มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ( Lymphoma )

0
7112
เกิดก้อนเนื้อที่โตขึ้นที่ลำคอ
เกิดก้อนเนื้อที่โตขึ้นที่ลำคอ
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเกิดขึ้นที่ลำคอ
ต่อมน้ำเหลืองทั้งหมดในร่างกายสามารถเกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ ซึ่งส่วนมากพนที่ลำคอ

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ต่อมน้ำเหลืองโดยปกติแล้วจะมีหน้าที่ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ให้ร่างกายมีความแข็งแรงและห่างไกลจากโรคร้ายต่างๆ มากขึ้น ซึ่งต่อมน้ำเหลืองก็จะมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อกระจายอยู่ทั่วร่างกายของคนเรา โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ช่องอก อุ้งเชิงกรานช่องท้องและต่อมทอนซิล เป็นต้น โดยทั้งนี้ต่อมน้ำเหลืองทั้งหมดสามารถเกิดเป็น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ( Lymphoma ) ได้ทั้งสิ้น แต่ที่พบได้มากและบ่อยที่สุดก็คือบริเวณลำคอ ขาหนีบและรักแร้นั่นเอง นอกจากนี้ก็ยังพบได้ที่ลำไส้เล็ก สมองและกระเพาะอาหารได้อีกด้วย ดังนั้นจึงควรดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีอยู่เสมอ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองประเภทของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin Lymphoma)และชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma) โดยส่วนใหญ่ในประเทศไทย จะพบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินมะเร็งต่อมน้ำเหลือง พบบ่อยมากแค่ไหน มะเร็งต่อมน้ำเหลืองส่วนมากจะพบได้มากในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบในผู้ใหญ่มากใน 10 อันดับแรกของโรคร้าย รวมถึงพบได้มากในเด็ก ซึ่งติดอยู่ในอันดับที่ 3 ของโรคมะเร็งที่พบบ่อยในเด็กไทยเลยทีเดียว โดยทั้งนี้โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองก็จะมีหลายชนิดด้วยกัน และมีความรุนแรงของโรคที่ต่างกันไปตามแต่ละชนิดอีกด้วย โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มน็อนฮอดจ์กิน และกลุ่มฮอดจ์กิน ซึ่งชนิดน็อนฮอดจ์กินจะมีความรุนแรงมากกว่า

สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

สาเหตุของการป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ยังไม่พบแน่ชัด แต่เชื่อว่าโรคนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยเสี่ยงด้วยกัน ซึ่งได้แก่

  • ความผิดปกติของพันธุกรรมบางชนิดก่อให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งก็มีทั้งพันธุกรรมชนิดที่ถ่ายทอดได้และถ่ายทอดไม่ได้ โดยจะมีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมการแบ่งตัวและการตายของเซลล์ปกตินั่นเอง
  • ร่างกายได้รับเชื้อไวรัสบางชนิด ที่ไปกระตุ้นให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจเกิดจากการติดเชื้อของแบคทีเรียบางชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร
  • ภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดความบกพร่อง ส่วนใหญ่จะเกิดได้ในคนที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือในคนที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะ อาจเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้
  • ร่างกายได้รับสารเคมีบางชนิดสะสมนานเกินไป จนก่อให้เกิดมะเร็ง

ต่อมน้ำเหลืองทั้งหมดในร่างกายสามารถเกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ทั้งสิ้น แต่ที่พบได้มากและบ่อยที่สุดก็คือบริเวณลำคอ ขาหนีบและรักแร้

อาการของ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองยังไม่พบอาการที่ชี้เฉพาะ โดยจะมีอาการคล้ายกับการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองทั่วไป แต่อาการที่พบได้บ่อยก็คือ 

  • อาการต่อมน้ำเหลืองโต แต่ไม่มีอาการเจ็บ โดยสามารถคลำเจอได้
  • ในกรณีที่เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่อวัยวะต่างๆ ก็จะมีอาการแบบเดียวกันกับโรคมะเร็งที่อวัยวะนั้นๆ นั่นเอง
  • มีอาการไข้สูงติดต่อกันหลายวัน มักจะเป็นแบบเป็นๆ หายๆ น้ำหนักลดผิดปกติ มีอาการเหงื่อออกเยอะในตอนกลางคืน ซึ่งอาการเหล่านี้ก็ไม่สามารถที่จะหาสาเหตุได้พบ อย่างไรก็ตามในบางคนก็อาจไม่มีอาการเหล่านี้ได้เหมือนกัน โดยนั่นแสดงว่าความรุนแรงของโรคต่ำกว่าผู้ที่มีอาการนั่นเอง

อาการเริ่มต้นของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบได้บ่อย

  • พบก้อนที่บริเวณต่าง ๆของร่างกาย เช่น ที่คอ รักแร้ หรือ ขาหนีบ โดยก้อนที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น มักไม่เจ็บต่างจากการติดเชื้อที่มักมีอาการเจ็บที่ก้อน
  • ปวดศีรษะ
  • ไข้ หนาวสั่น
  • มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน
  • เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด
  • อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ไอเรื้อรัง และหายใจไม่สะดวก
  • ต่อมทอนซิลโต
  • อาการคันทั่วร่างกาย

อาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระยะลุกลาม

  • ในผู้ป่วยบางราย จะพบอาการปวดที่ต่อมน้ำเหลือง หลังการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ในรายที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองภายในช่องท้อง จะพบอาการแน่นท้อง หรืออาหารไม่ย่อยได้
    ต่อมน้ำเหลืองที่โตจะมีผลกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น หลอดเลือด หรือเส้นประสาท อาจทำให้เกิดอาการชา หรือ ปวด ตามแขนขาได้

รู้ได้อย่างไรว่ากำลังเป็น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

การจะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือไม่นั้น สามารถตรวจได้จากการวินิจฉัยโดยแพทย์ ซึ่งแพทย์จะทำการสอบถามประวัติอาการป่วย ตรวจร่างกายและตัดชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองออกไปตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อหาผลการตรวจที่แน่ชัดที่สุด นอกจากนี้ก็จะทราบด้วยว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะที่เท่าไหร่ของโรคแล้ว

ระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ระยะโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกได้เป็นทั้งหมด 4 ระยะ ได้แก่

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 1 เป็นระยะที่โรคมะเร็งเกิดขึ้นกับต่อมน้ำเหลืองเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น และยังอยู่ในภาคเดียวกันกับกระบังลม

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 2 เป็นระยะที่มะเร็งได้เกิดขึ้นกับต่อมน้ำเหลืองหลายกลุ่มด้วยกัน แต่ก็ยังอยู่ในฝั่งเดียวกันกับกระบังลมอยู่ดี นอกจากนี้ก็ยังอาจจะลุกลามเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงแล้วอีกด้วย

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 3 เป็นระยะที่มะเร็งได้เกิดกับต่อมน้ำเหลืองหลายต่อม เกิดขึ้นทั้งสองฟากของกระยังลม และลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองหลายบริเวณด้วยกัน

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 4 เป็นระยะที่มะเร็งได้แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก ส่วนใหญ่จะพบการแพร่ไปยังไขสันหลัง สมองและไขกระดูกได้เป็นอันดับแรกๆ

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะใช้วิธีการรักษาด้วยการทำเคมีบำบัดและการใช้รังสีรักษา ซึ่งจะใช้เพียงวิธีเดียว หรือทั้งสองวิธีควบคู่ไปนั้นก็จะต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ด้วยนั่นเอง นอกจากนี้ในกรณีที่โรคมีการลุกลามในระดับรุนแรง ก็จะมีการรักษาด้วยยาที่ใช้รักษาตรงเป้ารวมถึงการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่สูงมาก ผู้ป่วยจึงไม่สามารถเข้าถึงวิธีนี้ได้ทุกคน ส่วนจะรักษาให้หายขาดได้หรือไม่นั้น ก็จะต้องขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งและระยะของโรคด้วย โดยหากพบว่าเป็นมะเร็งในระยะที่ 3 และ ระยะที่ 4 จะมีโอกาสรักษาให้หายได้ยากมากทีเดียวสามารถตรวจคัดกรอง มะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ไหมการจะตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ระยะเริ่มแรกนั้น ยังไม่มีวิธีการตรวจที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงต้องคอยสังเกตความผิดปกติของตนเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะหากพบว่าต่อมน้ำเหลืองมีขนาดโตผิดปกติจนสามารถคลำได้ ให้รีบไปพบแพทน์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยในทันที

การดูแลตนเองในระหว่างเข้ารับการรักษามะเร็ง

  • ทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดูแลสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ
  • สามารถรับประทานอาหารเสริมที่ช่วยเพิ่มเม็ดเลือดจะส่งผลดีต่อการรักษาในครั้งต่อไป
  • หมั่นสังเกตอาการที่ผิดปกติไปจากเดิม และรีบไปพบแพทย์ทันที

มีวิธีป้องกัน มะเร็งต่อมน้ำเหลืองไหม

เนื่องจากโรคนี้ยังไม่พบสามารถที่แท้จริงและไม่สามารถตรวจคัดกรองได้ จึงยังไม่มีวิธีการป้องกันที่ดีเช่นกัน ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือการหลีกเลี่ยงทุกปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นสาเหตุของโรคนั่นเอง

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์. รู้ก่อนเข้าใจการตรวจรักษามะเร็ง. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2557.

World Cancer Report 2014. World Health Organization. 2014. pp. Chapter 5.4. ISBN 9283204298.

“General Information About Adult Non-Hodgkin Lymphoma”. National Cancer Institute. 2014-04-25. Archived from the original on 5 July 2014. Retrieved 20 June 2014.

Becker, N; Nieters, A; Brennan, P; Boffetta, P; Cocco, P; Hjalgrim, H (September 2013). “Cigarette smoking and risk of Hodgkin lymphoma and its subtypes: a pooled analysis from the International Lymphoma Epidemiology Consortium (InterLymph)”. Annals of Oncology. 24 (9): 2245–55. doi:10.1093/annonc/mdt218. PMC 3755332 Freely accessible. PMID 23788758.

“Hodgkin Lymphoma—SEER Stat Fact Sheets”. Seer.cancer.gov. Archived from the original on 2012-10-17. Retrieved 2012-08-26.