วิธีรักษาฝ้าบนผิวหน้าด้วยวิธีธรรมชาติ
ฝ้าเป็นความผิดปกติบนผิวหนังมีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม อาจมีสีน้ำตาลอมเทา สีเทา สีดำ หรือสีม่วงอมน้ำเงิน พบในตำแหน่งที่เผชิญกับแสงแดดโดยตรง

ฝ้าบนผิวหน้า

ในปัจจุบันทั้งหนุ่มสาวหันมาดูแลผิวพรรณโดยเฉพาะผิวหน้ากันมากขึ้น ในบางครั้งถึงแม้จะทาครีมบำรุงอย่างดีแล้ว แต่ผิวสวยก็ยังมีจุดด่างดำมากวนใจ ทำให้ผิวหน้าหมองคล้ำไม่สดใสเท่าที่ควร หนึ่งในนั้นก็คือ ฝ้า ซึ่งเจ้าฝ้าจุดดำๆ นี้แม้ว่าจะไม่มีอันตรายต่อสุขภาพโดยตรง แต่กลับทำให้หลายๆ คนเสียความมั่นใจและเสียบุคลิกภาพที่ดี จนต้องหาหนทางแก้ไขโดยการใช้รองพื้นปกปิดหรือหาทางรักษาให้ ฝ้าบนผิวหน้า ดูจางลงโดยด่วน

สาเหตุการเกิดฝ้าบนผิวหน้า

ปัญหา ฝ้าบนผิวหน้า พบมากในคนไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน มีแสงแดดจัดเกือบทั้งปี ยิ่งผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง หรือชอบเล่นกีฬากลางแจ้งจะมีโอกาสเป็นฝ้าที่ผิวหน้าได้มากกว่าผู้อื่น และในเพศหญิงมีโอกาสเป็นฝ้าที่ผิวหน้าได้สูงกว่าเพศชายถึง 9 เท่า โดยมักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงในช่วงอายุ 20-50 ปี นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่าผู้ที่มีผิวคล้ำหรือผิวสีเข้มจะมีโอกาสเป็นฝ้าได้มากกว่าผู้มีผิวขาวอีกด้วย
ฝ้า หรือ Melasma ( หรือ Cholasma ) เป็นความผิดปกติบนผิวหนังที่ไม่ได้มีมาแต่กำเนิด พบได้บ่อยในประเทศเมืองร้อนที่มีแดดจัดตลอดทั้งปี เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี หรือ Melanocytes ที่มีหน้าที่สร้างเม็ดสี ( Melanin pigment ) ทำงานมากกว่าปกติ ซึ่งเมื่อผิวต้องเผชิญกับแสงแดด ร่างกายก็จะสร้างเม็ดสีเมลานินออกมาเพื่อช่วยกรองรังสียูวี ยิ่งได้รับแสงแดดมาก เม็ดสีเมลานินนี้ก็ยิ่งถูกผลิตออกมามากยิ่งขึ้นตามไปด้วย โดยฉพาะรังสี UVA ซึ่งมีคลื่นที่ยาวกว่า UVB จะสามารถทำลายชั้นผิวได้ลึกกว่า นอกจากแสงแดดแล้วปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดฝ้าบนผิวหน้ายังมีอีกหลายปัจจัย ได้แก่ การทานยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนเพศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการตั้งครรภ์หรือในวัยทองที่หมดประจำเดือนซึ่งฮอร์โมนเพศลดลง ปัจจัยด้านพันธุกรรมที่เป็นเหมือนกับคนในครอบครัวซึ่งแม้จะรักษาหายแล้วก็มีโอกาสที่จะเกิดซ้ำสูง การแพ้สารบางชนิดในเครื่องสำอาง เช่น เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำหอม ซึ่งน้ำหอมทำปฏิกิริยากับแสงแดดจนก่อให้เกิดฝ้าบนผิวหน้า การรับประทานยาบางชนิด เช่นยากลุ่มไฮโดรควิโนน ( Hydroquinone ) และยากันชักกลุ่มฟีไนโทอิน ( Phenytoin-related anticonvulsants ) ผู้ที่ตับทำงานผิดปกติและการขาดสารอาหารกลุ่มวิตามินบี 12 เป็นต้น

ฝ้าบนผิวหน้า มีหลายชนิดโดยมีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม อาจมีสีน้ำตาลอมเทา สีเทา สีดำ หรือสีม่วงอมน้ำเงิน มักพบในตำแหน่งที่เผชิญกับแสงแดดโดยตรง เช่น หน้าผาก โหนกแก้ม เหนือคิ้ว จมูก เหนือริมฝีปาก คาง และหน้าอก รวมถึงบริเวณแขนด้วย

ฝ้าบนผิวหน้า แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. ฝ้าบนผิวหน้าแบบตื้น หรือ Epidermal type เป็นฝ้าที่มีขอบเขตชัดเจน มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลเข้ม หรือดำ เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี สร้างเม็ดสีและผลักขึ้นสู่ผิวหนังชั้นนอก ( ชั้นหนังกำพร้า ) มีโอกาสรักษาให้หายได้ง่ายในเวลาอันสั้น

2. ฝ้าบนผิวหน้าแบบลึก หรือ Dermal type เป็นฝ้าที่มีขอบเขตไม่ชัดเจน มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลเทา สีเทา หรือสีม่วงอมน้ำเงิน เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี สร้างเม็ดสีออกมาในชั้นหนังแท้ ซึ่งอยู่ใต้ผิวชั้นนอก ( ชั้นหนังกำพร้า ) จึงทำให้มีสีอ่อนกว่าฝ้าแบบตื้น มีโอกาสรักษาให้หายได้ยากและต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานาน

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดฝ้าบนผิวหน้า

แม้ว่า ฝ้าบนผิวหน้า จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ก็มีวิธีรับมือป้องกันและสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยอันก่อให้เกิดฝ้าได้ ดังนี้
1. การป้องกันแสงแดด พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง โดยเฉพาะในช่วงแดดจัดตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง บ่าย 4 โมงเย็น หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการตากแดดได้ให้ใช้อุปกรณ์ช่วยกันแดดได้แก่ ร่ม หมวก หน้ากาก เสื้อแขนยาว ที่ผลิตมาเพื่อใช้ป้องกันรังสียูวีโดยเฉพาะ และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดด ที่มีคุณสมบัติป้องกัน UVA และ UVB มีค่าป้องกัน Sun Protection Factor หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่าค่า SPF มากกว่า 30 ขึ้นไป รวมถึงต้องมีค่า Protection Grade of UVA หรือ PA มากกว่า 2+ ขึ้นไป ควรทาครีมกันแดดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และทาก่อนออกแดดอย่างน้อย 30 นาที ใช้ในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไปจนไม่ทั่วถึง

2. หลีกเลี่ยงยาบางชนิดที่ก่อให้เกิดฝ้าบนผิวหน้า เช่น ยากันชักกลุ่มฟีไนโทอีน อาจแจ้งแพทย์เพื่อให้จ่ายยากลุ่มอื่นแทน และยาเพิ่มฮอร์โมนเพศ เช่น ยาคุมกำเนิด ( ในผู้ที่ฮอร์โมนเพศเพิ่มขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างมิอาจเลี่ยงได้ เช่น สตรีตั้งครรภ์ พบว่าในบางรายเมื่อคลอดบุตรแล้วและฮอร์โมนเพศดังกล่าวลดลง รอย ฝ้าบนผิวหน้ามีโอกาสจางลงและหายไปได้ในที่สุด )

3. หลีกเลี่ยงการทาครีมหรือใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือกลุ่มยาที่อาจเกิดปฏิกิริยา และมีความไวต่อแสงสูง โดยเฉพาะในครีมทาผิวขาวที่มีส่วนผสมของ “ไฮโดรควิโนน” เป็นต้น

ฝ้าเป็นความผิดปกติบนผิวหนัง มีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม อาจมีสีน้ำตาลอมเทา สีเทา สีดำ หรือสีม่วงอมน้ำเงิน พบในตำแหน่งที่เผชิญกับแสงแดดโดยตรง

วิธีรักษาฝ้าบนผิวหน้า

เมื่อป้องกันผิวอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาฝ้ามากวนใจ วิธีต่อไปคือการดูแลรักษา ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายวิธี สามารถเลือกไปปรับใช้ได้ตามความชอบและความพร้อมของแต่ละท่าน เนื่องจากบางวิธีอาจมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ไวยิ่งขึ้น ดังนี้

1. รักษาด้วยการทายา วิธีนี้ใช้ได้ผลกับฝ้าตื้นมากกว่าฝ้าลึก หากทายารักษาอย่างต่อเนื่องประมาณ 6 เดือน พบว่า ฝ้าบนผิวหน้า มีอาการจางลงอย่างชัดเจน กลุ่มยาทารักษา ฝ้าบนผิวหน้าได้แก่ กลุ่มยาที่มีส่วนผสมของไฮโดรควินโนน ( Hydroquinone ) โดยตัวยาจะช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่มีส่วนในการสร้างเม็ดสีของเซลล์สร้างเม็ดสีใต้ผิวหนัง และยังช่วยทำลายเม็ดสีบางส่วนที่เกิดขึ้นแล้วใต้ผิวหนังอีกด้วย ผลข้างเคียงของการทายาชนิดนี้คืออาจทำให้ผิวบริเวณที่ทา แสบ แดงและลอกเป็นขุยได้ จึงควรทาในปริมาณน้อยๆ ก่อน แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้น หากมีอาการระคายเคืองรุนแรงควรทาแบบคืนเว้นคืน หรือ เว้น 2 คืน เป็นต้น และอีกตัวยาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คือ ยาที่มีส่วนผสมร่วมกันของกรดวิตามินเอ

ไฮโดรควินโนนและสารสเตียรอยด์อ่อนๆ เนื่องจากเป็นยาทาที่ใช้งานง่าย เพราะมีสารสเตียรอยด์ในปริมาณต่ำ ช่วยลดอาการระคายเคืองที่อาจเกิดจากตัวยา นอกจากยาทาแล้ว ยังมียากินที่ช่วยในการรักษา ฝ้าบนผิวหน้า ได้แก่ ยากลุ่มทรานีซามิก ( Tranexamic acid ) ซึ่งใช้อย่างแพร่หลายในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลี ทั้งนี้ควรอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์

2. การรับประทานวิตามินเสริม ที่มีส่วนผสมของวิตามินซี วิตามินเอ และวิตามินอี ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ดูแลตัวเองจากภายในสู่ภายนอก ช่วยให้ผิวแข็งแรง ลดริ้วรอย และยังช่วยป้องกันไม่ให้ฝ้าที่เป็นอยู่ลุกลามขยายตัวขึ้นใหญ่กว่าเดิมอีกด้วย

3. การทาครีมบำรุง ที่มีส่วนช่วยในการรักษาฝ้า โดยมีส่วนผสมของ วิตามินซี สารอาร์บูติน ( Arbutin ) กรดโคจิก ( Kojic ) และ สาร AHA จะทำให้ผิวหน้าดูขาวกระจ่างใสขึ้น ฝ้าบนผิวหน้าแลดูจางลง ซึ่งการทาครีมบำรุงเป็นวิธีที่ต้องใช้ความสม่ำเสมอและอาจต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรจึงจะเห็นผล

4. การรักษาด้วยหัวไชเท้า โดยการนำหัวไชเท้าไปล้างให้สะอาด จากนั้นนำไปบดหยาบ ๆ แล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 10-20 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำอุ่น จากนั้นล้างตามอีกครั้งด้วยน้ำเย็นเพื่อปิดกระชับรูขุมขน ( สำหรับผู้ที่มีปัญหาผิวแพ้ง่ายไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้โดยตรงแต่อาจใช้ได้ในรูปของสบู่สมุนไพรสูตรหัวไชเท้าแทน เพราะจะมีความอ่อนโยนต่อผิวมากกว่าและสามารถชำระล้างได้เป็นประจำทุกวัน เช้า-เย็น ฝ้าบนผิวหน้าก็จะค่อยๆจางลง และผิวดูกระจ่างใสขึ้น ) ทำสัปดาห์ละ 3-4 ครั้งหรือวันเว้นวันก็ได้ หัวไชเท้ามีคุณสมบัติช่วยลดริ้วรอย ช่วยให้ ฝ้าบนผิวหน้า ดูจางลง และยังช่วยให้ผิวดูกระจ่างใสขึ้น

5. การรักษาด้วยว่านหางจระเข้ โดยการเลือกใบว่านหางจระเข้ที่ใหญ่ๆ และแก่แล้ว นำไปล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นแช่น้ำไว้ประมาณ 10 นาที แล้วปอกเปลือกออก ล้างน้ำอีกครั้งก่อนจะนำไปบดหรือปั่นให้ละเอียดพอสมควร นำมาพอกหน้าทิ้งไว้ 15-20 นาที ทำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จะช่วยให้ผิวแลดูกระจ่างใส ไร้ริ้วรอยและฝ้าบนผิวหน้าดูจางลง

6. การใช้มะขามเปียก เป็นอีกหนึ่งวิธีตามธรรมชาติที่ได้ผลดี วิธีการคือให้นำเนื้อมะขามเปียกมาทาหรือพอกบางๆ บริเวณที่เป็นฝ้า พอกทิ้งไว้เพียง 3-5 นาที แล้วล้างออก จะช่วยลดรอยด่างดำ ช่วยผลัดเซลล์ผิว และยังทำให้หน้าดูขาวกระจ่างใสขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ หากไม่มีมะขามเปียกอาจใช้มะกรูดหรือมะนาว หรือในรูปของสบู่สมุนไพรสูตรมะขามน้ำผึ้งแทนได้ สบู่สมุนไพรจะมีความอ่อนโยนต่อผิวมากกว่าแบบอื่นๆ ใช้ง่าย และยังเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวได้มากขึ้นจากน้ำผึ้งป่าซึ่งเป็นสมุนไพรชั้นดีอีกตัวหนึ่งและยังสามารถชำระล้างผิวหน้าได้เป็นประจำทุกวัน เช้า-เย็นก็จะช่วยผลัดเซลล์ผิว ลดริ้วรอย และทำให้ผิวหน้าดูกระจ่างใสขึ้น

7. การลอกผิวด้วยกรดผลไม้ เช่น กรดไกลโคลิก ( Glycolic acid ) และกรดซาลิไซลิก ( Salicylic acid ) ซึ่งถือว่าเป็นการลอกผิวในระดับตื้น เพราะเป็นการลอกทิ้งของเซลล์ผิวในชั้นหนังกำพร้าที่มีเม็ดสีมากหรือเป็นฝ้าหลุดลอกออกจากผิวได้เร็วขึ้น จึงทำให้ฝ้าบนผิวหน้าแลดูจางลง วิธีนี้ต้องใช้กรดผลไม้ในปริมาณที่เข้มข้นและเสี่ยงต่อการเกิดผิวไหม้ จึงควรอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์

8. การลอกผิวด้วยสารเคมีในระดับลึก ช่วยรักษาฝ้าบนผิวหน้าแบบลึก โดยการใช้กรดไตรคลอโรอะซิติก ( Trichloroacetic acid ) ซึ่งหลังการรักษาอาจพบผลแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์ได้แก่ การเกิดรอยแผลเป็น รอยดำ หรือการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสเริม การรักษาด้วยวิธีนี้จึงต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ ต้องรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น สิ่งสำคัญหลังการลอกหน้าด้วยวิธีนี้คือต้องระมัดระวังมิให้ผิวโดนแดด ทาครีมกันแดดอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ หากพบอาการผิดปกติ เช่น หน้าบวมหรือเจ็บปวดใบหน้ามากต้องรีบกลับไปพบแพทย์โดยด่วน

9. การกรอผิวด้วยเกล็ดอัญมณี ( Microdermabrasion : MD ) จะช่วยให้เซลล์ผิวชั้นหนังกำพร้าหลุดลอกเร็วขึ้น จึงช่วยลดรอยดำจากฝ้าบนผิวหน้าให้ดูจางลงได้ แต่เป็นวิธีที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง และหลังรักษาต้องระมัดระวังไม่ให้ผิวสัมผัสกับแสงแดดโดยเด็ดขาด

10. การใช้แสง/เลเซอร์ ( Light Therapy/Laser ) การเลเซอร์เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและเห็นผลเร็ว มีผลข้างเคียงน้อย เลเซอร์และคลื่นแสงที่นำมาช่วยในการรักษาฝ้า ได้แก่ เลเซอร์กลุ่ม, Q-switched ruby laser, Q-switched Nd: YAG laser, Fractional Radio Frequency ( RF ) ,Fractional Erbium-glass laser, และคลื่นแสง IPL ( Intense pulsed light ) เป็นต้น โดยหลังทำผิวอาจมีความไวต่อแสงมาก จึงควรทาครีมกันแดดและหลีกเลี่ยงแสงแดดอย่างน้อย 1 สัปดาห์

11. การฉีดเมโส ( Mesotherapy ) วิธีการฉีดเมโสนี้ไม่สามารถช่วยรักษา ฝ้าบนผิวหน้า ให้หายขาดได้ เพียงแต่ช่วยให้ฝ้าบนผิวหน้าดูจางลง วิธีการคือใช้เข็มเล็กๆ ฉีดยาเข้าไปในชั้นผิวเพียงตื้นๆ เพื่อช่วยให้ยากระจายตัวลงสู่ชั้นผิวบริเวณที่ต้องการรักษาได้ดียิ่งขึ้น โดยจะฉีดลึกประมาณ 1-2 มม. เท่านั้น ระยะห่างกันไม่เกิน 1 เซนติเมตร และต้องทำซ้ำทุก ๆ 1-2 อาทิตย์จึงจะได้ผล

12. วิธีไอออนโต ( Iontophoresis ) โดยเครื่องมือชนิดนี้จะให้กำเนิดกระแสไฟฟ้าในระดับอ่อน ๆ ซึ่งกระแสไฟฟ้านี้จะช่วยผลักวิตามินหรือยาที่ทาไว้ให้ซึมซาบลงสู่ผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น จึงทำให้วิตามินหรือยาดังกล่าวออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นวิธีที่มีผลข้างเคียงน้อย ยาที่นิยมนำมาใช้คู่กับเครื่องโดยมากจะอยู่ในรูปแบบเจล เช่น เจลโคจิก เจลอาร์บูติน เจลลิโคไลซ์ เจลวิตามินซีและทรานซามิคเจล เป็นต้น ทำเป็นประจำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง จะช่วยให้ฝ้าบนผิวหน้าจางลงอย่างเห็นได้ชัด แต่หากท่านใดกลัวอาการระคายเคืองจากการทำโดยวิธีไอออนโตก็สามารถหันไปใช้เครื่องโฟโน ( Phonophoresis ) ที่ให้ความรู้สึกสบายกว่าแทนได้ เพราะสามารถผลักตัวยาเข้าสู่ผิวได้เช่นเดียวกัน

แม้ว่าฝ้าจะเป็นอาการผิดปกติของผิวหนังที่ไม่เป็นอันตรายใดๆ ต่อชีวิต แต่ก็สามารถทำให้ผิวหน้าดูหมองคล้ำจนเสียความมั่นใจได้ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดฝ้า เช่น แสงแดดจัด ยาที่มีฮอร์โมนเพศ หรือเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำหอมและสารซึ่งไวต่อแดด น่าจะเป็นหนทางป้องกันที่ดีที่สุด แต่เมื่อผิวต้องเผชิญกับปัญหาฝ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การมีวินัยในการดูแล บำรุง รักษา ก็สามารถช่วยให้ ฝ้าบนผิวหน้าจางลงและหายได้ในที่สุด เพียงเท่านี้ก็สามารถมีผิวสวยใสไร้ฝาได้ไม่ยากทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดฝ้าขึ้นใหม่ในอนาคตได้อีกด้วย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

https://www.saiwink.com/

สุรางค์ เจียมจรรยา, การใช้ Tranexamic รักษาฝ้า, คลินิก, ปีที่ 19, ฉบับที่ 3

ศิริวรรณ เอื้อไพโรจน์ถาวร, ศูนย์การแพทย์ไลออนส์สุพรรณหงส์, ประสิทธิภาพของยาทา Tranexamic acid ในการรักษาฝ้า, http://www.rcskinclinic.com/research/viewcontent.asp?id=30

ประวิตร พิศาลบุตร, โรคฝ้าในเวชปฏิบัติ (Melasma in Clinical Practice)ตอนที่ 2 : ยาทารักษาฝ้า, คลีนิคเล่ม: 7 เดือน-ปี: 07/2008, http://www.doctor.or.th/node/7576

ประวิตร พิศาลบุตร, โรคฝ้าในเวชปฏิบัติ (Melasma in Clinical Practice) ตอนที่ 3 : ยาและเวชสำอางรักษาฝ้าชนิดใหม่, คลีนิคเล่ม: 8 เดือน-ปี: 08/2008, http://dev.doctor.or.th/node/7117