โซเดียม ( Sodium )
โซเดียม ( Sodium ) ส่วนมากจะพบได้มากที่สุดในของเหลวนอกเซลล์ ในรูปของแคทไอออน โดยจะพบที่ประมาณร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือก็จะพบในกระดูกร้อยละ 40 และพบในน้ำภายในเซลล์ร้อยละ 10 นอกจากนี้ปริมาณของโซเดียมก็จะเป็น ตัวกำหนดปริมาตรของเหลวนอกเซลล์อีกด้วย
หน้าที่และประโยชน์ของโซเดียม
1. ช่วยรักษาสมดุลของความเป็นกรดด่างในร่างกาย โดยเฉพาะการควบคุมกรดด่างๆในเลือดให้อยู่ในระดับที่คงที่และยังทำหน้าที่เป็นบัฟเฟอร์ที่สำคัญของเลือดอีกด้วย
2. ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำและของเหลวในร่างกาย โดยจะทำงานร่วมกับโปแตสเซียม ซึ่งโซเดียมในรูปของแคทไอออนก็จะช่วยรักษาความดันออสโมติคภายนอกเซลล์ แลโปตัสเซียมในรูปแคทไอออนก็จะช่วยรักษาความดันออสโมติคภายในเซลล์นั่นเอง
3. ทำหน้าที่ในการส่งผ่านสัญญาณประสาทไปยังกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อมีการหดตัวอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
4. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมสารอาหารเข้าเซลล์ให้มีการดูดซึมที่ดียิ่งขึ้น
5. โซเดียมเป็นตัวช่วยสำคัญที่มีความจำเป็นมากในการรับส่งประสาทความรู้สึก
6. ป้องกันไม่ให้แร่ธาตุในร่างกายเกิดการจับเกาะภายในเลือด โดยจะทำให้แร่ธาตุที่มีอยู่ในเลือดละลายนั่นเอง
7. เมื่อใช้ร่วมกับคลอรีน จะทำให้ระบบโลหิตและน้ำเหลืองมีความสมบูรณ์มากขึ้น
8. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยของร่างกายและสามารถฟอกคาร์บอนไดออกไซด์จากร่างกายได้ดี
9. โซเดียมมีหน้าที่ในการสร้างกรดเกลือในกระเพาะ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
10. โซเดียมช่วยให้การขนส่งของกลูโคสผ่านเยื่อเซลล์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การดูดซึมโซเดียม
ร่างกายของคนเราสามารถดูดซึม โซเดียม ได้ดีในรูปของเกลือคลอไรด์ที่อยู่ในอาหารประมาณร้อยละ 95 ของโซเดียมที่กินเข้าไป โดยจะดูดซึมได้ดีในส่วนของลำไส้เล็กตอนต้น โดยเมื่อโซเดียมได้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะมีการส่ง ไปที่ไต เพื่อให้ไตทำหน้าที่กรองและส่งโซเดียมกลับไปในเลือดในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งโดยปกติแล้วโซดียมที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายประมาณร้อยละ 90-95 จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ และมีที่ขับออกมาทางอุจจาระและผิวหนังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ก็มีฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่จะทำหน้าที่ในการควบคุมความเข้มข้นของโซเดียมในของเหลวนอกเซลล์โดยตรง เรียกว่าอัลโดสเทอโรนนั่นเอง
ทั้งนี้การได้รับโซเดียมหรือเกลือจากอาหารมากเกินไปก็จะทำให้เกิดการรบกวนการดูดซึมและการใช้อาหารอีกด้วย รวมถึงทำให้เกิดอาการท้องเดิน อาเจียนและเหงื่อออกมากกว่าปกติ และทำให้มีอัตราการขับถ่ายโซเดียมออกมาทางปัสสาวะสูงขึ้นไปด้วย แต่ในขณะเดียวกัน หากร่างกายได้รับโซเดียมต่ำ ก็จะทำให้มีการขับโซเดียมออกมาทางปัสสาวะต่ำมากเช่นกัน
ส่วนการขับ โซเดียม ออกมาทางผิวหนังนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการขับเพื่อระบายความร้อนและรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ ดังนั้นปริมาณของโซเดียมที่ถูกขับออกมาทางผิวหนัง จึงขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมขณะนั้นและการออกกำลังกายด้วยนั่นเอง ดังนั้นในคนที่เป็นไข้หรือออกกำลังกายมากๆ จึงมักจะมีภาวะเสียโซเดียมในปริมาณมากไปด้วย
โซเดียม เป็นเกลือแร่ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมของเหลวในร่างกายและรักษาความดันให้อยู่ในระดับปกติ
แหล่งอาหารที่พบโซเดียม
แหล่งอาหารที่สามารพบ โซเดียม ได้มาก ส่วนใหญ่จะเป็นเกลือแกงและเครื่องปรุงรสที่ใส่เกลือลงไป รวมถึงอาหารสำเร็จรูปต่างๆ ส่วนแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ก็จะเป็นอาหารทะเล เป็ด ไก่ ไข่ และ เนื้อสัตว์อื่นๆ และนอกจากนี้จากการสำรวจก็พบว่า คนส่วนใหญ่มักจะได้รับโซเดียมจากอาหารสำเร็จรูปมากถึงร้อยละ 77 จากอาหารธรรมชาติร้อยละ 12 และจากการเติมในโต๊ะอาหารร้อยละ 6 ส่วนอีกร้อยละ 5 มาจากการประกอบอาหาร
ปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับประจำวัน
เพศ | อายุ | ปริมาณที่ได้รับ | หน่วย |
ทารก | 0-5 เดือน | น้ำนมแม่ | – |
6-11 เดือน | 175 – 550 | มิลลิกรัม/วัน | |
เด็ก | 1-3 ปี | 225 – 675 | มิลลิกรัม/วัน |
4-5 ปี | 300 – 900 | มิลลิกรัม/วัน | |
6-8 ปี | 325 – 950 | มิลลิกรัม/วัน | |
วัยรุ่นผู้ชาย | 9-12 ปี | 400 – 1,175 | มิลลิกรัม/วัน |
13-15 ปี | 500 – 1,500 | มิลลิกรัม/วัน | |
16 -18 ปี | 525 – 1,600 | มิลลิกรัม/วัน | |
วัยรุ่นผู้หญิง | 9-12 ปี | 350 – 1,100 | มิลลิกรัม/วัน |
13-15 ปี | 400 – 1,250 | มิลลิกรัม/วัน | |
16-18 ปี | 425 – 1,275 | มิลลิกรัม/วัน | |
ผู้ใหญ่ผู้ชาย | 19 – 30 ปี | 500 – 1,475 | มิลลิกรัม/วัน |
31 – 70 ปี | 475 – 1,450 | มิลลิกรัม/วัน | |
1≥ 71 ปี | 400 – 1,200 | มิลลิกรัม/วัน | |
ผู้ใหญ่ผู้หญิง | 19 – 70 ปี | 400 – 1,200 | มิลลิกรัม/วัน |
≥ 71 ปี | 350 – 1,000 | มิลลิกรัม/วัน | |
หญิงตั้งครรภ์ | ไตรมาสที่ 1 | +0 | มิลลิกรัม/วัน |
ไตรมาสที่ 2 | (+50) – (+200) | มิลลิกรัม/วัน | |
หญิงให้นมบุตร | – | (+125) – ( +350) | มิลลิกรัม/วัน |
อาการขาดโซเดียม
โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ค่อยพบการขาด โซเดียม มากนัก เพราะในอาหารส่วนใหญ่จะมีโซเดียมประกอบอยู่แทบทุกชนิด โดยเฉพาะในเนื้อสัตว์ นอกจากนี้หากโซเดียมที่อยู่ในของเหลวภายในร่างกายต่ำลง ไตก็สามารถดูดซึมกลับมาได้อีกด้วย นอกจากเมื่อมีอาการท้องเดินหรืออาเจียนอย่างรุนแรง รวมถึงการสูญเสียเหงื่อในปริมาณมากเท่านั้น ซึ่งพบว่าเมื่อร่างกายขาดโซเดียมจะทำให้ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นและพลาสมาลดลง เป็นผลให้เกิดอาการคลื่นไส้และอ่อนเพลียบ่อย รวมถึงภาวะความดันโลหิตที่ต่ำลง ชีพจรเต้นเร็วขึ้นและระบบประสาทเกิดความผิดปกติอีกด้วย หรือในกรณีที่ร่างกายสูญเสียโซเดียมมากๆ ก็จะทำให้หัวใจล้มเหลวได้เหมือนกัน
การเป็นพิษของโซเดียม
โซเดียม จะเป็นพิษเมื่อร่างกายมีโซเดียมมากเกินไป ซึ่งก็เป็นอันตรายมากทีเดียว โดยพบว่าผู้ที่ได้รับโซเดียม สูงกว่าปกติมักจะเกิดอาการเป็นพิษดังนี้
1. ร่างกายมีอาการบวมน้ำ ซึ่งก็จะทำให้ไตและหัวใจต้องทำงานหนักเกินไป จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตและโรคหัวใจได้
2. เกิดการสูญเสียโปแตสเซียมที่จำเป็นต่อร่างกายออกไปทางปัสสาวะมากขึ้น จึงมักจะรู้สึกเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา
3. ร่างกายสูญเสียน้ำมาก และทำให้การเก็บน้ำของร่างกายมีความผิดปกติได้
4. ระดับเกลือในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เสี่ยงต่อภาวะเลือดแข็งตัวและอาจนำไปสู่ภาวะต่างๆ ที่เป็นอันตรายได้ เช่น หัวใจวาย ไตวาย เป็นต้น
5. มีผลให้ความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
Weast, Robert (1984). CRC, Handbook of Chemistry and Physics. Boca Raton, Florida: Chemical Rubber Company Publishing. pp. E110. ISBN 0-8493-0464-4.
Magnetic susceptibility of the elements and inorganic compounds, in Lide, D. R., ed. (2005). CRC Handbook of Chemistry and Physics (86th ed.). Boca Raton (FL): CRC Press. ISBN 0-8493-0486-5.