โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา (Stroke)
โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง หรือมีเลือดไปหล่อเลี้ยงได้ไม่เพียงพอ

โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke )

นอกจากโรคมะเร็ง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคเอดส์แล้ว ยังมีโรคที่น่ากลัวอีกชนิดหนึ่ง ที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคชนิดนี้ในแต่ละปีมีจำนวนที่สูงมาก และเป็นโรคที่ใครหลายคนต่างหวาดกลัว ก็คือ โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) ความน่ากลัวของโรคนี้จะมีความคล้ายคลึงกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ที่หากกำเริบหรือมีอาการขึ้น มาแล้ว ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน เวลาในแต่ละนาทีมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะหากคนไข้ไปถึงมือแพทย์ช้า ก็อาจจะเสียชีวิตหรือเกิดความพิการ เป็นโรคอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตกับร่างกายได้เลยทีเดียว โรคนี้มีรายละเอียดอย่างไร จะป้องกันหรือรักษาได้หรือไม่ สามารถดูรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้ 

โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) คืออะไร?

โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง หรือมีเลือดไปหล่อเลี้ยงได้ไม่เพียงพอ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการอุดตันของเส้นเลือดที่มีหน้าที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่างๆ ภาวะนี้จะส่งผลให้สมองขาดเลือดและออกซิเจน หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ทันเวลา เซลล์สมองจะค่อยๆตายไปจนในที่สุดอาจมีความอันตรายถึงชีวิต หรือ เกิดความพิการกับร่างกายเป็นโรคอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตได้

โรคชนิดนี้มันพบได้มากในวัยกลางคน ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป และจะพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทที่สามารถพบได้มากที่สุด มีความรุนแรงของโรคอยู่ในระดับที่สูงมาก หากพบผู้ป่วยมีอาการของโรคชนิดนี้ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลให้ถึงมือแพทย์อย่างเร่งด่วนและรวดเร็วที่สุด

ประเภทของ โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke )

เราสามารถแบ่ง โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) ออกเป็น 2 ชนิด ตามกลุ่มอาการของโรค คือ โรคหลอดเลือดสมองแตก และโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มของโรคเส้นเลือดตีบหรืออุดตัน มากกว่าโรคหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งทั้ง 2 ชนิดมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ถ้าทางเดินของน้ำเลี้ยงสมองและไขสันหลังอุดตันจะเกิดผลเสียต่อร่างกายอย่างไร ?

1. โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ( Ischemic Stroke ) คืออะไร

หลอดเลือดสมองตีบ เกิดจากมีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมอง และขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดที่ส่งไปยังสมอง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลงเลือดจึงไหนไปเลี้ยงสมองได้ยากขึ้น

2. โรคหลอดเลือดสมองแตก ( Hemorrhagic Stroke ) คืออะไร ?

หลอดเลือดสมองแตก เกิดจากการที่หลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับผู้ป่วยเองมีภาวะความดันในเลือดสูง ทำให้เกิดการแตกออกของเส้นเลือดเหล่านั้น จนทำให้มีอาการเลือดออกในสมองโรคชนิดนี้มักเกิดได้น้อยกว่าโรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) ตีบหรืออุดตัน 

อาการเบื้องต้นที่พบในผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke )

ผู้ป่วยที่มีอาการของ โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) มักจะมีอาการผิดปกติต่างๆ ที่แสดงออกมาให้ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดได้รับรู้ ผู้ป่วยหลายคนมักละเลยถึงความผิดปกติดังกล่าวนี้ไป โดยมักชอบคิดไปเองว่าอาการต่างๆที่แสดงออกมา เป็นผลมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ จากภาวะเครียด หรือทานอาหารได้น้อยๆ จนทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา จนเมื่อมีการหนักหรือกำเริบขึ้นก็อาจจะอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว

อาการเส้นเลือดในสมองตีบ ร่างกายอาจแสดงอาการดังต่อไปนี้ และหากไม่แน่ใจว่ามีภาวะอาการโรคสมองตีบ ไม่ควรนิ่งนอนใจและควรให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที

  • มีอาการแขน ขา อ่อนแรง รู้สึกชาบริเวณร่างกายซีกใดซีกหนึ่งแบบทันทีทันใด
  • พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก ปากเบี้ยว   มีอาการกลืนลำบาก
  • รู้สึกปวดศีรษะรุนแรงฉับพลันแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนหรือมีอาการเวียนศีรษะทันทีทันใด
  • มีอาการบ้านหมุน เดินเซไม่ตรงทิศทาง หรืออาจเป็นลมหมดสติได้

หากมีอาการดังกล่าว ควรแจ้งให้คนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวพาไปพบแพทย์ โดยเร็วไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ จากข้อมูลพบว่าหากผู้ป่วยสามารถไปถึงแพทย์ได้ทันหลังจากมีอาการ ภายใน 3 ชั่วโมง จะมีโอกาสรอดชีวิตและลดความเสี่ยงจากความพิการด้านร่างกายได้มากเลยทีเดียว

ทำอย่างไรเมื่อพบผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

หากพบผู้ป่วยเป็น โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) สิ่งที่ผู้พบเห็นหรือญาติผู้ใกล้ชิดต้องทำคือ ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล โดยเลือกโรงพยาบาลที่ใกล้กับจุดเกิดเหตุให้มากที่สุด หรือ โรงพยาบาลประจำที่ผู้ป่วยเคยมีประวัติการรักษาอยู่ ซึ่งระหว่างรอส่งตัวผู้ป่วยเดินทางไปยังโรงพยาบาล ควรมีการโทรไปแจ้งที่โรงพยาบาลนั้นๆ ให้ทราบถึงอาการของผู้ป่วยเอาไว้ก่อน เพื่อที่ทางโรงพยาบาลจะได้เตรียมจัดทีมแพทย์และพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญด้านสมองไว้รอรับตัวผู้ป่วย หรือหากทางโรงพยาบาลไม่มีทีมแพทย์เฉพาะทางที่เกี่ยวกับโรคสมอง จะได้ติดต่อกับโรงพยาบาลอื่น เพื่อส่งตัวผู้ป่วยต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อพยายามรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ให้ถึงที่สุด

วิธีการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็น โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) นั้น เมื่อนำผู้ป่วยส่งถึงโรงพยาบาลแล้ว ทางแพทย์จะใช้วิธีการเอกซเรย์โดยคอมพิวเตอร์หรือเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กกับผู้ป่วย เพื่อวินิจฉัยประเมินความรุนแรงของโรค และหาวิธีการรักษาต่อไปสำหรับผู้ป่วยในบางรายแพทย์อาจจะใช้วิธีการตรวจหัวใจ Echocardiogram และตรวจอัลตราซาวนด์หลอดเลือดใหญ่ที่คอ ซึ่งวิธีในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีหลายวิธีดังต่อไปนี้

1. ใช้ยารักษา หากผู้ป่วยสามารถมาถึงโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาภายใน 3 ชั่วโมง แพทย์จะใช้วิธีการให้ยาฉีดเพื่อละลายลิ่มเลือดที่อุดตัน  จากนั้นแพทย์จะพิจารณาให้รับประทานยาต้านเกร็ดเลือด ยาต้านลิ่มเลือด รวมทั้งรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค หรือให้วิตามินขยายหลอดเลือดเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี

2. ใช้การผ่าตัดวิธีการผ่าตัดนี้แพทย์จะวินิจฉัยเป็นรายๆไป โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเริ่มหนักแล้ว การผ่าตัดที่นำมาใช้นี้ ทางแพทย์จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากที่สุด และต้องเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยสามารถผ่าตัดได้โดยยึดความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลักในอดีตวิธีการผ่าตัดนี้ จะเป็นวิธีเดียวที่สามารถรักษาผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) ได้  แต่วิธีนี้ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ประมาณ 5- 7% ที่จะเกิดการเสียชีวิตของผู้ป่วยเกิดขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมีอาการของโรคอื่นๆ แทรกรวมอยู่ด้วย โรงพยาบาลสมองที่ดีที่สุดจึงไม่สามารถระบุได้ เพราะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน

3. ใช้เวชศาสตร์ฟื้นฟูเวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อลดความพิการ จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่พ้นขีดอันตรายแล้ว โดยวิธีนี้จะใช้เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถที่จะกลับมาช่วยเหลือตนเองได้ ประกอบไปด้วย การทำกายภาพบำบัด ฝึกให้ผู้ป่วยทรงตัว นั่ง ยืน เดิน ได้เอง การทำกิจกรรมบำบัดเพื่อให้แขนหรือมือใช้งานได้มากขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยประกอบกิจวัตรประจำวันเองได้ เช่น สามารถใส่เสื้อผ้าได้เอง เข้าห้องน้ำได้เองโดยไม้ต้องใช้คนพยุง หรือทานอาหารด้วยตนเองได้ เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการพูดก็ต้องใช้วิธี ฝึกออกเสียง เพื่อให้ผู้ป่วยพูดคล่องขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้อุปกรณ์เสริมให้เหมาะสมกับความพิการ เพื่อให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองได้ตามศักยภาพ เพื่อให้สามารถเข้าสู่สังคมได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นมากที่สุด 

4. การป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง หากเป็นแล้วจะเป็นโรคที่เรื้อรังและสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้น หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาในระยะแรกแล้ว ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาป้องกันลิ่มเลือดเกาะตัว รวมทั้งคอยควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะส่งผลให้โรคกลับมาเป็นซ้ำได้อีก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เคยเกิดหลอดเลือดสมองตีบมากกว่า 70% โอกาสที่จะเกิดซ้ำมีถึง 25% ในระยะเวลา 24 เดือน หรือโดยเฉลี่ย 1% ในแต่ละเดือนซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงมาก และส่วนใหญ่การเกิดโรคซ้ำครั้งที่สองมักมีอาการรุนแรงกว่าครั้งแรกมาก

5. การรักษาด้วยการถ่างขยายหลอดเลือด Angioplasty เป็นวิธีการรักษาแนวใหม่ ที่ใช้หลักการเดียวกับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่มีความต่างกันในแง่ของเทคนิค กายวิภาค และสรีระวิทยาของทั้ง 2 อวัยวะที่ต่างกัน เป็นวิธีการรักษาหลอดเลือดที่อุดตัน โดยใช้สายสวนที่มีบอลลูนขนาดเล็กอยู่บริเวณส่วนปลาย ใส่เข้าไปให้ถึงในจุดที่มีหลอดเลือดตีบแคบ แล้วจึงขยายบอลลูนให้พองออกตรงตำแหน่งที่ตีบพอดี แรงดันจะทำให้หลอดเลือดที่ตีบตันอยู่ขยายตัวออก ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกมากขึ้น แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ ต้องใช้แพทย์เฉพาะทางหรือมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญสูง ซึ่งในประเทศไทยยังมียังคงมีบุคคลกรที่มีความชำนาญด้านนี้อยู่ไม่มากนัก เนื่องจากหลอดเลือดในสมอง โดยเฉพาะหลอดเลือดที่อยู่ในกะโหลกศีรษะมีความซับซ้อนมาก การรักษาด้วยการถ่างขยายหลอดเลือดนั้น ต้องอาศัยประสบการณ์ และความชำนาญของแพทย์อย่างสูงรวมถึงความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาด้วย

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิด โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke )

เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่มีความรุนแรงของโรคค่อนข้างสูง ที่เมื่อเป็นแล้วอาจเสียชีวิตหรือเกิดความพิการทางร่างกาย เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ดังนั้นการป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโรคนี้จะดีที่สุด ซึ่งโรคหลอดเลือดสมอง มีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรค ดังต่อไปนี้เนื่องจาก โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) เป็นโรคที่มีความรุนแรงของโรคค่อนข้างสูง ที่เมื่อเป็นแล้วอาจเสียชีวิตหรือเกิดความพิการทางร่างกาย เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ดังนั้นการป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโรคนี้จะดีที่สุด

ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิด โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke )

1. มีความดันโลหิตสูง ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมาก การมีความดันโลหิตสูงจะไปทำให้หลอดเลือดเสื่อม เนื่องจากแรงดันเลือดที่ออกมาจากหัวใจมีแรงดันสูงขึ้น ทำให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมได้เร็วกว่าผู้ที่มีระดับความดันในเลือดเป็นปกติ  ดังนั้นต้องควบคุมตนเองไม่ให้มีภาวะความดันในโลหิตสูง โดยอย่าพยายามปล่อยให้ตนเองอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ลดทานอาหารที่มากไปด้วยไขมัน หรือมีรสเค็มจัด เน้นทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ถูกหลักโภชนาการ ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากพบว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรรีบไปพบแพทย์ ทานยาและปฏิบัติตัวตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด   

2. โรคเบาหวาน เป็นปัจจัยสำคัญที่รองลงมาจากภาวะความดันในโลหิตสูง หากพบว่าตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน ก็ควรไปพบแพทย์และทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคลงได้มาก

3. การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการกระตุ้นให้เกิด โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) ได้ ดังนั้นจึงต้องเลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาดสำหรับผู้ที่สูบ เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคปอดรวมถึงโรคร้ายอื่นๆอีกด้วย

4. โรคหัวใจ  ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ  เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจวาย โรคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอื่นๆ  จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มากกว่าคนปกติ    ทั้งนี้หากได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของ โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) ลงได้ด้วย

5. โรคไขมันในเลือดสูง สำหรับผู้ที่เป็นโรคไขมันในเลือดสูงนั้น จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมอง Stroke ได้มากกว่าคนปกติหลายเท่าตัว เนื่องจาก โรคนี้จะไปทำให้ผนังเส้นเลือดแดงไม่ยืดหยุ่น เกิดการตีบตันง่าย เลือดจึงไหลผ่านไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้น้อย ดังนั้นการป้องกันคือ ควรเว้นการทานอาหารที่มีไขมันสูง  สำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้วควรทานยาลดไขมันตามแพทย์สั่ง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6. ความอ้วน ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์  จะมีโอกาสเป็นเสียงเป็นโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง หรืออาจเป็นได้ทั้ง 2 อย่าง ซึ่งโรคทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองได้สูงนั้นเอง

วิธีป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองตีบโดยการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย

โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) สามารถรักษาได้หากสามารถส่งผู้ป่วยถึงมือหมอได้ทันเวลา ซึ่งบางคนโชคดีที่กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ก็มีผู้ป่วยอีกไม่น้อยที่อาจจะไม่ได้โชคดีแบบนี้ ผู้ป่วยบางคนแพทย์อาจจะช่วยยื้อชีวิตให้พ้นขีดอันตรายได้ แต่ก็อาจจะมาพร้อมกับความพิการทางกาย เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมปกติ บางคนที่มีอาการหนักมากก็อาจจะถึงเป็นโรคอัมพาตทั้งตัวร่างกายไม่สามารถขยับได้ ทำได้เพียงลืมตาและรับรู้จากการมองเห็นเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยต่างๆเหล่าจะต้องได้รับการดูแลจากผู้ใกล้ชิดหรือบุคคลในครอบครับ ทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจผู้ป่วยแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาทางด้านจิตใจที่แตกต่างกันออกไป โดยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น พื้นฐานบุคลิกภาพเดิม การอบรมเลี้ยงดู ประสบการณ์ชีวิต เป็นต้น ทำให้การรับรู้ลักษณะของโรคที่เกิดขึ้นไม่เท่ากัน บางคนอาจเกิดการสูญเสียระบบการควบคุมต่างๆ สูญเสียความคิด ต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ การรับรู้ผิดพลาด เกิดอาการหูแว่ว เกิดภาพหลอนรู้สึกกลัวและมีความหวาดระแวง หรือไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาโดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในวัยสูงอายุ  

  1. วิธีป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองด้านร่างกาย

ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ต้องคอยดูแลผู้ป่วยที่มีความพิการเกิดขึ้น เช่น การป้อนอาหาร การพาเข้าห้องน้ำ การใส่เครื่องแต่งกาย รวมถึงอื่นๆ ที่ผู้ป่วยไม่สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองเหมือนเดิมทั้งนี้ก็อาจจะต้องพาไปทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้ที่ยังพอมีโอกาสหาย หรือทำเพื่อไม่ให้อาการพิการเป็นมากไปกว่าเดิม

2. วิธีป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองด้านจิตใจ

ในช่วงแรกๆที่ผู้ป่วยยังปรับตัวไม่ได้ มักจะมีอาการวิตกกังวล จากความไม่รู้ ไม่เข้าใจว่า ตนเองป่วยเป็นโรคอะไร รุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจะสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด นอนไม่หลับ มีแต่ความหดหู่ ทานอาหารไม่ลงหรือทานได้น้อยไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้น และอาจมีพฤติกรรมกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งอาการเหล่านี้หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ ทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดความเบื่อหน่าย เกิดภาวะซึมเศร้า จนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อซึ่งผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยหรือคนในครอบครัว ต้องดูแลผู้ป่วยด้วยความรักและความเข้าใจ ไม่ใช้อารมณ์  ควรให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ  ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอบอุ่น และรู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่ดีขึ้น และพร้อมสู่กับโรคร้ายต่างๆนี้ในวันต่อๆไป

ทำอย่างไรไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองแตกหรือสมองตีบ (Stroke)

โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) ถึงจะเป็นโรคที่มีความรุนแรงแค่ไหน ก็สามารถป้องกันได้ จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิดๆ การทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ รวมทั้งการออกกำลังกายแบบสม่ำเสมอ โดยดังมีวิธีต่อไปนี้

1. งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่

2. ออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง

3. ควบคุมน้ำหนักตัวเองให้เหมาะสม อย่าให้น้ำหนักเกินมาตรฐานจนเกิดเป็นโรคอ้วน

4. ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพร่างกาย อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของร่างกายโดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง เช่น โรคเบาหวาน ระดับความดันในเลือด ระดับไขมันในเลือด และอื่นๆ เนื่องจากหากพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆจะได้รีบรักษาให้หายเป็นปกติ

5. หากมีปัจจัยเสี่ยงในข้อ 4 ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง และทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

6. สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอยู่แล้ว ต้องทานยาตามที่แพทย์จ่ายมาอย่างเคร่งครัด

เข้ารับการตรวจตามรอบนัด และ ปฏิบัติตนตามแพทย์แนะนำ เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ หากเป็นไปได้ คงไม่มีใครอยากเจ็บป่วยต้องเป็นโรคร้ายอย่างโรคหลอดเลือดสมอง Stroke เพราะนอกจากจะเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูงแล้ว รักษาให้หายขาดได้ยากแล้ว ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ยังอาจเสียชีวิตหรือพิการได้ด้วย หากส่งตัวถึงแพทย์ช้าไปเพียงแค่ระยะเวลาไม่กี่นาที ดังนั้นเมื่อเราได้ทราบถึงอันตรายของโรคหลอดเลือดสมองแล้วจึงควรที่จะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการเกิด โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) ไม่ให้เกิดขึ้นกับตัวเราหรือคนใกล้ชิด ถ้าไม่อยากเสียชีวิตหรือเป็นผู้พิการนั้นเอง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ขอบคุณคลิปความรู้ : หมอปุ้ม พญ. สิรนาถ สุขภาพดี คุณมีได้

วรพรรณ เสนาณรงค์. รู้ทันสมองเสื่อม / รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์: กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (22), 225 หน้า: (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 207) 1.สมอง. 2.สมอง–การป้องกันโรค. 3.โรคสมองเสื่อม. 4.โรคอัลไซเมอร์. 616.83 ว4ร7 ISBN 978-616-18-1556-1.

Wolf PA, Abbott RD, Kannel WB (1987). “Atrial fibrillation: a major contributor to stroke in the elderly. The Framingham Study”. Arch. Intern. Med. 147 (9): 1561–4. PMID 3632164. 

Sudlow, Cathie Lm; Mason, Gillian; Maurice, James B.; Wedderburn, Catherine J.; Hankey, Graeme J. (1 January 2009). “Thienopyridine derivatives versus aspirin for preventing stroke and other serious vascular events in high vascular risk patients”. The Cochrane Database of Systematic Reviews (4): CD001246. ISSN 1469-493X.

Halkes PH, van Gijn J, Kappelle LJ, Koudstaal PJ, Algra A (2006). “Aspirin plus dipyridamole versus aspirin alone after cerebral ischaemia of arterial origin (ESPRIT): randomised controlled trial”. Lancet. 367 (9523): 1665–73. PMID 16714187.