คุณประโยชน์ของน้ำ (Water – H2O)
น้ำมีลักษณะโปร่งใส ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ที่ประกอบด้วยออกซิเจนและไฮโดรเจน

คุณประโยชน์ของน้ำ

น้ำ ( Water หรือ H2O ) เป็นส่วนประกอบหลักในร่างกายมนุษย์ 55% ถึง 78% ที่มีความจำเป็นต่อร่างกายเป็นอย่างมาก โดยมีความสำคัญรองมาจากอากาศเลยทีเดียว ซึ่งพบว่าคนเราสามารถเสียชีวิตได้แค่ไม่ได้รับน้ำประมาณ 2-3 วันเท่านั้น จึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการ ดื่มน้ำให้เพียงพอของร่างกายอยู่เสมอนั่นเอง นอกจากนี้ในร่างกายของคนเราก็จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากที่สุด คือประมาณร้อยละ 60 ของน้ำหนักตัว และสำหรับเด็กทารกแรกเกิด ก็จะมีน้ำมากถึงร้อยละ 75-80 ของน้ำหนักตัวเลยทีเดียว และในบทความนี้ก็จะมากล่าวถึงปริมาณของน้ำทั้งหมดในร่างกาย ความต้องการน้ำของร่างกาย การรักษาความสมดุลของน้ำและปัจจัยที่ทำให้ต้องการน้ำ รวมถึงความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับน้ำน้อยเกินไป โดยมีข้อมูลดังต่อไปนี้

องค์ประกอบของน้ำในร่างกาย

ร่างกายของคนเราจะมีน้ำกระจายอยู่ทั่วไปตามเซลล์ต่างๆ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ
1. น้ำที่อยู่ในเซลล์ ( Intracellular Fluid ) โดยจะมีปริมาณร้อยละ 38 ของน้ำหนักตัว และสามารถพบได้ในเซลล์ทุกเซลล์ โดยหน้าที่ของน้ำที่อยู่ในเซลล์ ก็จะช่วยละลายสารเคมีต่างๆ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการเมแทบอลิซึมต่างๆ ได้ดีนั่นเอง
2. น้ำที่อยู่นอกเซลล์ ( Extracelluar Fluid ) โดยจะมีอยู่ประมาณร้อยละ 22 ของน้ำหนักตัว ซึ่งก็จะแบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือ

– น้ำที่อยู่ในกระแสโลหิต โดยน้ำจะผ่านเข้าไปยังเลือดตามหลักการออสโมซิส ซึ่งจะมีโปรตีนภายในหลอดเลือดทำหน้าที่ในการดึงน้ำเข้าไปนั่นเอง

– น้ำที่อยู่ระหว่างเซลล์ โดยจะทำหน้าที่ในการส่งสารต่างๆ ระหว่างเซลล์และกระแสโลหิต ส่วนใหญ่จะพบอยู่ตามช่องโพรงของอวัยวะ เช่น น้ำหล่อลื่นในกระดูก น้ำเหลืองและน้ำในไขสันหลัง เป็นต้น

หน้าที่ของน้ำในร่างกาย

น้ำในร่างกายของคนเราจะมีหน้าที่หลายอย่างด้วยกัน โดยแบ่งออกได้เป็น 5 ข้อดังนี้

1. เป็นองค์ประกอบของเซลล์ น้ำจะทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบของเซลล์และเลือด รวมถึงน้ำตา ปัสสาวะ น้ำเหลือง เหงื่อและเอนไซม์ด้วย โดยเซลล์ต่างๆ นี้ก็จะมีปริมาณของน้ำที่แตกต่างกันไป โดยสามารถศึกษาได้จากตารางดังต่อไปนี้

ชนิดเนื้อเยื่อ ปริมาณน้ำ ( ร้อยละ)
ไต 83
หัวใจ 79
ปอด 79
กล้ามเนื้อ 76
สมอง 75
ผิวหนัง 72
ตับ 68
โครงกระดูก 22
เนื้อเยื่อไขมัน 10

 

2. รักษาสมดุลของน้ำภายในร่างกาย ร่างกายของคนเราจะเกิดความสมดุลได้จะต้องมีน้ำเป็นตัวช่วย ซึ่งน้ำจะทำหน้าที่ในการเคลื่อนผ่านผนังเซลล์เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของไอออน ซึ่งไอออนที่มีประจุบวกก็จะจับคู่กับไอออนที่มีประจุลบ ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปว่า ปริมาตรของน้ำที่อยู่นอกเซลล์จะขึ้นอยู่กับโพแทสเซียมและฟอตเฟตในเซลล์ และขึ้นอยู่กับโซเดียมและคลอไรด์ที่อยู่นอกเซลล์เช่นกัน

3. เป็นตัวทำละลาย น้ำเป็นตัวทำละลายที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดบน้ำจะรวมอยู่ในสารละลายต่างๆ และช่วยให้เซลล์นำของเสียออกจากเซลล์โดยมีสารละลายเป็นตัวพาไป ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกนำไปยังปอด ผิวหนังและไต เพื่อทำการเจือจางและขับออกไปจากร่างกายนั่นเอง

4. ควบคมอุณหภูมิของร่างกาย น้ำสามารถควบคุมอุณหภูมิของร่ากายให้คงที่ได้ดี โดยจะทำหน้าที่กระจายความร้อนไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกายอย่างทั่วถึง จึงทำให้ความร้อนของร่างกายอยู่ในระดับที่สม่ำเสมอ และหากมีความร้อนเกินเกณฑ์ น้ำก็จะช่วยในการขับความร้อนส่วนเกินออกจากร่างกายอีกด้วย ซึ่งความร้อนประมาณร้อยละ 25 ก็จะถูกระเหยออกทางปอดและผิวหนัง

5. ช่วยในการหล่อลื่น น้ำมีส่วนช่วยในการหล่อลื่นได้เป็นอย่างดี โดยจะทำให้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการเสียดสีและลดการบาดเจ็บที่อาจเกิดจากการเสียดสีได้อีกด้วย

การดื่มน้ำให้เพียงพอและสม่ำเสมอมีประโยชน์ต่อร่างกายมาก ควรดื่มอย่างน้อยน้ำ 8-10 แก้วต่อวัน

การรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย

โดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจะพยายามรักษาสมดุลของน้ำในร่างกายให้มีความคงที่อยู่เสมอ โดยหากน้ำในร่างกายลดลงหรือมีน้อยเกินไป ร่างกายก็จะเกิดการกระตุ้นไปยังสมองส่วนกลางที่เป็นส่วนควบคุมการกระหายน้ำให้เกิดความรู้สึกอยากดื่มน้ำมากขึ้น และมีการดูดซึมน้ำกลับจากไตเข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีการขับน้ำออกจากร่างกายน้อยลง เพื่อคงความสมดุลของร่างกายไว้อยู่เสมอนอกจากนี้น้ำหรือของเหลวที่อยู่ในร่างกายก็มีความสัมพันธ์กับปริมาณของโซเดียมด้วย โดยหากโซเดียมต่ำ ปริมาณของเหลวก็จะต่ำ แต่หากโซเดียมสูง ปริมาณของเหลวก็จะสูง นั่นก็เพราะน้ำจะต้องทำหน้าที่ในการนำพาโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย ซึ่งหากน้ำมีน้อยกว่าโซเดียม ก็จะทำให้นำพาโซเดียมออกไปได้น้อยและเกิดความไม่สมดุลได้นั่นเอง

ตารางแสดงการหมุนเวียนของน้ำภายในร่างกาย เพื่อรักษาความสมดุล

ปริมาณน้ำที่ร่างกายได้รับ มิลลิลิตร/วัน ปริมาณน้ำที่ร่างกายสูญเสีย  มิลลิลิตร/วัน
จากการดื่มน้ำ 1,000 ลมหายใจ 400
จากอาหาร 1,000 เหงื่อ 500
จากเมแทบอลิซึม 350 อุจจาระ 150
ปัสสาวะ 1,300
 รวม 2,350  รวม 2,350

 

1. ปริมาณของน้ำที่ร่างกายได้รับ
โดยปกติแล้วในหนึ่งวันร่างกายจะได้รับน้ำประมาณวันละ 2,350 มิลลิลิตร ซึ่งได้มาจาก
– การดื่มน้ำ 1,000 มิลลิลิตรต่อวัน
– น้ำจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ส่วนใหญ่จะได้ประมาณ 1,000 มิลลิลิตร
– น้ำจากกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย เพราะกระบวนการดังกล่าวจะทำให้ได้น้ำออกมา ซึ่งจะมีประมาณ 350 มิลลิลิตร แบ่งได้เป็น น้ำที่ได้จากไขมัน 100 กรัม 107.1 มิลลิลิตร , น้ำที่ได้จากคาร์โบไฮเดรต 100 กรัม 55.5 มิลลิลิตร , น้ำที่ได้จากโปรตีน 100 กรัม 41.3 มิลลิลิตร

2. ปริมาณของน้ำที่ถูกขับออกจากร่างกาย
ใน 1 วัน ร่างกายจะมีการขับน้ำออกเท่ากับปริมาณของน้ำที่ได้รับในแต่ละวัน คือ 2,350 มิลลิลิตร โดยขับออกผ่านทางช่องทางดังต่อไปนี้

– ไต โดยปกติแล้วไตจะทำหน้าที่ในการแยกและกรองของเสียที่ไม่จำเป็นออกจากร่างกาย พร้อมส่งกลับสารอาหารและน้ำที่มีประโยชน์กลับคืนสู่กรแสเลือดต่อ เพื่อนำไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ของร่างกายนั่นเอง ซึ่งในขณะเดียวกันก็จะช่วยควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายให้เกิดความเหมาะสมด้วย โดยของเสียที่ถูกขับออกไปนอกร่างกายนั้น ก็จะถูกตรงผ่านไปทางท่อไต ลงมาสู่กระเพาะปัสสาวะ และถูกขับออกมาเป็นปัสสาวะนั่นเอง

โดยกระบวนการขับของเสียออกทางไตนั้นก็จะต้องมีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งใน 1 นาที ก็จะมีน้ำผ่านไตมากถึง 116 มิลลิกรัมเลยทีเดียว ซึ่งในแต่ละวันพบว่าหากมีการขับถ่ายปัสสาวะน้อย ก็จะทำให้เสี่ยงต่อโรคนิ่วในไตได้ แต่หากได้รับน้ำมากเกินไปก็จะถูกขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะนั่นเอง นอกจากนี้เพื่อให้การขับของเสียทางไตมีประสิทธิภาพที่สุด จะต้องมีน้ำไม่ต่ำกว่า 400-600 มิลลิกรัมต่อวันเลยทีเดียวปัจจัยที่ทำให้ปริมาณของปัสสาวะ อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้

– ผิวหนัง โดยจะเป็นการสูญเสียน้ำในรูปของเหงื่อ ซึ่งวันหนึ่งจะสูญเสียประมาณ 500 มิลลิกรัม นอกจากนี้ร่างกายของคนเราจะมีต่อมเหงื่อที่แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ Opocrine Sweat Gland ต่อมเหงื่อที่สร้างกลิ่นออกมาด้วย และ Eccrine Sweat Gland ต่อมเหงื่อนที่ไม่มีกลิ่น โดยจะมีลักษณะของเหงื่อเป็นของเหลวใสๆ ซึ่งเหงื่อที่ออกมาก็จะช่วยให้อุณหภูมิของร่างกายคงที่ได้ดี และไม่มีกลิ่นเหมือนกันชนิดแรก นอกจากนี้เหงื่อที่ถูกขับออกมาก็จะมีโซเดียมและคลอไรด์ปนออกมาด้วย ดังนั้นในคนที่ทำงานหนัก เสียเหงื่อเยอะ หรือเป็นนักกีฬาจึงมักจะขาดโซเดียมได้ง่ายนั่นเอง

– ปอด จะมีการระเหยน้ำออกจากร่างกายทางการหายใจ โดยเฉลี่ยวันละประมาณ 300-400 มิลลิกรัม ซึ่งพบว่าผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งหรือมีไข้สูง จะมีการสูญเสียน้ำมากกว่าคนปกติทั่วไป โดยคิดเป็นร้อยละ 13 ต่ออุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

– ระบบทางเดินอาหาร โดยน้ำจะถูกหลั่งออกมาในรูปของน้ำย่อย ซึ่งจะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำในอาหารที่ทานเข้าไปด้วย โดยปริมาณน้ำที่หลั่งออกมาในรูปของน้ำย่อยมีดังนี้

น้ำลาย 1,500 มิลลิลิตร
น้ำย่อยของกระเพาะ 2,500 มิลลิลิตร
น้ำดี 500 มิลลิลิตร
น้ำย่อยจากตับอ่อน 700 มิลลิลิตร
น้ำย่อยจากลำไส้เล็ก 3,000 มิลลิลิตร
รวม 8,200 มิลลิลิตร

แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะปริมาณน้ำดังกล่าวจะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายบริเวณลำไส้ใหญ่และมีเพียงน้ำ 150 มิลลิลิตรเท่านั้นที่ถูกขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ อย่างไรก็ตามการเพื่อไม่ให้น้ำถูกหลั่งออกมามากเกินไป ควรดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน และเน้นทานอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบมากๆ พร้อมกับเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันสูงด้วย

ความต้องการของน้ำในร่างกาย

เพราะร่างกายของคนเราไม่สามารถที่จะสะสมน้ำได้ จึงจำเป็นต้องได้รับน้ำอย่างเพียงพอทุกวัน เพื่อทดแทนน้ำในส่วนที่สูญเสียไปนั่นเอง โดยการดื่มน้ำสามารถดื่มได้ในปริมาณที่ไม่จำกัด และสามารถสังเกตภาวะร่างกายขาดน้ำได้มื่อมีอาการกระหายน้ำมากกว่าปกติอีกด้วย ส่วนความต้องการน้ำของร่างกายต่อวันนั้น จะอยู่ที่ประมาณวันละ 35-40 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือหากเทียบเป็นลิตรก็คือวันละ 2 ลิตรนั่นเอง ซึ่งนั่นถือเป็นปริมาณขั้นต่ำของน้ำที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน และต้องดื่มในปริมาณที่เหมาะสม คือดื่มแบบจิบเรื่อยๆ ตลอดวัน ไม่ใช่ดื่มรวดเดียวใน ปริมาณมาก เพราะนั่นอาจทำให้เกิดอาการแน่นท้อง และน้ำถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดมากเกินไปจนทำให้หัวใจต้องทำงานหนัก ซึ่งอาจนำมาสู่ผลเสียต่อหัวใจได้นั่นเองนอกจากนี้การดื่มน้ำมากๆ ในปริมาณที่เหมาะสมก็จะช่วยให้ไตสามารถขับของเสียออกมาได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น

เพราะน้ำมีความสำคัญในการเป็นตัวทำละลายของเสียและขับเอาของเสียออกมาในรูปของปัสสาวะ และการขับเสียออกจากช่องทางอื่นๆ เช่น เหงื่อ ก็จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันหากร่างกายได้รับน้ำน้อยเกินไป ก็จะทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร ปากแห้งและทานอาหารลำบากมากขึ้น เพราะน้ำจะเป็นตัวช่วยให้ปากคอมีความชุ่มชื้น และสามารถกลืนอาหารได้ดีนั่นเอง และสำหรับความเชื่อที่ว่า การดื่มน้ำในระหว่างมื้ออาหารจะไปช่วยลดกรดเกลือในกระเพาะอาหารได้นั้นไม่จริงเลย เพราะน้ำจะผ่านกระเพาะอาหารไปอย่างรวดเร็ว จึงไม่มีผลอะไรต่อกระเพาะอาหาร แต่จะช่วยให้การย่อยอาหารเป็นไปอย่างง่ายดายมากขึ้น เพราะทำให้อาหารมีความเปียก นุ่ม นอกจากนี้หากน้ำที่ดื่มข้าไปเป็นน้ำอุ่น ก็จะยิ่งช่วยให้กระเพาะอาหารสามารถเคลื่อนไหวและย่อยอาหารได้ดีมากกว่าเดิมอีกด้วย

ปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับความต้องการน้ำของร่างกาย

ในแต่ละคนและแต่ละวันจะมีความต้องการน้ำที่แตกต่างกันไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องด้วย โดยมีปัจจัยดังต่อไปนี้
1. อายุ โดยปกติแล้วเด็กทารกจะมีความต้องการน้ำมากกว่าผู้ใหญ่ โดยคิดเป็น 100 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่เมื่ออายุมากขึ้นความต้องการน้ำของเด็กก็จะค่อยๆ ลดน้อยลงไป โดยศึกษาได้จากตารางดังต่อไปนี้

ตาราง ความต้องการน้ำของทารกตามขนาดน้ำหนักตัว

น้ำหนัก (กิโลกรัม) ปริมาณน้ำที่ทารกต้องการ (มิลลิลิตร/กิโลกรัม/วัน)
น้อยกว่า 10 100
10-20 50
มากกว่า 20 20

 

2.อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม โดยเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น ร่างกายก็จะมีการขับเหงื่อออกมาทางผิวหนังมากกว่าปกติ ทำให้ความต้องการน้ำในวันนั้นเพิ่มมากขึ้นไปด้วย แต่หากวันไหนที่อุณหภูมิลดลงและมีเหงื่อออกน้อย ก็จะไม่ค่อยเกิดความต้องการน้ำมากนัก

ตาราง ปริมาณของน้ำในร่างกายที่เสียไปในภาวะต่างๆ   

การสูญเสียน้ำ อากาศกำลังสบาย อากาศร้อน ออกกำลังมาก 
ผิวหนัง 350 350 350
ทางเดินหายใจ 350 250 650
ปัสสาวะ 1,400 1,200 500
อุจจาระ 100 100 100
เหงื่อ 100 1,400 5,000
รวม 2,300 3,300  6,600

 

3.การออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะเร่งให้ร่างกายมีการสูญเสียเหงื่อออกมามากขึ้น รวมถึงมีการสูญเสียน้ำทางปอดจากอัตราการหายใจอีกด้วย ดังนั้นเมื่อออกกำลังกาย ร่างกายจึงมักจะมีความต้องการน้ำมากกว่าปกติ

4.ส่วนประกอบของอาหารที่รับประทาน โดยพบว่าหากรับประทานอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบเยอะ ร่างกายก็จะมีความต้องการน้ำน้อย แต่หากทานอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบน้อยก็จะทำให้ร่างกายมีความต้องการน้ำสูงขึ้น นอกจากนี้ในคนที่ทานโปรตีนสูง หรือทานอาหารที่มีรสเค็มและมีผงชูรสมากๆ ก็จะทำให้ร่างกายต้องการน้ำสูงมากเช่นกัน
5.ปริมาณของเสียที่ละลายน้ำ เพราะร่างกายต้องทำการขับของเสียเหล่านั้นออกจากร่างกาย ซึ่งก็จะทำให้เกิดการสูญเสียน้ำไปพร้อมกับการกำจัดของเสียด้วย ดังนั้นจึงมักจะทำให้เกิดการกระหายน้ำเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง

ความผิดปกติของร่างกายที่มีความเกี่ยวข้องกับน้ำ

โดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจะมีการรักษาสมดุลของน้ำให้คงที่อยู่เสมอ แต่ในบางครั้งก็อาจเกิดความผิดปกติได้เหมือนกัน ซึ่งความผิดปกติของร่างกายที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับน้ำก็มีดังนี้

1. ร่างกายขาดน้ำ

เมื่อร่างกายขาดน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเพราะดื่มน้ำน้อยเกินไป หรือมีการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายมากเกินปกติ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียจากการออกกำลังกาย การอาเจียนและท้องสียอย่างรุนแรง การตกเลือด การมีแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เพราะจะทำให้มีการสูญเสียน้ำทางผิวหนังมากขึ้น นอกจากนี้ในคนที่เป็นเบาหวานที่มักจะสูญเสียน้ำมากกว่าคนปกติเช่นกัน เพราะมีการปัสสาวะบ่อยครั้งโดยไม่สามารถควบคุมได้นั่นเอง ซึ่งการขาดน้ำเท่าไหร่จะมีผลกระทบที่แสดงออกมาอย่างไร ก็สามารถดูได้จากตารางดังต่อไปนี้

ตาราง อาหารที่แสดงเมื่อขาดน้ำ ต่อปริมาณน้ำที่ขาด   

ร้อยละการสูญเสียน้ำผลที่เกิดขึ้น อาการ
2 รู้สึกกระหายน้ำ
4 กล้ามเนื้ออ่อนแรงและทำงานได้น้อยลง
10-12 ทนต่อความร้อนได้น้อยลงและมีอาการอ่อนเพลีย
20 อยู่ในอาการขั้นโคม่าและอาจตายได้

 

จากตารางสรุปได้ว่า เมื่อร่างกายมีการสูญเสียน้ำที่ร้อยละ 2 ของน้ำหนักตัว จะทำให้ปากและริมฝีปากแห้ง น้ำลายน้อยกว่าปกติ ซึ่งในบางคนอาจมีอาการริมฝีปากแห้งแตกเป็นขุยได้เลยทีเดียว นอกจากนี้ก็อาจมีอาการผิวแห้งและท้องผูกได้อีกด้วย และหากขาดน้ำที่ร้อยละ 4 ของน้ำหนักตัว ก็จะมีอาการอ่อนเพลียมากกว่าปกติ และอาจรู้สึกว่าไม่มีแรง ไม่ค่อยกระปรี้กระเปร่า นั่นก็เพราะนอกจากร่างกายจะสูญเสียน้ำแล้ว ยังมีการสูญเสียเกลือแร่ไปพร้อมๆ กับน้ำอีกด้วย เป็นผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และมีอาการเมื่อยเกร็งไปทั้งตัว นอกจากนี้ในบางคนก็อาจมีอาการเวียนศีรษะ หน้า มืดบ่อยๆ ได้เหมือนกัน แต่หากขาดน้ำมากถึงร้อยละ 10-12 ของน้ำหนักตัว ก็จะส่งผลให้ร่างกายมีอาการอ่อนเพลียอย่างหนัก พร้อมกับไม่สามารถทนต่อความร้อนได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียจากอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงหรือการอาเจียนต่อเนื่อง เพราะภาวะดังกล่าวจะทำให้ร่างกายขาดความสมดุล น้ำในเซลล์ไหลออกมาข้างนอก และกระบวนการขับน้ำออกเกิดการหยุดชะงัก ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพไม่น้อย โดยหากมีการขาดน้ำมากอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะไปรบกวนระบบประสาท จนทำให้มีอาการเซื่องซึม ไม่ค่อยร่าเ
ริงและอาจถึงขั้นหมดสติได้เลยทีเดียว โดยในภาวะรุนแรงนี้จะต้องเร่งเสริมน้ำให้กับร่างกายโดยด่วน โดยอาจเป็นการนำน้ำเข้าทางปากหรือเข้าทางเส้นเลือดในกรณีที่ไม่สามารถดื่มน้ำได้ตามปกติ

2. ร่างกายได้รับน้ำมากเกินไป

นอกจากภาวะการขาดน้ำแล้ว การที่ร่างกายได้รับน้ำมากเกินไปก็อาจเกิดผลเสียตามมาอีกด้วย โดยเฉพาะการดื่มน้ำที่มีส่วนผสมอื่น เช่นเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้ไตต้องทำงานหนักในการพยายามขับของเสียออกมาพร้อมกับน้ำส่วนเกินนั่นเอง นอกจากนี้ก็อาจเกิดจากการดื่มน้ำในปริมาณมากภายในรวดเดียวอีกด้วย เพราะร่างกายอาจจะดูดซึมน้ำเข้าสู่กระแสเลือดไม่ทัน ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักกว่าปกติเพื่อทำการขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย โดยหากขับน้ำออกจากร่างกายไม่ทัน น้ำก็จะข้าไปสู่เซลล์ต่างๆ จนทำให้มีอาการบวม และผลที่ตามมาก็คืออาการปวดหัว ชัก กระสับกระส่าย เป็นปอดบวมหรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นหมดสติ นอกจากนี้การได้รับน้ำมากเกินไปก็อาจเกิดจากการให้น้ำเกลือในโรงพยาบาลที่ต้องให้น้ำเกลือเข้าสู่กระแสเลือด โดยหากไม่ควบคุมให้ดีก็จะทำให้เกิดอาการน้ำเป็นพิษได้

ดังนั้นจึงควรให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเหมาะสมเสมอ คือไม่น้อยและไม่มากเกินไป และเมื่อรู้สึกว่ากระหายน้ำก็ควรรีบดื่มน้ำบ่อยๆ ทันที แต่แนะนำให้ดื่มแบบจิบทีละนิด อย่าดื่มแบบรวดเดียวในปริมาณเยอะๆ เด็ดขาด ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดผลเสียตามมานั่นเอง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

Marino, Bradley S.; Fine, Katie Snead (2009). Blueprints Pediatrics. Lippincott Williams & Wilkins. p. 131. ISBN 9780781782517. Archived from the original on 8 September 2017.

Van der Leun, Justine (September 2009). “A Closer Look at New Research on Water Safety”. AOL Health. Retrieved September 2009.

Water Fact sheet N°391″. July 2014. Archived from the original on 5 June 2015. Retrieved 24 May 2015.

Exposure Factors Handbook: 2011 Edition (PDF). National Center for Environmental Assessment. September 2011. Archived (PDF) from the original on 24 September 2015. Retrieved 24 May 2015.