ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือ คีโม
ยาเคมีบำบัดนอกจากจะทำลายเซลล์มะเร็งแล้ว ยังมีผลกระทบต่อเซลล์ปกติที่แบ่งตัวเร็วในร่างกายด้วย

เคมีบำบัด คือ

เคมีบำบัด ( Chemotherapy ) หรือ คีโม ปัจจุบันนี้โรคมะเร็งเป็นโรคที่คร่าชีวิตของคนไปเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการพัฒนาวิธีการรักษามะเร็งอย่างได้ผลออกมาตลอดเวลา ซึ่งทุกวิธีที่ใช้รักษามะเร็งต่างก็มุ่งหวังที่จะกำจัดเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ในร่างกายให้ออกไปจนหมดอย่างถาวรและไม่กลับเข้ามาในร่างกายของผู้ป่วยอีกครั้ง สำหรับมะเร็งที่มีการเจริญเติบโตจำกัดอยู่เฉพาะที่การรักษาด้วยการผ่าตัดและการฉายรังสีน่าจะเป็นการรักษาที่เหมาะสมกับมะเร็งชนิดนี้แล้ว แต่ทว่าบางครั้งการรักษามะเร็งดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะกำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดไปจากร่างกายได้ เนื่องจากมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นในระดับที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือการตรวจหาเชื้อมะเร็งบางชนิด ทำให้ผู้ที่ทำการรักษามะเร็งแบบเฉพาะที่นั้นมีอัตราเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นมะเร็งได้อีก ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการพยายามทีจะค้นหาวิธีที่จะรักษาทั้งระบบเพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ไม่กลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้ง

ในปี ค.ศ.1946 Gilmam และ Philips ได้ทำการรักษาแบบทั้งระบบครั้งแรกกับคนไข้ และในปี ค.ศ. 1947 Farber และคณะได้ทำการรักษาด้วยการใช้เคมีบำบัดซึ่งเป็นวิธีการรักษาทั้งระบบที่นับเป็นวิธีที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดจนถึงทุกวันนี้ ต่อมาได้ค้นพบว่าฤทธิ์ในการต่อต้านมะเร็งของสารที่สามารถกระตุ้นการตอบสนองของร่างกายต่อการอักเสบติดเชื้อและโรคปกติ ( Biological Response Modifiers ) และ Immunotherapeutic Agent ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มที่ดี เพราะเป็นการเพิ่มของสารที่ใช้ในการต่อต้านมะเร็งให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าการรักษาทั้งระบบจะมีข้อดีแต่ก็ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับความเป็นพิษต่อเนื้อเยื่อปกติที่เกิดจากยาเหล่านี้ด้วย ซึ่งมีหลักการตัดสินใจเลือกวีธีการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดนั้นต้องคำนึกถึงความเป็นพิษที่อาจะเกิดขึ้นในการตัดสินใจด้วย

เคมีบำบัดกับการรักษามะเร็ง

หลักการที่ใช้ในการทำเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็งส่วนมากจะมาจากการสังเกตและประสบการณ์จากผลที่เกิดขึ้นจริงในการรักษาผู้ป่วย ไม่ได้มีเอกสารหรือเหตุผลเชิงวิชาการเข้ามาประกอบในการออกแบบการใช้เคมีบำบัด เช่น การรักษามะเร็งที่ใช้ยาหลายชนิดรวมกัน ( Multiagents Therapy ) ซึ่งจากการสังเกตุพบว่าการใช้ยาชนิดเดียวในการรักษาไม่สามารถรักษามะเร็งให้หายขาดได้ การรักษาด้วยการใช้ยาหลายชนิดกลับทำให้มะเร็งหายขาดได้ แต่ว่าการที่นำยาหลายชนิดมาใช้ร่วมกันในการรักษาเพียงครั้งเดียวก็มีข้อจำกัดตามหลักทางเคมีและเภสัชศาสตร์ คือ

1. ชนิดของยาคีโม ยาที่นำมาใช้ร่วมกันในการรักษาแบบเคมีบำบัดมีอยู่เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น ที่สามารถนำมาเลือกใช้ในการรักษาได้

2. ความเป็นพิษของเคมีบำบัด ยาแต่ละชนิดจะมีความเป็นพิษเฉพาะตัวอยู่ด้วย ดังนั้นการที่จะนำยามาใช้ร่วมกันต้องศึกษาถึงความเป็นพิษของยาแต่ละชนิดและศึกษาความพิษเมื่อนำยามาใช้ร่วมกันได้ ซึ่งความพิษที่รับได้นั้น ได้มีการควบคุมอย่างชัดเจน

ในต้นทศวรรษที่ 60 ได้เกิดความสำเร็จครั้งแรกในการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ( Hodgin’s Disease )

ที่รักษาด้วยการใช้ยา MOPP ร่วมกับ Acute Lymphoblastic Leukemia ( All ) จากการรักษาดังกล่าวเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญในการใช้เคมีบำบัดหลายชนิดที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันจะสามารถช่วยรักษามะเร็งอย่างได้ผลมากขึ้น

Goldie และ Coldman ได้มีการเสนอทฤษฏีที่ว่า “ การออกแบบสูตรยาที่ใช้ในการรักษามะเร็ง ต้องคำนึกถึงว่ายาแต่ละชนิดที่นำมาใช้ร่วมกันต้องไม่มีกลไกในการดื้อยาร่วมกัน ”

แนวทางในการออกแบบสูตรยาที่ใช้ในการรักษา

1.ยาที่นำมาใช้แต่ละชนิดต้องสามารถรักษามะเร็งด้วยตัวเองอย่างชัดเจนหรือไม่เป็นยาที่เข้าไปเสริมฤทธิ์ยาของยาตัวอื่นที่อยู่ในสูตรยาให้ออกฤทธิ์ได้มากขึ้น โดยที่ยาแต่ละชนิดที่นำมาใช้ต้องมีกลไกการทำงานหรือกลไกการออกฤทธิ์ที่ชัดเจน แตกต่างกันจึงจะร่วมอยู่ในสูตรยาเดียวกันได้ และมีกลไกการดื้อยาร่วมกัน ยาที่นำมารวมกันต้องมีฤทธิ์ที่เสริมซึ่งกันและกัน ห้ามใช้ยาที่ไม่ทราบถึงกลไกการออกฤทธิ์ที่ไม่ชัดเจนในการทำลายมะเร็ง เพราะจะถือว่ายาชนิดดังกล่าวเมื่อเข้าไปอยู่ในสูตรยาแล้ว ยาชนิดนี้จะเข้าไปต้านฤทธิ์ยาตัวอื่นทำให้ผลจากยาที่ทำการรักษาไม่ได้ผลเต็มที่

2.การออกแบบตารางยา ควรออกแบบให้ยาส่งผลในการรักษาเร็วที่สุดและทำลายเซลล์มะเร็งในได้มากที่สุดไปพร้อม ๆ กัน เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ดื้อยา ส่งผลให้การรักษาในครั้งต่อไปได้ผลไม่ดีต้องเพิ่มปริมาณยาในการรักษา ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อผู้ป่วย

3.ควรเลือกยาที่มีความพิษทับซ้อนกันน้อยที่สุดในการออกแบบสูตรยา เพื่อหลีกเลี่ยงการลดขนาดความสามารถในการออกฤทธิ์ของยาตัวอื่นในสูตรยา เพราะความเป็นพิษของยาบางชนิดจะสามารถเข้าไปลดการออกฤทธิ์ของยาอีกชนิดหนึ่งได้

ความเป็นพิษของการรักษาด้วยเคมีบำบัด

การรักษาด้วยเคมีบำบัดย่อมมีความเป็นพิษเกิดขึ้นตามมาด้วยเสมอ ซึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการทนความพิษเมื่อได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด คือ ชนิดของยาที่ใช้ ขนาดของยาที่ใช้ การออกแบบสูตรของยาที่ใช้ ตารางการให้ยาในขั้นตอนการรักษา และการทำการรักษารูปแบบอื่นที่มารักษาร่วมกับการใช้เคมีบำบัด ซึ่งแต่ละปัจจัยล้วนแต่เป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อความเป็นพิษของเนื้อเยื่อ

” การรักษาด้วยเคมีบำบัดย่อมมีความเป็นพิษเกิดขึ้นตามมาด้วยเสมอ “

ดังนั้นในการรักษานอกจากเราจะต้องคิดถึงค่าการออกฤทธิ์ต่อต้านมะเร็งของยาที่ใช้ในการรักษาแล้ว เราต้องคำนึงถึงค่า Therapeutic Index หรือค่าสัดส่วนขนาดของยาที่ทำให้เกิดพิษจนเกิดอันตรายร้ายแรง กับ ปริมาณยาที่ส่งผลต่อการต่อต้านมะเร็ง นั่นคือ ยาที่จะนำมารักษาผู้ป่วยได้ต้องมีค่า Therapeutic Index สูงพอที่จะสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้และค่าความเป็นพิษที่เกิดขึ้นก็อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงด้วย แต่ก็มีข้อควรระวังเช่นกันสำหรับการเลือกใช้ยาเพราะว่ายาบางชนิดที่อยู่ในสูตรยาจะมีค่า Therapeutic Index ที่เปลี่ยนไปเมื่อใช้คู่กับยาตัวอื่น ๆ หรือว่าค่า Therapeutic Index อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากสภาวะของผู้ป่วยที่ส่งผลให้ค่า  Therapeutic Index ของยาเปลี่ยนไป เช่น ค่า Therapeutic Index ของยาเมโธเทรกเซค ( Methotrexate ) อาจจะมีค่าเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ Third Space Fluid อย่างการท้องบวม ( Ascites ) หรือภาวะน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดสูง ( Pleural Effusion ) ส่งผลให้การขับถ่ายของร่างกายช้าลง และการกระจายตัวกับการดูดซึมของยาเมโธเทรกเซคก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย และเมื่อมีการสะสมของยาใน Third Space Fluid ก็จะทำให้ครึ่งชีวิต ( Terminal haft Life ) ของยามีความยาวนานขึ้น ส่งผลให้ยามีการสะสมได้ยาวนานขึ้น และมีความเสี่ยงในการเกิดกดไขกระดูก ( Myelosuppression ) และการอักเสบเยื่อบุชองปาก ( Mucositis ) ซึ่งการเกิดกรณีเช่นนี้เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการระบาย Third Space Fluid ออกไปให้หลงเหลือในปริมาณที่น้อยลงก่อนหรือปรับปริมาณยา สูตรยาที่ใช้ในการรักษาให้เหมาะสมกับสภาวะของผู้ป่วย เพื่อลดความเป็นพิษที่อาจเกิดจากการใช้เคมีบำบัดได้

หลายคนคิดว่าอายุของผู้ป่วยมีความสำคัญในการนำมาคำนวนปริมาณและการออกแบบสูตรยา แต่แท้ที่จริงแล้วอายุของผู้ที่รับการรักษาไม่มีผลต่อการออกแบบสูตรยาเลยแม้แต่น้อย เพราะว่าจากการสังเกตุพบว่าผู้ป่วยบางคนที่มีอายุเท่ากันบางคนเกิดพิษมาก บางคนเกิดพิษน้อยหรือไม่เกิดพิษเลย จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าอายุมีผลต่อการเกิดพิษจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด ในทางตรงกันข้ามกลับพบว่าผู้ป่วยที่มีอายุมากบางคนมีความทนทานต่อการผลข้างเคียงหรือการเกิดพิษของการใช้เคมีบำบัดได้ดีกว่าคนที่มีอายุน้อยเสียด้วย และการที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตหรือรอดชีวิตนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเป็นพิษที่ได้รับจากการใช้เคมีบำบัด แต่กลับพบว่าขึ้นอยู่กับปริมาณของยาที่ใช้ว่าเพียงพอที่จะออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งได้หรือไม่มากกว่าความเป็นพิษที่ได้รับจากการใช้เคมีบำบัด

นอกจากปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอย่างที่ส่งผลต่อความเป็นพิษของการใช้เคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง นั่นคือ ความผิดปกติทางพันธุกรรม แต่ทว่าความเป็นพิษที่เกิดจากสาเหตุนี้มีผลค่อนข้างน้อยและจะพบได้กับการใช้ยาบางชนิดเท่านั้น เช่น การเกิดความเป็นพิษจาก Vinca Alkaloid ต่อระบบประสาทที่มีลักษณะเพิ่มขึ้นในโรค Charcot-Marie-Tooth เป็นต้น

ถึงอย่างไรก็ตามการศึกษาด้าน Therapeutic Index ที่เกิดขึ้น ต้องทำการศึกษาอย่างละเอียดถึงอิทธิพลและปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าความเป็นพิษกับปริมาณของยาที่ใช้ ในขณะที่ใช้เพียงยาชนิดเดียวและการใช้ยาหลายชนิดรวมกัน เพื่อที่ผลการรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัดจะสามารถทำลายมะเร็งได้อย่างเด็ดขาด และผู้ป่วยก็ได้รับผลกระทบหรือความเป็นพิษจากเคมีบำบัดน้อยที่สุด

ความเข้มข้นของยาที่ใช้ในการรักษาแบบเคมีบำบัด ( คีโม )

คีโมกับความเข้มข้นของยา ( Dose Rate ) คือปริมาณยาที่ใช้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ( Dose Rate / Dose Density ) อย่างที่เราทราบกันดีว่าระยะเวลาและตารางการให้ยานั้นส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและความเป็นพิษของยาในการรักษาเป็นอย่างมาก จึงได้มีการศึกษาเกี่ยวความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของยาที่ใช้กับการทำลายเซลล์มะเร็งที่มีการเจริญเติบโตสูงในสัตว์ทดลองโดยมีการศึกษาแบบ Linear-Log พบว่าการเพิ่มปริมาณยาขึ้น 2 เท่าปรากฏว่ายาสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้มากขึ้นถึง 10 เท่าเลย แต่ในทางกลับกันถ้าเราลดปริมาณยาลงเพียงแค่ 20 % เท่านั้นประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งกลับลดลงถึง 50 % เลยทีเดียว ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าจำนวนเซลล์มะเร็งที่ถูกทำลายในแต่ละครั้งของการใช้เคมีนั้นมีค่าน้อย ดังนั้นการเพิ่มปริมาณยาจึงช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็งที่ถูกทำลายไปได้นั่นเอง

Hryniuk ได้ทำการวิเคราะห์และค้นพบแนวคิดที่น่าสนใจ คือ “ ความเข้มข้นของยาส่งผลในการตอบสนองต่อการรักษาโดยยาในการรักษามะเร็งเต้านมด้วยคีโมและมะเร็งรังไข่ด้วย คีโม กับช่วงระยะเวลาที่รอดชีวิตโดยที่ไม่มีรอยโรค ” และจาการวิเคราะห์ผลด้วยวิธี Intermediated Grade Lymphoma ก็แสดงออกมาในรูปแบบเชิงบวกเช่นเดียวกันด้วย นั่นคือเมื่อเพิ่มปริมาณยาความสามารถในการทำลายเซลล์มะเร็งก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่ทว่าการที่จะออกแบบสูตรยาสำหรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดนั้น ต้องคำนึกด้วยว่าปริมาณยาที่เพิ่มขึ้นหรือมากเกินไปอาจจะส่งผลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็ง แต่ก็สามารถสร้างความเสียหายที่รุนแรงให้เนื้อเยื่อปกติที่อยู่บริเวณดังกล่าวด้วย ซึ่งทำให้เนื้อเยื่อที่บริเวณดังกล่าวไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันกับการให้ยาในครั้งต่อไป ส่งผลให้ความเป็นพิษที่ได้รับในครั้งต่อไปจะสูงขึ้น

ดังนั้นแล้วการที่จะเพิ่มปริมาณยาที่ใช้การรักษาผู้ป่วยจะต้องเลือกความเข้มข้นของยา อัตราการใช้ยาในออกแบบสูตรยาต้องปรับขนาดความเข้มข้นของยาให้ระดับความเป็นพิษเหมาะสมกับร่างกายด้วย การรักษาจึงจะส่งผลดีต่อตัวผู้ป่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

การป้องกันเนื้อเยื่อปกติจากความเป็นพิษของการทำเคมีบำบัด

จุดประสงค์หลักของการใช้เคมีบำบัด คือ การให้เคมีทำลายเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่ตามมากับการให้เคมีบำบัดคือความเป็นพิษที่เกิดขึ้นทั้งกับเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งและเนื้อเยื่อปกติ ซึ่งความเป็นพิษที่เกิดกับเนื้อเยื่อปกติเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ความเป็นพาที่เกิดขึ้นนี้สามารถเปลี่ยนแปลงหรือลดลงได้ด้วยวิธีการหลายวิธีดังนี้

1. ควบคุมปริมาณของยา ปริมาณของยานั้นส่งผลโดยตรงกับความเป็นพิษที่เกิดขึ้น ดังนั้นการควบคุมปริมาณยาที่ใช้ในการรักษาโรคก็จะช่วยลดความเป็นพิษที่เกิดขึ้นกับเซลล์เนื้อเยื่อปกติได้

2. การใช้ยาช่วย ในการลดความเป็นพิษที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อปกติสามารถทำได้โดยการให้ยาบางชนิดเข้าไปเพื่อช่วยความพิษที่มาจากการให้เคมีบำบัด เช่น การใช้ยา Cisplatin สำหรับทำเคมีบำบัดกับผู้ป่วย ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรง ซึ่งเราสามารถให้ยากลุ่ม 5HT-3 Antagonists เพื่อให้ความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นลดลง ส่งผลให้สามารถใช้ยา Cisplatin ได้ในปริมาณเพิ่มขึ้นอีก จึงมีโอกาสที่จะทำลายเซลล์มะเร็งได้มากขึ้นตามไปด้วย

3. ใช้ยาช่วยการฟื้นตัวของการสร้างเม็ดเลือด การฟื้นตัวของไขกระดูกเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยกำหนดและลดความเป็นพิษที่เกิดขึ้น นั่นคือ หลังจากที่ให้เคมีบำบัดกับผู้ป่วยไปแล้ว การเว้นระยะการให้เคมีบำบัดในครั้งต่อไปจะมีผลต่อการทำลายเซลล์มะเร็ง เพราะว่าถ้าเราทำการให้เคมีบำบัดครั้งต่อไปช้าหรือเว้นระยะจากครั้งแรกยาวนานมาก เซลล์มะเร็งที่ยังไม่ถูกตายเพียงแต่ถูกทำลายไปบางส่วนเท่านั้นก็จะสามารรถฟื้นตัวขึ้นมาแข็งแรงได้มาก เพราะฉะนั้นระยะเวลาในการให้เคมีบำบัดไม่ควรช้าเกินไป แต่ว่าก็ต้องขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยว่ามีการฟื้นตัวหรือมีการซ่อมแซมตัวเองได้ดีแค่ไหน การที่จะให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วสามารถทำได้โดยการให้ยาที่มีประสิทธิภาพช่วยในการฟื้นตัวของเม็ดเลือดแก่ผู้ป่วย เช่น Recombinant colony-stimulating factor Gm-CSF และ G-CSF ที่ช่วยในการแบ่งตัวและการเจริญเติบโตของเซลล์ต้นกำเนิดให้ดีขึ้น ซึ่งการให้ยานี้กับผู้ป่วยจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วระยะเวลาระหว่างการให้เคมีบำบัดแต่ละครั้งก็จะน้อยลง การรักษาด้วยเคมีบำบัดจึงสามารทำลายเซลล์มะเร็งได้มากขึ้น

4. การปลูกถ่ายไขกระดูก การปลูกถ่ายไขกระดูกแบบ Autologous หรือแบบ Allogeneic จะช่วยให้ร่างกายมีการฟื้นฟูได้เร็วขึ้น ซึ่งเทคนิคการปลูกถ่ายไขกระดูกก็คล้ายกับการให้ยากระตุ้น แต่ว่าการปลูกถ่ายไขกระดูกจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วกว่า เพราะไขกระดูกที่ทำการปลูกถ่ายเข้าไปนั้นไม่ได้รับผลจากากรให้เคมีบำบัดมาก่อนจึงสามารถสร้างเม็ดเลือดหรือเซลล์ต้นกำเนิด หรือ สเต็มเซลล์ ให้กับร่างกายได้ทันที ส่งผลให้สามารถเพิ่มปริมาณยาที่ใช้ได้มากขึ้นและทำการให้เคมีบำบัดในครั้งต่อไปก็ทำได้ในระยะเวลาที่น้อยลงด้วย วิธีนี้นิยมใช้ในการรักษาโรคมะเร็งที่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว ( Leukemia ),  Lymphoma เป็นต้น

ถึงแม้ว่าจะมีวิธีที่ช่วยลดความเป็นพิษต่อร่างกายมากมายแต่ความเป็นพิษที่เกิดจากการให้เคมีบำบัดก็ยังเป็นสิ่งที่กังวลอยู่ดี ดังนั้นการควบคุมปริมาณยาที่ใช้ในการรักษาก็ควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญและแพทย์ที่ทำการรักษาเท่านั้น

การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาคีโม 2 ชนิด

การใช้ยาในการรักษามะเร็งร่วมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปย่อมมีผลเกิดขึ้นทั้งแบบที่ต้องการให้เกิดขึ้นและแบบที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งผลที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาแต่ละชนิด การที่ใช้ยาร่วมกันหรือใช้ต่อเนื่องกันก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของยาในการทำลายเซลล์มะเร็งให้ได้ผลมากที่สุด ตัวย่างเช่น การใช้ยา Cisplatin ในการรักษามะเร็ง ยา Cisplatin จะส่งผลให้ไตทำการขับของเสียออกจากร่างกายได้ช้าลง ดังนั้นเมื่อใช้ยาที่ต้องขับ ออกไตร่วมด้วย เช่น Methotrexate หรือ Bleomycin ถูกขับออกมาได้ช้า จนเกิดการสะสมของสารดังกล่าวอยู่ในร่างกาย ทำให้เกิดความเป็นพิษได้ การแก้ไขก็ต้องคอยวัดการทำงานของไตว่าอยู่ในสภาวะปกติอยู่หรือไม่ในขณะที่ทำการให้ยา Cisplatin และทำการปรับขนาดของยาให้เหมาะสมกับระดับการเปลี่ยนแปลงของ Creatinine Clearance เป็นต้น

นอกจากการเกิดปฏิกิริยาที่ไม่ต้องการของแล้ว บางครั้งการใช้ยาร่วมกันก็เกิดปฏิกิริยาที่ต้องการเกิดขึ้นได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นการใช้ยา 5-Fluorouracil ร่วมกับยา Leucovorin ในการรักษาพบว่าเมื่อเพิ่มปริมาณ Leucovorin ในการรักษาแล้วจะส่งผลให้ 5-Fluorouracil ส่งความเป็นพิษของ Antimetabolite ต่อจำนวนของเซลล์ผิวชั้นนอก ( Gastrointestinal mucosa ) ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องลดปริมาณของยา 5-Fluorouracil ลงจากเดิมประมาณ 25% แต่ผลการรักษากลับสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้นเมื่อทำการเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยา 5-Fluorouracil เพียงอย่างเดียวโดยเฉพาะการรักษามะเร็งลำไส้

การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาคีโมกับการฉายแสง

การรักษามะเร็งนอกจากจะใช้ยาร่วมกันมากกว่าสองชนิดในการรักษาแล้ว บางครั้งได้มีการฉายแสงควบคู่ไปกับการใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษาด้วย โดยการใช้ยาร่วมกับการฉายรังสีพบว่าสามารถรักษามะเร็งได้ผลดีขึ้น แต่ว่าการรักษาด้วยการฉายรังสีพร้อมกับการใช้ยาเนื้อเยื่อปกติก็จะมีความไวต่อความเป็นพิษเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยความเป็นพิษที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการฉายรังสีจะเข้าไปทำให้ไขกระดูกสูญเสียประสิทธิภาพในการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวน แม้ว่าจะเว้นระยะเวลามาแล้วก็ตาม เมื่อต้องการใช้เคมีบำบัดในการรักษารักษามะเร็งในภายหลังก็ส่งผลให้เกิดการกดการผลิตเม็ดเลือดที่มีความรุนแรงและนานขึ้นกว่าเดิมกับตัวผู้ป่วยได้มากกว่าในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับการฉายแสงมาก่อนที่จะทำเคมีบำบัด ตัวอย่างเช่น ในผู้ป่วยที่เคยรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยการฉายรังสี ด้วยการให้ยา Cisplatin ร่วมกับการใช้ยา Irinotecan ในการรักษาครั้งต่อมาพบว่าผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงเกี่ยวกับระบบเลือดที่มีความรุนแรงในระดับ 3- 4 ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงที่ค่อนข้างสูงประมาณ 76-77 % และยังพบสภาวะซีดเกรด 3-4 ประมาณ 47 % และยังมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำอีกด้วย

นอกจากการเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงขึ้นแล้ว ยังพบอีกว่าปฏิกิริยาระหว่างยากับการฉายรังสีทำให้เกิดปฏิกิริยา Radiation Recall โดยเฉพาะยา Methotrexate และยา Doxorubicin ส่งผลให้มีอาการอักเสบเกิดขึ้นที่บริเวณที่เคยถูกฉายรังสีมาก่อนอีกด้วย

แนวการปฏิบัติการใช้เคมีบำบัด ( คีโม )

ปัจจุบันการรักษามะเร็งจะใช้การรักษาที่เรียกว่า Taregeted Therapy ซึ่งยาที่ใช้จะมียาหลายชนิดรวมอยู่ด้วย แต่ก็ยังไม่มียาชนิดใดที่ทำลายหรือมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะเท่านั้นและไม่มีความเป็นต่อเซลล์ปกติอื่น ๆ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าการกำหนดเป้าหมายยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ได้แต่อาศัยความแตกต่างระหว่างลักษณะของเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็งมาเป็นตัวกำหนดเป้าหมายการทำลายของยา เช่น แหล่งอาหารของเซลล์มะเร็งจะแตกต่างจากแหล่งอาหารของเซลล์ปกติ สัดส่วนการเจริญเติบโต ซึ่งบางครั้งเซลล์มะเร็งก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับเซลล์ปกติเป็นอย่างมาก จึงทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าเซลล์นั้นเป็นเซลล์มะเร็งหรือเซลล์ปกติ จนกระทั่งเซลล์มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นเซลล์มะเร็งอย่างเต็มตัวจึงระบุได้ ซึ่งการทำลายเซลล์มะเร็งในระดับนี้ก็ทำได้ยาก

แนวทางการรักษามะเร็ง

1. ความเป็นพิษของยาที่ใช้ในการรักษาจะเกิดขึ้นเมื่อใดหลังจากที่ใช้ยาไปแล้ว และความเป็นพิษจะยังอยู่นานแค่ไหน ซึ่งการที่ต้องรู้ก็เพื่อที่จะได้จัดตารางการให้ยาในแต่ละครั้งได้ถูกต้อง

2. ยาที่นำมาใช้แต่ละชนิดส่งผลต่อวัยวะใดบ้าง ส่งผลมากหรือน้อยอย่างไร อวัยวะที่ไวที่สุดนั้นสามารถใช้ยาได้ในปริมาณเท่าไหร่หรืออวัยวะสามารถต้านทานยาได้ในปริมาณมากที่สุดเท่าไหร่ เพื่อใช้ในการกำหนดขนาดปริมาณของยาที่สามารถใช้ได้ในแต่ละครั้ง

3. สามารถป้องกันความเป็นพิษที่เกิดขึ้นจากการให้ยาได้หรือไม่ ทั้งการให้ยาเพื่อช่วยลดความเป็นพิษที่อาจจะเกิดขึ้นหรือการลดความเป็นพิษด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วการลดความเป็นพิษที่ใช้ส่งผลต่อการออกฤทอธืของยาที่ใช้รักษาหรือไม่ เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดขนาดปริมาณของยาที่ใช้ในการรักษา

4. วิธีการให้ยา การให้ยาด้วยวิธีใดส่งผลให้ยาสามารถออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดและสร้างความเป็นพิษได้น้อยที่สุด เพื่อเลือกวิธีการให้ยากับผู้ป่วย

5. ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและยากับรังสีมีกลไกอย่างไร มีผลต่อการออกฤทธิ์และความเป็นพิษของยาอย่างไรบ้าง

6. ผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจในการรักษาด้วยยาเพียงพอหรือไม่ ผู้ป่วยต้องทราบอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ความเป็นพิษที่อาจจะเกิดขึ้นได้ก่อนที่จะได้รับการรักษา เพราะสภาพจิตใจของผู้ป่วยมีผลต่อการรักษาด้วยเช่นกัน

7. อาการแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นนั้นมีอะไรบ้าง และเกิดขึ้นแค่ไหนถือว่าอันตรายหรือแค่ไหนถือว่าปกติไม่เป็นอันตราย เพื่อที่หลังจากให้ยาไปแล้วจะได้ทำการติดตามผลได้ตรงจุด

8. ลักษณะของผู้ป่วย ผู้ป่วยมีประวัติการรักษาด้วยการฉายรังสีหรือการใช้ยาในการรักษามะเร็งหรือโรคร้ายแรงอื่นๆ มาก่อนหรือไม่ ถ้ามีการรักษาดังกล่าวส่งผลต่อการรักษาในครั้งปัจจุบันหรือไม่ และผู้ป่วยมีความผิดปกติทางพันธุ์กรรมใดที่ส่งผลต่อความเป็นพิษที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาหรือไม่

ทั้ง 8 ข้อเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญและแพทย์ที่ทำการรักษาด้วยเคมีบำบัดต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนที่จะทำการรักษาผู้ป่วยด้วยการใช้เคมีบำบัด เพื่อที่การรักษาด้วยเคมีบำบัดจะได้รักษามะเร็งได้อย่างหายขาดและมีผลข้างเคียงกับความเป็นพิษเกิดขึ้นน้อยที่สุด ทำให้มีอัตรารอดสูงขึ้นและโอกาสการกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้งน้อยลงนั่นเอง

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์. รู้ก่อนเข้าใจการตรวจรักษามะเร็ง. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2557.

พยาบาลสาร คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “การดูแลผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะหลังผ่าตัดเปลี่ยนช่องทางขับถ่ายปัสสาวะ”. (พัชรินทร์ ไชยสุรินทร์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tci-thaijo.org. [05 พ.ค. 2017].