ผิวหน้า
คนส่วนใหญ่มักจะสงสัยเกี่ยวกับ ผิวหน้า ของตนเองว่าเป็นผิวหน้าชนิดไหนกันแน่และต้องดูแลอย่างไร เพราะถ้าหากดูแลผิวผิดวิธี สุขภาพผิวก็จะยิ่งแย่ไปกว่าเดิม ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าผิวของคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตามสภาวะแวดล้อม อายุ สภาพอากาศ ความเครียด ฮอร์โมน ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ฯลฯ
หากมองด้วยสายตาแล้ว เราสามารถแบ่งสภาพผิวด้วยการสังเกตความสมบูรณ์ของน้ำหล่อเลี้ยงผิว หากมีการผลิตน้ำหล่อเลี้ยงผิวอย่างเหมาะสม ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไปผิวก็จะแข็งแรง ยืดหยุ่น สุขภาพดี เปล่งปลั่งและแทบจะไม่มีริ้วรอยเลย
ผิวแบ่งออกเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง?
ผิวธรรมดา (Normal Skin)
ลักษณะ ผิวมีความอวบอิ่มเรียบเนียนละเอียดดูไม่แห้ง ไม่มัน นุ่มนวลชุ่มชื้น เนื่องจากผิวสามารถผลิตน้ำมันได้อย่างสมดุล
ข้อดี คนที่มีผิวธรรมดาเวลามองแทบจะไม่เห็นรูขุมขน ไม่มีปัญหากระ ฝ้า หรือปราศจากสิว มีการไหลเวียนโลหิตที่ดี ผิวนุ่มและเรียบเนียน ผิวมีความสดชื่น สีอมชมพู ไม่หมองคล้ำ
ข้อแนะนำ สำหรับคนที่มีผิวธรรมดาควรดูแลผิวไม่ให้ขาดความชุ่มชื้นด้วยผลิตภัณฑ์ที่ช่วยรักษาน้ำหล่อเลี้ยงผิว
การดูแลผิวธรรมดา
- ใช้ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมที่ไม่เข้มข้นหรือบางเบาเกินไป และต้องช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นของผิวระหว่างวันได้
- ควรทาครีมกันแดดทุกวัน
- สครับผิวอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง หรือเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อคงความอ่อนเยาว์และช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วให้หลุดลอกออกไป
หัวใจสำคัญของการบำรุงผิวที่แท้จริงคือ การทำให้ผิวอยู่ในสภาวะชุ่มชื้นหรือมี “น้ำหล่อเลี้ยงผิว” ( น้ำมันเคลือบผิว ) อย่างเหมาะสมตลอดเวลา
ผิวแห้ง (Dry Skin)
ลักษณะ ผิวแห้งเป็นผลมาจากการขาดความมัน ขาดกรดไขมันที่จำเป็นในการรักษาความชุ่มชื้น ผิวจึงสร้างเกราะป้องกันจากสิ่งกระทบภายนอก ส่งผลให้เกิดความบกพร่องของเกราะคุ้มกันผิวตามธรรมชาติ
ผิวแห้งมีระดับความรุนแรงและอาจมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ผิวแห้งผลิตน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวได้น้อยถึงน้อยมาก หลังล้างหน้าคุณจะรู้สึกหน้าแห้งตึงหรือเป็นขุย
ข้อดี ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องรูขุมขนกว้างเท่าไรนัก
ข้อด้อย
- คนผิวแห้งริ้วรอยจะมาเร็ว เกิดริ้วรอยบาง ๆ ได้ง่าย
- เวลาเป็นสิวจะรักษาได้ยากกว่าคนผิวมัน เพราะผิวจะไวต่อยาบางกลุ่มซึ่งทำให้ผิวยิ่งแห้งแดงและลอก
- ในฤดูหนาว ผิวจะยิ่งแห้งมากขึ้นและเกิดการระคายเคืองได้ง่ายมาก
สาเหตุของผิวแห้ง
คุณรู้หรือไม่ว่าความชุ่มชื้นของผิวนั้น เป็นผลมาจากปริมาณน้ำในผิวชั้นลึกและการสูญเสียน้ำ ( เหงื่อ )
- เหงื่อทำให้เกิดการสูญเสียน้ำจากต่อมเหงื่ออันเนื่องจาก ความร้อน ความเครียดและการทำกิจกรรมใด ๆ
- การสูญเสียน้ำผ่านทางช่องว่างระหว่างเซลล์ผิวหนัง โดยตามธรรมชาตินั้น น้ำจากผิวชั้นลึกจะถูกแพร่กระจายสู่ผิวหนังชั้นบนประมาณวันละครึ่งลิตร
การดูแล
- ควรใช้ครีมบำรุงสำหรับผิวแห้งโดยเฉพาะเนื้อครีมเข้มข้นที่ให้ความชุ่มชื้นสูง
- ใช้สเปรย์น้ำแร่เพิ่มความชุ่มชื้นก่อนแต่งหน้าทุกครั้ง
- ควรเลือกครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอไรเซอร์
- ใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่ไม่มีฟอง
- หลังล้างหน้าควรซับหน้าให้หมาด ๆ แล้วทาครีมบำรุงผิวทันที เพราะในช่วงนี้ผิวจะเก็บความชุ่มชื้นจากครีมและป้องกันการระเหยของครีมได้ดีกว่าผิวที่แห้งแล้ว
- เลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนของ Sodium AHA BHA น้ำหอม แอลกอฮอล์ สีสังเคราะห์ ลาโนลิน สารกันเสีย และสาร PABA
- ในหน้าหนาวต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นเป็นพิเศษ
- ทานอาหารเสริมประเภทน้ำมันปลาจะช่วยทำให้ผิวแข็งแรงขึ้น และโอเมก้าเพื่อช่วยลดการอักเสบหรือผื่นแพ้
- ควรดื่มน้ำมาก ๆ
การจำแนกระดับความรุนแรงของผิวแห้ง
ผิวแห้งคือ ช่วงของผิวแห้งที่มีตั้งแต่ระดับการแห้งเล็กน้อยจนถึงผิวธรรมดาและระดับผิวที่แห้งมากจนลอกแตกเป็นขุยซึ่งความแตกต่างของระดับความรุนแรง สามารถจำแนกโดยทั่วไปได้ดังนี้
ผิวแห้งขาดความชุ่มชื้น ผิวแห้งแตก ลอกเป็นขุยพบในบางส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณ มือ เท้า ข้อศอกและหัวเข่า
แนวโน้มการเกิดผิวแห้ง
ผิวที่แห้งมากมักจะพบในผู้สูงอายุมากที่สุด โดยเฉพาะบริเวณมือที่มีการขาดน้ำอย่างรุนแรง มีอาการดังนี้
- เกิดความหยาบกร้าน
- มีรอยแตกของผิวปรากฏชัดเจน
- ผิวหนังด้าน
- ผิวลอกเป็นขุย
- มีอาการคันบ่อย ๆ
ผิวมัน (Oily Skin)
ลักษณะ เป็นผิวที่ผลิตน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวมากเกินไป โดยผิวจะเริ่มมันหลังล้างหน้าเพียง 2 ชั่วโมง เท่านั้น
ข้อดี จะเกิดริ้วรอยได้ยากกว่าคนผิวแห้ง ไม่ค่อยเกิดการแพ้หรือระคายเคือง
ข้อเสีย
- มักเกิดสิวอุดตัน สิวเสี้ยน สิวอักเสบและสิวหัวดำง่าย โดยเฉพาะบริเวณจมูก
- รูขุมขนกว้างจนมองเห็นได้อย่างชัดเจน
ปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตน้ำมันที่มากเกินไป
- พันธุศาสตร์
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและความไม่สมดุลของฮอร์โมน
- ยา
- ความตึงเครียด
- เครื่องสำอางที่ก่อให้เกิดการอุดตันและระคายเคือง
วิธีการดูแล ผิวหน้า
- หลังล้างหน้าควรเช็ดผิวด้วยโทนเนอร์เพื่อควบคุมความมัน
- ทาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ BHA เพื่อผลัดเซลล์ผิว
- ทาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ BHA เพื่อลดความมันและละลายไขมันอุดตันในรูขุมขน
- ทายากลุ่มกรดวิตามินเอเพื่อลดสิวเสี้ยน สิวอุดตัน
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุคุณสมบัติเป็น Oil Control, Oil-free, Non-comedogenic
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Mineral Oil เพราะจะทำให้ผิวอุดตันมากขึ้น
- เลือกครีมบำรุงผิวที่มีเนื้อบางเบา เช่น โลชั่น เซรั่ม เป็นต้น
- ในช่วงหน้าร้อนควรให้การดูแลผิวมากขึ้น เพราะผิวจะผลิตน้ำมันออกมามากเป็นพิเศษ
ผิวผสม (Combination Skin)
ลักษณะ ผิวผสมหมายถึงผิวที่มีสภาพผิวแต่ละจุดบนใบหน้า 2 ประเภท หรือมากกว่านั้นผสมกัน ผิวของคุณอาจจะแห้งแตกแค่บริเวณส่วนของใบหน้าและอาจจะมีผิวมันตรงบริเวณทีโซน ( T-Zone ) ซึ่งก็คือบริเวณกึ่งกลางใบหน้า จมูก คาง และหน้าผาก
ผิวผสมอาจทำให้คุณมีปัญหาผิวอื่น ๆ ตามมา เช่น ริ้วรอย สิวอักเสบ หรือเป็นโรคสิวหน้าแดง ( Rosacea ) อาจจะไม่ง่ายนักในการดูแลผิวผสมแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะยากจนเกินไป ในการดูแลผิวผสมอย่างเหมาะสมนั้น จำเป็นต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพผิวที่แตกต่างกันบนใบหน้าของคุณ เพื่อที่จะไม่ทำให้ผิวของคุณเกิดความระคายเคือง
ในบริเวณที่เป็นผิวแห้งและผิวมัน ผิวตรงแก้มค่อนข้างจะแห้ง มีโอกาสลอกเป็นขุย ส่วนบริเวณจมูกและหน้าผากที่เป็นผิว มักเกิดสิวได้ง่าย
ข้อดี ไม่มีปัญหารูขุมขนกว้างในบริเวณที่แห้งและเกิดริ้วรอยยากบริเวณผิวมัน
ข้อเสีย จะดูแลยากกว่าทุกสภาพผิวเพราะต้องดูแลทั้งปัญหาผิวแห้งและผิวมัน การเลือกใช้ครีมหรือยาจะยากกว่าผิวแบบอื่น ๆ
สำรวจปัญหาผิวกันเถอะ
สภาพผิวของคนไข้ : มีผิวที่แห้งมาก โดยเฉพาะบริเวณ U- ZONE ผิวหน้าจึงระคายเคืองได้ง่าย ส่วนบริเวณ T- ZONE มีความมันมาก จึงเกิดปัญหาสิวเสี้ยน สิวอุดตันได้ง่าย
อาการที่เคยเกิด : สิวอักเสบ บริเวณหน้าผาก แก้ม คาง สิวอุดตัน 70% ของใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณ T-ZONE
อาการที่เป็นในขณะนี้ : สิวเสี้ยน บริเวณ T-ZONE
พฤติกรรมเสี่ยง : ชอบรับประทานอาหารสจัด หวาน ๆ มัน ๆ จะชอบเป็นพิเศษ ดื่มนมวัวทุกวัน ทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าจะทำให้เกิดปัญหาสิวอุดตัน แต่ก็เลิกดื่มไม่ได้
สิ่งที่ทำเป็นประจำ : นอนดึก นอนเช้า
ล้างผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผมออกไม่หมดล้างเครื่องสำอางไม่สะอาดหมดจดทำความสะอาดผิวหน้าดีเกินไป จนทำให้น้ำมันเคลือบผิวและความชุ่มชื้นออกไปหมด
วิธีรักษาที่ได้ผลและปลอดภัย : รู้จักสภาพผิวของตัวเองในทุกฤดู รวมถึงวันนั้นของเดือนและช่วงที่มีความเครียด
อ่านฉลากการใช้ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับสภาพ ผิวหน้า ล้างหน้าให้สะอาดและทาครีมบำรุงให้ชุ่มชื้นทุกวันทำเลเซอร์รักษารอยแดงจากสิว ทรีตเมนต์รักษารอยดำ กดและฉีดสิวรับยาทาฆ่าเชื้อสิวบางส่วน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังที่ศูนย์เลเซอร์และศัลยกรรมผิวหนัง
จากการสังเกตหลาย ๆ คน ประสบปัญหาเป็น “สิวเรื้อรัง” บางคนคงกังวลใจไม่น้อยกับการเป็นสิวเรื้อรังที่เกิดขึ้นนี้ หลายคนจึงค้นหาข้อมูลที่จะช่วยรักษาสิวเรื้อรังให้หายไป
หากพูดถึงสิวเรื้อรังแล้วก็คงเป็นเรื่องที่กว้างเอาการ เพราะมันอาจจะเป็นสิวแบบไหนก็ได้ทั้ง สิวอักเสบ สิวผด สิวหนอง สิวหัวช้าง สิวอุดตัน สิวหัวดำ เรียกได้ว่าเป็นได้ทุกชนิดสิว แต่อาการนั้นก็จะเป็น ๆ หาย ๆ บางช่วงก็ดีขึ้น แล้วไม่นานก็เป็นขึ้นมาใหม่ บางคนสิวเม็ดนี้เพิ่งจะหายไปสิวเม็ดใหม่ก็ผุดขึ้นมาอีก บางทีสิวเม็ดใหม่ก็ขึ้นมาแทนสิวที่เพิ่งยุบไปนั่นเอง
การเป็นสิวต่อเนื่องยาวนานสิบกว่าปี ทำให้ดิฉันตั้งใจว่าจะเรียนรู้เรื่องผิวของตัวเองให้ดีที่สุด พยายามศึกษาข้อมูลต่างๆ สอบถามแพทย์ผิวหนังและนักศึกษาแพทย์เพิ่มเติม ตอนนี้ดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งยาหมอ ที่สำคัญแทบจะไม่มีร่องรอยของสิวเหลืออยู่เลย อีกทั้งยังสามารถให้คำแนะนำคนอื่นจนเขากลับมามีผิวสุขภาพดีได้อีกด้วย
คำถามที่ทุกคนอยากรู้ ทำไมสิวถึงชอบขึ้นที่เดิมซ้ำๆ ไม่หายสักที
ใครเคยเจอปัญหาแบบนี้บ้าง ที่ต้องเป็นสิวที่เดิมซ้ำ ๆ ไม่ยอมหายสักที ขึ้นแล้วยุบไป ไม่กี่วันก็เป็นขึ้นมาอีก และเป็นตรงที่เก่าเสียด้วย เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยประสบปัญหา “สิวซ้ำซาก” ที่ว่านี้ไม่น้อยเลยทีเดียว
ประสบการณ์ที่ขำไม่ออกกับการเป็นสิวซ้ำซาก
สาเหตุของการเกิดสิวที่ผิวหน้าซ้ำซาก
- บีบสิวหรือกดสิวแล้วสิวไม่ออก หรือออกไม่หมด
- บีบสิวแรง ๆ หรือบีบสิวไม่ถูกวิธี
- บีบสิวแล้วไม่ทำความสะอาดให้ดี
- ไม่ทำความสะอาดอุปกรณ์หรือล้างมือก่อนการบีบสิว
- ความมันที่มากเกินไปบริเวณ ผิวหน้า เช่น ที่หน้าผาก จมูก คาง หรือบริเวณ T-Zone หน้าที่มันทำให้เป็นสิวง่าย ช่วง T-Zone จึงเป็นตำแหน่งที่สิวนิยมขึ้นซ้ำซาก เครื่องสำอางที่ใช้อยู่ทำให้ผิวระคายเคืองและอุดตัน
- การฉีดสิว
- สิ่งเร้าจากภายนอก เช่น น้ำหอม น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก แชมพู ผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอนไม่สะอาด โทรศัพท์ที่ใช้สกปรก ชอบจับหน้า จับสิวบ่อย ๆ หรือผมยาวปิดหน้าปิดตา
และนี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวซ้ำซาก โดยเป็นสาเหตุที่เกิดจากปัจจัยที่เราพอจะควบคุมได้ ไม่นับรวมปัจจัยที่ควบคุมยาก เช่น การเป็นสิวฮอร์โมน เป็นต้น
วิธีจัดการกับสิวที่ผิวหน้าอย่างถูกวิธี
สาเหตุจากการบีบสิวที่ไม่ถูกต้องนี้ เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดสิวซ้ำซากก็ว่าได้ ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับคนที่ชอบบีบสิวหรือกดสิว แล้วบีบมันออกไม่หมด หลายคนคิดว่าการที่สิวมันบวมขึ้นมาจนเริ่มอักเสบเป็นหนอง ก็ทำการบีบมันให้แตกคิดได้อย่างนั้นก็จัดการบีบสิวเต็มที่ หัวสิวที่ฝังอยู่ก็กระเด็นออกมาติดที่กระจกทันที บีบเสร็จก็เข้าใจว่าสามารถกำจัดสิวบนหน้าออกไปได้สักที แต่ดีใจได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง สิวเม็ดเดิมก็บวมแดงขึ้นมาและเป็นหนองอีก ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าเราเอาหัวสิวออกไม่หมดนั่นเอง ส่วนใหญ่ที่เราบีบสิวแล้วออกไม่หมดก็เพราะว่า ในสิว 1 เม็ดใหญ่ มันชอบมีสิวเม็ดเล็ก ๆหลายเม็ดรวมกันอยู่ในนั้น ซึ่งวิธีแก้ปัญหาสามารถทำได้ดังนี้
1. อย่าทำให้สิวอักเสบ
ถ้าอยากบีบสิวต้องพยายามอย่าทำให้สิวบนใบหน้าเกิดการอักเสบ เช่น หลังการบีบสิวเสร็จต้องทำความสะอาดใบหน้าให้สะอาดและหายาแต้มสิวแก้สิวอักเสบมาทาเพื่อลดอาการอักเสบลงได้
2. อย่าบีบสิวเองถ้าไม่มีความชำนาญ
สิวบางชนิดต้องใช้วิธีการกดออกและมีสิวบางชนิดที่ต้องใช้วิธีฉีด ดังนั้น ก่อนที่เราจะตัดสินใจบีบสิวหรือกดสิวเองเราต้องมั่นใจก่อนว่าสิวเม็ดนั้นสามารถบีบออกได้ในครั้งเดียว เพราะถ้าบีบสิวออกไม่หมดก็อาจจะเกิดการอักเสบได้ ดังนั้น ถ้าไม่มั่นใจอย่าบีบหรือกดสิวเอง ควรไปหาหมอกดออกหรือฉีดสิวให้จะดีกว่า
3. อย่าบีบหรือกดสิวแรง
การบีบหรือกดสิวแรงเกินไป จะทำให้ ผิวหน้า บริเวณที่กดและบริเวณใกล้เคียงช้ำได้ เส้นเลือดหรือรูขุมขนบริเวณนั้นอาจบิดเบี้ยวผิดรูปไปจากเดิม ทำให้รูขุมขนบริเวณนั้นเกิดการอุดตันและเป็นสิวได้ง่ายขึ้น วิธีแก้ก็คืออย่าบีบสิวแรงเกินไปให้บีบอย่างเบามือ และถ้ามันไม่ยอมออกก็ปล่อยไปก่อน รอให้สิวสุกจนสามารถบีบออกมาได้ การทำเช่นนี้นอกจากจะทำให้สิวขึ้นซ้ำซากที่เดิมแล้ว ยังอาจทำให้หน้าเป็นหลุมสิวได้ง่าย และลึกจนยากที่จะรักษาได้จึงต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก
4. เครื่องสำอางหรือครีมที่ใช้ เป็นต้นเหตุของการเกิดสิวซ้ำซาก
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสิวขึ้นที่ใบหน้าของเราซ้ำซากนั้น ก็คงหนีไม่พ้นเครื่องสำอางหรือครีมที่เราใช้อยู่เป็นประจำนั่นเอง เครื่องสำอางทำให้เกิดการอุดตันในรูขุมขนได้ง่าย ยิ่งถ้าเราล้างหน้าและทำความสะอาดไม่ดีพอ ผิวหน้า ก็จะมีโอกาสเป็นสิวอุดตันได้ การอุดตันนี่เองที่นำมาสู่การเป็นสิวอักเสบในอนาคต เมื่อรูขุมขนไม่สามารถขับน้ำมัน หรือของเสียที่อยู่ใต้ผิวหนังออกมาได้ก็เกิดการจับตัวเป็นก้อนไขมันแข็ง ๆ และนูนขึ้น เวลาเราบีบจะออกมาอย่างที่เราเห็น
5. แปรงแต่งหน้าหรือฟองน้ำแป้งพัฟเพิ่มสิว
ฟองน้ำเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิวของสาว ๆ ที่ใช้แป้งพัฟหรือต้องแต่งหน้าเป็นประจำมาจาก “ฟองน้ำ” และ “แปรงแต่งหน้า” ที่ใช้ คือถ้าเราเอาฟองน้ำและแปรงแต่งหน้าไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็คตรอน เราจะพบว่ามีเชื้อ P.ACNE หรือเชื้อสิวอยู่เต็มไปหมด นั่นหมายความว่าถ้าเราไม่ยอมล้างฟองน้ำหรือแปรงแต่งหน้าเลยเท่ากับว่าเราได้เติมเชื้อสิวไว้บน ผิวหน้า ของเราแบบไม่รู้ตัว ดังนั้น จึงควรทำความสะอาดพัฟและแปรงแต่งหน้าอย่างน้อย 3 วันต่อครั้ง
6. โทรศัพท์
โทรศัพท์เป็นตัวการสำคัญ เพราะทุกคนต้องใช้แทบจะตลอดเวลาก็ว่าได้ แต่ทุกครั้งที่หยิบมาพูดมาคุยด้วยการแนบกับหูโดยตรง มันเต็มไปด้วยคราบเหงื่อไคลจาก ผิวหน้า พอวางโทรศัพท์ไว้ก็เสี่ยงที่จะเกิดเชื้อโรคจากพื้นผิวที่วางอีก รวมทั้งยังเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคจากมือของเราอีกด้วย เวลามีใครโทรเข้ามาเราหยิบโทรศัพท์มาแนบหน้า มันจึงเป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ดังนั้น จึงควรหมั่นทำความสะอาดมือถือของคุณด้วยการใช้ทิชชูเปียกที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรค อย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง
7. สิวไม่หายเพราะกินขนมหวานจุบจิบตลอดทั้งวัน
การกินส่งผลต่อการเกิดสิวได้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายรับเข้าไปเกินความต้องการ สิ่งที่ตามมาคือภาวะของไขมันส่วนเกินในชั้นผิวหนังถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมามากกว่าปกติ จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะอุดตันของรูขุมขนแบบไม่รู้ตัว อย่าคิดว่าการกินของหวานที่อุดมไปด้วยน้ำตาลจะทำให้อ้วนอย่างเดียว แต่มันยังส่งผลต่อสุขภาพและกระทบต่อสุขภาพ ผิวหน้า ให้เสียหายกลายเป็นสิวเห่อได้อีกด้วย
เชื่อว่าต้องมีบ้างที่สาวๆ เคยมีพฤติกรรมเหล่านี้ อย่ามัวโทษโชคชะตาที่เกิดมาเป็นสิวเลยดีกว่า เพราะการกระทำที่มาจากนิสัยอันไม่พึงประสงค์นี้ คือตัวการชั้นดีที่จะทำให้สิวไม่ยอมหายสักที
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
ศ.ดร.น.พ. สมศักดิ์ วรคามิน. ผิวสวย (BEAUTY SECRET THE UNTOLD STORY) กรุงเทพ: 2539 – 2560 โดยบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) © Copy Right 1996, 2017.
ริตา, เกรียร์. อาหารขจัดอนุมูลอิสระ. กรุงเทพ: หมอชาวบ้าน,2551. 176 หน้า : 1.อาหาร-แง่สุขภาพ. 2.อนุมูลอิสระ. I.วูดเวิร์ด,โรเบิร์ต, II.พิสิฐ วงศ์วัฒนะ,ผู้แปล. III.ชื่อเรื่อง. 613.2 ISBN 978-974-04-5522-6.