มะตาด สมุนไพรที่มีสรรพคุณบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ

0
1425
มะตาด
มะตาด สมุนไพรที่มีสรรพคุณบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ ผลสีเขียวอมเหลือง ผลสุกเต็มที่มีรสเปรี้ยวถึงหวาน มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ป้องกันการติดเชื้อ และลดความดัน
มะตาด
ผลสีเขียวอมเหลือง ผลสุกเต็มที่มีรสเปรี้ยวถึงหวาน มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ป้องกันการติดเชื้อ และลดความดัน

มะตาด

มะตาด เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่พบขึ้นตามป่าดิบชื้นที่ใบเขียวชอุ่มตลอดปี ซึ่งอยู่ในวงศ์ Dilleniaceae พืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อินเดีย บังคลาเทศ และศรีลังกา ทางตะวันออกไปจนถึงจีนตะวันตกเฉียงใต้ เวียดนาม ประเทศไทยไปยังมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ชื่อสามัญ Chulta, Chalta, Ouu, Elephant apple ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dillenia indica L. จัดอยู่ในวงศ์ส้าน (DILLENIACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ส้มปรุ ส้านกวาง ส้านท่า ส้านป้าว ส้านปรุ ส้านใหญ่ (เชียงใหม่), แส้น (นครศรีธรรมราช, ตรัง), สั้น บักสั้นใหญ่ (อีสาน), แอปเปิ้ลมอญ, ส้านมะตาด, ไม้ส้านหลวง (ไทใหญ่), ตึครือเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ลำส้าน(ลั้วะ), เปียวกับ (เมี่ยน) เป็นต้น โดยมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย คาบสมุทรมลายู ไทย ลาว พม่า และอินโดจีน

ลักษณะของมะตาด

  • ต้น จัดให้เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-20 เมตร เป็นไม้ที่ไม่มีการผลัดใบ ลักษณะต้นเป็นทรงเรือนยอดทรงพุ่มกลมหรือเป็นรูปไข่ เป็นทรงพุ่มทึบ ลำต้นมักจะคดงอ จะไม่ตั้งตรง และมักจะมีปุ่มปมปรากฏอยู่ตามลำต้น ซึ่งจะเกิดจากร่องรอยของกิ่งแก่ที่หลุดร่วงไปแล้ว ส่วนเปลือกต้นเป็นเปลือกหนา เป็นสีน้ำตาลอมแดงหรือสีทองแดง แต่เมื่อแก่แล้วเปลือกต้นจะเปลี่ยนเป็นสีเทา และจะหลุดล่อนออกมาเป็นแผ่นบาง ๆ ส่วนการแตกกิ่งก้านของลำต้นนั้นจะไม่สูงจากพื้นดินมามากนัก และการแตกกิ่งย่อยจะเกิดตรงที่ส่วนปลายของยอดกิ่งหลัก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและกิ่งตอน ต้นมีความทนทานต่อความแห้งแล้งและน้ำท่วมได้ดี ในประเทศไทยจะสามารถพบขึ้นได้ทั่วไปตามป่าพรุ ป่าดิบชื้น และริมแม่น้ำลำธาร[1]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับถี่ออกกันเป็นช่อ ๆ บริเวณปลายที่กิ่ง ลักษณะใบเป็นรูปใบหอกหรือรูปไข่กลับ ใบมีความกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตรและยาวอีกประมาณ 25-30 เซนติเมตร ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ ส่วนโคนใบนั้นเรียวสอบแคบและมน แผ่นใบหนา ใบเป็นคลื่นลอนตามเส้นแขนง ใบที่แยกขนานออกจากเส้นใบไปตามขอบใบ ขอบใบหยักและเป็นฟันเลื่อย มีหนามเล็ก ๆ อยู่ที่ปลายสุดของเส้นแขนงตรงขอบใบ ส่วนท้องใบนั้นจะเห็นเส้นแขนงได้ชัดและมีขนขึ้นอยู่ประปราย ส่วนเส้นแขนงใบตรงมีประมาณ 30-40 คู่ และก้านใบมีความยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นร่อง โคนก้านใบแบนและเป็นกาบห่อหุ้มกิ่งเอาไว้[1],[3]
  • ดอก เป็นสีขาวนวลและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกดอกเดี่ยว ๆ บริเวณง่ามใบและกิ่งบริเวณที่ใกล้กับปลาย ส่วนก้านดอกมีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร และมีขนที่สากมือ กลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นแผ่นโค้งคล้ายช้อนมีอยู่ 5 กลีบ ลักษณะกลีบเป็นรูปไข่กลับผิวบาง มีความกว้างประมาณ 15-18 เซนติเมตร กลีบดอกจะร่วงหลุดได้ง่ายเมื่อดอกบาน ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นสีเหลืองอยู่จำนวนมากล้อมรอบเกสรเพศเมียไว้ โดยเกสรเพศเมียจะเป็นสีขาว ยอดเกสรเพศเมียจะแยกออกเป็นแฉก รังไข่มี 20 ช่อง เมื่อดอกตูมในระยะแรกนั้นจะมีลักษณะคล้ายกับผล และเมื่อดอกมีขนาดที่เท่ากับผลมะนาวก็จะบานออก และเมื่อดอกบานและได้รับการผสมแล้ว กลีบเลี้ยงจะเริ่มมีการห่อหุ้มเข้ามาใหม่จนมีลักษณะที่เป็นผลกลม ๆ เมื่อเกาะอัดกันแน่นและมีการเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็จะกลายเป็นผล[1],[3]
  • ผล เป็นผลเดี่ยวและเป็นผลสด ลักษณะเป็นรูปทรงกลม มีขนาดใหญ่และอวบ ซึ่งเป็นกาบที่เกิดขึ้นจากกลีบเลี้ยงที่อัดกันจนแน่นและแข็ง มีความกว้างอยู่ที่ประมาณ 10-15 เซนติเมตร ผลเมื่ออ่อนจะเป็นสีเขียว แต่เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม ผลมีกลิ่นที่เฉพาะตัว มีเมือกเหนียว ๆ และมีรสชาติที่เปรี้ยวอมฝาด ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล มีความกว้างประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร เมล็ดมีเมือกห่อหุ้ม และเมื่อถึงเวลาที่แก่จัดแล้ว เมล็ดจะมีสีน้ำตาลเข้มไปจนเกือบดำ โดยในหนึ่งผลจะมีเมล็ดอยู่เป็นจำนวนมาก[1],[3]

มะส้าน มี 2 พันธุ์ ได้แก่ ข้าวเหนียวและข้าวเจ้า ซึ่งจะแบ่งออกไปตามรสสัมผัสของเนื้อผล โดยผลที่นิยมนำมาใช้ก็คือข้าวเหนียว เพราะมีเนื้อที่เหนียวนุ่มกว่าข้าวเจ้า [5] ผลสีเขียวอมเหลืองเมื่อสุกเต็มที่จะมีรสเปรี้ยวถึงหวาน มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น รักษาโรคกระเพาะ บำรุงไต สร้างเม็ดเลือดแดง ชะลอความแก่ ป้องกันการติดเชื้อ และลดความดันโลหิต เป็นต้น

สรรพคุณของมะตาด

1. ผลมีสารที่ชื่อว่าฟลาโวนอยด์และสารฟีนอลิก ซึ่งมีฤทธิ์ในการช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ (ผล)[1]
2. ผลมีรสชาติที่เปรี้ยวสามารถนำมาใช้รับประทานเป็นยาบำรุงร่างกายได้ (ผล)[2],[3]
3. ใช้ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]
4. ใช้ช่วยแก้อาการไอ (ผลสุก)[1],[3],[4]
5. ใช้ช่วยขับเสมหะ (ผลสุก)[1],[3],[4]
6. เปลือกต้นถ้านำมาเคี้ยวจะช่วยทำให้เหงือกและฟันกระชับแน่นขึ้นได้ (เปลือกต้น)[7]
7. ใบและเปลือกต้นมีรสที่ฝาด มักจะนำมาต้มดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย โดยการนำเปลือกต้นนั้นเอามาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่ม 2],[4],[7]
8. ผลสุกมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว นำมาใช้รับประทานเป็นยาเย็นได้ [2],[3],[4]
9. ใช้ช่วยต้านอาการลมชัก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]
10. มีฤทธิ์ช่วยถอนพิษไข้ และระบายพิษไข้ (ใบ, เปลือกต้น)[1],[2],[4]
11. ใช้ช่วยแก้ไข้ และลดไข้ (ผล, ใบ, เปลือกต้น)[2],[3],[4]
12. นำมาใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง (ผล)[1],[2],[3]
13. ผลมีเมือกเหนียว ๆ คล้ายกับวุ้น ที่ช่วยในการเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและในลำไส้ (เมือกผล)[1],[7]
14. เปลือกและใบมีรสชาติฝาด นำมาใช้เป็นยาสมานแผลได้ (ใบ, เปลือกต้น)[1]
15. มีฤทธิ์ที่ช่วยในการขับถ่าย ทำให้ขับถ่ายได้สะดวกขึ้น ทำให้ท้องไม่ผูก (ผล)[1],[7]
16. นำมาใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ ได้ (ผล, ใบ, เปลือกต้น)[1],[2],[3]
17. รากสามารถนำมาใช้เป็นยาถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ (ราก)[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • สารสกัดหยาบจากผลเทียมและใบด้วยตัวทำละลาย คือ Ethanol 95 % และ Acetone จากการทดสอบความไวของเชื้อแบคทีเรียต่อสารสกัดหยาบ ผลพบว่า สารสกัดหยาบจากผลเทียมที่สกัดด้วยตัวทำละลาย 2 ชนิดที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Bacillus cereus แต่จะไม่ยับยั้งเชื้อ Escherichia coli และ Staphylococcus aureus ส่วนสารสกัดจากใบที่สกัดด้วย Acetone นั้นจะมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ Bacillus cereus แต่จะไม่ยับยั้งเชื้อ Escherichia coli และ Staphylococcus aureus ส่วนสารสกัดหยาบจากใบที่สกัดด้วย Ethanol 95 % ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทั้ง 3 ชนิดนี้เลย และจากการทดสอบผลของอุณหภูมิและระยะเวลาต่อความเสถียรของสารสกัดหยาบต่อการเจริญของเชื้อ Bacillus cereus โดยผลพบว่าสารสกัดหยาบจากผลเทียมและใบที่เก็บไว้ในอุณหภูมิห้องจะมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้เป็นอย่างดีที่สุด รองลงมาคือ 4 องศาเซลเซียส, 60 องศาเซลเซียส และ 100 องศาเซลเซียส ไปตามลำดับ ส่วนผลของระยะเวลาพบว่าในระยะเวลาตั้งแต่ 0, 2, 4 และ 6 สัปดาห์ที่สารสกัดหยาบจากผลเทียมและใบยังคงเสถียรต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย[2]
  • สารสกัดจากใบมีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ กดระบบประสาทส่วนกลาง และช่วยต่อต้านการอักเสบได้[5]

ประโยชน์ของมะตาด

1. ผลนำมาใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ และสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารเพื่อรับประทานมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เช่น การทำเป็นแกงส้ม แกงคั่ว หรือจะนำไปทำเป็นอาหารอื่น ๆ[1] หรือใช้ผลสดจิ้มกินกับน้ำพริก[3] กลีบชั้นในที่มีลักษณะอวบอุ้มน้ำนั้น ใช้จิ้มกับเกลือกินได้ จะให้รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย และมีกลิ่นหอม[7]
2. เมล็ดที่แก่แล้วนั้นสามารถนำมารับประทานสดได้ (มีรสชาติมัน)[5],[6]
3. เปลือกและผล สามารถนำมาใช้ในการย้อมหนังสัตว์และทำเป็นหมึกได้[6]
4. จากภูมิปัญญาของชาวรามัญนั้นได้ทำการนำเปลือกด้านในของผลใช้ทาท้องเรือ เพื่อทำให้เรือแล่นได้เร็วขึ้นได้ เพราะเมือกช่วยลดความเสียดทานของท้องเรือกับผิวน้ำได้[7]
5. คนไทยโบราณนิยมปลูกไว้ในสวนบริเวณบ้าน หรือปลูกไว้ในพื้นที่กลางแจ้งและมีเนื้อที่ที่มากพอสมควร เพื่อที่จะใช้เป็นร่มเงาและให้ความร่มรื่น เพราะใบเป็นใบขนาดใหญ่ และขึ้นอยู่หนาแน่น จึงสามารถช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับบรรยากาศ แถมยังช่วยลดโลกร้อนไปในตัวได้อีกด้วย และที่สำคัญมักจะนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกที่มีความโดดเด่นสวยงามเป็นอย่างยิ่ง และมีเส้นใบเป็นริ้วที่ดูสวยงามแปลกตาอีกด้วย[1],[2],[5]
6. เนื้อไม้ของต้นสามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องมือทางการเกษตรหรือทำเครื่องเรือน ใช้ทำเป็นโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้านได้ เช่น ทำเสาบ้าน หรือทำเป็นพานท้ายปืน และยังใช้ทำเป็นฟืนได้อีกด้วย[1],[3]
7. น้ำยางจากผลดิบนั้นสามารถนำมาใช้สระผมได้ ซึ่งปัจจุบันนั้นได้มีผู้คิดค้นและดัดแปลงนำมาแปรรูปผลทำเป็นผลิตภัณฑ์สระผม[1],[3]
8. เมือกที่ห่อหุ้มเมล็ดอยู่นั้นสามารถนำมาใช้บำรุงเส้นผมได้ และแถมยังช่วยปกป้องเส้นผมจากแสงแดดและมลพิษได้ โดยการนำเมล็ดที่มีเมือกไปผสมกับน้ำ 4-5 เท่า แล้วจากนั้นนำมาใส่ขวดปิดฝาให้สนิท เขย่าแรง ๆ แล้วกรองด้วยผ้าขาวบางหรือกระชอน จากนั้นใช้น้ำที่ได้นี้มาหมักเส้นผมประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง จากนั้นก็สระผมตามปกติ[5]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา. “มะตาด”. (รศ.ชนะ วันหนุน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 158.108.70.5 (www.kus.ku.ac.th). [8 ธ.ค. 2013].
2. การสำรวจความหลากหลายของพืชสมุนไพร จากตลาดพื้นเมืองทางภาคตะวันตกของประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “มะตาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pirun.kps.ku.ac.th/~b4816187/. [8 ธ.ค. 2013].
3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “มะตาด, ส้านใหญ่”. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [8 ธ.ค. 2013].
4. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “มะ ตาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [8 ธ.ค. 2013].
5. กรุงเทพธุรกิจ. “เมล็ดมะตาด บำรุงเส้นผม”. (ผศ.ดร.ไชยยง รุจจนเวท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bangkokbiznews.com. [8 ธ.ค. 2013].
6. คมชัดลึกออนไลน์. “มะ ตาด เมล็ดกินได้”. (นายสวีสอ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.komchadluek.net. [8 ธ.ค. 2013].
7. สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย. “การถนอมแปรรูปผลมะตาดเพื่อการถนอมอาหารและอนุรักษ์พืชพื้นบ้าน”. (วศินา จันทรศิริ, สุมาลี สุนทรนฤรังสี, นงนุช กัณฑานนท์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nutritionthailand.or.th. [8 ธ.ค. 2013].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://indiabiodiversity.org/species/show/229573
2.https://www.tasteatlas.com/elephant-apple