ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ผักกาดหอม หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “ผักสลัด” เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียและทวีปยุโรป สำหรับในประเทศไทยมีการปลูกผักกาดหอมกันมานานแล้ว ผักกาดหอมมีอยู่ด้วยกันถึง 3 ชนิด มีดอกสีเหลืองชวนให้ดูสวยงามและน่ารัก เป็นผักที่มีแคลอรีต่ำเหมาะสำหรับคนลดน้ำหนักเป็นอย่างมาก ยางจากต้นสามารถนำมาใช้ในรูปแบบยาทั้งชนิดน้ำและแบบชนิดเม็ดได้ ในใบหรือก้านของผักกาดหอมจะมีสารรสขมที่ชื่อว่า “แลกทูคาเรียม” ซึ่งเป็นสารที่ทำให้จิตใจสงบ ผ่อนคลายและช่วยในการนอนหลับได้

[/vc_column_text]

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักกาดหอม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lactuca sativa L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Lettuce”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “สลัด สลัดผัก ผักสลัด” ภาคเหนือเรียกว่า “ผักกาดยี” คนจีนเรียกว่า “ผักกาดปี พังฉาย พังฉ่าย พังฉ้าย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)

ลักษณะของผักกาดหอม

ผักกาดหอม เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียและทวีปยุโรป ประกอบไปด้วย 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ ผักกาดหอมใบ ผักกาดหอมห่อ ผักกาดหอมต้น
ลำต้น : ลำต้นในระยะแรกมักจะมองไม่เห็น เพราะใบมักปกคลุมไว้ แต่จะเห็นได้ชัดเมื่อถึงระยะแทงช่อดอก มีลักษณะเป็นข้อสั้น โดยแต่ละข้อจะเป็นที่เกิดของใบ ลักษณะของลำต้นค่อนข้างอวบอ้วนและตั้งตรงสูงชะลูดขึ้นจนสามารถมองเห็นได้ชัดเจน
ราก : เป็นระบบรากแก้วที่แข็งแรงและอวบอ้วน รากที่เหลือจะเป็นรากแขนงแผ่กระจายอยู่ใต้ผิวดิน โดยรากจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มอย่างหนาแน่น ไม่ค่อยแพร่กระจายมากนัก เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วเมื่อปลูกในดินร่วนปนทรายที่มีความชื้นเพียงพอ
ใบ : ใบมีสีตั้งแต่เขียวอ่อน สีเขียวปนเปลืองไปจนถึงสีเขียวแก่ บางสายพันธุ์จะมีสีแดงหรือมีสีน้ำตาลปนอยู่ ทำให้มีสีแดง สีบรอนซ์ หรือสีน้ำตาลปนเขียว ใบจะแตกออกมาจากลำต้นโดยรอบ พันธุ์ที่ห่อเป็นหัวจะมีใบหนา และมีเนื้อใบอ่อนนุ่ม ใบห่อหัวอัดกันแน่น ส่วนใบที่ห่ออยู่ข้างในจะเป็นมัน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อดอกรวม ในแต่ละกระจุกมีดอกย่อยประมาณ 15 – 25 ดอก ช่อดอกอันแรกจะเกิดบริเวณยอดอ่อน หลังจากนั้นจะเกิดบริเวณมุมใบ โดยช่อดอกที่เกิดบริเวณยอดจะมีอายุมากที่สุด เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกมีสีเหลือง ตรงโคนเชื่อมติดกัน มีรังไข่ 1 ห้อง เกสรตัวเมีย 1 ก้าน เป็น 2 แฉก ส่วนเกสรตัวผู้จะมี 5 ก้าน
เมล็ด : เมล็ดเป็นชนิดเมล็ดเดียวที่เจริญมาจากรังไข่อันเดียว มีลักษณะแบนยาว หัวท้ายแหลมคล้ายรูปหอก มีเส้นขนาดเล็กลาดยาวไปตามด้านยาวของเมล็ดบนเปลือกหุ้ม เมล็ดมีเปลือกหุ้มบาง เปลือกจะไม่แตกเมื่อเมล็ดแห้ง มีสีเทาปนสีครีม

สรรพคุณของผักกาดหอม

  • สรรพคุณจากใบ ต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ป้องกันและต่อต้านมะเร็ง ช่วยในการนอนหลับ ทำให้จิตใจสงบและผ่อนคลาย แก้อารมณ์เสียง่าย ดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน ช่วยเสริมการสร้างเม็ดเลือด แก้โรคโลหิตจาง ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย แก้สมาธิสั้น แก้การเรียนรู้ลดลง ช่วยแก้ไข้ แก้ไอ
  • สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาบำรุงร่างกาย ช่วยขับถ่าย ช่วยป้องกันและบรรเทาอาการท้องผูก
  • สรรพคุณจากเมล็ด ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร รักษาโรคตับ ช่วยระงับอาการปวด ช่วยแก้อาการปวดเอว ช่วยขับน้ำนมของสตรีหลังคลอดบุตร
    – ช่วยขับเสมหะและแก้อาการไอ ด้วยการนำเมล็ดตากแห้งประมาณ 5 กรัม มาชงกับน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น
  • สรรพคุณจากต้น ช่วยขับเสมหะและแก้อาการไอ
  • สรรพคุณจากน้ำคั้นจากใบ เป็นยาขับเหงื่อ ช่วยขับปัสสาวะ
  • สรรพคุณจากน้ำคั้นจากทั้งต้น ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ เป็นยาระบาย ช่วยขับลมในลำไส้ ช่วยขับพยาธิ แก้ฝีมะม่วง

ประโยชน์ของผักกาดหอม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นิยมใช้รับประทานกับอาหารจำพวกยำ เช่น ข้าวเกรียบปากหม้อ สาคูไส้หมู เป็นต้น นิยมนำมาใช้ตกแต่งอาหารเพื่อให้มีสีสันสวยงาม
2. เป็นอาหารของคนลดน้ำหนัก ผักกาดหอมเป็นผักที่มีแคลอรีต่ำ เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่ลดน้ำหนัก
3. ใช้ในด้านความงาม ทานผักกาดหอมร่วมกับแคร์รอตและผักโขมจะช่วยบำรุงสีของเส้นผมให้สวยงามได้
4. เป็นส่วนประกอบของยา ปัจจุบันมีการใช้ยาง (Latex) ที่สกัดจากผักกาดหอมออกมาจำหน่ายในรูปแบบยา ซึ่งมีทั้งชนิดน้ำและแบบชนิดเม็ด

คุณค่าทางโภชนาการของผักกาดหอม (ชนิดใบสีเขียว)

คุณค่าทางโภชนาการของผักกาดหอม (ชนิดใบสีเขียว) ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 15 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 2.87 กรัม
น้ำ 94.98 กรัม
น้ำตาล 0.78 กรัม
เส้นใย 1.3 กรัม
ไขมัน 0.15 กรัม 
โปรตีน 1.36 กรัม
วิตามินเอ 7,405 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.07 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.08 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 0.375 มิลลิกรัม
วิตามินบี6 0.09 มิลลิกรัม
วิตามินบี9 38 ไมโครกรัม
วิตามินซี 9.2 มิลลิกรัม
วิตามินอี 0.22 มิลลิกรัม
วิตามินเค 126.3 ไมโครกรัม
ธาตุแคลเซียม 36 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 0.86 มิลลิกรัม
ธาตุแมกนีเซียม 13 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 29 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 194 มิลลิกรัม
ธาตุโซเดียม 28 มิลลิกรัม 
ธาตุสังกะสี 0.18 มิลลิกรัม

คุณค่าทางโภชนาการของผักกาดหอม (ชนิดใบสีแดง)

คุณค่าทางโภชนาการของผักกาดหอม (ชนิดใบสีแดง) ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 16 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต  2.26 กรัม
น้ำ 95.64 กรัม
น้ำตาล 0.48 กรัม 
เส้นใย 0.9 กรัม
ไขมัน 0.22 กรัม
โปรตีน 1.33 กรัม
วิตามินเอ 7,492 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.064 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.077 มิลลิกรัม
วิตามินบี5 0.321 มิลลิกรัม
วิตามินบี6 0.1 มิลลิกรัม
วิตามินซี 3.7 มิลลิกรัม
วิตามินอี 0.15 มิลลิกรัม
วิตามินเค 140.3 ไมโครกรัม
ธาตุแคลเซียม 33 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม
ธาตุแมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 28 มิลลิกรัม
ธาตุโพแทสเซียม  187 มิลลิกรัม
ธาตุโซเดียม 25 มิลลิกรัม
ธาตุสังกะสี 0.2 มิลลิกรัม

คุณค่าทางโภชนาการของผักกาดหอม (ชนิดห่อหัวไม่แน่น)

คุณค่าทางโภชนาการ ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 13 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 2.23 กรัม
น้ำ 95.63 กรัม
น้ำตาล 0.94 กรัม
เส้นใย 1.1 กรัม 
ไขมัน 0.22 กรัม
โปรตีน 1.35 กรัม
วิตามินเอ 3,312 หน่วยสากล (21%)
เบตาแคโรทีน 1,987 ไมโครกรัม (18%) 
ลูทีนและซีแซนทีน 1,223 ไมโครกรัม
วิตามินบี1 0.057 มิลลิกรัม (5%)
วิตามินบี2 0.062 มิลลิกรัม (5%)
วิตามินบี5 0.15 มิลลิกรัม (3%)
วิตามินบี6 0.082 มิลลิกรัม (6%)
วิตามินบี9 73 ไมโครกรัม (18%) 
วิตามินซี 3.7 มิลลิกรัม (4%)
วิตามินอี 0.18 มิลลิกรัม (1%) 
วิตามินเค 102.3 ไมโครกรัม (97%)
ธาตุแคลเซียม 35 มิลลิกรัม (4%) 
ธาตุเหล็ก 1.24 มิลลิกรัม (10%) 
ธาตุแมกนีเซียม 13 มิลลิกรัม (4%)
ธาตุแมงกานีส 0.179 มิลลิกรัม (9%)
ธาตุฟอสฟอรัส 33 มิลลิกรัม (5%)
โพแทสเซียม 238 มิลลิกรัม (5%)
ธาตุโซเดียม 5 มิลลิกรัม (0%)
ธาตุสังกะสี 0.2 มิลลิกรัม (2%)

ผักกาดหอม ถือเป็นผักที่คู่ควรอย่างมากสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก เพราะมีแคลอรีต่ำ แต่คุณค่าทางอาหารสูงมาก และยังอุดมไปด้วยสรรพคุณทางยาอีกด้วย นิยมในการนำมาใช้ประกอบอาหารอย่างพวกสลัด ผักกาดหอมมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ต้านมะเร็ง ช่วยในการนอนหลับ รักษาตับ บำรุงร่างกาย และช่วยเสริมการสร้างเม็ดเลือดได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doae.go.th. [30 ต.ค. 2013].
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th. [30 ต.ค. 2013].
มูลนิธิโครงการหลวง. “ผักกาดหอมใบแดง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.royalprojectthailand.com. [30 ต.ค. 2013].
พจนานุกรมโรคและสมุนไพรไทย. (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร (วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546). ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “พืชผักผลไม้ไทยมีคุณค่าเป็นทั้งอาหารและยา ตอนผักกาดหอม“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [30 ต.ค. 2013].
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ. “ผัดกาดหอมอุดมไปด้วยวิตามินบีรักษาฝีมะม่วงได้“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.hiso.or.th. [27 ต.ค. 2013].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/