

ลางสาด
ลางสาด (Langsat) เป็น ต้นไม้จากตระกูลกระท้อนอุดมไปด้วยวิตามิน เช่น ไทอามีนและไรโบฟลาวิน ซึ่งเป็นหนึ่งในการผลิตเซลล์เซลล์เม็ดเลือดแดง ช่วยในการสลายคาร์โบไฮเดรต และวิตามินเอสูง ซึ่งช่วยในการรักษาสุขภาพผิวหนัง ดวงตา ฟัน เนื้อเยื่อโครงร่าง และเยื่อเมือกให้แข็งแรง ชื่อสามัญ Lancet (ลานเสท), Langsium (ลานเซียม) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Lansium parasiticum (Osbeck) K.C.Sahni & Bennet และมีชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ว่า Aglaia domestica (Corrêa) Pellegr., Lansium domesticum Corrêa)[1],[2],[3] จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า รังสาด ลังสาด รางสาด ล า ง ส า ด (ไทย), ลาซะ ดูกู (มลายู) เป็นต้น โดยชื่อ “ลางสาด” หรือ “ลังสาด” นั้นมาจากภาษามาเลย์คำว่า “Langsat”[1],[2]
ลักษณะของลางสาด
- ต้น มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะมาลายู หมู่เกาะชวา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และในประเทศไทย[5] ถูกจัดให้เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็ก เป็นไม้ผลเมืองร้อน (ร้อนชื้น) มีลำต้นตรง สูงอยู่ที่ประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นมุมแหลมกระจายกึ่งกลางลำต้นขึ้นไป ลักษณะปลายกิ่งตั้ง ส่วนผิวของลำต้นชั้นนอกเป็นสีเทาและมีพื้นผิวขรุขระ เปลือกไม่หลุดออก สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยหรือในดินร่วนปนทราย ชอบแสงแดด ชอบอากาศชื้นปานกลาง และน้ำปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนแบบควั่นกิ่ง การติดตา และการต่อกิ่ง[1]
- ใบ เป็นใบประกอบ เกิดสลับซ้ายขวาอยู่ต่างระนาบกัน ก้านใบกลม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่รีโค้งมน ปลายใบมีลักษณะเรียวแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบมีไขนวลปกคลุมอยู่ ใบเป็นสีเขียวเข้ม ด้านล่างใบมีเส้นใบนูนเด่น[1]
- ดอก ออกเป็นช่อสีขาว ดอกเกิดไปตามลำต้นและตามกิ่ง ลักษณะของดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ[1]
- ผล ออกเป็นช่อ ๆ ผลตอนสดเป็นสีเขียว เมื่อผลสุกแล้วจะเป็นสีเหลือง ผลมีลักษณะทรงกลมรี เปลือกค่อนข้างบาง ผิวมีความละเอียด ผลอ่อนจะนุ่ม มียางมากเป็นสีขาวขุ่น ๆ ส่วนเนื้อภายในจะนิ่ม มีความฉ่ำน้ำ มีรสชาติหวานหอมอมเปรี้ยวเล็กน้อย ในผลมีเมล็ดอยู่ประมาณ 5 เมล็ด และเมล็ดเป็นสีน้ำตาล มีลักษณะกลมแบนรี มีเปลือกหุ้มบาง ๆ ผิวเมล็ดเนียนเรียบ มีเนื้อในเป็นสีขาว มีรสชาติฝาดและขมจัด[1],[2]
ลองกอง ลางสาด แตกต่างกันอย่างไร
1. ลองกองมีราคาที่แพงกว่า
2. ผลจะมีลักษณะออกกลมรี ส่วนลองกองผลจะค่อนข้างกลม
3. ลองกองเปลือกจะค่อนข้างหนา
4. ลองกองผิวจะหยาบเล็กน้อย
5. ส่วนลองกองจะเป็นสีเหลืองซีด
6. ลองกองจะไม่มียางสีขาว
7. ลองกองสามารถแกะรับประทานได้ง่าย
8. ผลลองกองจะมีจุก
9. ลองกองมีเมล็ดน้อยหรือไม่มีเลย
10. ลองกองเมล็ดจะมีรสไม่ขม
11. เนื้อลองกองจะมีรสหวาน
12. ความหวานของลองกองจะมีค่าตั้งแต่ 16-19 องศาบริกซ์
13. ผลสุกแล้ว เนื้อลองกองจะแห้งและขาวใสคล้ายแก้ว
14. ลองกองเนื้อเยอะ
15. ช่อผลของลองกองค่อนข้างยาว
16. ใบของลองกองจะมีรสที่ขมจัด
17. ใบลองกองนั้นจะเป็นคลื่นใหญ่และมีร่องลึก
สรรพคุณของลางสาด
1. เมล็ดนำมาฝนกับน้ำฝนให้ข้น ใช้เป็นยาสำหรับหยอดหู แก้อาการหูอักเสบหรือเป็นฝีในหูได้ (เมล็ด)[1]
2. เปลือกต้นนั้นมีรสที่ฝาด มีสรรพคุณใช้เป็นยาแก้ไข้ได้ (เปลือกต้น)[2]
3. เปลือกผลนำมาใช้ช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเดิน โดยการนำเปลือกมาหั่นแล้วนำไปคั่วชงกับน้ำเดือด ใช้ดื่มครั้งละครึ่งถ้วย (เปลือกผล)[1]
4. สามารถนำมาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิได้ (เปลือกต้น, เมล็ด)[1],[2]
5. เปลือกต้นนำมาใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ (เปลือกต้น)[1],[2]
6. เปลือกของผลมีสารโอเลอเรซิน ซึ่งจะช่วยในการบรรเทาอาการปวดท้อง (เปลือกผล)[2]
7. ใช้ช่วยรักษาโรคเริม (เมล็ด)[1]
8. เมล็ดใช้ช่วยรักษาโรคงูสวัดได้ (เมล็ด)[1]
ประโยชน์ของลางสาด
1. โดยทั่วไปมักจะนิยมนำมาใช้รับประทานเป็นผลไม้สด ให้รสชาติที่หวานอร่อย อีกทั้งยังมีคุณค่าทางอาหาร โดยเนื้อจะประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหาร โปรตีน ธาตุแคลเซียม ธาตุเหล็ก ธาตุฟอสฟอรัส วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินซี[1]
2. เปลือกผลที่แห้งแล้ว เมื่อนำมาเผาจะมีกลิ่นเหม็นสามารถใช้ไล่ยุงได้[1]
3. เมล็ดมีสารที่ชื่อว่า อัลคาลอยด์ (Acid Alkaloid) ซึ่งเป็นพิษกับหนอนและแมลง สามารถนำมาทำเป็นยาฉีดพ่นกำจัดแมลงได้ โดยจะใช้เมล็ดจำนวนครึ่งกิโลกรัมนำมาบดให้ละเอียด แล้วนำไปผสมกับน้ำประมาณ 20 ลิตร จากนั้นแช่ทิ้งไว้ 1 วัน หลังจากที่แช่ครบ 1 วันแล้วให้นำมากรองเอาแต่น้ำแล้วนำมาใช้ฉีดพ่นตามแปลงผักได้เลย[4]
สั่งซื้ออาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลลองกอง ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.longkong.ist.cmu.ac.th. [16 พ.ย. 2013].
2. รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่อง ล า ง ส า ด”. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2549. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [16 พ.ย. 2013].
3. ฐานข้อมูลการเกษตร ของประเทศไทย. อรรถาภิธานศัพท์เกษตรไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pikul.lib.ku.ac.th. [16 พ.ย. 2013].
4. OkNation. “ผลิตพืชอินทรีย์ / สมุนไพรกำจัดโรคและแมลง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.oknation.net. [16 พ.ย. 2013].
5. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.skns.ac.th. [16 พ.ย. 2013].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://krishijagran.com/health-lifestyle/nutritious-health-values-of-langsat-fruit/
2.https://bonapeti.com/n-38692-Langsat