มะเร็งเม็ดเลือดขาว
มะเร็งเม็ดเลือดขาว ( Leukemia ) นอกจากอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น ตับ ปอด กระเพราะอาหาร เต้านม แล้ว โรคมะเร็งยังสามารถเกิดได้กับ เม็ด เลือด ซึ่งเป็นส่วนประกอบอีกอย่างหนึ่งของร่างกายได้อีกด้วย โดยส่วนมากเราจะรู้จัก โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในชื่อของ ลูคีเมีย ซึ่งเป็นชนิดมะเร็งที่มีความรุนแรงของโรคสูงมากประเภทหนึ่ง
มะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถเป็นได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ ทารกแรกคลอด ตลอดจนวัยผู้สูงอายุ แต่ส่วนมากมักพบได้บ่อยๆในกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อย ทั้งในประเทศไทยเองและเด็กในต่างประเทศ มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นชนิดโรคมะเร็งที่พบในเด็กมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนที่พบในผู้ใหญ่ก็มีปริมาณมากเช่นเดียวกัน เป็นโรคที่เกิดขึ้นติดอันดับหนึ่งในสิบจากกลุ่มของโรคมะเร็งทั้งหมด
เม็ดเลือดประกอบด้วย
ปกติแล้ว ไขกระดูก ในร่างกายของมนุษย์จะทำหน้าที่คอยสร้างกลุ่มเม็ดเลือดที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งจะประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ
1. เม็ดเลือดแดง มีหน้าที่หลักคือ นำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆภายในร่างกาย หากร่างกายขาดเม็ดเลือดแดงจะส่งผลให้มีอาการตัวซีด เหนื่อยง่าย หากปล่อยทิ้งไว้ระยะยาว จะส่งผลทำให้ระบบอวัยวะอื่นๆในร่างกายทำงานผิดพลาดจนกระทั้งเกิดภาวะล้มเหลวได้ โดยเฉพาะหัวใจ
2. เกล็ดเลือด มีหน้าที่หลักคือ ช่วยทำให้เลือดหยุดไหลเมื่อมีแผลเกิดขึ้นกับร่างกาย หรือ การเข้ารับการผ่าตัดทางการแพทย์ หากร่างกายมีปริมาณเกล็ดเลือดที่ต่ำกว่าปกติจะส่งผลให้ มีอาการเลือกออกง่าย หยุดช้าและอาจไหลไม่หยุดเลย ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายต่อร่างกายมากหากเกิดบาดแผลขึ้น
3. เม็ดเลือดขาว มีหน้าที่หลักคือ เปรียบเสมือนทหาร ที่คอยคุ้มป้องกันกันไม่ให้เชื้อโรคต่างๆ หลุดเข้าไปสู่ในร่าง กาย หากร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดขาวที่ต่ำจะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคต่ำตามไปด้วย ทำให้เกิดการเจ็บป่วย การติดเชื้อ ได้ง่าย และมักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง ทำให้อวัยวะต่างๆที่ติดเชื้อเกิดการอักเสบและล้มเหลวในที่สุด
สาเหตุการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีสาเหตุหลักมาจาก การที่ไขกระดูกทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ระบบการสร้างเม็ดเลือดต่างๆผิดเพี้ยนไปจากเดิม เช่น สร้างมากเกินกว่าปกติ หรือ สร้างน้อยเกินกว่าปกติ แต่โดยส่วนมากแล้วมักจะพบในลักษณะการสร้างที่มากเกินกว่าปกติ และพบได้ในเม็ดเลือดขาวบ่อยที่สุด
เมื่อเม็ดเลือดขาวถูกสร้างขึ้นมากว่าปกติ จะส่งผลกระทบทำให้เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดอาจมีปริมาณในการสร้างลดลงไปด้วย โดยในปัจจุบันยังไม่มีเหตุผลแน่นอนที่ชัดเจน ว่ามีเหตุผลใดที่ทำให้ไขกระดูกทำงานผิดปกติ จนทำให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเกิดขึ้น แต่อาจเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้
- เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมบางชนิด ทั้งชนิดถ่ายทอดได้และชนิดไม่ถ่ายทอด ซึ่งมีหน้าที่ควบคุม เกี่ยวกับการแบ่งตัวและการตายของเซลล์
- การได้รับรังสีชนิดต่างๆในปริมาณมากและต่อเนื่อง เช่น รังสีเอ็กซ์
- การได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา ตั้งแต่อายุยังน้อย
- ผู้ที่มีภาวะของโรคดาวน์ซินโดรม ( Down’s Syndrom ) จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากกว่าคนปกติ
- การขาดสารอาหารของมารดาในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งจะส่งผลต่อทารกที่กำลังจะเกิดขึ้นมา
- การได้รับสารก่อมะเร็ง จากสารเคมีบางชนิดบ่อยๆ ส่งผลให้ไปกระตุ้นเชื้อมะเร็งในร่างกายให้เกิดขึ้น
- การได้รับสารก่อมะเร็งปริมาณสูงตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ร่วมทั้งจากการบริโภคสารก่อมะเร็งของมารดาในขณะตั้งครรภ์
ประเภทมะเร็งเม็ดเลือดขาว
มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีอยู่หลายชนิด แต่ก็สามารถแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ใหญ่ๆ ได้ 2 ชนิดคือ
1. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟซิติก ( Lymphocytic Leukemia )
2. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดไมย์อีโลซิติก หรือนัลลิมโฟซิติก ( Myelocytic Leukemia or Non-Lymphocytic )
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้ง 2 ชนิดนี้ ยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อยๆ ได้อีก คือ มะเร็งชนิดเฉียบพลัน และ มะเร็งชนิดเรื้อรัง ซึ่งชนิดแบบเฉียบพลัน เป็นโรคมะเร็งประเภทที่มีความรุนแรงของโรคสูงมาก จะมีอาการรุนแรงตั้งแต่ที่เริ่มเป็น หากเป็นแล้วต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน ส่วนมะเร็งชนิดเรื้อรังนั้น มีความรุนแรงน้อยกว่าชนิดเฉียบพลัน ผู้ที่ป่วยจะมีอาการที่ค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็ควรได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร่งด่วนโดยเช่นกัน ก่อนที่จะลุกลามไปถึงระยะสุดท้ายของมะเร็งที่ไม่อาจรักษาได้แล้ว
อาการมะเร็งเม็ดเลือดขาว
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้น โรคนี้จะไม่มีอาการเฉพาะของโรคเหมือนมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่จะมีอาการจากผลข้างเคียงของไขกระดูกที่ทำงานผิดปกติ โดยทั่วไปมักจะมีอาการดังต่อไปนี้
- เกิดภาวะตัวซีด รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลีย ง่ายกว่าปกติ
- เจ็บป่วยบ่อยๆ เช่น มีอาการไข้ขึ้นสูงบ่อยๆ เนื่องจากมีภาวะภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าปกติ
- มีอาการทางสมอง เมื่อมีโรคแพร่กระจายเข้าสมอง
- เมื่อเป็นมาก ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง และอัณฑะจะโต ( ในผู้ชาย ) จนคลำพบได้เองถึงความผิดปกติ
- เกิดภาวะ มีเลือดออกได้ง่ายกว่าปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล มีเลือดออกขณะแปรงฟัน อาจมีจ้ำ ห้อเลือด หรือจุด
- เลือดออกใต้ผิวหนังเป็นจุดแดงแดงเหมือนเป็นไข้เลือดออก ซึ่งเป็นผลมาจากไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดในปริมาณผิดปกติ
จะสามารถทราบได้อย่างไรว่าป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว
หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติเบื้องต้น ตามข้อมูลจากในหัวข้อ อาการป่วยของผู้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวแล้ว ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวทันที โดยแพทย์จะมีวิธีในการตรวจหาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวนี้ได้หลากหลายวิธี เช่น
- การสอบถามประวัติอาการ การตรวจร่างกาย เพื่อหาความผิดปกติ
- การตรวจค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด Complete Blood Count ( CBC )
- การเจาะหรือดูดไขกระดูกไปตรวจทางเซลล์วิทยาหรือทางพยาธิวิทยา
- วิธีอื่นๆตามความเห็นของแพทย์
ระยะของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะต่างจากมะเร็งประเภทอื่น ที่ไม่มีการแบ่งระยะของโรค เนื่องจาก เป็นโรคที่เกิดขึ้นในไขกระดูก เมื่อถูกตรวจพบ ก็แสดงว่าโรคจะแพร่กระจายเข้าในไขกระดูกทั่วตัวแล้ว ซึ่งในทางการแพทย์จะใช้วิธีการแบ่งระยะของโรคมะเร็งชนิดนี้โดย ใช้ผลการตรวจจากวิธีต่างๆ เช่น การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดซีบีซี การตรวจไขกระดูก เพื่อดูความรุนแรงของโรค โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะใหญ่ๆ คือ
- กลุ่มที่มีความรุนแรงของโรคปานกลาง คือ กลุ่มที่ไม่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม จำนวนเม็ดเลือดขาวไม่สูงมาก โรคยังไม่แพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม อัณฑะ สมอง และไขสันหลัง
- กลุ่มที่มีความรุนแรงของโรคสูง คือ มีลักษณะโรคนอกเหนือจากที่กล่าวแล้วในกลุ่ม โรคมีความรุนแรงปานกลาง เช่น การมีโรคแพร่กระจายเข้าเนื้อเยื่ออื่นๆนอกเหนือไขกระดูกแล้ว
การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว
แนวทางในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้น จะมิวิธีที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย อายุ ความรุนแรงของโรค โดยแพทย์ผู้ที่ให้การรักษาจะเป็นผู้วิเคราะห์ถึงแนวทางสำหรับการรักษาผู้ป่วยในแต่ละราย เช่น
- การใช้เคมีบำบัด โดยอาจใช้ตัวยาหลายชนิด เพื่อให้ไปหยุดยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้น
- การใช้รังสีรักษา มักจะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการของโรครุนแรง เฉียบพลัน เช่น ใช้รังสีเพื่อป้องกันโรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าสมอง
- วิธีการปลูกถ่ายไขกระดูก/สเต็มเซลล์ จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคสูง และไม่ได้ผลจากการให้เคมีบำบัด แต่มีข้อเสียคือ เป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก จนอาจเกินกว่าที่ผู้ป่วยทุกคนจะรับได้
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้น ถึงจะเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูงแต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดเป็นปกติได้เช่นกัน แต่จะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ของโรคด้วย เช่น
- ชนิดของเซลล์มะเร็ง ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟ-ซิติก จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ง่ายกว่า ชนิดไมย์อีโลซิติก และ ชนิดเรื้อรังก็จะสามารถรักษาให้หายได้ง่ายกว่าชนิดแบบเฉียบพัน ด้วยเช่นกัน
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม หากผู้ป่วยมีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ไม่มากก็สามารถรักษา ให้หายได้เป็นปกติได้ไม่ยาก ต่างกับผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมมากก็จะรักษาให้หายได้ยากว่า
- เพศ โดยปกติแล้วผู้ชายจะมีความรุนแรงของโรคสูงกว่าผู้หญิง
- อายุ จากข้อมูลพบว่า ทารก วัยรุ่น และผู้ใหญ่จะมีความรุนแรงของโรคสูงกว่าเด็กอายุ 1 ถึง 10 ปี
- สภาวะทางร่างกาย ผู้ป่วยที่มี ตับ ม้าม หรือต่อมน้ำเหลืองโต จะส่งผลให้มีความรุนแรงของโรคสูงไปด้วย
- การแพร่กระจายของโรค หากผู้ป่วยอยู่ในสภาวะที่เชื้อมะเร็งมีการแพร่กระจายเข้าสู่น้ำไขสันหลัง สมอง และอัณฑะ เป็นระยะที่มีความรุนแรงของโรคสูงแล้ว การรักษาให้หายจะทำได้ยากมากขึ้น
- สุขภาพของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มีสุขภาพดีแข็งแรง จะมีโอกาสรักษาให้หายง่ายกว่าผู้ป่วยที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง
การป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวตั้งแต่ระยะเริ่มเป็น สิ่งที่ทำได้คือ คอยสังเกตถึงความผิดปกติต่างๆในร่างกาย หากมีความผิดปกติอะไรที่มีอาการคล้ายโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีจะดีที่สุด
สำหรับการป้องกันโรคก็เช่นกัน ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดๆที่สามารถป้องกันโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดก็คือ ทำร่างกายของตนเองให้มีความแข็งแรงอยู่เสมอ ทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและเหมาะสม รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดเชื้อมะเร็งด้วย
มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือที่เรารู้จักกันในชื่อของลูคิเมีย แม้จะเป็นโรคที่พบได้มากในเด็กที่มีอายุน้อย แต่ก็ไม่ควรละเลยไปสำหรับผู้ที่เลยวัยเด็กมาแล้ว เนื่องจากเป็นโรคที่มีความรุนแรงของโรคสูงมาก และยังเป็นโรคที่ในปัจจุบันไม่มีวิธีการป้องกันและไม่สามารถตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้อีกด้วย ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดทีเราสามารถทำได้กันคือ หมั่นดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้ดีอยู่เสมอ และหากพบความผิดปกติอะไรเกี่ยวกับร่างกายควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อให้ทำการตรวจจะดีที่สุด และอย่าลืมเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะหากตรวจพบโรคในระยะอาการที่ไม่หนักมาก โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวนี้ก็สามารถรักษาให้หายเป็นปกติเหมือนโรคอื่นทั่วๆไปได้นั้นเอง
ร่วมตอบคำถามกับเรา
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
พวงทอง ไกรพิบูลย์. ถาม – ตอบ มะเร็งร้ายสารพัดชนิด. กรุงเทพฯ ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2557. 264 หน้า 1.มะเร็ง I.ชื่อเรื่อง. 616.994 ISBN 978-616-08-1170-0
Leukemia — Definition of Leukemia by Merriam-Webster”. Archived from the original on 6 October 2014.
“What You Need To Know About™ Leukemia”. National Cancer Institute. 23 December 2013. Archived from the original on 6 July 2014. Retrieved 18 June 2014.
“A Snapshot of Leukemia”. NCI. Archived from the original on 4 July 2014. Retrieved 18 June 2014.
Hutter, JJ (Jun 2010). “Childhood leukemia.”. Pediatrics in review / American Academy of Pediatrics. 31 (6): 234–41. PMID 20516235.