ประโยชน์ทั่วไปของไขมันบริโภค
ไขมันเป็นกรดที่จำเป็นต่อร่างกาย เซลล์ในร่างกายล้วนมีไขมันเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น

ประโยชน์ของน้ำมันไข

หากกล่าวถึงน้ำมันไข แค่ได้ยินชื่อ ใครหลายคนก็คงคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีและเป็นอันตรายต่อร่างกายเป็นอย่างมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วน้ำมันไข ก็คือส่วนประกอบของอาหารชนิดหนึ่งที่อยู่ในสารอาหารหลัก 5 หมู่ ก็คือสารอาหาร ประเภทไขมันนั่นเอง ไขมัน ไม่ได้มีแต่โทษตามที่ใครหลายคนคิดเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ที่ดีกับร่างกายของมนุษย์เราด้วย หากบริโภคให้ถูกวิธีและใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ลองมาดูกันว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากน้ำมันไขมีอะไรบ้าง

ประโยชน์ของไขมันบริโภค

1. ประโยชน์ต่อร่างกาย

หากมีการบริโภคน้ำมันไขจากในเมนูอาหารต่างๆแล้ว  ร่างกายจะทำการย่อยสลายให้กลายเป็นกรดไขมัน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆสำหรับร่างกายดังต่อไปนี้

  • ไขมันจะทำการให้พลังงานต่อร่างกาย เพื่อให้สามารถนำพลังงานที่ได้รับไปใช้ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยไขมัน 1 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 9 กิโลแครอลี่ และยังเก็บเป็นพลังงานสำรองของร่างกายเอาไว้ หากร่างกายขาดพลังงานที่มาจากคาร์โบไฮเดรต
  • ไขมันช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย โดยไขมันจะถูกเก็บไว้ใต้ผิวหนัง และช่วยป้องกันการกระทบกระเทือนของอวัยวะภายในร่างกายได้อีกด้วย
  • เป็นตัวช่วยในการละลายวิตามินต่างๆที่ร่างกายได้รับไป เช่น วิตามิน A วิตามิน D วิตามิน E และ วิตามิน K เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินเหล่านี้ไปใช้งาน

– กรดไขมันบางชนิดในน้ำมันไข เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อกระบวนการกระบวนการในร่างกาย เช่นกระบวนการเจริญเติบโต การสืบพันธุ์ และแก้อาการผิวหนังอักเสบในบางชนิดได้

2. ประโยชน์ด้านอื่นๆ

นอกจาก ไขมัน จะให้ประโยชน์ต่อด้านร่างกายแล้ว ไขมันยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย เช่น

  • ใช้ในการประกอบอาหาร น้ำมันถือว่าเป็นวัตถุดิบหลักชนิดหนึ่งประจำห้องครัวในทุกๆบ้าน เนื่องจากน้ำมันไขที่ใช้ประกอบอาหาร เป็นสารที่มีจุดเดือดสูงมาก จึงสามารถเก็บความร้อนได้สูง ทำให้อาหารสุกเร็วและมีรสชาติที่ดี
  • ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสบู่ น้ำมันไขเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งที่สำคัญในการผลิตสบู่ โดยในกระบวนการผลิต จะทำการต้มน้ำมันไขกับสารละลายด่าง เช่น โซเดียมไฮดรอกไซด์ ก็จะได้เป็นผลิตภัณฑ์ของแข็งลื่น มีฟอง ใช้ทำความสะอาดขจัดคราบสกปรกได้ดีก็คือ สบู่นั้นเอง 
  • ใช้ในการผลิตมาการีน น้ำมันไข สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตมาการีน ได้ด้วย โดยองค์ประกอบหลักในน้ำมันไข จะเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เมื่อไปรวมตัวกับแก๊สไฮโดรเจนตรงตำแหน่งพันธะคู่ได้เป็นกรดไขมันอิ่มตัวแล้ว ก็จะทำให้น้ำมันไขเปลี่ยนจากสถานะของเหลวเป็นของแข็ง จนได้เป็น มาการีนออกมา
  • ประโยชน์ของน้ำมันไขชนิดต่างๆ น้ำมันไขสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ น้ำมันไขชนิดมีความไม่อิ่มตัวต่ำ และชนิดที่มีมีความไม่อิ่มตัวสูง โดยแต่ละชนิดมีประโยชน์ที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้
  1. น้ำมันไขที่มีความไม่อิ่มตัวต่ำ หรือมีปริมาณกรดไขมันไลโนลีอิกเป็นส่วนประกอบไม่ถึง 20%   เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันละหุ่ง น้ำมันถั่วลิสง เป็นต้น สามารถใช้ในการประกอบอาหารและ ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสบู่รวมถึงผลิตภัณฑ์ซักล้างชนิดต่างๆ
  2. น้ำมันไขที่มีความไม่อิ่มตัวสูง หรือ มีกรดไขมันไลโนลีอิกและกรดไขมันไลโนลีนิก เป็นจำนวนมาก เช่น น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น สามารถใช้ประโยชน์ได้คือ ทำสิ่งเคลือบ เช่น สีทาบ้านหรือเฟอร์นิเจอร์ น้ำมันขัดเงา นอกจากนั้นยังใช้ทำพลาสติกและน้ำมันหล่อลื่น  ได้ด้วย
  3. ประโยชน์ของน้ำมันไขที่มีกรดไขมันไลโนลีอิก 40-60% และมีคุณสมบัติผสมกันระหว่าง น้ำมันที่มีความไม่อิ่มตัวต่ำและน้ำมันที่มีความไม่อิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันงา น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น ซึ่งประโยชน์ที่มีก็จะเหมือนกับ น้ำมันที่มีความไม่อิ่มตัวต่ำ คือ ใช้ในการประกอบอาหารหรือใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสบู่รวมถึงผลิตภัณฑ์ซักล้าง และยังมีประโยชน์ที่เหมือนกับ น้ำมันไขที่มีความไม่อิ่มตัวสูง อีกด้วย

เมื่อได้ทราบข้อเท็จจริงด้านบนเกี่ยวกับ ประโยชน์ของน้ำมันไข แล้ว คงทำให้ใครหลายคนเข้าใจได้อย่างถูกต้องสักทีว่า น้ำมันไขไม่ ได้มีแต่โทษเท่านั้น แต่ก็มีด้านที่มีประโยชน์มากมายรวมอยู่ด้วย เพียงแต่การที่จะได้ประโยชน์หรือโทษจากน้ำมันไขนั้น ขึ้นอยู่กับการเลือกบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมและอย่างถูกต้อง  ซึ่งน้ำมันไขแต่ละชนิดก็ทีคุณประโยชน์แตกต่างกันไป ผู้บริโภคควรเลือกบริโภคน้ำมันไขชนิดต่างๆตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับร่างกาย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

สุนันท์ วิทิตสิริ. รู้จักกับ น้ำมันและไขมันปรุงอาหาร. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2559. 80 หน้า. 1.รู้จักกับน้ำมันและไขมัน. 2.ปรุงอาหาร. I.ชื่อเรื่อง. 665 ISBN 978-616-538-290-8.

Holmes PD (1971). “The production of experimental vitamin A deficiency in rats and mice”. Laboratory Animals. 5 (2): 239–50.