สมองเสื่อม
เรามักจะเปรียบเทียบสมองของคนเหมือนกับซีพียูของเครื่องคอมพิวเตอร์ คือเป็นหน่วยประมวลผลที่สำคัญที่สุด หากซีพียูเสียหายหรือมีส่วนใดผิดปกติไป คอมพิวเตอร์เครื่องนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ต้องซ่อมแซมในส่วนที่มีปัญหาเสียก่อน แม้ว่าจะไม่เหมือนซะทีเดียวแต่การอุปมาอุปไมยแบบนี้ก็พอช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมๆ ได้ว่า สมองนั้นมีส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตมากมายขนาดไหน การตัดสินใจ การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การใช้ภาษา การเคลื่อนไหวที่ต้องควบคุม เช่น การขยับแขนขา การส่ายหน้า เป็นต้น และการเคลื่อนไหวแบบที่ไม่ต้องควบคุม คือเป็นไปตามธรรมชาติไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ เช่น การเต้นของหัวใจ เป็นต้น ทั้งหมดทั้งมวลล้วนต้องผ่านการทำงานของสมองทั้งสิ้น เมื่อ สมองเสื่อม หรือเกิดความเสียหายขึ้นจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทุกอย่างในร่างกายจึงเข้าสู่สภาวะถดถอยไปเรื่อยๆ จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับกระบวนการรักษาและตัวผู้ป่วยเอง
ความสามารถของสมองเราอาจแบ่งเป็นกลุ่มได้ 6 กลุ่ม ดังนี้
การรับรู้ | ประสาทสัมผัสทั้งหมด รูป รส กลิ่น เสียง |
ความจำ | ข้อมูลหรือเรื่องราวที่มีประสบการณ์ผ่านมา เรียนรู้มา |
เหตุผล | การหาความเชื่อมโยงในการเกิดของบางสิ่งบางอย่าง และวิเคราะห์ความเป็นไปต่อได้ |
จินตนาการ | การนึกวาดภาพหรือสร้างภาพขึ้น โดยอาศัยสิ่งที่ได้รับรู้มาก่อนบวกกับความสร้างสรรค์ |
ความคิด | การวิเคราะห์ข้อมูลที่ผ่านเข้ามาในทุกๆ ด้าน เพื่อความเข้าใจและการตกผลึก หรือเพื่อหาทางต่อยอดไปสู่สิ่งอื่น |
การตัดสินใจ | การเลือกเส้นทาง วิธีการ หรือรูปแบบที่ต้องการในสถานการณ์ต่างๆ |
ทั้งผู้ป่วยอื่นๆ และผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะมีลักษณะถดถอยบางอย่างที่ทับซ้อนหรือคล้ายคลึงกันอยู่ ดังนั้นแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจึงต้องมีรูปแบบที่ใช้เพื่อวินิจฉัยผู้ป่วยร่วมกับการตรวจวัดด้วยเครื่องมืออื่นๆ ว่าความถดถอยที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากสมองเสื่อมหรือไม่
ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะมีอาการถดถอยทางความสามารถของสมอง ดังต่อไปนี้
- คิดวิเคราะห์ วางแผน จัดลำดับความสำคัญไม่ได้ ไม่เข้าใจในเหตุผลต่างๆ
- มีความบกพร่องในการใช้ภาษาเพื่อสื่อสาร ทั้งๆ ที่เคยทำได้ดีมาก่อน เช่น พูดไม่ถูก เรียกชื่อสิ่งของไม่ได้ ไปจนถึงพูดไม่ได้เลย
- มีปัญหาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดจนการดึงความรู้เดิมๆ ที่มีอยู่แล้วออกมาใช้ด้วย
- มีปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำ การจดจำและความเข้าใจบางอย่างสูญหายไป
- เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่วดังเดิม ควบคุมอวัยวะไม่ค่อยได้ทำให้ทำงานและกิจวัตรประจำวันได้ลำบาก
- ขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรได้เป็นเวลานาน
- เริ่มมีความบกพร่องในการเข้าสังคม การร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ราบรื่นและยุ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อผู้ป่วยมีความบกพร่องในด้านหนึ่งแล้ว ก็สามารถบกพร่องด้านอื่นๆ ได้เพิ่มอีกในภายหลัง และยังเพิ่มระดับความรุนแรงของการถดถอยได้ตลอดเวลา หากไม่ทำการรักษาและบำบัดอย่างถูกวิธี หลายคนมีอาการถดถอยทางสมรรถภาพของสมองโดยไม่รู้ตัว เพราะยังออกไปทำงานต่างๆ ได้เหมือนปกติ เพียงแค่บางครั้งทำอะไรที่ซับซ้อนมากไม่ได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็มักจะคิดว่าความสามารถของตัวเองไม่ถึงหรือไม่เคยทำจึงทำไม่เป็นเท่านั้น เช่น นักบัญชีที่คิดเลขได้คล่องแคล่วมาตลอด แล้วอยู่ๆ วันหนึ่งก็ไม่สามารถทำได้แบบเดิมหรือทำได้ช้าลง อีกตัวอย่างคือครูที่สอนได้ตามปกติแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาจำนวนข้อสอบกับจำนวนนักเรียนที่ไม่เท่ากันได้ และนี่ก็เป็นสัญญาณที่อาจจะเล็กน้อยจนเกิดการมองข้ามไป ถือเป็นการปล่อยให้ความถดถอยนั้นเพิ่มระดับมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ทำการรักษาเลย
ระยะการถดถอยของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน
ระยะการถดถอยของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันจะแบ่งระยะเป็น 3 ช่วง คือ ระยะที่มีผลต่องานและสังคม ระยะที่เกี่ยวกับการดูแลตนเอง และระยะที่เกี่ยวกับการรู้จักตนเอง
ระยะที่มีผลต่องานและสังคม : เมื่อเกิดภาวะโรคสมองเสื่อมขึ้นและเริ่มมีความถดถอย ระยะแรกสุดจะเกิดความบกพร่องกับการเข้าสังคมและส่งผลต่ออาชีพการงานที่ทำอยู่ หากเป็นในผู้สูงอายุคงไม่เท่าไร แต่มีคนมากถึงร้อยละ 15 ที่ต้องพบเจอปัญหานี้ในช่วงวัยทำงาน หรือที่เรารู้จักกันดีในโรค “ สมองเสื่อมก่อนวัย ” ซึ่งเป็นความผิดปกติของกลุ่มสมองกลีบหน้าและกลับขมับฝ่อ ดังนั้นจึงมีปัญหาทั้งเรื่องของเนื้องาน เพื่อนร่วมงานและสังคมที่เชื่อมโยงกับผู้ป่วย จากที่ทำงานได้ง่ายๆ สบายๆ ก็จะรู้สึกยากขึ้น เป็นต้น
ระยะที่เกี่ยวกับการดูแลตนเอง : ระยะนี้เน้นไปที่การทำกิจวัตรประจำวันที่ควรทำได้ตามปกติ แต่ก็เกิดทำไม่สะดวกหรือทำไม่ได้ขึ้นมา โดยเรื่องของกิจวัตรประจำวันยังแบ่งย่อยได้อีก 2 ประเภท คือ กิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานและกิจวัตรประจำวันขั้นสูง ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในลำดับถัดไป ช่วงนี้คนใกล้ชิดจะเริ่มมองเห็นความผิดปกติแล้ว แต่จะจับสัญญาณได้หรือไม่ก็อยู่ที่ความใส่ใจและระดับความสนิทสนมของคนใกล้ชิดกับผู้ป่วย
กิจวัตรประจำวัน 2 ประเภท
กิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐาน ( Basic Activities of Daily Living ) เป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่ายๆ ไม่มีลำดับขั้นตอนที่ซับซ้อนมากนัก เช่น การเดิน กิน นั่ง ลุกขึ้นยืน อาบน้ำ ขับถ่าย แต่งตัว เป็นต้น โดยปกติแล้วสิ่งเหล่านี้เราจะทำได้เอง ไม่จำเป็นต้องมีคนช่วยดูแล แต่กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่มีภาวะถดถอยแล้ว มันกลับกลายเป็นเรื่องยากพอสมควร วิธีการสังเกตว่าผู้ป่วยมีความถดถอยในกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานหรือไม่ต้องดูที่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น ถ้าผู้ป่วยใส่เสื้อได้เองแต่ติดกระดุมเองได้ช้ากว่าปกติไปมาก หรือมีปัญหากับการอาบน้ำและหลีกเลี่ยงไปด้วยการหาข้ออ้างที่จะยังไม่อาบน้ำ เช่น ยังหนาวอยู่ ยังไม่อยากอาบ ทำให้ต้องคะยั้นคะยอตลอดเวลา แบบนี้ก็ต้องเอะใจก่อนว่ามีสัญญาณของความถดถอยบ้าแล้ว
กิจวัตรประจำวันขั้นสูง ( Instrumental Activities of Daily Living ) เป็นกิจกรรมที่ซับซ้อนขึ้นมาหน่อย เช่น การขับรถ การซักผ้า จ่ายตลาด ทำอาหาร ทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น รวมไปถึงกิจกรรมที่ดูเหมือนไม่ซับซ้อนอะไรในขณะที่สมองจำเป็นต้องประมวลผลหลายอย่าง เช่น การเดินขึ้นลงบันได การจัดหนังสือเข้าชั้นหนังสือ เป็นต้น ที่น่าสนใจคือหลายคนมองว่าทักษะหรือสกิลบางอย่างจะเสื่อมถอยลงตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น จึงปล่อยปละละเลยไปและคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วหากร่างกายเรายังสามารถทำสิ่งนั้นได้จะไม่มีทักษะไหนเลยที่เสื่อมลงตามวัย
ระยะที่เกี่ยวกับการรู้จักตนเอง : นี่เป็นระยะที่รุนแรงที่สุด ผู้ป่วยเริ่มไม่รู้จักตนเอง หมายความว่า ไม่สามารถจดจำเรื่องราวบางส่วนของตัวเองได้ ไม่รู้ที่มาที่ไป หรือเครือญาติของตัวเอง บางครั้งก็พบว่าผู้ป่วยจำตัวเองไม่ได้เลยว่าตัวเองเป็นใครก็มีเหมือนกัน
แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่มีภาวะถดถอยในการประกอบกิจวัตรประจำวัน
ความถดถอยที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบจากโรคสมองเสื่อมก็จริง แต่เราสามารถชะลอให้ระดับความถดถอยที่จะแย่ลงเรื่อยๆ นั้นช้าลงได้ หรือหากดูแลได้ดีไปพร้อมกับการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ก็สามารถหยุดไม่ให้การถดถอยนั้นเสื่อมลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ได้ และนี่คือวิธีการดูแลผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นความสามารถของสมองในด้านต่างๆ
- กระตุ้นทักษะที่มีเหลืออยู่โดยหลีกเลี่ยงจุดที่ทำไม่ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่จะลงมือทำอย่างต่อเนื่อง เน้นทำตามกำลังที่มีและตามความเหมาะสมของช่วงวัย เมื่อไรที่อารมณ์ของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปเชิงลบ เช่น หงุดหงิด โมโห ต้องหยุดทันที
- ฝึกให้ทำกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานด้วยตัวเองเป็นประจำ โดยผู้ดูแลคอยสังเกตอยู่ห่างๆ อย่ายืนจ้องเหมือนจับผิดหรือคอยระวังแทนผู้ป่วยมากเกินไป จะยิ่งทำให้เกิดความเครียดและมีความรู้สึกว่าตนเองด้อยสมรรถภาพในผู้ป่วย
- หากผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานได้ดี ก็ให้ลองทำกิจวัตรประจำวันขั้นสูงดูบ้าง แต่ต้องเริ่มจากสิ่งที่ไม่ยากจนเกินไป ให้ทำด้วยความรู้สึกสบายและผ่อนคลายอยู่เสมอ
- เล่นเกมส์เพื่อเพิ่มกระบวนการคิดและทักษะร่างกายเล็กๆ น้อยๆ
- ชักชวนให้ผู้ป่วยดึงเอาความสามารถเดิมๆ มาทำ เช่น การวาดภาพระบายสี เล่นดนตรี เย็บปักถักร้อย เป็นต้น
นอกจากกระบวนการที่ต้องกระตุ้นให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมได้ทำอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาของอาการถดถอยให้ไปในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลงได้อีก นั่นคือเรื่องของอาหารการกินที่เป็นประโยชน์ สุขภาพโดยรวม การสนับสนุนของครอบครัวและคนรอบข้าง อาการ ความเปลี่ยนแปลง และระยะของโรคสมองเสื่อมที่เป็นอยู่ ตลอดจนผู้ดูแลซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากที่สุด ดังนั้นการปรับทัศนคติที่มีต่อผู้ป่วยของผู้ดูแลจึงสำคัญมาก ถ้าเป็นครอบครัวเดียวกันซึ่งรักใคร่และพร้อมที่จะดูแลเอาใจใส่จะดีมาก แต่ถ้าไม่มีครอบครัวหรือคนในบ้านติดภารกิจอื่นๆ ไปเสียหมด หากจะดูแลกันเองก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่จริงๆ มันจะกลายเป็นทำให้เกิดปัญหาเสียมากกว่า แบบนี้ก็ต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญที่มาในรูปแบบของอาสาสมัครแทน และอาสาสมัครที่ว่านี้ก็สามารถสอบถามไปยังสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมได้เลย
ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีความถดถอยอยู่ในระยะไหนก็ตามแต่ การเข้าใจในความเจ็บปวดจากอาการป่วย และสัญญาณแห่งความถดถอยต่างๆ นั้นจำเป็นมากที่จะต้องเรียนรู้ ความใจเย็นและรอบคอบคือพื้นฐานที่ผู้ดูแลต้องมี
เสริมอีกนิดในส่วนของผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีความถดถอยอยู่ในระยะไหนก็ตามแต่ การเข้าใจในความเจ็บปวดจากอาการป่วย และสัญญาณแห่งความถดถอยต่างๆ นั้นจำเป็นมากที่จะต้องเรียนรู้ ความใจเย็นและรอบคอบคือพื้นฐานที่ผู้ดูแลต้องมี วิธีสื่อสารอย่างมีศิลปะและมีชั้นเชิงจะเป็นอีกตัวช่วยให้การกระตุ้นผู้ป่วยทำได้ง่ายขึ้น ต้องไม่มีคำพูดที่กระทบกระเทือนจิตใจ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม หรือแม้แต่จะมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการทำกิจกรรมของผู้ป่วย ก็ห้ามใช้คำพูดที่รุนแรงเกินไปควรหันเหไปเลือกการโน้มน้าวแบบอื่นแทน
สิ่งแวดล้อมที่ต้องระวังสำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อม
- ผนัง พื้น และการตกแต่งที่มีสีสันฉูดฉาด มีลวดลายมากเกินไป จะทำให้สมองของผู้ป่วยเกิดความสับสนจนนำไปสู่อันตรายต่อร่างกายได้ เช่น ทรงตัวไม่อยู่ หกล้ม เวียนหัว ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- ผนัง พื้นที่มีความมันเรียบจนเห็นเป็นเงาสะท้อนคล้ายกระจก มันอาจจะดูสวยงามสำหรับคนปกติ แต่กับผู้ป่วยมันจะสร้างความสับสนในแสงสะท้อนที่เกิดขึ้นอย่างมาก
- ขั้นบันไดที่มีระดับซับซ้อนแต่ละช่วงสูงต่ำไม่เท่ากัน รวมไปถึงบันได้ที่มีขั้นบันไดแบบปกติทั่วไปแต่มีระยะยาวมาก เพราะการเดินขึ้นลงบันไดถือเป็นกิจวัตรขั้นสูงแล้ว หากสมองไม่สามารถควบคุมการตัดสินใจและการเคลื่อนไหวร่างกายได้ ก็จะเกิดอุบัติเหตุขึ้น
- การตกแต่งหรือข้าวของที่เปลี่ยนที่วางใหม่ๆ อยู่ตลอด จะสร้างความเครียดให้กับผู้ป่วย ที่ไม่สามารถจดจำได้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน และยิ่งถ้าผู้ป่วยเลือกที่จะไม่จำเลยก็จะทำให้ความสามารถด้านความคิดและความจำถดถอยไปอีก
- ระวังเสียงอึกทึกครึกโครม และเสียงเพลงที่มีจังหวะบีบเค้นโสตประสาท
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
วรพรรณ เสนาณรงค์. รู้ทันสมองเสื่อม / รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์: กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (22), 225 หน้า: (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 207) 1.สมอง. 2.สมอง–การป้องกันโรค. 3.โรคสมองเสื่อม. 4.โรคอัลไซเมอร์. 616.83 ว4ร7 ISBN 978-616-18-1556-1.
Walter J, Kaether C, Steiner H, Haass C. The cell biology of Alzheimer’s disease: uncovering the secrets of secretases. Curr Opin Neurobiol. 2001;11(5):585–590.
Sastre M, Steiner H, Fuchs K, et al. Presenilin-dependent gamma-secretase processing of beta-amyloid precursor protein at a site corresponding to the S3 cleavage of Notch. EMBO Rep. 2001;2(9):835–841.
Lin MT, Beal MF. Alzheimer’s APP mangles mitochondria. Nat Med. 2006;12(11):1241–1243.