แหล่งกำเนิดของน้ำมันไข
ร่างกายมนุษย์ต้องได้รับสารอาหารประเภทไขมันเพื่อไปช่วยทำให้ร่างกายมีพลังงานในการทำกิจกรรม แต่บริโภคมากเกินไปก็อาจจะเป็นอันตราย

แหล่งกำเนิดของน้ำมันไขและประเภทของอาหารที่มีน้ำมันไข

น้ำมันไขรูปแบบต่างๆ ที่วางขายตามสถานที่ต่างๆ ในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ หรือ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ล้วนมีด้วยกันหลากหลายชนิดให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อเลือกหาตามใจชอบ ซึ่งแต่ละชนิดก็มีข้อมูลทาง โภชนาการ และวิธีการนำไปใช้แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งนี้เราสามารถแบ่งน้ำมันไขออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภทตามแหล่งกำเนิดของน้ำมันคือ

1. น้ำมันไขที่ได้จากพืช

น้ำมันไขชนิดนี้จะถูกผลิตขึ้นโดยใช้วิธีสกัดออกมาจากพืชชนิดต่างๆที่มีปริมาณของน้ำมันอยู่ในพืชชนิดนั้น เช่น งา มะพร้าว ลูกวอลนัต ถั่วลิสง ข้าวโพด ถั่วเหลือง และ รำข้าว เป็นต้น ซึ่งชื่อน้ำมันที่เรียกก็จะใช้ชื่อของพืชชนิดนั้นประกอบอยู่ด้วย เช่น หากน้ำมันนั้นผลิตมาจากรำข้าว ก็จะเรียกว่าน้ำมันรำข้าว หรือ น้ำมันนั้นผลิตมากจากถั่วเหลือง ก็จะเรียกว่าน้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น ตัวอย่างของน้ำมันไขจากพืชที่พบได้บ่อยๆ เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันงา น้ำมันปาล์ม เป็นต้น

2. น้ำมันไขที่ได้จากสัตว์

นอกจากพืชแล้วน้ำมันไขยังสามารถผลิตออกมาจากในสัตว์ได้ด้วยเหมือนกัน โดยน้ำมันไขที่ได้จากสัตว์มักได้จากเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังบริเวณช่องท้องและส่วนอื่นๆ เช่น หมู วัว แกะ และปลา เป็นต้น ตัวอย่างของน้ำมันไขจากสัตว์ที่พบได้บ่อยๆ เช่น น้ำมันหมู เป็นต้น นอกจากนี้เรายังสามารถได้รับไขมันจากสัตว์ ในรูปแบบอื่นๆได้อีกด้วย เช่น ไขมันจากการดื่มนม ไขมันจากในไข่แดง ไขมันจากในเนื้อและหนังของสัตว์ เป็นต้น

ประเภทของอาหารที่มีน้ำมันไข

อาหารเมนูต่างๆที่เราทานเข้าไปในแต่ละวัน อาจจะมีสารอาหารประเภทไขมันผสมอยู่ด้วยในเมนูนั้นๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการที่ถูกต้อง ซึ่งเราสามารถแบ่งประเภทของอาหารที่มีน้ำมันไขเป็นส่วนประกอบได้ 2 ประเภท ดังนี้

1. อาหารที่มีส่วนของกรดไขมันอิ่มตัวเป็นหลัก คือเมนูอาหารที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูง สามารถพบได้ในอาหารประเภทที่มาจากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ นม หรือไข่ รวมถึงในพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น 

2. อาหารที่มีส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเป็นหลัก คือเมนูอาหารทีมีส่วนประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัวในปริมาณสูง สามารถพบได้ในอาหารประเภทที่มาจากพืช เช่น น้ำมันไขชนิดต่างที่สกัดได้จากพืช ( ยกเว้นน้ำมันมะพร้าว ) และโกโก้ เป็นต้น

โดยปกติแล้ว ร่างกายมนุษย์เราต้องได้รับสารอาหารประเภทไขมันจากมื้ออาหารต่างๆในแต่วัน เพื่อไปช่วยทำให้ร่างกายมีพลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ แต่หากบริโภคมากเกินไปก็อาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะการทานอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวในปริมาณที่สูง เนื่องจากกรดไขมันอิ่มตัวที่เกินมาตราฐานจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายต่างๆ ได้เช่น โรคหัวใจ โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ได้มากกว่าผู้ที่บริโภคไขมันในระดับปกติ

ซึ่งทางสมาคมโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกาและองค์การอนามัยโลก ได้ข้อมูลและแนะนำเรื่องการบริโภคไขมันที่ถูกต้องคือ ควรบริโภคอาหารที่มีไขมันไม่เกิน 15–30 % ของปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายได้รับในแต่ละวัน และกรดไขมันไม่อิ่มตัว 1 ตำแหน่ง 10-20 % หรือ 15-30 % รวมทั้งกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง 6-10% ด้วย ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ปริมาณของแคลอรี่ทั้งหมดในแต่ละวันของแต่ละคนด้วย เช่น หากในแต่ละวันได้รับปริมาณแคลอรี่ 2,000 ต่อวัน ปริมาณของไขมันที่ได้รับรวมกันจะเท่ากับ 300 – 600 มิลลิกรัม / วัน หรือไม่ให้เกิน 4-5 ช้อนโต๊ะ / วัน

ดังนั้นเพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์สูงสุดจากการบริโภคน้ำมันไข ควรเลือกประเภทที่เหมาะสม และใช้ในปริมาณที่พอดีไม่มากหรือน้อยจนเกินไป และควรดูข้อมูลทางโภชนาการที่ฉลากของอาหารชนิดนั้นประกอบด้วยเสมอ หากต้องซื้ออาหารจากภายนอกมาทาน เพื่อจะได้กำหนดและควบคุมปริมาณของไขมันที่ร่างกายจะได้รับอย่างเหมาะสม

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

สุนันท์ วิทิตสิริ. รู้จักกับ น้ำมันและไขมันปรุงอาหาร. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2559. 80 หน้า. 1.รู้จักกับน้ำมันและไขมัน. 2.ปรุงอาหาร. I.ชื่อเรื่อง. 665 ISBN 978-616-538-290-8.

Hanukoglu I, Jefcoate CR (1980). “Pregnenolone separation from cholesterol using Sephadex LH-20 mini-columns”. Journal of Chromatography A. 190 (1): 256–262. 

Javitt NB (December 1994). “Bile acid synthesis from cholesterol: regulatory and auxiliary pathways”. FASEB J. 8 (15): 1308–11.