วัคซีนรักษาสมองเสื่อมมีอะไรบ้าง
วัคซีนคือแอนติเจนที่ผลิตมาจากพิษของเชื้อโรคที่ทำให้ไม่มีคุณสมบัติในการก่อให้เกิดโรค แต่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างตัวแอนติบอดี้หรือภูมิคุ้มกันได้

วัคซีน ( Vaccine )

ภาวะสมองเสื่อมเป็นโรคที่เกิดได้จากหลายสาเหตุและมีลักษณะของอาการหลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่ความจำเสื่อมหรือเกิดความผิดปกติในระบบควบคุมการเคลื่อนไหวอย่างที่คนส่วนมากเข้าใจ ไม่ได้เกิดกับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความบกพร่องทางยีนส์มาแต่กำเนิด ขอบข่ายของสมองเสื่อมนั้นกว้างมากๆ และเรายังค้นพบข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา การรักษาจึงมีหลายวิธีให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อมในผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแล มีตั้งแต่การใช้ยา ใช้วัคซีน การผ่าตัด การบำบัด เป็นต้น และครั้งนี้จะเจาะประเด็นของโรคอัลไซเมอร์ ( Alzheimer’s disease ) ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างมากของโรคสมองเสื่อมและวัคซีนที่ใช้ในการรักษา

ลักษณะสำคัญของโรคอัลไซเมอร์ที่ชัดมากๆ ก็คงหนีไม่พ้นอาการหลงๆ ลืมๆ และมีช่วงความทรงจำที่ขาดหายไปอย่างไม่มีนัยสำคัญ นั่นคือบางครั้งอาการก็ปกติ สามารถจดจำทุกอย่างได้ดีเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในขณะที่บางครั้งก็มีอาการหนักมากจนต้องทวนซ้ำๆ อยู่ในเรื่องเดิมๆ ไปจนถึงไม่สามารถจดจำสิ่งนั้นได้อีกเลย แต่นี่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของโรคอัลไซเมอร์ เพราะโรคนี้เป็นโรคทางระบบประสาทสมองที่ซับซ้อนมากและเป็นต้นเหตุใหญ่ในการเกิดภาวะสมองเสื่อมด้วย การรักษาส่วนใหญ่ก็จะปรับเปลี่ยนไปตามระดับอาการที่แสดงออกมา เน้นควบคุมและชะลออาการมากกว่าจะรักษาที่ต้นตอให้หายขาด แม้จะมีงานวิจัยตัวยาและวัคซีนที่ใช้เพื่อรักษาโรคอัลไซเมอร์มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่มีตัวไหนที่ตอบโจทย์ได้จริงๆ ยังคงต้องศึกษาถึงผลกระทบและความเสี่ยงในการใช้ต่อไปอีก ดังนั้นหากจะถามว่าการรักษาอัลไซเมอร์ให้หายเป็นปลิดทิ้งต้องใช้วิธีไหน ก็ต้องตอบว่าตอนนี้ยังไม่มี

วัคซีน คืออะไร

วัคซีน คือสารชีววัตถุหรือแอนติเจน ( Antigen ) ที่ผลิตมาจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรค ซึ่งถูกทำให้ไม่มีคุณสมบัติในการก่อให้เกิดโรคอีกแล้ว แต่ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างตัวแอนติบอดี้ ( Antibody ) หรือภูมิคุ้มกันได้อยู่ ดังนั้นในการผลิตวัคซีนสำหรับรักษาแต่ละโรคจึงต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก และตรวจสอบวัดผลให้แน่ใจจริงๆ ก่อนว่าสามารถนำไปใช้งานได้โดยไม่เป็นอันตราย หากปล่อยปละละเลยในจุดนี้จะทำให้การใช้วัคซีนกลายเป็นการใส่สารพิษเข้าไปในร่างกายแทนที่จะเป็นการรักษาให้หายจากโรคที่เป็นอยู่

การทดลองวัคซีนเพื่อรักษาโรคอัลไซเมอร์ก็เริ่มทำการทดลองในหนูทดลอง โดยเจาะจงไปที่การศึกษาเรื่องภูมิคุ้มกันเกิดเอง ( Active immunization ) หมายถึงภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดจากการฉีดตัวต้นเหตุของเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย โดยมีการลดระดับความรุนแรงของเชื้อโรคนั้นให้น้อยลงก่อน เพื่อให้ร่างกายสามารถจัดการได้ง่าย เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้ว ระบบภายในจะเริ่มเรียนรู้ว่ามีสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายเข้ามาและหาวิธีจัดการ ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อป้องกันและกำจัดเชื้อโรคตัวนั้น ตัวอย่างของวัคซีนรักษาโรคอื่นๆ ที่ทำด้วยวิธีนี้ก็คือ โรคไอกรน โรคคอตีบ โรคอหิวาตกโรค โรคไข้รากสาดน้อย เป็นต้น การทดลองนี้หวังผลเพื่อป้องกันการรวมกลุ่มของสารแอมีลอยด์เบต้า ( Beta amyloid หรือ AB ) ที่เป็นตัวการสำคัญในโรคอัลไซเมอร์

การทำงานของวัคซีน

หนูทดลองที่มีลักษณะของโรคอัลไซเมอร์อยู่ก่อนแล้ว ได้รับการฉีดวัคซีนแอมีลอยด์เบต้าแล้วเฝ้าสังเกตการณ์ ผลการทดลองพบว่าปริมาณแผ่นแอมีลอยด์ในสมองของหนูลดจำนวนลง และค่อยๆ เกิดภูมิคุ้มกันที่สามารถต่อต้านสารแอมีลอยด์เบต้าในกระแสเลือดได้ จึงสามารถสรุปประเด็นการทำงานของวัคซีนทดสอบได้ว่า

1. วัคซีนเข้าไปกระตุ้นส่วนไมโครเกลียเซลล์ ซึ่งเป็นส่วนของเซลล์ที่อยู่ในระบบประสาทแต่ไม่ใช่เซลล์ระบบประสาท ทำให้ไมโครเกลียเซลล์กลืนกินสารแอมีลอยด์เบต้าในสมองเข้าไป ส่งผลให้แผ่นแอมีลอยด์เบต้าลดปริมาณลง

2. สารภูมิต้านทานแอมีลอยด์ที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน ทำหน้าที่ป้องกันการรวมกลุ่มกันของสารแอมีลอยด์เบต้า

3. สารแอมีลอยด์เบต้าบางส่วนไหลผ่านทำนบกั้นระหว่างเลือดกับสมองเข้าสู่น้ำไขสันหลัง แล้วไหลต่อไปยังกลุ่มเลือดดำ ตามสมมติฐานอ่างล้างจานรอบข้าง ( Peripheral Sink Hypothesix )

จะเห็นว่าวัคซีนที่ทดลองใช้ได้ผลดีมากในหนูทดลอง กลายเป็นเรื่องน่าสนใจและคุ้มค่าที่จะทดลองใช้ในคนเพื่อให้ได้วัคซีนเพื่อรักษาโรคอัลไซเมอร์ที่เป็นมาตรฐานในท้ายที่สุด แต่เมื่อศาสตราจารย์ นายแพทย์คริสโตเฟอร์ฮอกค์ ( Prof.Dr.Christopher Kock ) และคณะ ได้ทดลองแอมีลอยด์เบต้าวัคซีนในคนเมื่อปี 2546 กลับพบว่าอาสาสมัครจำนวน 18 คนจากทั้งหมด 298 คน คิดเป็นร้อยละ 6 ของอาสาสมัครทั้งหมด มีอาการเยื่อหุ้มสมองและบางส่วนของสมองเกิดอาการอับเสบขึ้นในช่วง 6 เดือนแรก จึงทำให้การศึกษาต้องหยุดชะงักลงในทันที และข้อมูลจากการทดลองที่ได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจุดหยุดโครงการ ก็พบว่าอาสาสมัครบางคนมีความจำและกระบวนการคิดที่ดีขึ้นจริง แต่ก็มีบางคนที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากการศึกษาครั้งนี้ด้วย ความเสี่ยงของการใช้วัคซีนชนิดนี้จึงมากเกินกว่าจะนำมาใช้งานเพื่อการรักษาอัลไซเมอร์ในผู้ป่วยจริงๆ

เมื่อการยกประเด็นของภูมิคุ้มกันเกิดเอง ( Active immunization ) มาศึกษาและยังไม่ได้ผลแบบที่พึงพอใจ จึงมีการหยิบเอากรณีของการก่อภูมิคุ้มกันรับมา ( Passive immunization ) มาใช้ในการศึกษาต่อยอดแทน ภูมิคุ้มกันรับมา ( Passive immunization ) หมายถึง ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดผลผลิตจากเลือดของสัตว์หรือมนุษย์ก็ได้ ซึ่งรู้แน่ชัดว่ามีภูมิคุ้มกันของโรคนั้นๆ อยู่แล้ว เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายจึงเหมือนว่าได้รับภูมิคุ้มกันโรคนั้นเลยในทันที และร่างกายยังเรียนรู้ที่จะสร้างเลียนแบบภูมิคุ้มกันเหล่านั้นได้ด้วย เมื่อร่างกายสร้างเป็นแล้วก็ถือว่ามีภูมิคุ้มกันโรคโดยสมบูรณ์ การทดลองเพื่อสร้างวัคซีนรักษาโรคอัลไซเมอร์ครั้งนี้ทำการทดลองในหนูทดลองเช่นเดิม แต่เปลี่ยนเป็นการฉีดภูมิคุ้มกันรับมาในหนูที่เป็นอัลไซเมอร์ พบว่าหนูมีศักยภาพของสมองเพิ่มมากขึ้น แต่กลับมีอาการเลือดออกในสมองและหลอดเลือดสมองอักเสบร่วมด้วย

นอกจากนี้ยังมีการทดลองใช้ อิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำ ( lntravenous lmmunoglobulin: lVlG ) ด้วย โดยฉีดสารสร้างภูมิคุ้มกันรวมกับกระแสเลือดทางหลอดเลือดดำ หวังให้ไปกำจัดแผ่นแอมีลอยด์เบต้าที่เกิดขึ้นในสมอง วิธีการนี้มีการทดลองในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่เป็นมนุษย์ด้วยแต่ก็ไม่พบผลการรักษาหรือความเปลี่ยนแปลงใดที่น่าสนใจเป็นพิเศษเลย

ขณะที่การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวัคซีนสำหรับรักษาโรคอัลไซเมอร์ยังคงดำเนินไป ความลับของสาเหตุการเกิดโรคก็เผยให้วงการแพทย์ได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์นั่นเอง เราจึงได้เห็นงานวิจัยหลายฉบับกับการทดลองอีกหลายระลอก และเริ่มมีการทดลองในมนุษย์เพิ่มมากขึ้นโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงใดๆ เพราะเราสามารถกำหนดความสามารถของตัววัคซีนได้แบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น สามารถกำหนดได้ว่าวัคซีนต้องมีผลต่อแอมีลอยด์เบต้าที่เป็นพิษเท่านั้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการขยายผลไปถึงการค้นคว้าเกี่ยวกับวัคซีนต้านสารโปรตีนเทา ( Tau ) ด้วย เนื่องจากสารโปรตีนเทาก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวพันกับโรคอัลไซเมอร์ด้วยเช่นกัน เป็นการศึกษาในสัตว์ทดลองที่ยังไม่มีข้อสรุปอะไรที่เป็นประเด็นสำคัญนัก เพียงแค่ได้รู้ว่ามีความคืบหน้าไปยังสารโปรตีนเทาบ้างแล้วเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม วัคซีนสำหรับรักษาโรคอัลไซเมอร์ก็ยังไม่มีตัวไหนเลยที่ถูกบรรจุเป็นวัคซีนมาตรฐานซึ่งใช้ได้ทั่วไป ในแต่ละงานวิจัยหรือการทดลอง อาจจะมีวัคซีนหลายตัวที่น่าจะเป็นความหวังในการนำไปต่อยอดได้จริง แต่ก็ยังต้องศึกษาเพื่อยืนยันประสิทธิภาพซ้ำอีกจนกว่าจะแน่ใจ เพราะเพียงเปอร์เซ็นต์เดียวที่ทำให้เกิดอันตรายก็ถือว่าไม่คุ้มค่าต่อการนำมาใช้งาน การต่อสู้กับโรคอัลไซเมอร์ของวงการแพทย์จากอดีตถึงปัจจุบัน อาจจะดูคล้ายกับการเลือกตัดสายไฟที่ไม่รู้แน่ว่าเป็นเส้นไหนแล้วเฝ้าหวังว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะดีที่สุด แต่มันก็ไม่ใช่การกระทำที่เสียเปล่า เมื่อทุกอย่างมีการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น จะเป็นข้อมูลที่ใหญ่หรือเล็กก็สามารถนำไปต่อยอดได้ทั้งหมด ทั้งนักวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์จึงยังต้องค้นคว้ากันต่อไป และมันจะนำไปสู่ผลสำเร็จในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

วรพรรณ เสนาณรงค์. รู้ทันสมองเสื่อม / รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์: กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (22), 225 หน้า: (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 207) 1.สมอง. 2.สมอง–การป้องกันโรค. 3.โรคสมองเสื่อม. 4.โรคอัลไซเมอร์. 616.83 ว4ร7 ISBN 978-616-18-1556-1.

Luk KC, Kehm V, Lee VM, et al. (2012). Pathological alpha-synuclein transmission 
initiates Parkinson-like neurodegeneration in nontransgenic mice. Science. 338 : 949-953.