ภาวะสมองเสื่อม
เมื่อนวัตกรรมทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น ภาวะสมองเสื่อม หรือโรคสมองเสื่อม ( Dementia ) ก็กลายเป็นโรคที่คนพูดถึงให้ได้ยินกันหนาหูมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ผู้คนจำนวนมากยังไม่รู้จักโรคสมองเสื่อมดีพอ และเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมกันอยู่มากเหมือนกัน เช่น การเข้าใจว่าโรคอัลไซเมอร์คือโรคสมองเสื่อม ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วไม่ใช่ แต่อัลไซเมอร์เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเกิดโรคสมองเสื่อมในเวลาต่อมา หรือการเข้าใจว่าคนที่เป็นโรคสมองเสื่อมก็คือคนที่ความจำเสื่อมบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งอันนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นอิทธิพลของสื่อประเภทของหนังและละครด้วยเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อเกิดความไม่เข้าใจก็จะมีความกลัวต่อภาวะสมองเสื่อมมากยิ่งขึ้น ทั้งยังทำให้ไม่รู้ว่าการป้องกันตัวที่ถูกต้องเป็นอย่างไรอีกด้วย
โรคสมองเสื่อม เป็นคำที่ใช้เรียกอาการผิดปกติหลากหลายประเภทที่เกิดจากความเสื่อมสภาพหรือความเสียหายของสมอง ไม่ใช่แค่เรื่องของความจำ แต่รวมทั้งหมดที่สมองมีหน้าที่ควบคุมดูแล ไล่ตั้งแต่อารมณ์และพฤติกรรม การเคลื่อนไหวร่างกาย การตัดสินใจ บุคลิกภาพ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไปจนถึงความคิดและการเรียนรู้ทั้งหมด ส่วนมากเราจะพบโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุประมาณ 65 ปีขึ้นไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าวัยเด็กจะไม่มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมเลยเพราะสามารถเป็นกันได้ทุกช่วงวัย เพียงแค่การเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ในวัยเด็กนั้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก ยกเว้นจะเป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ประเด็นที่น่าสนใจในปัจจุบันก็คือเราพบจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในวัยกลางคนมากขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าผู้คนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมมากกว่าเมื่อก่อน อาจจะเป็นเพียงแค่เดิมทีเรายังไม่เข้าใจหรือยังไม่รู้ว่าอาการที่แสดงออกมานั้นเป็นส่วนหนึ่งของโรคสมองเสื่อมเท่านั้นเอง
ภาวะสมองเสื่อมวัยกลางคน ( Early Onsel Dementia )
จะเกิดกับคนที่อายุไม่เกิน 65 ปี ส่วนใหญ่เป็นช่วงอายุตั้งแต่ 45 ปี ไปจนถึง 55 ปี ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้เป็นความเสื่อมตามธรรมชาติของร่างกาย แต่มักเกิดจากอาการเจ็บป่วยอื่นๆ แล้วส่งผลให้กลายเป็นโรคสมองเสื่อมในที่สุด บางรายเริ่มจากโรคหลอดเลือดในสมอง มาเป็นอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมตามลำดับ บางรายเริ่มจากโรคสมองอักเสบจากภูมิต้านทางต่อตนเองหรือโรคสมองเสื่อมกลีบหน้าและกลีบขมับฝ่อ และเปอร์เซ็นต์ผู้ป่วยที่มีสถิติในการตรวจพบมากที่สุดจะเป็นกลุ่มหลัง คือ โรคสมองเสื่อมกลีบหน้าและกลีบขมับฝ่อ ( Frontotemporal Dementia : FTD ) เรียกง่ายๆ ว่าโรคเอฟทีดี เป็นลักษณะของภาวะสมองเสื่อมที่เกิดในวัยกลางคนสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และเจอบ้างในผู้สูงอายุอีก 20 เปอร์เซ็นต์
โรคสมองเสื่อมกลีบหน้าและกลีบขมับฝ่อ ( Frontotemporal Dementia : FTD ) มีความหมายตรงตัวก็คือส่วนของสมองกลีบหน้าและสมองกลีบขมับฝ่อตัวหรือยุบตัวลง โดยที่หลอดเลือดสมองยังปกติดีทั้งหมด เป็นอาการเริ่มต้นที่คล้ายคลึงกับผู้ป่วยจิตเวชหรือที่เราเรียกกันตามประสาชาวบ้านว่าคนบ้า การเปลี่ยนแปลงของก้อนสมองในลักษณะนี้จะไม่ค่อยกระทบกระเทือนต่อการคิดวิเคราะห์ แต่เจาะจงไปที่พฤติกรรมที่แสดงออกมา มันจะผิดเพี้ยนไปจากเดิมมากทีเดียว โรคนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ และทำให้ผู้ป่วยมีอายุสั้นลงด้วย เราสามารถแบ่งย่อย
โรคสมองเสื่อมกลีบหน้าและกลีบขมับฝ่อหรือโรคเอฟทีดี ( Frontotemporal Dementia : FTD ) มี 3 ประเภท
1. สมองเสื่อมกลีบหน้าและกลีบขมับฝ่อที่โดดเด่นด้านพฤติกรรม (ฺ Behavioral Variant )
สรุปเป็นนิยามสั้นๆ ได้ว่า “ มีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม ” คือ มีอาการหงุดหงิด ดื้อเงียบ ย้ำคิดย้ำทำ บุคลิกภาพเปลี่ยนไป ความคิดอ่านเกี่ยวกับการบริหารจัดการผิดเพี้ยน บางครั้งก็หุนหันพลันแล่น ใจร้อน เพียงไม่นานก็กลับนิ่งเฉยหรือซึมเศร้าไปได้ นี่คือลักษณะเด่นของโรคสมองเสื่อมกลีบหน้าและกลีบขมับฝ่อที่โดดเด่นด้านพฤติกรรม ซึ่งพอพิจารณาดูให้ดีแล้ว ก็ดูคล้ายกับอารมณ์ปกติของคนทั่วไป หากไม่ได้เป็นคนใกล้ชิดก็ยากที่จะตัดสินได้ว่ามีอาการป่วยหรือไม่ อีกทั้งยังใกล้เคียงกับโรคอัลไซเมอร์อย่างมากอีกด้วย แพทย์ผู้ดูแลจึงต้องวินิจฉัยอย่างละเอียดทั้งการซักประวัติและการตรวจวัดด้วยเทคนิคทางการแพทย์
2. สมองเสื่อมกลีบหน้าและกลีบขมับฝ่อที่สูญเสียทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร ( Primary Progressive Aphasia )
ผู้ป่วยจะมีอาการถดถอยทางด้านภาษาและการสื่อสารอย่างชัดเจน อาจเริ่มจากมีปัญหาในการเรียกชื่อคนและสิ่งของ มีปัญหาในการเรียงประโยคตามหลักไวยกรณ์ที่เคยใช้ตามปกติ ต้องทวนซ้ำบ่อยๆ ก่อนที่จะตอบคำถาม ทักษะในการสื่อสารจะแย่ลงเรื่อยๆ และกลายเป็นกระตุ้นให้ไม่อยากพูดในที่สุด เรายังสามารถแบ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อีก 2 แบบ คือ
กลุ่มพูดช้า : จังหวะการพูดจะช้าลงอย่างเห็นได้ชัด พูดตะกุกตะกัก ติดขัด หลายคำที่เคยใช้จะหายไป เหมือนกับว่าสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกไปนั้นมีความเข้าใจเพียงส่วนตัวภายในสมอง แต่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำที่ผู้อื่นเข้าใจด้วยได้ เราจึงได้เห็นการสร้างคำขึ้นใหม่ในแบบของตัวเองกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย
กลุ่มพูดเร็ว : ถึงแม้จังหวะการพูดจะรวดเร็วฉับไว แต่ก็ไม่มีความหมาย เพราะจะมีปัญหาเรื่องความถดถอยของความคิดและความจำร่วมด้วย ในระยะแรกความจำจะยังดีอยู่ ผู้ป่วยจะมีอาการแค่ใช้เวลาในการนึกคำนานกว่าปกติ หรือใช้คำไม่ถูกต้อง ต่อมาก็จะเริ่มไม่รู้จักสิ่งของที่เคยรู้จัก ไม่สามารถเรียกชื่อหรือนำมาใช้งานได้
3.สมองเสื่อมกลีบหน้าและกลีบขมับฝ่อที่บกพร่องในการเลือกใช้คำ ( Semantic Dementia )
กลุ่มนี้จะเน้นหนักไปที่การเลือกใช้คำ คือโดยรวมยังสามารถสื่อสารได้ปกติ ความคิดความอ่านก็ยังทำงานได้ดี แต่จะมีอาการสับสนในการเลือกใช้คำ เช่น เรียกชื่อโต๊ะสลับกับเก้าอี้ เรียกเสือสลับกับสิงโต เรียกชื่อคนสลับกัน เป็นต้น ถึงจะดูไม่ค่อยมีปัญหามากเท่ากับแบบอื่นๆ แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสูญเสียความมั่นใจอย่างมาก เมื่อการสื่อสารไม่ตรงกับที่ต้องการบ่อยครั้ง
การตรวจวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมกลีบหน้าและกลีบขมับฝ่อ
เนื่องจากว่าโรคสมองเสื่อมกลีบหน้าและกลีบขมับฝ่อ ( Frontotemporal Dementia : FTD ) หรือโรคเอฟทีดีนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ หากทำการซักประวัติแล้วพบว่ามีคนในครอบครัวเป็นโรคเอฟทีดี ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการตรวจเลือดจึงเป็นการตรวจมาตรฐานที่แพทย์จะใช้ในการวินิจฉัย โดยเน้นไปที่การค้นหายีนส์ 3 ตัวหลักที่มีความเกี่ยวข้อง ได้แก่ MAPT ( Microtubule associated proteintau ), GRN ( Progranulin ) และ C9ORF72 ( Chromosome9 open reading frame72 ) ยีนส์เหล่านี้มีผลต่อการเกิดโรคถึงร้อยละ 90 นี่จึงเป็นกุญแจสำคัญในการแยกโรคเอฟทีดีออกจากโรคเกี่ยวกับสมองในรูปแบบอื่นๆ
นอกจากนี้จะเป็นการตรวจหาสารพิษในเลือด ทั้งสารพิษที่เกิดจากอาการป่วยอย่างอื่นและสารพิษที่เกิดจากการใช้ยาหรือสรเสพติดด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ใช่การกระตุ้นของสารพิษเหล่านั้น และทำการ CT scan หรือ MRI scan เพื่อตรวจดูสภาพของก้อนสมอง แต่การแสกนสมองนี้แทบจะไม่เห็นความผิดปกติเลยในระยะแรกๆ จนกระทั่งกินเวลา 3-4 ปีไปแล้วจึงจะเห็นการยุบตัวสมองกลีบหน้า ( กลีบฟรอนทอล ) และสมองกลีบขมับมีการทำงานลดน้อยลง ( กลีบฟรอนโตเทมพอรัล ) แล้วจะยิ่งเห็นได้ชัดว่าสมองมีการยุบเป็นวงกว้างมากๆ เมื่อผ่านไปราวๆ 5-7 ปี สุดท้ายคือการเจาะน้ำไขสันหลังออกมาตรวจวัดปริมาณสารแอมีลอยด์ เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งในการแยกโรคเอฟทีดีออกจากอัลไซเมอร์
การรักษาและการบำบัดโรคสมองเสื่อมกลีบหน้าและกลีบขมับฝ่อ
โรคสมองเสื่อมเกือบทั้งหมดไม่มีแนวทางในการรักษาที่ชัดเจนและเจาะจงเป็นแบบเดียวกันในผู้ป่วยทุกราย เนื่องด้วยความละเอียดอ่อนของสมองนั่นเอง โรคโรคสมองเสื่อมกลีบหน้าและกลีบขมับฝ่อ ( Frontotemporal Dementia : FTD ) หรือโรคเอฟทีดีนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อตรวจพบและสรุปแน่ชัดว่าเป็นแล้ว ก็ต้องรักษาไปตามอาการที่เกิดขึ้นและต้องติดตามผลเพื่อเปลี่ยนยาตามอาการไปเรื่อยๆ จะมีการให้ยาเพื่อปรับสมดุลของพฤติกรรมและกระบวนการของสมองตามความเหมาะสม กลุ่มยาที่ใช้ ได้แก่ กลุ่มยาที่ทำให้อารมณ์คงที่ ( Mood Stabilizers ) ยาต้านอาการซึมเศร้า ( Antidepressants ) ยาต้านโรคจิต ( Antipsychotics ) ยากระตุ้นการรับรู้ที่เกี่ยวกับความทรงจำและการตัดสินใจ ( Cholinesterase Inhibitors ) นอกจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแล เช่น กรณีที่นอนไม่หลับเลยจนส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมก็ต้องให้ยานอนหลับ เป็นต้น
เพื่อให้การรักษาดำเนินไปได้ด้วยดีจึงต้องมีการบำบัดควบคู่ไปกับการให้ยาตามอาการด้วย ในส่วนของการบำบัดอาจแบ่งได้เป็น 3 ส่วนดังนี้
บำบัดโดยปรับเปลี่ยนการทำงาน : เนื่องจากว่าผู้ป่วยกลุ่มวัยกลางคนนี้ยังเป็นวัยทำงาน และอาการของภาวะสมองเสื่อมแบบนี้จะมีผลต่อรูปแบบการทำงานอย่างแน่นอน หากอาการยังไม่หนักมากนัก และสามารถทำงานได้ตามปกติ ก็ใช้วิธีจัดระบบระเบียบและขั้นตอนการทำงานให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อลดความสับสันและแบ่งเบาภาระในการประมวลผลของสมองให้ลดน้อยลง
บำบัดโดยปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม : เมื่อสมองผิดปกติไปด้วยการฝ่อตัวลง การโฟกัสหรือจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งของผู้ป่วยก็จะลดน้อยลงด้วย ดังนั้น สภาพแวดล้อมที่อยู่จึงต้องตัดสิ่งรบกวนออกไปให้ได้มากที่สุด ด้วยการจัดข้าวของให้เป็นระเบียบ ลดการใช้เสียงดังหรือเสียงน่ารำคาญให้น้อยลง
บำบัดโดยร่วมบำบัดกับนักจิตบำบัดอย่างสม่ำเสมอ : นี่เป็นการปรับสภาพจิตใจและพฤติกรรมที่ค่อนข้างตรงจุด ทั้งยังให้ผลลัพธ์ที่ดีมาก แต่ต้องอาศัยความเข้าใจและการยอมรับของตัวผู้ป่วยเองด้วย โดยเฉพาะในบ้านเราที่มีความเชื่อว่าการบำบัดจิตหรือการไปหาจิตแพทย์คือคนบ้า ทำให้ไม่มีใครอยากมาหาหมอ ในขณะที่การเข้าบำบัดจิดในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติมากๆ เป็นเรื่องที่ยังต้องให้ความรู้และความเข้าใจกับคนทั่วไปอีกมาก
สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมก็คือคนใกล้ชิดหรือครอบครัว จำเป็นต้องให้ความเอาใจใส่ในรายละเอียดของอาการอย่างมาก หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งเร้าและแนวโน้นของอารมณ์ผู้ป่วยในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการรักษาในลำดับต่อๆ ไป ทางครอบครัวต้องไม่เป็นฝ่ายใส่อารมณ์กับพฤติกรรมของผู้ป่วยเสียเอง และระมัดระวังการตอบสนองที่จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกจิตตก หดหู่และรู้สึกไร้ค่าด้วย การดำเนินโรคของผู้ป่วยวัยกลางคนจะรวดเร็ว จึงเป็นธรรมดาที่พฤติกรรมต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วกว่าปกติด้วยเช่นกัน ซึ่งต่างกันไปหากโรคเอฟทีดีเกิดในผู้สูงอายุ ระยะเวลาการพัฒนาลำดับขั้นของโรคจะช้า ใช้เวลานานเช่นเดียวกับอัลไซเมอร์ ผู้ดูแลใกล้ชิดจึงต้องเข้าใจส่วนนี้เพื่อให้การดูแลได้อย่างถูกต้องเหมาะสมด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
วรพรรณ เสนาณรงค์. รู้ทันสมองเสื่อม / รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์: กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (22), 225 หน้า: (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 207) 1.สมอง. 2.สมอง–การป้องกันโรค. 3.โรคสมองเสื่อม. 4.โรคอัลไซเมอร์. 616.83 ว4ร7 ISBN 978-616-18-1556-1.
Luk KC, Kehm V, Lee VM, et al. (2012). Pathological alpha-synuclein transmission
initiates Parkinson-like neurodegeneration in nontransgenic mice. Science. 338 : 949-953.