โรคมะเร็งถุงน้ำดี (Gallbladder Cancer)
เป็นมะเร็งที่ถุงน้ำดีจะมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก

มะเร็งถุงน้ำดี

มะเร็งถุงน้ำดี ( Gallbladder Cancer ) เป็น มะเร็งที่เกิดขึ้นที่ถุงน้ำดีใต้ตับ อยู่บริเวณชายโครงด้านขวา ซึ่งถุงน้ำดีมีหน้าที่ผลิตสารที่ช่วยย่อยอาหารประเภทไขมัน เป็นมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่ตรวจพบและวินิจฉัยได้ยากมาก โดยทางแพทย์ผู้ตรวจจะใช้วิธีต่างๆในการตรวจ เช่น การตรวจร่างกาย การสอบถามประวัติอาการ การใช้วิธีการอัลตราซาวด์ หรือ ใช้การเอกซเรย์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แต่วิธีที่ดีและให้ผลได้ชัดเจนที่สุดคือ การผ่าตัดถุงน้ำดีแล้วนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา

ถุงน้ำดี คือ หนึ่งในอวัยวะร่างกายของมนุษย์เราทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โดยถุงน้ำดีจะกักเก็บน้ำดีที่ผลิตออกมาจากตับและทำให้มีความเข้มข้นขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการช่วยย่อยอาหาร ถุงน้ำดีเป็นอวัยวะในช่องท้องส่วนบนด้านขวา ซึ่งแน่นอนว่าป็นอวัยวะหนึ่งที่สามารถเกิดเป็นโรคมะเร็งถุงน้ำดีได้เช่นกัน

ส่วนมากเกือบทั้งหมดจะเกิดจากเซลล์เยื่อเมือกบุภายในถุงน้ำดี เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้ค่อนข้างน้อย โดยจะพบมากในผู้สูงอายุ ( อายุเฉลี่ย 50-60 ปี ขึ้นไป ) ส่วนในผู้ป่วยที่เป็นวัยเด็กก็อาจจะพบได้บ้างแต่น้อยมาก และมักจะเกิดในผู้หญิงมากว่าผู้ชายถึง 2 เท่าตัว โรคมะเร็งถุงน้ำดีมีหลายชนิดแต่ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา ซึ่งเป็นเซลล์ชนิดที่มีความรุนแรงของโรคปานกลาง

การมีเนื้องอกร้ายเกิดขึ้นภายในเนื้อเยื่อถุงน้ำดีซึ่งในถุงน้ำดีจะ ประกอบไปด้วยเซลล์หลายชนิดเช่น เซลล์เยื่อเมือกบุภายในถุงน้ำดี กล้ามเนื้อ และเส้นเลือด โดยสามารถเกิดเป็นโรคมะเร็งได้ทุกชนิดของเซลล์

สาเหตุของมะเร็งถุงน้ำดี

สำหรับสาเหตุของโรคมะเร็งในถุงน้ำดี ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่จากการศึกษาก็เชื่อกันว่าโรคนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยเสี่ยงหลายๆอย่างร่วมกัน เช่น
• ความอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐานปกติ
• เป็นนิ่วในถุงน้ำดี
• เกิดการอักเสบเรื้อรังจากสาเหตุต่างๆของถุงน้ำดี
• การสูบบุหรี่
• ความผิดปกติจากพันธุกรรมบางชนิดที่ถ่ายทอดได้ เนื่องจากพบว่าผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นมะเร็งถุงน้ำดี
• มีการเกิดโรคที่สูงกว่าคนทั่วไปปกติที่ในครอบครัวไม่เคยมีประวัติการป่วยเป็นโรคนี้มาก่อน

อาการของมะเร็งถุงน้ำดี

โดยทั่วไปมะเร็งถุงน้ำดี จะไม่มีอาการเฉพาะตัวของโรคเอง แต่จะมีอาการที่แสดงออกมาคล้ายกับอาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดี หรือ การอักเสบของถุงน้ำดี ซึ่งจะมีอาการลักษณะ ดังต่อไปนี้

  1. จะรู้สึกปวดท้องด้านขวาบน ซึ่งเป็นตำแหน่งของถุงน้ำดี โดยอาการปวดจะเป็นๆ หายๆ สลับกันไป
  2. มีอาการท้องอืด แน่นเฟ้อ
  3. มีอาการบวมบริเวณท้องด้านขวาบน หรือ สามารถคลำเจอถุงน้ำดีที่มีขนาดโตกว่าปกติได้ที่หน้าท้อง

ระยะของมะเร็งถุงน้ำดี

โรคมะเร็งถุงน้ำดีสามารถแบ่งระยะของโรคออกได้ เป็น 4 ตามอาการของโรคเหมือนมะเร็งชนิดอื่นๆดังนี้

ระยะที่ 1 เป็นระยะเริ่มแรกของโรค ซึ่งก้อนมะเร็งยังไม่ลุกลามเกินผนังชั้นกล้ามเนื้อของถุงน้ำดี

ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งจะเริ่มลุกลามจนเข้าไปถึงชั้นเยื่อหุ้มถุงน้ำดี แต่ก็ยังไม่ไม่ทะลุเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง

ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งลุกลามเข้าไปถึงเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆ หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณที่ใกล้เคียงถุงน้ำดี

ระยะที่ 4 ก้อนมะเร็งจะแพร่กระจายตัวเข้าไปสู่ช่องท้อง และอวัยวะต่างๆที่สำคัญ หรือลุกลามเข้าไปถึงจนเข้าเส้นเลือดใหญ่ ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป เช่น ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง หรือเข้ากระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่นๆที่อยู่ไกลออกไป โดยอวัยวะที่พบบ่อยๆคือในปอดและตับ

การรักษามะเร็งถุงน้ำดี

การรักษาทำได้โดยวิธีการผ่าตัด  โดยการผ่าตัดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ การผ่าตัดถุงน้ำดีออกไปเท่านั้น การผ่าตัดถุงน้ำดีในวงกว้าง การผ่าตัดอวัยวะภายในต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ส่วนวิธีอื่นๆ เช่นการให้เคมีบำบัดหรือการใช้รังสีรักษา เป็นขั้นตอนที่อยู่ในการศึกษาของแพทย์ เพราะเซลล์มะเร็งที่เกิดที่ถุงน้ำดีมักจะมีอาการดื้อต่อยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งถุงน้ำดีมีโอกาสจะรักษาให้หายได้เป็นปกติ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ความสามารถในการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก และรวมไปถึงอายุและสุขภาพของผู้ป่วย

การป้องกันมะเร็งถุงน้ำดี

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการป้องกันโรคมะเร็งถุงน้ำดี รวมถึงยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งชนิดนี้ด้วย เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้น้อยเหมือนกับโรคมะเร็งในท่อน้ำดีนั้นเอง

หากลองดูจากข้อมูลต่างๆ จะพบว่ามะเร็งถุงน้ำดีมีความคล้ายคลึงกันเกือบทุกอย่างกับโรคมะเร็งท่อน้ำดี แต่จะแตกต่างกันก็ที่อวัยวะที่เป็นเท่านั้น และเป็นมะเร็งชนิดที่ตรวจพบได้ยาก ดังนั้นหากรู้สึกว่ามีความผิดปกติในร่างกายอะไรก็แล้วแต่ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจจะดีที่สุด เพราะหากรู้ตั้งแต่อาการระยะแรก ก็จะสามารถรักษาได้ง่ายกว่าการที่อาการลุกลามไปมากแล้วนั้นเอง

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

Prasad AR, Bernstein H (March 2013). “Epigenetic field defects in progression to cancer”. World Journal of Gastrointestinal Oncology.

Thun MJ, Hannan LM, Jemal A (September 2006). “Interpreting cancer trends”. Annals of the New York Academy of Sciences.