การทานอาหารก่อน-หลังการรักษา
การรับประทานอาหารแต่ละช่วงมีความสำคัญต่อการรักษามีผลต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วยรวมทั้งผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น

การทานอาหารก่อน-หลังการรักษา

วิธีการรักษามะเร็งต่างๆจะให้ผลที่คล้ายกันคือจะไปทำลายเซลล์มะเร็งที่อยู่ในร่างกายผู้ป่วย ซึ่งก็อาจจะมีผลกระทบทำให้เซลล์ส่วนดีจะถูกทำลายไปด้วย ส่งผลให้เกิดปัญหากับการรับประทานอาหาร และภาวะโภชนาการของผู้ป่วยอาหารที่ควรทานในแต่ละช่วงเวลาก็อาจไม่เหมือนกันเช่น การทานอาหารก่อน-หลังการรักษา โดยรายละเอียดเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ดูแลคนป่วยต้องศึกษา เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ป่วยโรคมะเร็ง

  • น้ำหนักเปลี่ยนแปลง ( เพิ่ม-ลด )
  • มีอาการเบื่ออาหาร
  • เจ็บปากและคอ
  • ปากแห้ง
  • ปัญหาบริเวณฟัน และเหงือก
  • คลื่นไส้ และอาเจียน
  • ท้องเสีย ท้องผูก
  • แพ้น้ำตาลแลกโตส ( พบได้ในนมวัว )

การจัดเตรียมอาหารผู้ป่วยมะเร็ง

1. การรับประทานอาหารก่อนรักษามะเร็ง

ก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาจากแพทย์ อาหารผู้ป่วยมะเร็งควรเป็นอาหารที่ดี ถูกหลักโภชนาการ เพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพร่าง กายที่แข็งแรง มีความพร้อมสำหรับการรักษา และยังช่วยลดปัญหาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการรักษาได้อีกด้วย

อาหารที่แนะนำในช่วงก่อนการรักษา

  • อาหารในกลุ่ม ผัก ผลไม้   เพื่อให้ร่างกายมีพลังงานสะสม
  • เนื้อสัตว์หรือนมที่มีไขมันต่ำ
  • งดอาหารประเภทไขมันสูง น้ำตาล เหล้า อาหารเค็มจัด

2. การรับประทานอาหารระหว่างรักษามะเร็ง

ในระหว่างที่ผู้ป่วยเข้ารีบการรักษาจากแพทย์ ในช่วงนี้ร่างกายผู้ป่วยอาจได้รับ ยา สารเคมีบางตัวที่แพทย์จำเป็นต้องใช้ในการรักษา หรืออาจมีบาดแผลจากการผ่าตัด ซึ่งก็อาจมีผลกระทบทำให้ร่างกายของผู้ป่วยทรุดโทรมได้ ดังนั้นในช่วงนี้ผู้ป่วยจะต้องทานอาหารตามคำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด และอาหารที่ควรจัดให้ผู้ป่วยทานก็จะต้องขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาที่ผู้ป่วยได้รับด้วย เช่น

2.1 การผ่าตัด

ผลกระทบจากการผ่าตัด

แพทย์จะให้ผู้ป่วยมะเร็งที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัด เน้นทานอาหารประเภทมีโปรตีนและให้พลังงานสูง เพื่อให้ผู้ป่วยมีร่างกายที่แข็งแรง เนื่องจากหากเข้ารับการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยอาจไม่สามารถกลับมาทานอาหารตามปกติได้ทันทีในช่วงแรกๆ บางรายที่มีอาการหนัก อาจจะต้องใช้วิธีการให้อาหารผู้ป่วยมะเร็งทางสายเลือด ผ่านทางจมูก หรือช่องท้อง

หากอวัยวะที่ผ่าตัดอยู่ในกลุ่มของ  ศีรษะ คอ หน้าอก เต้านม อาจทำให้เกิด

  • ปากแห้ง เจ็บปาก เจ็บคอ
  • มีอาการกลืนลำบาก
  • การรับรู้รสอาหารเปลี่ยนไป
  • ปัญหาฟันผุ มีเสมหะ

หากอวัยวะที่ผ่าตัดอยู่ในกลุ่มของ  บริเวณกระเพาะอาหาร หรือ กระดูกเชิงกราน อาจทำให้เกิด

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ปวดท้อง
  • ไม่อยากอาหาร
  • ท้องผูก
  • เจ็บปาก เจ็บคอ
  • การรับรู้รสอาหารเปลี่ยนไป
  • น้ำหนักลดลงผิดปกติ
  • ปากแห้ง
  • ปวดกล้ามเนื้อ เมื่อยล้า มีไข้

ผลข้างเคียงจากการรักษาอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกราย ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงและอาการของโรค  และอาการส่วนมากจะหายไปหลังหยุดการรักษาแล้ว  ผลกระทบอีกอย่างที่อาจตามมาคือ ผู้ป่วยอาจทานอาหารลดลง เนื่องมาจากปัญหาสภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยเอง  ความเครียดความวิตกกังวลต่างๆ

ข้อควรรู้เรื่องอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการผ่าตัด

1. เมื่อผู้ป่วยรับประทานได้ ควรรับประทานอาหารที่มีพลังงาน และโปรตีนที่เพียงพอ

2. ผู้ป่วยส่วนมากรับประทานอาหารได้ดีช่วงเช้า อาจให้รับประทานอาหารมื้อหลักในช่วงเวลาค่อนไปช่วงเช้า และในอาหารเหลวเสริมในช่วงต่อมาของวัน ในกรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกเบื่ออาหาร

3. ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้อาหารเหลวเสริม เพื่อเพิ่มปริมาณพลังงาน และโปรตีน

4. พยายามดื่มน้ำหรือของเหลวที่มีส่วนประกอบของน้ำมากๆ โดยเฉพาะในวันที่เบื่ออาหาร เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำที่เพียงพอ โดยผู้ใหญ่ แนะนำ ดื่ม 6-8 แก้วต่อวัน

2.2 การฉายรังสี

ผลกระทบจากการฉายรังสี

สำหรับผู้ป่วยที่แพทย์ใช้วิธีการรักษาด้วยการฉายรังสีนั้น หลังจากการรักษาแล้ว อาจมีผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น รู้สึกเบื่ออาหาร เจ็บในช่องปาก และบริเวณลำคอน้ำหนักขึ้นๆลงๆ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

ข้อแนะนำสำหรับผลกระทบที่ได้จากการฉายรังสี 

หากผู้ป่วยรู้สึกเบื่ออาหาร ให้ปฏิบัติดังนี้

  • ปรับรูปแบบการทานอาหาร โดยให้ทานอาหารในแต่ละมื้อปริมาณที่น้อย  แต่ให้ทานบ่อยๆ หรือเพิ่มจำนวนมื้อขึ้น
  • รับประทานอาหารเหลว หรืออาหารผงสำเร็จรูป
  • ให้ผู้รับประทานอาหารว่างที่ตนเองชอบ
  • รับประทานอาหารเหลว เช่น ซุป น้ำผลไม้ หรือ นม เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหาร และพลังงานที่เพียงพอปรับรูปแบบอาหารที่ทาน เช่น หากมีผลไม้สดอาจเปลี่ยนเป็นเมนูน้ำผลไม้ปั่น เป็นต้น
  • หากผู้ป่วยเริ่มทานอาหารได้มากขึ้น ควรเพิ่มปริมาณของอาหารให้แต่ละมื้อ
  • ผู้ป่วยส่วนมาก จะรู้สึกอยากรับประทานอาหารในช่วงเช้ามากกว่าช่วงอื่น จึงควรให้ผู้ป่วยเน้นทานอาหารมื้อเช้า
  • ไม่ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำขณะรับประทานอาหารมากเกินไป เพราะอาจทำให้อิ่มเร็วกว่าปกติ ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำก่อนหรือหลังรับประทานอาหาร 30-60 นาที
  • การดื่มไวน์ หรือ เบียร์ ปริมาณน้อยๆ ขณะรับประทานอาหาร และการออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยให้อยากอาหารมากขึ้น แต่วิธีนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ และอาจใช้ได้กับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น

หากผู้ป่วยมีอาการน้ำหนักขึ้นๆลงๆผิดปกติ ให้ปฏิบัติดังนี้ 

กรณีที่น้ำหนักลดลง

สาเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดจาก อาการโรคมะเร็งเอง และ เกิดจากรับประทานอาหารได้น้อยกว่าปกติ เนื่องจากผู้ป่วยมักมีสภาวะจิตใจที่แย่ เลยทำให้ทานอาหารได้ลดลงไปด้วย ดังนั้น ควรให้ผู้ป่วยเลือกทานอาหารที่เน้นในกลุ่มให้พลังงาน และมากไปด้วยโปรตีนแก่ร่างกาย

กรณีที่น้ำหนักเพิ่มขึ้น

การที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น มักเกิดได้น้อยกว่าการที่น้ำหนักตัวลดลง  ซึ่งอาการนี้สามารถพบได้ใน ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และ มะเร็งรังไข่  หรือาจมีผลกระทบจากยาบางชนิดที่ใช้ในการรักษา ดังนั้นควรให้ผู้ป่วย ลดอาหารที่มากไปด้วยเกลือ โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องลดปริมาณอาหาร บางครั้งแพทย์อาจสั่งยาขับปัสสาวะเพื่อขับน้ำส่วนเกินออกเน้นทาน อาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ผัก ผลไม้ และ อาหารธัญพืชและลดปริมาณอาหารที่ให้พลังงานสูงอย่าง เนื้อสัตว์ที่ติดมัน อาหารทอด เป็นต้น นอกจากนี้ควรหาเวลาว่างในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บในช่องปาก และลำคอให้ปฏิบัติดังนี้

อาการแทรกซ้อนอีกหนึ่งอย่างของการฉายรังสี หรือการให้เคมีบำบัดที่ผู้ป่วยอาจพบเจอก็คือ รู้สึกเจ็บในช่องปากและเจ็บบริเวณลำคอ จึงควรให้ทันต์แพทย์ตรวจว่ามีโรคที่เกี่ยวกับฟันและเหงือก หรือไม่  ซึ่งมีข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยดังนี้

  • รับประทานอาหารอ่อน เคี้ยวและกลืนได้ง่าย เช่น นม กล้วย แตงโม โยเกิร์ต ผักต้มสุก มันฝรั่งบด เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงอาหาร หรือของเหลวที่ระคายเคืองช่องปาก เช่น ส้ม มะนาว รสเผ็ดจัด เค็มจัด ผักที่ไม่ได้ทำให้สุก หรือน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของ แอลกอฮอล์
  • ใช้หลอดในการทานน้ำ หรือของเหลวชนิดอื่นๆ
  • ใช้ช้อนที่มีขนาดเล็กกว่าปกติ
  • บ้วนปากบ่อยๆด้วยน้ำเปล่า เพื่อกำจัดเศษอาหาร
  • รับประทานอาหารที่มีความเย็น หรือ มีอุณหภูมิห้องและเลี่ยงอาหารที่มีความร้อนสูง

หากผู้ป่วยมีอาการปากแห้ง ให้ปฏิบัติดังนี้

การใช้ รังสีรักษา  หรือ วิธีเคมีบำบัด บริเวณ ศีรษะ และ คอ จะส่งผลกระทบทำให้น้ำลายลดลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปากแห้งได้ นอกจากนี้ช่องปากที่แห้งอาจทำให้การรับรสของผู้ป่วยเปลี่ยนไปซึ่งมีข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยดังนี้

  • จิบน้ำบ่อยๆ เพื่อให้กลืน หรือ พูดคุย ได้ง่ายขึ้น
  • รับประทานอาหารว่างที่มีรสหวาน หรือ รสเปรี้ยว เพื่อเพิ่มการหลั่งน้ำลายแต่อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีแผลในปาก
  • รับประทานอาหารอ่อน ที่ลื่นคอและสามารถกลืนง่าย
  • เพิ่มปริมาณน้ำลายด้วย การเคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอม
  • รับประทานอาหารพร้อมซอสต่างๆ หรือน้ำสลัด เพื่อให้กลืนอาหารได้ง่ายขึ้น
  • ใช้ขี้ผึ้งทาริมฝีปากในกรณีริมฝีปากแห้ง
  • ถ้าช่องปากแห้งมาก แพทย์อาจสั่งน้ำลายเทียมมาใช้กับผู้ป่วย

หากผู้ป่วยมีปัญหาที่ ฟัน และ เหงือก ให้ปฏิบัติดังนี้

การรักษามะเร็งด้วยวิธีการฉายรังสี อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณช่องปาก ฟัน และเหงือกได้เช่นกัน  นอกจากทำให้ปริมาณน้ำลายในปากลดลงแล้ว ยังจะส่งผลให้มีโอกาสเกิดฟันผุได้มากขึ้นด้วยซึ่งมีข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยดังนี้

  • ตรวจช่องปากกับทันต์แพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  • หากพบปัญหาในช่องปากควรรีบปรึกษาทันต์แพทย์ทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้เรื้อรัง
  • ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนิ่มถ้ามีอาการเสียวฟันควรใช้แปรง และยาสีฟันที่เฉพาะกับอาการ
  • หากมีอาการปวดเหงือก หรือปวดภายในช่องปาก ควรบ้วนปากด้วยน้ำอุ่นเพื่อเบาเทาอาการที่เกิดขึ้น

หากผู้ป่วยมีปัญหา การรับรส และการดมกลิ่นเปลี่ยนแปลง ให้ปฏิบัติดังนี้

ปัญหานี้อาจเกิดจากโรคของมะเร็งที่เป็น หรือ เกิดจากการักษามะเร็งด้วยวิธีการฉายรังสี การให้เคมีบำบัด นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้ เช่น เกิดปัญหาที่บริเวณฟัน อาจทำให้การรับรสเปลี่ยนไป แต่เมื่อรักษาเสร็จแล้ว อาการต่างๆเหล่านี้จะค่อยๆหายไปเอง ซึ่งมีข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยดังนี้

  • เลือกอาหารที่รูปร่าง และ กลิ่นน่ารับประทาน
  • รับประทานอาหารรสเปรี้ยว เช่น ส้ม จะได้รสชาติที่มากขึ้น
  • เลี่ยงการทานเนื้อวัว ที่อาจมีกลิ่นสาบแรงส่งผลให้เวลาทานรสชาติอาจเปลี่ยนไป โดยเลือกรับประทานเนื้อไก่ ไข่ หรือ ปลา ทดแทน
  • พบทันตแพทย์ เพื่อตรวจว่าไม่ได้มีปัญหาเรื่องเหงือกและฟันที่ทำให้การรับรสเสียไป

หากผู้ป่วยมีปัญหาอาการคลื่นไส้ให้ปฏิบัติดังนี้

อาการคลื่นไส้เป็นผลค้างเคียงจากการักษา มักพบได้ในผู้ป่วยที่เข้ารีบการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธี การฉายรังสี  การผ่าตัด เคมีบำบัดการรักษาโดยใช้ชีวโมเลกุลอาการคลื่นไส้นี้มักจะหายไปเมื่อรักษาครบทุกขั้นตอนซึ่งมีข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยดังนี้

  • ปรึกษาแพทย์เพื่อขอยาแก้อาเจียน
  • เลือกทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ขนมปัง โยเกิร์ต ข้าวต้ม ไก่อบ ผัก ผลไม้ น้ำสะอาด เป็นต้น
  • ควรเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ของทอด ของหวาน เช่น ลูกอม คุกกี้ หรือ เค้ก อาหารรสจัด อาหารที่มีกลิ่นฉุน
  • ปรับรูปแบบการทานอาหารให้เป็นมื้อเล็กๆ หลายๆมื้อและควรทานก่อนที่จะหิวเพราะอาการหิวทำให้คลื่นไส้มากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในที่มีคนพลุกพล่าน หรือมีกลิ่นอาหารรุนแรง
  • ดื่มน้ำเล็กน้อยในขณะที่รับประทานอาหารรวมทั้งพยายามจิบน้ำบ่อยๆ ตลอดทั้งวัน
  • ไม่รับประทานอาหารที่มีความร้อนสูง
  • หากพบอาการคลื่นไส้ในขณะที่ฉายรังสี หรือให้เคมีบำบัด ให้ผู้ป่วยงดอาหาร หนึ่งถึงสองชั่วโมงก่อนการรักษา
  • ลองสังเกตด้วยตัวเองว่าอาการคลื่นไส้เกิดขึ้นจากสาเหตุใด จะได้หลีกเลี่ยงได้อย่างเหมาะสม

หากผู้ป่วยมีปัญหาอาการอาเจียนให้ปฏิบัติดังนี้

  •  การออกกำลังกายเบาๆ  เช่น เดิน วิ่งเยาะๆ
  • ทานยาแก้อาเจียนที่ได้รับจากแพทย์
  • ทานอาหารอ่อน เช่น น้ำผลไม้ น้ำอัดลม น้ำชา กาแฟ น้ำผึ้ง ข้าวต้ม เป็นต้น

หากผู้ป่วยมีปัญหาท้องเสียให้ปฏิบัติดังนี้

สาเหตุของอาการท้องเสีย อาจเกิดได้จากผลข้างเคียงที่ได้รับจากการรักษาโรคมะเร็ง เช่น การฉายรังสี การให้เคมีบำบัด นอกจากนี้ยังเกิดได้จากปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น มีการติดเชื้อ ความแปรปรวนทางอารมณ์ รวมถึงการตอบสนองต่ออาหารเมื่อท้องเสีย อาหารจะถูกส่งผ่านไปยังลำไส้อย่างรวดเร็ว ก่อนที่ร่างกายจะสามารถดูดซึมวิตามิน เกลือแร่และน้ำ อย่างเพียงพอ ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ ถ้าท้องเสียรุนแรงและนานเกินสองวันให้พบแพทย์ มีข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยดังนี้

  • ดื่มน้ำสะอาดหรือ ของเหลวเพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป
  • แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็กๆ  ทานการทานอาหารปริมาณมากในเวลาปกติ 3 มื้อ
  • ทานอาหารและน้ำ ที่อุดมไปด้วย ธาตุโซเดียม และโพแทสเซียม เช่น เครื่องดื่มเกลือแร่ กล้วย เป็นต้น
  • เลี่ยงอาหารในกลุ่มต่อไปนี้ เช่น อาหารประเภททอด ผักดิบต่างๆ และเครื่องดื่มที่ร้อนหรือเย็นเกินไป  ชา กาแฟ ช็อกโกแลต
  • ถ้ามีอาการท้องเสียกะทันหัน ให้ดื่มแต่เครื่องดื่มเกลือแร่และน้ำ โดยงดทานอาหาร 12-14 ชั่วโมง เพื่อให้ลำไส้ ได้พักและชดเชยเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป

การป้องกันความเจ็บป่วยจากอาหารเป็นพิษ

ในขณะที่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง เข้ารับการรักษาตัวจากแพทย์ จะเป็นช่วงเวลาที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายอาจลดลง เพราะยาต้านโรคมะเร็งส่วนใหญ่จะทำให้การสร้างเม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคลดลง จึงเป็นสาเหตุทำให้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องป้องกันการติดเชื้อ และหลีกเลี่ยงอาหารที่ดิบ และไม่สะอาดเพื่อป้องกันอาการอาหารเป็นพิษนั้นเอง ซึ่งมีข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยดังนี้

  • ล้างมือ และอุปกรณ์การทำอาหารให้สะอาด ทั้งก่อนและหลังการทำอาหาร
  • เลือกทานอาหารที่สะอาด และปรุงใหม่ๆ
  • หลีกเลี่ยงอาหารค้างคืน อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบและอาหารที่มีหอยเป็นวัตถุดิบ
  • ดื่มน้ำผลไม้และนมที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์มาแล้วเท่านั้น

อาหารเสริมประเภทวิตามินและเกลือแร่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งหรือไม่?

ผู้ป่วยมะเร็งควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ตามปกติให้ถูกหลักโภชนาการจะดีที่สุด เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานต่อเซลล์มะเร็งมากขึ้น หลังการรักษาเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ป่วยอาจจะทานมังสวิรัติได้แต่ต้องให้ร่างกายได้สารอาหารที่ครบถ้วนด้วยข้อแนะนำอื่นๆที่ควรรู้ในการเตรียมอาหารให้ผู้ป่วยมะเร็ง

  • ต่อมรับรสชาติของผู้ป่วยอาจเปลี่ยนไป บางวันผู้ป่วยอาจไม่อยากรับประทานอาหารที่เคยชอบ ในขณะที่บางวันผู้ป่วยอาจรับประทาน อาหารที่เคยไม่ชอบได้
  • เตรียมอาหารง่ายๆ โดยวางไว้ให้ผู้ป่วยสามารถหยิบจับได้อย่างสะดวก
  • บางวันผู้ป่วยอาจรับประทานอาหารได้ปริมาณน้อยหรือไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากการข้างเคียงจากการใช้ยา ก็ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารเหลว
  • อย่าบังคับให้ผู้ป่วยรับประทาน หรือดื่มมากเกินไป

3. การรับประทานอาหารหลังการรักษาโรคมะเร็งสิ้นสุดลง

เมื่อการรักษาโรคมะเร็งสิ้นสุดลงแล้ว  ผู้ป่วยมะเร็งก็สามารถทานอาหารได้ตามปกติ แต่ก็ควรให้อยู่บนพื้นฐานของการมีโภชนาการที่ดี และมีสารอาหารครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่พอดีไม่มากหรือน้อยจนเกินไปข้อแนะนำการรับประทานอาหารหลังการรักษาโรคมะเร็งสิ้นสุดลง

  • รับประทานอาหารที่หลากหลายในทุกๆวัน ไม่ทานอาหารที่ซ้ำซากจำเจ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
  • เน้นรับประทานอาหารในกลุ่มของผักและผลไม้
  • เน้นรับประทานขนมปังและธัญพืช
  • ลดอาหารประเภทไขมัน เกลือ น้ำตาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารรมควัน หรือหมักดอง
  • ดื่มนมไขมันต่ำ และรับประทานหมู ไก่หรือเนื้อไม่ติดมันและหนัง ในปริมาณน้อย ไม่ควรเกิน 2 ขีด ต่อวัน

ข้อแนะนำเพิ่มเติม สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการปรับตัวเรื่องอาหารปกติแล้วอาการข้างเคียงที่เกิดจากการฉายรังสีจะหายไปหลังจากการรักษาสิ้นสุดลง ความอยากอาหารจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมแต่หาก ผู้ป่วยยังมีความรู้สึกไม่เคยชินกับการรับประทานอาหารตามปกติ ให้ผู้ป่วยลองทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ทำอาหารที่มีวิธีการทำง่ายๆ
  • ทำอาหารปริมาณมากพอที่จะทานได้สองถึงสามมื้อ เก็บส่วนที่เหลือไว้ในตู้เย็น
  • ทำให้อาหารมื้อนั้นเป็นมื้อพิเศษ
  • ชวนเพื่อหรือสมาชิกครอบครัวร่วมกันทำอาหารหรือเลือกซื้อส่วนผสม เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในการทำและทานอาหารมื้อนั้นๆ

จะเห็นได้ว่าหลักโภชนาการอาหารที่ดี เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และจำเป็นมากต่อร่างกาย รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งด้วย ไม่ว่าจะป่วยเป็นมะเร็งชนิดใด อยู่ในระยะไหน และรักษาด้วยวิธีอะไร หลักโภชนาการที่ดีก็จะต้องถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยโดยตลอด ทั้งนี้ตัวผู้ป่วยเองหรือผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ก็ต้องรู้จักศึกษาถึงข้อมูลในการเลือกรับประทานอาหารให้ถูกต้อง ตามช่วงเวลาในการรักษาผู้ป่วย ทั้งก่อนรักษา ระหว่างรักษา จนกระทั่งสิ้นสุดการรักษาแล้วก็ตาม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวของผู้ป่วยเองให้มากที่สุด โดยผู้ป่วยเองก็ควรทำตามอย่างเคร่งครัดและมีวินัยด้วย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและพร้อมสู้กับโรคมะเร็งร้ายในวันต่อๆไป

สนใจสั่งซื้ออาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยคลิ๊ก Line: @ amprohealth

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

Siemiatycki, J (2009). “Lifetime consumption of alcoholic beverages and risk of 13 types of cancer in men: Results from a case-control study in Montreal”. Cancer Detection and Prevention 32 (5): 352–62.

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [26 ม.ค. 2017].www.chulacancer.net/patient.