อาการสมองเสื่อม
เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นจนล่วงเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ นอกจากโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน ความดัน และอาการเจ็บปวดตามข้อต่อต่างๆ แล้ว ก็เห็นจะมีโรคสมองเสื่อมนี่แหละที่หลายคนวิตกกังวลกันมากพอสมควร เพราะหากมีอาการสมองเสื่อมไม่ว่าทางใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตทั้งสิ้น ถ้าโชคดีหน่อยอาจจะมีแค่อาการหลงๆ ลืม ความทรงจำเลอะเลือนไปบ้าง แต่ถ้าโชคร้ายก็มีสิทธิเป็นอัมพาตเดินเหินไม่ได้อีกเลย พอเริ่มแก่ตัวลงหลายคนจึงเริ่มกลัวว่าตัวเองนั้นเสี่ยงจะเข้าใกล้โรคสมองเสื่อมมากไปทุกที ในขณะที่ความจริงช่วงอายุเป็นเพียงแค่ปัจจัยเดียวเท่านั้นเองที่จะเพิ่มโอกาสให้เป็นโรคสมองเสื่อมได้มากขึ้น ยังมีต้นเหตุอย่างอื่นอีกตั้งมากมาย นั่นจึงทำให้โรคสมองเสื่อมเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ในช่วงวัยไหนก็ได้ ไม่ใช่เฉพาะผู้สูงวัยเท่านั้น
โรคสมองเสื่อม คือโรคที่เกิดจากความเสื่อมหรือเสียหายของสมอง จำแนกกลุ่มอาการได้ตามตำแหน่งที่สมองมีความผิดปกติเกิดขึ้น เพราะสมองแต่ละส่วนมีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของร่างกายที่แตกต่างกันไป เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่เราสามารถใช้ในการจำกัดขอบเขตของการวินิจฉัยว่า พฤติกรรมการแสดงออกที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นเกิดมาจากความบกพร่องของสมองส่วนใดได้บ้าง ส่วนใหญ่โรคสมองเสื่อมมากกว่าร้อยละ 90 จะเกิดกับกลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ก็ยังมีภาวะสมองเสื่อมก่อนวัยในคนที่อายุน้อยๆ ด้วย ที่พบบ่อยจะเป็นช่วงอายุ 45-55 ปี นอกจากนี้ก็จะเป็นเรื่องของพันธุกรรมหรืออุบัติเหตุ
ปัจจัยเสี่ยงของอาการสมองเสื่อม
โรคสมองเสื่อมมีหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งแบบที่สามารถป้องกันได้และแบบที่ป้องกันไม่ได้ ตัวอย่างของความเสี่ยงเหล่านี้ได้แก่
- อายุ : ช่วงอายุที่มากก็ย่อมมีความเสื่อมของร่างกายตามธรรมชาติ และส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมมากกว่าคนที่ยังอายุน้อยอยู่ด้วย
- ประวัติอาการป่วยของครอบครัว : แม้ว่าจะไม่ได้เป็นการส่งต่อทางพันธุกรรมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จากสถิติก็จะพบผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่เคยมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมมาก่อนมากกว่าครอบครัวที่ไม่เคยมีประวัติเลย
- ดื่มสุราหรือใช้สารเสพติดเรื้อรัง : แน่นอนว่าของเหล่านี้ทำลายระบบในร่างกายอย่างรุนแรงอยู่แล้ว รวมถึงส่วนของสมองด้วย
- ได้รับอันตรายเกี่ยวกับสมอง : อย่างเช่นภาวะเลือดคั่งในสมอง หรือเคยเกิดอุบัติเหตุทำให้สมองได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง
- มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ : สมองต้องการเลือดเข้าไปหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ ถึงจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ หากหลอดเลือดหัวใจมีปัญหาก็จะส่งผลต่อสมองด้วย
- มีอาการเกี่ยวกับโรคทางระบบประสาท
- ติดเชื้อ HIV
อย่างไรก็ตามเราก็ไม่อาจระบุแน่ชัดว่าสมองเสื่อมจะเกิดจากจุดไหนได้แบบชัดเจนจริงๆ คนที่ดูเหมือนมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่นก็อาจจะไม่เป็นโรคสมองเสื่อมเลยก็ได้ เพราะสมองเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องไขความลับกันต่อไปอีก
อาการสมองเสื่อมมีกี่ระยะ ?
โดยปกติแล้วระยะของโรคสมองเสื่อมสามารถแบ่งได้หลายแบบ และอาจแบ่งได้มากถึง 7 ระยะตามอาการที่ใช้เป็นจุดสังเกต แต่ครั้งนี้เราจะแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ให้พอมองเห็นภาพเพียงแค่ 4 ระยะเท่านั้น ได้แก่ ระยะต้น ระยะกลาง ระยะรุนแรง และระยะติดเตียง โดยในแต่ละระยะจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. อาการสมองเสื่อมระยะต้น ( Mild ) ระยะนี้เป็นช่วงที่สังเกตได้ยากมากผู้ป่วยมักมีอาการเพียงเล็กน้อยจนญาติผู้ดูแล หรือแม้แต่ตัวผู้ป่วยเองไม่สังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นเลย หลายครั้งอาการเหล่านั้นถูกมองว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของแต่ละช่วงวัยไปแทน ทำให้คนส่วนมากไม่ได้รับการรักษาในจุดเริ่มต้นนี้ แต่หากจะบอกว่าไม่มีอะไรที่เป็นจุดสังเกตเสียเลยก็คงไม่ใช่ เพียงแต่ต้องใช้ความละเอียดในการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยสักหน่อย ผู้ป่วยมักจะมีอาการเบื่อง่าย ชอบเก็บตัวทั้งๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เริ่มหลงๆ ลืมๆ แบบที่ไม่ได้รุนแรงนัก เช่น ลืมว่าคนที่เคยรู้จักแต่ไม่เจอกันนานนั้นชื่ออะไร ลืมว่าเมื่อวานมื้อเช้าทานอะไรเข้าไป เป็นต้น บางรายอยู่ในรูปของการย้ำคิดย้ำทำ และเริ่มหงุดหงิดอารมณ์เสียที่ตัวเองทำไม่ได้อย่างที่ใจต้องการเหมือนแต่ก่อน โรคสมองเสื่อมในระยะต้นนี้อาจกินเวลายาวนานถึง 5 ปีก่อนจะเข้าสู่ระยะกลาง
2. อาการสมองเสื่อมระยะกลาง ( Moderate ) จังหวะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มมีการแสดงออกที่ผิดแปลกออกไปจากเดิมค่อนข้างชัดเจนแล้ว ต่อให้ไม่สังเกตเลยคนรอบข้างก็จะรู้สึกได้อยู่ดี มักจะเป็นระยะที่ญาติพาผู้ป่วยมาหาหมอ เพราะผู้ป่วยจะเริ่มหลงลืมมากขึ้น มีอารมฉุนเฉียวรุนแรง ก้าวร้าว มีปัญหาในการใช้ภาษาและการสื่อสาร และอาจได้เห็นความบกพร่องในการเคลื่อนไหวร่วมด้วย เช่น ก้าวเดินไม่สมดุล กลับตัวช้า เป็นต้น แต่ก็มีเหมือนกันที่ผู้ป่วยแสดงอาการออกมาในรูปแบบของการเห็นภาพหลอน อีกทั้งญาติผู้ดูแลก็เห็นคล้อยตามไปในทางเดียวกันจนกลายเป็นหันไปพึ่งความเชื่อทางไสยศาสตร์แทนที่จะเข้ามารับการรักษาอย่างถูกต้อง
3. อาการสมองเสื่อมระยะรุนแรง ( Severe ) หากยังไม่ได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะกลาง ช่วงนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการดำเนินชีวิตแล้ว บางรายสูญเสียความทรงจำบางส่วนไปเลย การคิดคำนวณและการตัดสินใจไม่มีประสิทธิภาพเช่นเดิม สับสนเรื่องเวลาและสถานที่ เริ่มหลงทางในเส้นทางที่ใช้เป็นประจำ เริ่มผิดนัดหมายด้วยความหลงลืมที่เกิดขึ้น คนที่ไม่ได้พบหน้าก็มักจะลืมเลือนไป แต่ส่วนใหญ่จะยังคงจดจำคนในครอบครัวและคนที่อยู่ใกล้ชิดได้อยู่ ภาวะอารมณ์ก็ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา ก้าวร้าวมากขึ้น หงุดหงิดง่ายขึ้น และในบางครั้งกลับซึมเศร้าอย่างหนัก
4. อาการสมองเสื่อมระยะติดเตียง ( Profound ) ทักษะการเคลื่อนไหวเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดที่สุดในช่วงนี้ ผู้ป่วยเริ่มเคลื่อนไหวไม่ได้แม้แต่การลุกขึ้นมานั่งเฉยๆ เพราะสมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหวเสียหายไป สูญเสียความทรงจำแทบทั้งหมด ลืมแม้กระทั่งการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น การนอน อาบน้ำ ทานข้าว เป็นต้น จำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดในทุกๆ ด้าน
การรักษาอาการสมองเสื่อม
ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการรักษาอย่างจริงจังได้ ต้องเริ่มจากการวินิจฉัยก่อนว่าสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายที่ส่วนไหน มีสาเหตุมาจากอะไร และมีอาการแทรกซ้อนหรือโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เพราะแนวทางในการรักษาโรคสมองเสื่อมจะแปรผันไปตามอาการของผู้ป่วยและตำแหน่งความเสียหายของสมอง ไม่ได้มีลำดับขั้นตอนที่เป็นแบบแผนกำหนดไว้ชัดเจน เพียงแค่มีกรอบกว้างๆ ว่ามีทางเลือกไหนใช้ทำได้บ้างเท่านั้น
การรักษาโรคสมองเสื่อมจะเป็นการรักษาทั้งจุดต้นตอของโรค และส่วนอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกันอยู่ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ การรักษาโรคสมองเสื่อม การรักษาโรคที่เกิดร่วมกับโรคสมองเสื่อมนั้น การป้องกันความทุพพลภาพ การส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง และการดูแลให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ในสังคมปกติ แต่ถ้าเจาะจงไปที่การรักษาโรคสมองเสื่อมเท่านั้น ก็จะแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นคือ การรักษาด้านสติปัญญา และการรักษาด้านจิตเวชและพฤติกรรม
1. การรักษาด้านสติปัญญา : ส่วนใหญ่เป็นการใช้ยาหรือสารออกฤทธิ์เพื่อกระตุ้นให้สมองทำงานได้ตามปกติเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือชะลออาการให้คงที่ไม่ทรุดลงไปมากกว่าเดิม ต้องเข้าใจก่อนว่าโรคสมองเสื่อมนั้นไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ เพราะเราไม่สามารถกู้เนื้อเยื่อที่เสียหายไปแล้วให้กลับคืนมาได้นั่นเอง ดังนั้นดีที่สุดจึงเป็นการรักษาระดับที่เป็นอยู่ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงต้องใส่ใจและคอยสังเกตอาการของโรคสมองเสื่อมของคนใกล้ตัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หากเจอความผิดปกติและนำผู้ป่วยมารักษาได้เร็ว ก็จะเป็นผลดีอย่างมากต่อผู้ป่วย กลับมาที่การใช้ยาหรือสารออกฤทธิ์ ไม่มียาตัวไหนที่ให้ผลลัพธ์เหมือนกันในแต่ละคน ยาที่ใช้กับคนหนึ่งได้ผลดี พอมาใช้กับอีกคนอาจไม่ได้ผลอะไรเลย ตลอดการรักษาด้วยยาจึงต้องติดตามเพื่อวัดผลเป็นระยะๆ และปรับเปลี่ยนยาไปเรื่อยๆ ตามอาการ
2. การรักษาด้านจิตเวชและพฤติกรรม : การรักษาในส่วนนี้ยังแบ่งย่อยได้อีกเป็นการใช้ยาและไม่ใช้ยา ถ้าเป็นการใช้ยาก็จะเป็นกลุ่มยารักษาโรคจิตต่างๆ ซึ่งก็ต้องติดตามผลของอาการเช่นเดียวกับการรักษาด้านสติปัญญา แต่ถ้าเป็นการรักษาแบบที่ไม่ต้องใช้ยา จะเน้นไปที่การจัดสภาวะแวดล้อมเพื่อจูงใจให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายและค่อยๆ ปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้น ตัวอย่างของการรักษาแบบนี้ได้แก่
- การจัดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมือนเดิมอยู่เสมอ และจัดการปรับเปลี่ยนส่วนที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยด้วย
- การจัดกิจกรรมประจำวัน โดยให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และควรเป็นกิจกรรมง่ายๆ และผ่อนคลาย ไม่กดดันจนผู้ป่วยเกิดภาวะเครียด
- ลดสิ่งกระตุ้นอารมณ์ฉุนเฉียวหรือความก้าวร้าว ญาติผู้ดูแลต้องหมั่นสังเกตว่าสิ่งใดทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ที่ไม่ปกติ แล้วให้ลดหรือตัดสิ่งนั้นออกไป
- ปรับเปลี่ยนการพูดคุย ผู้ป่วยจะมีปัญหาในการใช้ภาษาและสื่อสารอยู่แล้ว เป็นหน้าที่ของผู้ดูแลที่จะต้องใจเย็นและให้ความเคารพผู้ป่วยเช่นเดียวกับที่เคยเป็นมา ไม่ดุด่าว่ากล่าวและใช้อารมณ์
- ดูแลสุขอนามัย ร่างกายที่มีสุขอนามัยที่ดีก็จะช่วยส่งเสริมให้จิตใจดีไปด้วย จึงต้องใส่ใจเรื่องความสะอาด อาบน้ำ แต่งตัว และตรวจสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยด้วย
- ลดปัญหาการนอนไม่หลับ ผู้ป่วยจะมีอาการหลับยากหรือต้องการหลับในเวลาที่ไม่เหมาะสมอยู่แล้ว จึงต้องกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมช่วงบ่ายๆ เพื่อให้ร่ากายได้ออกแรง และจัดห้องนอนให้เหมาะสมต่อการเข้านอน ไม่มีสิ่งรบกวนทั้งแสงและเสียง
- น้ำสะอาดนั้นสำคัญ ถึงแม้มันจะส่งผลให้ผู้ป่วยต้องเข้าห้องน้ำบ่อย แต่ร่างกายก็ยังต้องการน้ำอย่างเพียงพออยู่เสมอ ญาติจึงต้องดูแลให้ได้ดื่มน้ำสะอาดเป็นระยะตลอดทั้งวัน ลดเว้นพวกชากาแฟด้วย
การป้องกันอาการสมองเสื่อม
อย่างที่เราได้รู้ไปแล้วว่าปัจจัยการเกิดอาการสมองเสื่อมนั้นมีหลากหลาย ทั้งที่ควบคุมได้และไม่ได้ ดังนั้นการป้องกันโรคสมองเสื่อมจึงเป็นการตัดความเสี่ยงเฉพาะส่วนที่จัดการได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน งดสารเสพติดต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ก็เป็นเหมือนการดูแลสุขภาพทั่วไป คือ ทานอาหารให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ การออกกำลังกายอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส เมื่อมีผู้สูงอายุในบ้านก็ต้องช่วยกันกระตุ้นให้ผู้สูงอายุเหล่านั้นได้ทำกิจกรรมที่ชะลอความเสื่อมของร่างกายบ่อยๆ ตลอดจนทำกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองในด้านความคิดความจำด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
วรพรรณ เสนาณรงค์. รู้ทันสมองเสื่อม / รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์: กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (22), 225 หน้า: (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 207) 1.สมอง. 2.สมอง–การป้องกันโรค. 3.โรคสมองเสื่อม. 4.โรคอัลไซเมอร์. 616.83 ว4ร7 ISBN 978-616-18-1556-1.
Luk KC, Kehm V, Lee VM, et al. (2012). Pathological alpha-synuclein transmission
initiates Parkinson-like neurodegeneration in nontransgenic mice. Science. 338 : 949-953.