การตรวจเลือด เพื่อทราบผลต่อสุขภาพจากสารอาหารบางประเภท
ตรวจเพื่อให้ทราบว่าอาหารที่ทานเข้าไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและทำให้เกิดโรคขึ้นมา โดยนำเลือดมาตรวจหาค่าP-Amylase และLipase

ตรวจหาความผิดปกติของ ตับอ่อน

การตรวจการทำงานของตับนั้นใช้ในการวินิจฉัยและติดตามโรคตับได้ โดยเป็นการวัดค่าเอนไซม์และโปรตีนในเลือด โดยหากมีระดับเอนไซม์เหล่านี้สูงหรือต่ำกว่าค่าปกตินั้นสามารถบอกปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายในตับได้ 

การตรวจเลือด หาค่า P-Amylase คือ

การตรวจเลือด หาค่า P-Amylase คือ การตรวจเพื่อหาค่าของเอนไซม์ที่ใช้ย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โดยมีชื่อว่า พี-อะมิเลซ ซึ่งเอนไซม์ตัวนี้ก็ได้มาจากการผลิตของตับอ่อนนั่นเอง ดังนั้นค่าความผิดปกติใดที่วัดได้จาก P-Amylase จึงอาจบ่งชี้ได้ว่าผู้ตรวจมีความเสี่ยงเป็นโรคตับอ่อนหรือมีความผิดปกติภายในท่อตับอ่อนที่ออกไปสู่ลำไส้เล็ก และเพื่อให้ได้ผลการตรวจเลือด ที่แน่นอน แม่นยำมากขึ้น แพทย์ก็มักจะตรวจหาค่า Lipase ร่วมด้วยเสมอ

คำอธิบายอย่างสรุปค่า P-Amylase

1. Amylase เป็นเอนไซม์ที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ 2 แหล่ง ได้แก่

  • ต่อมน้ำลาย ( Salivary Amylase ) โดยจะทำหน้าที่ในการย่อยอาหารในช่องปาก ดังนั้นเมื่อทานอาหารทุกครั้ง จึงควรเคี้ยวให้นานและละเอียดขึ้น เพื่อที่ในช่องทางเดินอาหารจะได้ไม่ต้องทำงานหนักกับการย่อยมากเกินไปนั่นเอง
  • เอนไซม์ตับอ่อน ( Pancreatic Amylase / P-Amylase ) เป็นเอนไซม์ที่จะทำหน้าที่ย่อยในลำไส้เล็ก โดยเอนไซม์ชนิดนี้เมื่อถูกผลิตขึ้นโดยตับอ่อน จะถูกส่งผ่านทางท่อทางเดินของตับอ่อนและท่อน้ำดี ผ่านออกไปสู่ลำไส้เล็กตอนต้น และเริ่มทำการย่อยอาหารที่ผ่านมาในทันที ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว คนเรามีความเข้าใจผิดมาตลอดว่าการย่อยอาหารแบบจริงจังนั้นเกิดขึ้นที่กระเพาะอาหาร แต่ในความเป็นจริงอาหารถูกย่อยตั้งแต่อยู่ในปาก และจะถูกย่อยจริงจังอีกครั้งที่ลำไส้เล็กตอนต้น ซึ่งกระเพาะอาหาร มีหน้าที่เพียงให้อาหารที่ผ่านลงไปได้คลุกเคล้าปนกับสารคัดหลั่งที่อยู่ภายในกระเพาะอาหารเท่านั้น

2. ตับอ่อน มีหน้าที่ในการผลิตและส่งเอนไซม์หลายตัว เพื่อใช้ในการย่อยอาหาร โดยเฉพาะเอนไซม์ที่ใช้ย่อยโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเอนไซม์เหล่านี้ก็จะต้องผ่านออกทางท่อตับอ่อน และท่อน้ำดี ก่อนจะไปถึงลำไส้เล็กและเริ่มทำการย่อยอาหารนั่นเอง ดังนั้นสำหรับผู้ที่มีสุขภาพตับอ่อนดี ก็ย่อมทำให้กระบวนการย่อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วย และน้ำย่อยบางส่วนก็จะต้องปนติดไปกับกากอาหารที่ถูกขับทิ้งออกนอกร่างกายในรูปของอุจจาระด้วย ส่วนที่จะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่กระแสเลือดนั้นจะมีปริมาณที่น้อยมาก และสุดท้ายก็ต้องถูกไตกรองออกมาเพื่อขับทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะเช่นกัน ดังนั้นค่าของ P-Amylase ที่ตรวจพบในเลือดจึงควรมีปริมาณที่น้อยมาก 

3. โดยธรรมดาค่าของ P-Amylase ที่ตรวจพบในเลือดควรจะอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติเสมอ แต่หากพบความผิดปกติ นั่นอาจสันนิษฐานได้ว่ามีสาเหตุมาจากการเป็นโรคตับอ่อน ท่อตับอ่อนเกิดความเสียหายหรือตัวท่อน้ำดีตัน หรือไตมีปัญหา เป็นต้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการตรวจหาค่า P-Amylase ในเลือด สามารถบ่งชี้ถึงโรคต่างๆ เหล่านี้ได้ดีนั่นเอง

4. หากเกิดความผิดปกติที่ตับอ่อน ก็มักจะมีอาการปวดช่องท้องน้อยอย่างรุนแรงร่วมด้วย โดยแพทย์จะทำการเจาะเลือดตรวจทันที ซึ่งก็จะพบค่า P-Amylase ที่สูงมากผิดปกติภายใน12 ชั่วโมงนับตั้งแต่เกิดความผิดปกติที่ตับอ่อน จากนั้นไตก็จะทำหน้าที่ในการกรองออกมาสู่ปัสสาวะ จึงทำให้ค่าของ P-Amylase ลดลงมาอยู่ในระดับที่ปกติภายใน 2 ชั่วโมงเช่นกัน

5. การเจาะเลือดตรวจหาค่า P-Amylase อาจยืนยันได้ด้วยการตรวจผ่านทางปัสสาวะอีกด้วย

ค่าผิดปกติของ P-Amylase

1. หากค่าผิดปกติที่ตรวจพบได้ไปในทางน้อย อาจแสดงได้ว่า

  • ตับอ่อนมีความผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดการอักเสบเรื้อรัง ( Chronic pancreatitis ) เป็นผลให้ P-Amylase ถูกผลิตออกมาน้อยเกินไป และการตรวจเลือดอาจพบค่าที่ต่ำได้
  • เป็นโรคมะเร็งที่ตับอ่อน ทำให้ตับมีประสิทธิภาพในการทำงานต่ำลง และไม่สามารถผลิตเอนไซม์ใดๆ ออกมาได้ตามปกติ
  • เป็นโรคตับแข็ง ( Cirrhosis ) จึงเกิดการปิดกั้นช่องทางน้ำดี เป็นผลให้เอนไซม์ไม่สามารถที่จะผ่านออกไปสู่ลำไส้เล็กตอนต้นได้
  • เกิดสภาวะตับอักเสบ ( Hepatitis ) จึงก่อให้เกิดการปิดกั้นช่องทางน้ำดีด้วยเช่นกัน
  • กำลังเกิดภาวะเป็นพิษจากการตั้งครรภ์ ( Toxemia of Pregnancy )

2. หากค่าผิดปกติที่ตรวจได้ไปในทางมาก อาจแสดงได้ว่า 

  • ตับอ่อนกำลังเกิดการอักเสบแบบเฉียบพลัน ( Acute Pancreatitis ) ทำให้ไม่สามารถควบคุมการหลั่งเอนไซม์ P-Amylase ออกมาได้ ผลที่ตามมาจึงทำให้เอนไซม์ดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • เป็นโรคมะเร็งที่ตับอ่อน ทำให้ตับอ่อนผลิตเอนไซม์ P-Amylase ออกมาอย่างควบคุมไม่ได้ และการตรวจเลือดอาจพบมีค่าสูงในที่สุด
  • เกิดสภาวะถุงน้ำดีอักเสบ ( Cholecystitis ) จึงทำให้เอนไซม์ P-Amylase ถูกปล่อยผ่านท่อน้ำดีออกมาเป็นจำนวนมาก โดยไม่ได้รับการควบคุมแต่อย่างใด
  • เกิดปัญหากับลำไส้เล็ก เช่น ลำไส้เล็กตีบตัน เป็นผลให้เอนไซม์ชนิดนี้ตกอยู่ในลำไส้เล็กตอนต้นนานกว่าปกติ และปนไปกับกากอาหารน้อยมาก ส่วนใหญ่จึงถูกดูดซึมกลับเข้าสู่กระแสเลือด เป็นผลให้ตรวจเลือดพบค่า P-Amylase ในเลือดที่สูงขึ้นมากนั่นเอง
  • เกิดสภาวะไตวาย ( Renal Failure ) เป็นผลให้ไตเสื่อมสภาพลง และไม่สามารถกรอง P-Amylase เพื่อขับทิ้งออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ ดังนั้น P-Amylase ที่ตกค้างอยู่ในเลือดจึงมีค่าสูงมาก

การตรวจเลือด หาค่าของ Lipase

การตรวจเลือด หาค่าของ Lipase คือ การตรวจเลือดเพื่อดูความสูงต่ำของเอนไซม์ที่ชื่อ Lipase ว่าอยู่ในระดับที่ปกติหรือไม่ ซึ่งก็จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงการเกิดปัญหาของตับอ่อนได้อีกด้วย นั่นก็เพราะ Lipase เป็นเอนไซม์ที่ผลิตขึ้นโดยตับอ่อนเพื่อใช้สำหรับย่อยอาหารประเภทไขมันโดยจะทำให้ไขมันแตกตัวออกเป็นกรดไขมันที่มีโมเลกุลเล็กที่สุด แล้วจึงดูดซึมกลับเข้าไปใช้ประโยชน์ในร่างกายต่อไป อย่างไรก็ตามเพื่อผลการตรวจที่ชัดเจนมากขึ้น แพทย์มักจะตรวจหาค่า Lipase ควบคู่ไปกับการตรวจหาค่า P-Amylase เสมอ

คำอธิบายอย่างสรุปของค่า Lipase

1. การตรวจเลือดเพื่อหาค่าของ Lipase บางครั้งอาจไม่ได้อยู่ในรายการตรวจเลือดปกติเสมอไป แต่จะนับเป็นการตรวจแบบพิเศษแทน   

2. ตรวจเลือดหาค่า Lipase มักจะตรวจเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดภายในช่องท้องอย่างรุนแรงแบบเฉียบพลัน เพราะเป็นอาการที่ยากจะวินิจฉัยจึงต้องใช้การตรวจหา Lipase เพื่อพิจารณาร่วมด้วย ซึ่งอาการปวดท้องดังกล่าวอาจเนื่องมาจาก

  • ภาวะไส้ติ่งอักเสบแบบเฉียบพลัน ( Acute Appendicitis )
  • ภาวะตับอ่อนอักเสบแบบเฉียบพลัน ( Acute Pancreatitis )

โดยจากกรณีทั้ง2 ข้างต้นนี้ หากทำการตรวจเลือดทั้งสองค่าพร้อมกัน แล้วพบว่า

  • ค่า P-Amylase อยู่ในระดับที่ปกติ และค่า Lipase อยู่ในระดับที่ปกติด้วย ก็จะได้ผลการตรวจที่ค่อนข้างแน่ชัดว่า ผู้ป่วยน่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งทั้งนี้แพทย์ก็จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อความแน่ชัดยิ่งขึ้น

3. เมื่อมีอาการปวดในช่องท้องอย่างหนัก และตรวจผลเลือดพบว่า ค่า P-Amylase สูงเป็น 2 เท่าจากค่าปกติสูงสุด และค่า Lipase สูงมากกว่า 5 เท่าจากค่าปกติสูงสุด สามารถบ่งบอกได้แน่ชัดว่า ผู้ตรวจมีสภาวะตับอ่อนอักเสบแบบเฉียบพลัน ซึ่งจะต้องรีบทำการรักษาโดยด่วน

4. โดยปกติแล้ว หากค่า Lipase ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะความผิดปกติใดก็ตาม ไตจะทำหน้าที่ในการกรองเอา Lipase ออกทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ เพื่อให้อยู่ในระดับที่ปกติเสมอ เว้นแต่ไตจะมีปัญหาซะเอง ทำให้ไม่สามารถกรองได้ตามปกติ

ค่าปกติของ Lipase

Lipase : 0 – 160 units/L

ค่าผิดปกติของ Lipase

  1. ค่าผิดปกติของ Lipase หากตรวจพบค่าไปในทางน้อย แสดงได้ว่า ไม่มีนัยสำคัญหรือไม่มีความผิดปกติใดๆ

2. ค่าผิดปกติของ Lipase หากตรวจพบค่าไปในทางมาก แสดงได้ว่ากำลังเกิดโรคร้ายแรงที่ตับอ่อน จึงทำให้ตับอ่อนไม่สามารถควบคุมการปล่อย Lipase ออกมาได้ โดยความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น

2.1 ตับอ่อนอักเสบแบบเฉียบพลัน ( Acute Pancreatitis )

2.2 ตับทรุกหนักจากการอักเสบแบบเรื้อรัง ( Chronic Relapsing Pancreatitis )

2.3 ตับอ่อนเป็นมะเร็ง ( Pancreatic Cancer ) 

2.4 ตับอ่อนเกิดสภาวะมีถุงน้ำไม่แท้ ( Pancreatic Pseudocyst )

  • อาจสภาวะไตวายเรื้อรัง จึงทำให้ไตไม่สามารถกรองและขับ Lipase ออกทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะได้
  • เกิดโรคหรือสภาวะร้ายแรงบางอย่างที่ลำไส้เล็ก เช่น การปิดกั้นการเคลื่อนตัวของอาหาร
  • การกินยารักษาโรคบางชนิด อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็อาจมีผลให้ค่า Lipase ที่ตรวจพบมีความสูงขึ้นได้เช่นกัน

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ประสาร เปรมะสกุล, พลเอก. คู่มือแปลผลตรวจเลือด เล่มสอง. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, 2554. 416 หน้า. 1. เลือด – การตรวจ I.ชื่อเรื่อง. 616.07561 ISBN 978-974-9608-49-4.

Nussey S, Whitehead S (2001). Endocrinology: an integrated approach. Oxford: Bios Scientific Publ. ISBN 978-1-85996-252-7.

https://emedicine.medscape.com/article/128567.