ผักปลาบใบแคบ
ผักปลาบใบแคบ (Climbing dayflower) เป็นผักที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย มักจะพบในที่ชื้นแฉะหรือป่าดิบชื้น มีดอกเป็นสีม่วงน้ำเงินหรือสีม่วงครามโดดเด่นอย่างสวยงามอยู่บนต้น ทำให้ต้นดูน่ามองและสามารถเป็นไม้ปลูกประดับได้ ทั้งต้นนั้นมีรสหวานเย็น สามารถนำยอดอ่อนและใบมารับประทานในรูปแบบผักแกล้มจิ้มกับน้ำพริกปลาทูหรือปรุงในแกงต่าง ๆ นอกจากนั้นยังเป็นยาสมุนไพรของชาวเขาเผ่าอีก้อและแม้ว รวมถึงยาสมุนไพรพื้นบ้านล้านนาด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักปลาบใบแคบ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Commelina diffusa Burm.f.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Climbing dayflower” “Frenchweed” “Spreading dayflower” “Wandering jew” “Watergrass”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ผักปลาบ” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ผักปลายขอบใบเรียว” ชาวปะหล่องเรียกว่า “ด่อเบล่ร่อด ด่อเบล่บรู้” ชาวกะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “โต่ะอูเหมาะ” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ผักปลาบนา หญ้ากาบผี กินกุ้งน้อย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักปลาบ (COMMELINACEAE)
ชื่อพ้อง : Commelina longicaulis Jacq.
ลักษณะของผักปลาบใบแคบ
ผักปลาบใบแคบ เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุปีเดียวที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย มักจะพบขึ้นในที่ชื้นแฉะตามที่ร่มเงา ตามป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ที่ร่มทึบ ใกล้ลำธารและในสวนป่า
ลำต้น : ลำต้นแตกกิ่งก้านทอดเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดินหรือริมชายน้ำและชูยอดขึ้น มีลักษณะกลมอวบน้ำและไม่มีขน มีรากออกตามข้อ
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมใบหอก ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ผิวใบเรียบหรือมีขนเล็กน้อย หน้าใบไม่มีขน ผิวหน้าใบสาก หลังใบนุ่มไม่มีขนหรืออาจมีแต่น้อยมาก
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ประกอบด้วยดอกย่อย 1 – 3 ดอก กลีบดอกเป็นสีม่วงน้ำเงินหรือม่วงคราม มีใบประดับสีเขียวหุ้มช่อดอก หลังใบประดับมีขนขึ้นปกคลุมปานกลาง กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ เป็นสีเขียวอ่อนใสไปจนถึงสีม่วงอ่อนใส อับเรณูมี 6 อัน โดยมี 4 อันเป็นหมันจะเป็นสีเหลืองสด ส่วนอีก 2 อันไม่เป็นหมันจะเป็นสีม่วงคราม ยอดเกสรเพศเมียเป็นสีม่วงคราม ก้านเกสรเพศเมียและก้านชูอับเรณูเป็นสีม่วงอ่อนใส มักจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม
ผล : เป็นผลแห้งและแตกได้ตามพูหรือตามตะเข็บ ลักษณะเป็นรูปไข่ปลายแหลม
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดลักษณะค่อนข้างกลม ผิวเมล็ดเรียบ
สรรพคุณของผักปลาบใบแคบ
- สรรพคุณจากทั้งต้น ช่วยให้เจริญอาหาร เป็นยาระบาย แก้โรคเรื้อน แก้อาการระคายเคืองผิวหนัง ช่วยบรรเทาอาการปวด
- สรรพคุณจากลำต้น
– แก้ไอมีน้ำมูกข้น สมุนไพรพื้นบ้านล้านนานำลำต้นผสมกับก้นจ้ำทั้งต้น รากสาบเสือ รากปืนนกไส้และรากมะเหลี่ยมหิน จากนั้นนำมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากทั้งต้นและใบ แก้อาการหูอื้อและปวดหู
– แก้โรคผิวหนังผื่นคันและหูด ชาวเขาเผ่าอีก้อและแม้วนำใบหรือทั้งต้นมาตำเพื่อคั้นเอาน้ำทา
– รักษาแผลสด แผลถลอกและเป็นยาห้ามเลือด ด้วยการนำใบหรือทั้งต้นมาตำเพื่อคั้นเอาน้ำทา
ประโยชน์ของผักปลาบใบแคบ
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ทั้งต้น ยอดอ่อนและใบทานได้ทั้งดิบและสุก สามารถรับประทานเป็นผักแกล้มจิ้มกับน้ำพริกปลาทู แกงผักรวม แกงเลียง แกงส้มหรือนำมาแกงใส่ปลารับประทานเป็นอาหารได้
2. ใช้ในการเกษตร เป็นอาหารสัตว์ของพวกโคเนื้อ โคนมและกระบือ
คุณค่าทางโภชนาการของผักปลาบใบแคบ
คุณค่าทางโภชนาการของผักปลาบใบแคบอายุ 45 วัน
สารอาหาร | ปริมาณที่ได้รับ |
โปรตีน | 16.8 – 19.6% |
แคลเซียม | 1.6 – 6.5% |
ฟอสฟอรัส | 0.31% |
โพแทสเซียม | 4.4% |
ADF | 31.5 – 35.4% |
NDF | 42 – 51.1% |
ลิกนิน | 8.1 – 9.8% |
DMD | 59.7 – 68.3% (โดยวิธี Nylon bag) |
เหล็ก | 587 ppm |
ไนเตรท | 136 ppm |
ออกซาลิกแอซิด | 913 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ |
ผักปลาบใบแคบ เป็นพืชในวงศ์ผักปลาบที่พบได้ง่ายทั่วทุกภาค นิยมนำมาทานเป็นผักแกล้มจิ้มกับน้ำพริกปลาทู เป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารอย่างแกงผักรวม แกงเลียง แกงส้มหรือแกงปลา และยังเป็นอาหารของสัตว์แทะเล็มทั้งหลาย เป็นยาสมุนไพรในตำรายาพื้นบ้านล้านนาและชาวเขาเผ่าอีก้อและแม้ว ผักปลาบใบแคบมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะใบและทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไอมีน้ำมูกข้น แก้อาการหูอื้อและปวดหู แก้โรคผิวหนังผื่นคันและหูด เป็นยาระบายและบรรเทาปวดได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ผักปลาบ”. หน้า 78.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ผักปลาบ”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [16 พ.ย. 2014].
สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “ผักปลาบใบแคบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: nutrition.dld.go.th. [16 พ.ย. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ผักปลาบนา”. อ้างอิงใน: หนังสือ พรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [16 พ.ย. 2014].
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ผักปลาบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [16 พ.ย. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักปลาบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [16 พ.ย. 2014].