนให้เป็นเมลานิน และยังเป็นส่วนประกอบของน้ำย่อยไซโตโครม ซีออกซิเดส น้ำย่อยแคแทเลส ที่จะช่วยปล่อยพลังงานในเซลล์และช่วยในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจอีกด้วย
3. ทองแดงทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบของน้ำย่อยเซลรูโลพลาสมิน Ceruloplasmin ซึ่งจะทำหน้าที่ในการต้านอนุมูลอิสระภายในร่างกายและลดความเสี่ยงมะเร็ง
4. ทองแดงช่วยสร้างฮีโมโกลบินและผลิตพลังงานที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยจะทำงานร่วมกับเหล็ก
5. ทองแดงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมเหล็กจากท่อทางเดินอาหาร
6. ทองแดงช่วยในการเมแทบอลิซึมของโปรตีนและช่วยในการสมานแผล ให้แผลหายแร็วขึ้น
7. ทองแดงมีความสำคัญต่อการสังเคราะห์ฟอสโฟลิปิด ซึ่งเป็นสารที่จะทำหน้าท่ในการสร้างไมเอลีนชีทที่อยู่รอบเส้นประสาทนั่นเอง
8. ทองแดงเพิ่มประสิทธิภาพในการออกซิไดส์วิตามินซีให้กับร่างกาย
9. ทองแดงทำงานร่วมกับวิตามินซี เพื่อเสริมสร้างคอลลาเจนให้กับร่างกายและสร้างอีลาสติน ที่มีความสำคัญในการบำรุงและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผิวหนัง
10. ทองแดงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเสริมสร้างและบำรุงกระดูก
11. ทองแดงมีความจำเป็นต่อการสร้างกรดไรโบนิวคลีอิกหรือ RNA

ระดับของทองแดงในเลือดจะต่ำมากและมีภาวะโลหิตจางควบคู่ไปด้วย เพราะเมื่อขาดทองแดงก็มักจะขาดธาตุเหล็กด้วยนั่นเอง

การดูดซึมของทองแดง

ร่างกายของคนเราสามารถดูดซึมทองแดงได้ดีในส่วนของกระเพาะและลำไส้เล็กตอนต้น ส่วนการขับทองแดงออกมานั้น จะขับออกทางอุจจาระและน้ำดีเป็นส่วนใหญ่และขับออกทางปัสสาวะน้อยมาก นอกจากนี้ร่างกายจะมีความต้องการทองแดงมากขึ้น เมื่อได้รับธาตุโมลิบดีนัม แคดเมียมและสังกะสีในปริมาณสูงอีกด้วย นั่นก็เพราะธาตุเหล่านี้จะทำให้การดูดซึมทองแดงลดต่ำลง ร่างกายจึงต้องการทองแดงมากกว่าปกตินั่นเอง นอกจากนี้ยังเป็นตัวการที่ ทำให้ระดับของเซรูโรพลาสมินในพลาสมาลดต่ำลงอีกด้วย ส่วนแหล่งเก็บนั้น โดยส่วนใหญ่ทองแดงจะถูกเก็บไว้ในตับ ไต สมองและหัวใจมากที่สุด

แหล่งอาหารที่พบทองแดง

แหล่งอาหารที่สามารถพบทองแดงได้มากที่สุด คือ ตับ ไต ผักใบเขียว สมอง หัวใจและถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งปริมาณของทองแดงที่พบในแหล่งพืชนั้นจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับแร่ทองแดงที่มีอยู่ในดินที่ปลูกนั่นเอง นอกจากนี้ก็จะพบได้มากในอาหารทะเลอีกด้วย

ปริมาณทองแดงอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทยวัยต่าง ๆ

เพศ

อายุ

ปริมาณที่ได้รับ

หน่วย

เด็ก 1-3 ปี 340 ไมโครกรัม/วัน
เด็ก 4-8 ปี 440 ไมโครกรัม/วัน
วัยรุ่น 9-12 ปี 700 ไมโครกรัม/วัน
วัยรุ่น 13-18 ปี 890 ไมโครกรัม/วัน
ผู้ใหญ่ 19 – ≥ 71 ปี 900 ไมโครกรัม/วัน
หญิงตั้งครรภ์ ควรเพิ่มอีก 100 ไมโครกรัม/วัน
หญิงให้นมบุตร ควรเพิ่มอีก  400 ไมโครกรัม/วัน

ผลของการขาดทองแดง

ในคนที่ขาดทองแดงพบว่าจะมีอาการป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่น โรคขาดโปรตีนและพลังงาน โรคไตและโรคสปรู เป็นต้น โดยอาการที่แสดงให้เห็นก็คือ ระดับของทองแดงในเลือดจะต่ำมากและมีภาวะโลหิตจางควบคู่ไปด้วย เพราะเมื่อขาดทองแดงก็มักจะขาดธาตุเหล็กด้วยนั่นเอง นอกจากนี้เส้นผมก็อาจจะมีลักษณะแข็งขดเป็นเกลียว สีผมและสีผิวจางผิดปกติ มีอาการบวมน้ำอย่างเห็นได้ชัด และอาจมีอาการอ่อนเพลีย เป็นแผลที่ผิวหนังได้ง่าย หายใจผิดปกติและเกิดการเสื่อมโทรมของระบบประสาทควบคุมอีกด้วย

การเป็นพิษของทองแดง

โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่ค่อยพบการเป็นพิษของทองแดงมากนัก เพราะร่างกายของคนเรามักจะมีการเก็บทองแดงไว้ในร่างกายน้อยมาก ที่เหลือก็จะขับออกมา ดังนั้นผู้ที่ได้รับพิษจากทองแดงจึงมักจะเป็นผู้ที่บริโภคทองแดงมากกว่า 30 เท่าของปริมาณที่เหมาะสมและบริโภคต่อเนื่องเป็นเวลานานนั่นเอง รวมถึงผู้ที่เป็นโรคทางพันธุกรรม Wilson’s  Disease ด้วย เพราะโรคนี้เกิดจากการที่มีทองแดงอยู่ในตับ สมองและกระจกตาในปริมาณมาก โดยอาการผิดปกติก็คือ จะมองเห็นเป็นวงแหวนสีน้ำตาลหรือสีเขียวในกระจกตา ทรงตัวลำบาก ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อได้และมีอาการสมองโต ตับโตอีกด้วย สำหรับการควบคุมโรคก็คือต้องลดปริมาณของทองแดงให้น้อยลง หรือพยายามให้ร่างกายมีการขับถ่ายทองแดงออกไปให้มากที่สุด เพื่อให้ทองแดงในร่างกายมีปริมาณลดลงจนอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ก็อาจต้องใช้เวลาพอสมควรเหมือนกัน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

Lide, D. R., ed. (2005). “Magnetic susceptibility of the elements and inorganic compounds”. CRC Handbook of Chemistry and Physics (PDF) (86th ed.). Boca Raton (FL): CRC Press. ISBN 0-8493-0486-5.

Weast, Robert (1984). CRC, Handbook of Chemistry and Physics. Boca Raton, Florida: Chemical Rubber Company Publishing. pp. E110. ISBN 0-8493-0464-4.