ความคิดผิดหลงผิดจากโรคสมองเสื่อมเป็นอย่างไร
โรคจิตเภท เป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติทางความคิด ส่งผลให้การรับรู้ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง

โรคสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อม เป็นโรคที่มีความลับซับซ้อนซ่อนอยู่อีกมากมาย ถึงแม้ว่าวิวัฒนาการทางการแพทย์จะก้าวหน้าไปมากจนทำให้เราได้เข้าใจส่วนประกอบและความเปลี่ยนแปลงของสมองมากขึ้นแล้ว

แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าทั้งหมดนั่นได้สักครึ่งหนึ่งของความลับในสมองหรือยัง ปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมมากขึ้นหลายคนไม่รู้สึกว่าโรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่แปลกใหม่หรือหาได้ยากอีกแล้ว แต่กลับมีคนจำนวนไม่มากเท่าไรที่เข้าใจถึงรูปแบบของโรคสมองเสื่อมอย่างแท้จริง เพราะสัญญาณหรืออาการที่แสดงออกของผู้ป่วยไม่แน่นอน แถมยังทับซ้อนกับโรคอื่นๆ อย่างเช่น อัลไซเมอร์ จิตเภท พาร์กินสัน เป็นต้น ต้องเป็นคนที่ศึกษาด้วยความสนใจหรือคลุกคลีอยู่ในวงการแพทย์เท่านั้นเองถึงจะแยกแยะได้จริงๆ ว่าอาการของผู้ป่วยนั้นอยู่ในกลุ่มของโรคไหน

อาการของความคิดผิดหลงผิด ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เกิดความสับสนระหว่างโรคสมองเสื่อมและจิตเภท หลายคนเข้าใจว่ามันคือโรคเดียวกันด้วยซ้ำ

ซึ่งในสมัยก่อนก็ต้องยอมรับว่าการดูแลรักษาหรือการวินิจฉัยนั้นสองโรคนี้แทบจะไม่ต่างกันเลย แต่ตอนนี้เรามีองค์ความรู้ทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้นแล้ว จึงได้รู้ว่าที่แท้โรคสมองเสื่อมกับโรคจิตเภทนั้นต่างกันมาก และยังต้องมีรายละเอียดในการรักษาที่แตกต่างกันอีกด้วย

อาการความคิดผิดหลงผิดในโรคจิตเภท

โรคจิตเภท  ( Schizophrenia ) เป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติทางความคิด ส่งผลให้การรับรู้ไม่เป็นไปตามความเป็นจริงและก่อให้เกิดปัญหาต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งโรคจิตเภทนั้นมีสาเหตุการเกิดได้ทั้งทางร่ายกายและจิตใจ ทางร่างกายได้แก่ พันธุกรรม สารเคมีในสมองผิดปกติ เป็นต้น ในทางจิตใจส่วนใหญ่เกิดจากความเครียดหรือได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง ความคิดผิดหลงผิดในกลุ่มโรคจิตเภทจึงเป็นไปในลักษณะที่มีความเชื่ออย่างสนิทใจในเรื่องที่ผิดไปจากความจริง ทั้งยังไม่สามารถแก้ไขกันด้วยเหตุผลได้ด้วย เช่น คิดไปเองว่าจะมีคนอื่นมาทำร้าย คิดว่าตนเองกำลังจะถูกวางยาพิษ คิดว่าตนเองมีอำนาจหรือพลังพิเศษ

อาการความคิดผิดหลงผิดในโรคจิตเภทยังสามารถแบ่งประเภทตามลักษณะของอาการได้อีก 5 กลุ่ม คือ

1. Erotomanic Type คือ กลุ่มที่คิดว่าบุคคลอื่นหลงรักตนเอง หรือคิดว่าคนอื่นที่ไม่ได้รู้จักนั้นเป็นคนรักของตนเอง โดยที่ผู้ป่วยจะ ปิดบังไว้หรือเปิดเผยออกมาก็ได้

2. Grandiose Type คือ กลุ่มที่คิดว่ามีพลังความสามารถเกินความเป็นจริง เช่น คิดว่ามีทรัพย์สินมากมายล้นฟ้า คิดว่ามีความรู้ในระดับที่สูงมากๆ เป็นต้น

3. Jealous Type คือ กลุ่มที่ระแวงว่าคนรักนอกใจอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นกลุ่มที่แยกได้ยากเสียด้วยว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือเป็นอาการป่วยกันแน่

4. Persecutory Type คือ กลุ่มที่คิดว่าถูกปองร้าย หรือคนใกล้ชิดอย่างคนในครอบครัวกำลังอยู่ในอันตราย

5. Somatic Type คือ กลุ่มที่คิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคร้ายแรงบางอย่าง หรือคิดว่าอวัยวะของตนไม่ปกติ เช่น ใหญ่หรือเล็กเกินไป เป็นต้น

อาการความคิดผิดหลงผิดในโรคสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อมเกิดจากมีความเสียหายบางอย่างในเนื้อเยื่อสมอง ผู้ที่มีอาการความคิดผิดหลงผิดสำหรับกรณีที่เกิดจากภาวะสมองเสื่อม มีที่มาจากเกิดพยาธิสภาพที่ส่วนของสมองอย่างน้อย 1 ตำแหน่ง เช่น บริเวณสมองกลีบหน้า บริเวณของปมประสาท บริเวณสมองกลีบขมับ บริเวณเนื้อสมองส่วนอมิกดาลา เป็นต้น ซึ่งอาการที่แสดงออกมาก็มีหลายหลายเช่นเดียวกัน และมักจะพบในผู้ป่วยสมองเสื่อมที่อยู่ในระยะกลางเท่านั้นขึ้นไปเท่านั้น ต่อไปนี้คือตัวอย่างบางส่วนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยสมองเสื่อม

  • มีความกลัวว่าสมบัติที่มีจะถูกขโมยไปด้วยวิธีการต่างๆ ( Delusion of Theft )
  • มีความกลัวว่าคู่รักของตนนอกใจไปกับคนอื่น ( Delusion of Infidelity )
  • มีความกลัวว่าจะมีคนมาทำร้ายอยู่ตลอดเวลา ( Persecutory Delusion ) 

อาการความคิดผิดหลงผิดในโรคสมองเสื่อมยังเชื่อมโยงกับการเห็นภาพหลอน เช่น มองเห็นปีศาจที่ไม่มีอยู่จริง มองเห็นสัตว์ป่าจะเข้ามาทำร้าย เป็นต้น และหูแว่ว เช่น ได้ยินเสียงผิดปกติแบบเดิมซ้ำๆ หรือได้ยินเสียงที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย เป็นต้น ทำให้เกิดอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรงและไม่สามารถควบคุมระดับอารมณ์ของตนเองได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการของความคิดผิดหลงผิดในโรคสมองเสื่อมนี้จึงมักมีความก้าวร้าวรุนแรงร่วมด้วยเสมอ

นอกจากนี้ยังมีอาการความคิดผิดหลงผิดในโรคเกี่ยวกับสมองที่เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเกิดโรคสมองเสื่อมด้วย นั่นก็คือ โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่หลายคนเหมารวมให้กลายเป็นโรคสมองเสื่อมไปเรียบร้อย ทั้งที่ความจริงนั้นไม่ใช่เลย อัลไซเมอร์เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความเสี่ยงที่จะต่อยอดไปเป็นโรคสมองเสื่อมเท่านั้น

สำหรับอาการความคิดผิดหลงผิดในอัลไซเมอร์ จะเป็นกลุ่มของการแยกแยะที่ผิดพลาด ( Misidentification Syndrome ) คือ มีอาการ Picture Sign แยกแยะไม่ได้ว่าสิ่งที่มองเห็นเป็นจริงเท็จอย่างไร เช่น กรณีที่ดูโทรทัศน์อยู่ ผู้ป่วยก็อาจเข้าใจผิดว่าสิ่งที่มองเห็นในโทรทัศน์นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่จริงๆ ในจุดที่ตัวเองอยู่ ถ้าเห็นเป็นคนไล่ยิงกัน ก็จะเข้าใจว่ามีคนไล่ยิงกันอยู่ในบ้านของตัวเองจนเกิดความหวาดกลัว เป็นต้น และอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของการระบุบุคคลที่ผิดพลาด ( Capgras Syndrome ) ผู้ป่วยจะสามารถจดจำใบหน้าบุคคลใกล้ชิดหรือคนที่รู้จักคุ้นเคยได้ทั้งหมด ไม่ได้หลงลืม แต่กลับเข้าใจว่าคนเหล่านั้นเป็นตัวปลอม เช่น ถ้าผู้ป่วยมีครอบครัว มีสามีหรือภรรยาที่อยู่ด้วยกัน ก็จะจำได้ว่าตนเองมีสามีหรือภรรยาชื่ออะไร หน้าตาแบบไหน แต่เมื่อมองก็คิดว่าเป็นคนอื่นที่ปลอมตัวมา หรือมีอีกคนอยู่ในร่างของสามีหรือภรรยานั่นเอง ส่งผลให้มีความหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา เพราะเหมือนอยู่กับคนที่ไม่รู้จักเลยแถมไม่เห็นหน้าที่แท้จริงอีกด้วย อาจบานปลายไปถึงการทำร้ายร่างการสามีหรือภรรยาของตนเองเลยก็ได้

ระยะของอาการความคิดผิดหลงผิดในโรคสมองเสื่อม

ระยะต้น : ช่วงแรกนี้ในผู้ป่วยบางรายแทบไม่มีสิ่งผิดปกติที่แสดงออกมาเลย ด้วยหลายสาเหตุคือ ผู้ป่วยยังมีอาการไม่มากนักและยังไม่กระทบกับการใช้ชีวิตของเขา กับอีกกรณีคือเขาปิดบังไว้ไม่ยอมบอกใคร แต่ก็พอมีจุดให้คนใกล้ชิดสังเกตได้อยู่เหมือนกัน เพราะผู้ป่วยจะซึมเศร้าบ่อยครั้งกว่าปกติ มีช่วงจังหวะที่เฉยเมยต่อสิ่งรอบข้าง หงุดหงิดบ่อยแต่ก็ยังสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้อยู่แม้ว่าจะต้องใช้เวลามากกว่าปกติก็ตาม

ระยะกลาง : ช่วงนี้ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เกรี้ยวกราดอย่างเห็นได้ชัด ความถี่ของความแปรปรวนในอารมณ์มีมากขึ้น เห็นภาพหลอนหรือมีอาการหูแว่วบ่อยๆ ขี้ตกใจและหวาดระแวง

ระยะรุนแรง : มีการแสดงออกให้เห็นได้ชัดมากขึ้นถึงอารมณ์ที่หงุดหงิด อาจมีขว้างปาข้าวของให้เห็นบ้าง เริ่มด่าทอด้วยถ้อยคำรุนแรง สลับกับซึมเศร้าเป็นพักๆ ช่วงท้ายๆ ของระยะนี้อาจไปไกลถึงขั้นทำร้ายร่างกายผู้อื่นด้วย

ระยะติดเตียง : ตอนนี้ผู้ป่วยจะมีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย และจินตนาการเองไม่ได้แล้วเพราะสมองเสียหายอย่างหนัก แต่ยังคงมีอารมณ์หงุดหงิดและก้าวร้าวรุนแรงขึ้น

การดูแลรักษาอาการความคิดผิดหลงผิด

แน่นอนว่าขั้นแรกต้องมีการซักประวัติและตรวจสอบขั้นพื้นฐานก่อนว่าผู้ป่วยนั้นมีอาการความคิดผิดหลงผิดจริง แล้วแยกแยะว่ามีสาเหตุมาจากโรคจิตเภทหรือโรคสมองเสื่อมกันแน่ เพราะจะช่วยให้ทำการรักษาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น ตัวเลือกในการรักษามีอยู่ 2 รูปแบบ คือ รักษาด้วยยาและรักษาด้วยการบำบัด

1. การรักษาด้วยการใช้ยา

ยากลุ่มนี้จะเป็นยาระงับประสาทในเบื้องต้น เพื่อผ่อนคลายให้ผู้ป่วยลดความตึงเครียดและความกังวลลง ซึ่งต้องติดตามผลและปรับปริมาณหรือชนิดของยาไปตามอาการที่เปลี่ยนไป ไม่สามารถปรับเปลี่ยนยาได้เองแม้ว่าจะสามารถหาซื้อมาได้จากแหล่งอื่น แต่ทั้งหมดต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อยู่ตลอด

2. การรักษาด้วยการบำบัด

การบำบัดจะเน้นไปที่ลดหรือตัดการเผชิญหน้าระหว่างผู้ป่วยกับสิ่งเร้า เช่น ถ้าผู้ป่วยกังวลว่าตนเองมีร่างกายที่ผิดปกติและมักจะส่องกระจกเพื่อสำรวจความผิดปกตินั้นตลอดเวลา ก็ให้เอากระจกออกไปจากห้องของผู้ป่วย แต่ไม่ถึงกับเก็บกระจกทั้งหมดในบ้านออกไป เพราะผู้ป่วยจะยิ่งรู้สึกผิดปกติและเกิดความขุ่นข้องหมองใจเพิ่มอีก พร้อมกับพยายามแทรกเรื่องราวความเป็นจริงให้กับผู้ป่วยในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย เช่น ขณะที่ผู้ป่วยส่องกระจกแล้วบ่นกับผู้ดูแลว่าแขนตัวเองผิดปกติ ผู้ดูแลก็สามารถบอกว่าเป็นปกติดี ไม่มีอะไร แต่ทั้งนี้ต้องดูสถานการณ์อารมณ์ของผู้ป่วยและต้องไม่เป็นการบีบคั้นจนเกินไปด้วย

อันที่จริงแล้วการรักษาจำเป็นต้องกระทำร่วมกันทั้ง 2 รูปแบบ คือทั้งให้ยาตามอาการและบำบัดทางจิตไปพร้อมกัน หากมีอาการร่วมในโรคสมองเสื่อมก็ต้องทำการรักษาในส่วนนั้นไปด้วยอีกทาง ปัญหาอย่างหนึ่งของการรักษาผู้ป่วยก็คือ มากกว่าครึ่งไม่ยอมรับว่าตนเองนั้นป่วย จึงปฏิเสธการรักษาอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้ตัวเขาเองจะรู้สึกว่าอาการความคิดผิดหลงผิดต่างๆ เริ่มกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันแล้วก็ตาม แต่ก็หาเหตุผลให้ไม่กลายเป็นคนป่วยได้อยู่ดี สิ่งสำคัญในการรักษาจึงเป็นสายสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแลใกล้ชิดและแพทย์ที่ทำการรักษา ทางฝ่ายของแพทย์ นอกจากจะต้องทำหน้าที่วินิจฉัย รักษาและติดตามผลอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็ยังต้องสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับผู้ป่วย เพราะถ้าสามารถทำให้เกิดความไว้วางใจระหว่างกันได้จริงๆ แล้ว ต่อให้ผู้ป่วยยังไม่เชื่อว่าตนเองป่วยจริงๆ ก็จะยอมให้ทำการรักษาต่อไปได้ ในฝ่ายของผู้ดูแลใกล้ชิดก็ต้องเข้าใจว่าทั้งหมดที่ผู้ป่วยกระทำเป็นผลของโรค เป็นความผิดปกติของร่างกาย ไม่ใช่ความตั้งใจที่แท้จริง และระวังการใช้อารมณ์ตอบโต้กลับ พร้อมกับหมั่นสังเกตสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงด้วย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

วรพรรณ เสนาณรงค์. รู้ทันสมองเสื่อม / รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์: กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (22), 225 หน้า: (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 207) 1.สมอง. 2.สมอง–การป้องกันโรค. 3.โรคสมองเสื่อม. 4.โรคอัลไซเมอร์. 616.83 ว4ร7 ISBN 978-616-18-1556-1.

Luk KC, Kehm V, Lee VM, et al. (2012). Pathological alpha-synuclein transmission 
initiates Parkinson-like neurodegeneration in nontransgenic mice. Science. 338 : 949-953.