ขาหนีบดำ
เรือนร่างที่ปราศจากริ้วรอยด่างดำต่างเป็นที่ปรารถนาของทุกคน โดยเฉพาะหญิงสาวที่ชื่นชอบการแต่แต่งกายที่ต้องโชว์เนื้อหนังบ้าง ซึ่งปัญหารอยด่างดำที่สร้างความหนักใจและความกังวลใจมักจะหนี้ไม่พ้น รอยดำที่บริเวณขาหนีบ ถึงแม้ว่าบริเวณขาหนีบจะเป็นจุดลับที่มักจะไม่เปิดเผยให้ใครได้เห็นมากนัก แต่การที่ขาหนีบมีรอยด่างดำก็ทำให้สูญเสียความมั่นใจไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งการที่ ขาหนีบดำ เกิดขึ้นเนื่องจาก
สาเหตุของขาหนีบดำ
1.การเสียดสี
บริเวณขาหนีบเป็นบริเวณที่ผิวหนังมีการเสียดสีกันอยู่เกือบตลอดเวลา โดยเมื่อผิวหนังบริเวณขาหนีบมีการเสียดสีบ่อยมากขึ้น ช่วงแรกผิวหนังที่บริเวณดังกล่าวจะมีการอักเสบแดง เมื่อเกิดการอักเสบแล้วร่างกายจึงต้องทำการสร้างผิวหนังที่บริเวณดังกล่าวให้มีความหนามากขึ้น เพื่อลดการระคายเคืองที่เกิดขึ้นจากการเสียดสี ผิวหนังมีความหนาเพิ่มขึ้นจะมีการรวมตัวของเม็ดสีที่บริเวณขาหนีบมากขึ้น จึงทำให้ผิวหนังที่บริเวณขาหนีบมีสีที่เข้มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสีดำในที่สุด ซึ่งการเสียดสีของผิวหนังบริเวณขาหนีบที่ส่งผลให้เกิดเป็นสีดำเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย คือ
1.1การเสียดสีของผิวหนังกับผิวหนัง ในผู้ที่มีน้ำหนักมากเมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การเดิน การวิ่ง การลุก หรือการขยับตัวแล้ว ผิวหนังที่บริเวณขาหนีบจะเกิดการเสียดสีมากขึ้นเนื่องจากความแนบชิดของเนื้อที่เพิ่มขึ้นตามน้ำหนักตัว
1.2การเสียดสีของผิวหนังกับเสื้อผ้า ในผู้ที่ชื่นชอบการใส่กางเกงที่รัดแน่นแนบชิดกับเนื้อหรือกางเกงในหรือกางเกงขาสั้นมาก ๆ ที่มีขอบหนาตามแฟชั่นนิยมในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกางเกงที่ใส่มีเนื้อผ้าที่หยาบ เช่น กางเกงยีนส์ การเกงผ้าเนื้อหนา จะส่งผลให้เนื้อผ้าทำการเสียดสีกับผิวหนังที่บริเวณขาหนีบ จนส่งผลให้ขาหนีบเกิดการอักเสบและเป็นรอยดำเกิดขึ้นได้
2.โรคเชื้อราที่ขาหนีบ
โรคเชื้อราที่เกิดขึ้นบริเวณขาหนีบมักจะเกิดจากการติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่ม Dermatophyte เช่น โรคสังคัง ( Tinea Cruris ) ซึ่งการติดเชื้อราจะเกิดขึ้นในบริเวณที่บริเวณขาหนีบที่มีความอับชื้น เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วผิวหนังจะเกิดอาการอักเสบ มีผื่นแดง และมีอาการคันร่วมด้วย หลายคนจึงมักจะทำการเกาที่บริเวณขาหนีบส่งผลให้ผิวหนังเกิดการอักเสบมากขึ้น เมื่อรักษาจนหายผิวหนังที่บริเวณขาหนีบจึงมีรอยดำเกิดขึ้นตามมา
3.โรคผิวหนังช้าง ( Acanthosis Nigricans )
โรคผิวหนังช้าง คือ โรคที่ทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำหรือดำ มีความหนามากกว่าผิวหนังบริเวณอื่น ซึ่งผิวหนังที่เป็นโรคผิวหนังช่างจะมีลักษณะที่หยาบคล้ายกับผิวหนังของช้าง ซึ่งจะเกิดในผู้ที่มีปริมาณอินซูลินในร่างกายสูงผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิด ยากระตุ้นการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ยารักษาโรคไทรอยด์ เป็นต้น เมื่อร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนอินซูลินสูงส่งผลให้ร่างกายมีการผลิตเม็ดสีผิวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณที่เกิดการเสียดสีมาก เช่น ต้นคอที่มีรอยพับ ขาหนีบ เป็นต้น
4.การตั้งครรภ์
ขาหนีบดำเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงที่การตั้งครรภ์ เนื่องจากในขณะที่มีการตั้งครรภ์ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างเฉียบพลัน ทำให้ร่างกายมีการผลิตเม็ดสีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผิวหนังมีสีเข้มขึ้นทั่วร่างกายโดยเฉพาะส่วนที่มีการเสียดสีมาก เช่น ใต้รักแร้ ขาหนีบ ต้นคอ เป็นต้น ซึ่งในบางรายความเข้มของผิวหนังจะยังคงอยู่แม้ว่าจะคลอดบุตรแล้วก็ตามแต่ในบางรายเมื่อคลอดบุตรผิวหนังก็จะกลับมาเป็นสีปกติก่อนที่จะตั้งครรภ์ได้เช่นกัน
จะพบว่าปัจจัยที่ทำให้ขาหนีบมีรอยดำเกิดขึ้นเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวัน และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายถ้าไม่ระมัดระวัง แต่ถึงแม้ว่าสาเหตุของอาการขาหนีบดำจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายในเป็นประจำก็ตาม
วิธีการป้องกันไม่ให้ขาหนีบเกิดเป็นรอยดำ
1.การลดการเสียดสี
อาการขาหนีบดำส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นส่วนมากจะเกิดจากการเสียดสีของผิวหนังบริเวณขาหนีบ ซึ่งมักเกิดขึ้นในผู้ที่มีเนื้อที่บริเวณต้นขาหรือคนที่มีรูปร่างอ้วน ดังนั้นการลดการเสียดสีที่เกิดขึ้นบริเวณขาหนีบเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยลดอาการรอยดำที่บริเวณขาหนีบได้ โดยการลดการเสียดสีสามารถทำได้ดังนี้
1.1 การทาครีม การทาครีมหล่อลื่น เช่น น้ำมันสกัดจากธรรมชาติ ปิโตรเลียมเจล โลชั่น ครีมบำรุงผิว เพื่อเข้ามาเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิวหนังบริเวณขาหนีบและลดการเสียดสีที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ป้องกันการเกิดรอยดำหรือลดรอยดำที่เกิดขึ้นบริเวณขาหนีบให้ค่อย ๆ จางลง
1.2 การทาแป้ง นอกจากการทาครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นแล้ว การทาแป้งเพื่อป้องกันความอับชื้นที่บริเวณขาหนีบสามารถช่วยลดการเกิดโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในบริเวณขาหนีบได้ ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้จะทำให้บริเวณขาหนีบมีการอักเสบจนเป็นที่มาของรอยดำที่บริเวณขาหนีบ
1.3 สวมใส่กางเกงที่ระบายอากาศได้ดี กางเกงที่สวมใส่ ไม่ว่าจะเป็นกางเกงชั้นนอกหรือกางเกงชั้นใน ควรเลือกกางเกงที่ตัดเย็บจากผ้าที่ไม่ระคายเคืองผิว สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี และควรสวมกางเกงที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป เพราะกางเกงที่รัดแน่นจะทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างผิวหนังกับเนื้อผ้าทำให้เกิดการอักเสบได้ ส่วนเวลานอนไม่ควรที่จะสวมกางเกงในที่รัดแน่นหรือบิกินี้ที่เป็นเส้นหนา ๆ เพื่อช่วยลดการรัดตึงซึ่งจะทำให้เกิดการเสียดสีที่บริเวณขาหนีบให้น้อยลง
1.4 ควบคุมน้ำหนัก สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวสูงหรือผู้ที่มีเนื้อมากในบริเวณขาหนีบจะทำให้เนื้อที่บริเวณขาหนีบมีโอกาสเกิดการเสียดสีจนทำให้เกิดการอักเสบได้ ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงในการเสียดสีของเนื้อที่บริเวณขาหนีบให้น้อยลง ควรทำการลดน้ำหนักและออกกำลังกายเพื่อบริหารกล้ามเนื้อที่บริเวณขาหนีบให้มีความกระชับ และมีความแข็งแรง เพื่อลดการเสียดสีที่จะทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบ ป้องกันการเกิดรอยดำที่ส่วนของขาหนีบอย่างได้ผล เพราะรอยดำที่ขาหนีบรอยละ 80 เกิดจากการเสียดสีของเนื้อส่วนเกินนั่นเอง
2. ควบคุมระดับฮอร์โมน
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะมีระดับฮอร์โมนอินซูลินสูงมากกว่าคนปกติทั่วไป จึงส่งผลให้ผิวหนังบริเวณขาหนีบมีรอยดำเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างถูกต้อง เพราะนอกจากจะสามารถช่วยควบคุมอาการของโรคเบาหวานได้แล้ว ยังสามารถป้องกันไม่ให้เกิดลดรอยดำที่เกิดขึ้นในบริเวณขาหนีบได้อีกด้วย
3.การขัดผิว
การขัดผิวเป็นการเร่งการผลัดเซลล์ผิวที่ตายและเกาะติดอยู่ที่บริเวณผิวหนังส่วนของขาหนีบให้หลุดออกไป โดยเฉพาะเซลล์ผิวที่มีความหนาและมีสีเข้ม ซึ่งการขัดผิวสามารถขัดผิวด้วยครีมขัดผิว (Scrub) หรือใช้สมุนไพรธรรมชาติ เช่น ผงขมิ้น น้ำมะนาว มะขามเปียก เป็นต้น ซึ่งการขัดผิวควรขัดอาทิตย์ละประมาณ 2-3 ครั้งเท่านั้น ไม่ควรขัดทุกวันเพราะการขัดทุกวัน นอกจากจะไม่ช่วยให้ขาหนีบขาขึ้นแล้ว อาจจะทำให้ผิวหนังบริเวณขาหนีบเกิดการอักเสบจนเกิดรอยดำก็เป็นได้
4.รักษาอาการอักเสบ
หลายคนเมื่อมีอาการคันที่บริเวณขาหนีบ มักจะปล่อยไม่สนใจที่จะทำการรักษา ด้วยคิดว่าไม่เป็นอันตรายร้ายแรง ถึงแม้ว่าอาการอักเสบที่บริเวณขาหนีบจะไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็จะทำให้เกิดรอยดำที่บริเวณขาหนีบได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการคัน ผื่นแดงหรืออาการอักเสบเกิดขึ้นที่บริเวณขาหนีบ ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง ป้องกันการเกิดรอยดำที่บริเวณขาหนีบเนื่องจากการอักเสบที่เกิดขึ้นนั่นเอง
การป้องกันไม่ให้เกิดรอยดำที่บริเวณขาหนีบเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ขาหนีบแลดูสวยงาม แต่ทว่าบางคนนั้นไม่รู้ตัวว่าพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การออกกำลังกาย การใส่เสื้อผ้าที่รัดตึง การปล่อยให้ขาหนีบอับชื้นบ่อย การเกาที่บริเวณขาหนีบ จะส่งผลให้ขาหนีบเกิดรอยดำ มารู้ตัวอีกทีที่บริเวณขาหนีบก็มีสีดำคล้ำไม่สวยงามเกิดขึ้นแล้ว การจะป้องกันไม่ให้ขาหนีบมีรอยดำเพิ่มมากขึ้นจะต้องทำควบคู่กับการขจัดรอยดำที่มีอยู่ออกไป ดังนั้นแนวทางที่จะช่วยทำให้รอยดำที่บริเวณขาหนีบหายไปจึงมีความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติ
ขาหนีบมีรอยดำเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไม่ระวัง เช่นการออกกำลังกาย การใส่เสื้อผ้าที่รัดตึง การปล่อยให้ขาหนีบอับชื้นบ่อย การเกาที่บริเวณขาหนีบ
วิธีรักษารอยดำที่บริเวณขาหนีบสามารถรักษาและทำให้ผิวหนังกลับมาขาวเนียนดังเดิมได้ ดังนี้
1.การทาครีมลดรอยดำ
ครีมที่มีส่วนผสมของสารไวเทนนิ่ง ( Whitening ) เช่น วิตามินหรือกรดแอสคอร์บิค แอซิด ( Ascorbic Acid ), กรดผลไม้ หรือสารกลุ่ม AHA ( Alpha Hydroxy Acids ) เป็นต้น ซึ่งสารไวเทนนิ่งจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิแนส ( Tyrosinase ) ที่มีหน้าที่กระตุ้นการสร้างเม็ดสีผิว ดังนั้นเมื่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิแนสได้แล้ว อัตราการสร้างเม็ดสีผิวจึงลดลงผิวหนังจึงมีสีที่ขาวขึ้น ดังนั้นการทาครีมลดรอยดำจึงสามารถช่วยลดรอยดำที่บริเวณขาหนีบได้ การทาครีมลดรอยดำอาจจะต้องใช้เวลานานกว่ารอยดำที่เกิดขึ้นจะหาย
2.การรักษาด้วยเลเซอร์ ( Laser )
แสงเลเซอร์ ( LASER หรือ Light Amplification By Stimulated Emission of Radiation ) คือ การใช้แสงที่มีคลื่นความถี่และความยาวแสงเท่ากันมารวมตัวกันเพื่อให้ได้คลื่นแสงที่มีความเข้มสูง การรักษาด้วยแสงเลเซอร์จะทำการฉายไปยังบริเวณขาหนีบที่มีรอยดำจะเข้าไปยับยั้งการสร้างเซลล์เม็ดสีของร่างกายที่บริเวณดังกล่าว ทำให้ผิวหนังที่บริเวณขาหนีบมีการสร้างเซลล์เม็ดน้อยลง ผิวหนังจึงมีสีขาวขึ้นนั่นเอง
3.การรักษาด้วย IPL ( Intense Pulse Light )
IPL คือ การรักษาที่ใช้แสงที่มีความยาวคลื่นกว้างกว่าแสงเลเซอร์ ซึ่งความยาวคลื่นของ IPL มีความยาวคลื่นอยู่ใน 420 นาโนเมตร ( nm ) ถึงความยาวคลื่น 1,200 นาโนเมตร ( nm ) ซึ่งกลไกการทำงานจะมีลักษณะเดียวกับแสงเลเซอร์ นั่นคือ คลื่นแสง IPL จะเข้าไปยับยั้งการผลิตเม็ดสีผิวของร่างกายที่บริเวณขาหนีบ ทำให้การผลิตเม็ดสีผิวน้อยลง สีผิวที่บริเวณขาหนีบจึงค่อย ๆ จางลงและขาวขึ้น และคลื่นแสง IPL ยังสามารถช่วยลดอาการอักเสบที่เกิดขึ้นจากการเสียดสีหรือเชื้อราให้ลดลงได้อีกด้วย
4.การรักษาด้วยไอออนโตฟอรีซิส ( Iontophoresis )
วิธีนี้เป็นการรักษารอยดำที่บริเวณขาหนีบโดยอาศัยกระแสไฟฟ้าต่ำควบคู่กับการใช้วิตามิน โดยจะใช้วิธีการไอออนโตฟอรีซิส ( Iontophoresis ) จะใช้กระแสไฟฟ้าทำการกระตุ้นให้รูขุมขนที่บริเวณผิวหนัง ( Skin pore ) ที่บริเวณขาหนีบมีการขยายตัวขึ้น และเมื่อมีการใช้วิตามิน เช่น วิตามินอี วิตามินซี ร่วมด้วย กระแสไฟฟ้าจะกระตุ้นให้วิตามินสามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ลึกมากขึ้น จึงสามารถเข้าไปยับยั้งการสร้างเซลล์เม็ดสีอย่างได้ผล ทำให้ผิวหนังที่บริเวณขาหนีบมีผิวขาวกระจ่างใสขึ้น
การรักษารอยดำที่บริเวณขาหนีบสามารถทำให้รอยดำหายไป ผิวหนังที่บริเวณขาหนีบกลับมาเป็นขาวเนียนตามธรรมชาติได้อย่างแน่นอน แต่จะต้องทำการรักษาเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง ขึ้นอยู่กับความหนาและความเข้มของรอยดำที่บริเวณขาหนีบด้วย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยหรือขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้เข้ารับการรักษาด้วย
แต่ถึงแม้ว่าการรักษาจะสามารถทำให้รอยดำที่บริเวณขาหนีบหายไปได้ก็ตาม แต่ถ้าผู้รักษายังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดรอยดำ เช่น ขาหนีบมีความอับชื้นตลอดเวลา ผิวหนังบริเวณขาหนีบมีการเสียดสี ใส่กางเกงที่รัดตึง ใส่กางเกงเนื้อหยาบแล้ว รอยดำที่หายไปก็จะสามารถเกิดขึ้นได้อีก ดังนั้นเมื่อรักษารอยดำที่บริเวณขาหนีบหายแล้ว ควรทาครีมลดรอยดำและปฏิบัติตามวิธีการป้องกันการเกิดรอยดำที่บริเวณขาหนีบร่วมด้วย ก็จะทำให้ขาหนีบขาวเนียนสวยใสตลอดไป ขาหนีบดำป้องกันและรักษาได้ไม่ยากเพียงคุณใส่ใจสักนิด
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
“American Running Association”. Archived from the original on March 19, 2006. Retrieved 2008-08-23.
Kenneth S. Saladin (2010). Anatomy & Physiology: The Unity of Form and Function (5th ed.). McGraw Hill. OCLC 743254985.