ผักตบไทย
ผักตบไทย (Monochria) เป็นพืชในวงศ์ผักตบที่มักจะพบตามแหล่งน้ำหรือคลองบึงทั่วไป มีดอกสีน้ำเงินปนม่วงทำให้คลองหรือแหล่งน้ำที่มีผักตบไทยดูสวยงาม จึงนิยมนำมาใช้เป็นไม้ปลูกประดับได้ นอกจากนั้นผักตบไทยจะมีความนิ่มกรอบจึงนำมาทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกหรือนำมาปรุงในเมนูอาหารต่าง ๆ เป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้ทั้งต้น
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักตบไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Monochoria hastata (L.) Solms
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Monochria” “Monochoria arrowleaf falsepickerelweed”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ผักตบ ผักโป่ง” จังหวัดสงขลาเรียกว่า “ผักสิ้น” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ผักตบเขียด”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักตบ (PONTEDERIACEAE)
ลักษณะของผักตบไทย
ผักตบไทย เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปีที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ตั้งแต่อินเดีย เนปาล ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคและมักจะขึ้นอยู่ในน้ำ พบตามแหล่งน้ำจืด ริมหนองน้ำ คลองบึง ที่ชื้นแฉะ โคลนตมและตามท้องนาทั่วไป
ลำต้น : ลำต้นอยู่ใต้ดิน ชูก้านใบเหนือระดับน้ำ มีเหง้าใหญ่และแตกลำต้นเป็นกอ
ใบ : เป็นใบเดี่ยว แทงออกมาจากลำต้นใต้ดิน ก้านใบส่วนล่างมีลักษณะเป็นกาบหุ้มซ้อนกัน ก้านใบส่วนบนมีลักษณะกลมยาวและอวบน้ำ แผ่นใบเป็นรูปหัวใจหรือรูปสามเหลี่ยมคล้ายหัวลูกศร ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้า ขอบใบเรียบ หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยง ก้านใบยาวอวบ ส่วนโคนของก้านใบแผ่ออกเป็นกาบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะโดยจะออกจากโคนก้านใบหรือใกล้แผ่นใบ ดอกแทงมาจากราก มีแผ่นใบประดับสีเขียวรองรับดอกย่อย 15 – 16 ดอก กลีบรวมมีจำนวน 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงละ 3 กลีบ กลีบดอกเป็นสีน้ำเงินปนม่วง สีฟ้าปนม่วงหรือมีสีขาวแต้มบ้างเล็กน้อย กลีบดอกค่อนข้างบอบบาง ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน ติดอยู่บนวงกลีบรวม แบ่งเป็นขนาดสั้น 5 อัน และขนาดยาว 1 อัน เมื่อดอกได้รับการผสม กลีบรวมจะรัดห่อหุ้มผล ส่วนปลายกลีบบิดพันเป็นเกลียว มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
ผล : ผลเป็นแบบแคปซูลลักษณะเป็นรูปวงรี แห้งและแตกได้
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาล
สรรพคุณของผักตบไทย
- สรรพคุณจากทั้งต้น แก้พิษในร่างกาย เป็นยาขับลม
– แก้แผลอักเสบ ช่วยถอนพิษ แก้อาการปวดแสบปวดร้อน ด้วยการนำต้นสดใช้ตำพอกหรือใช้ทา - สรรพคุณจากใบ เป็นยาขับพิษร้อน เป็นยาขับปัสสาวะ เป็นยาทาแก้ฝี
– เป็นยาแก้พิษเบื่อเมา ด้วยการนำใบมาตำผสมกับผักกระเฉดแล้วคั้นเอาน้ำมาดื่ม - สรรพคุณจากเหง้า
– แก้รังแค ชาวเกาะนำเหง้ามาบดกับถ่านใช้ทาแก้อาการ
ประโยชน์ของผักตบไทย
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ก้านใบอ่อนและช่อดอกนำมาทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก น้ำพริกปลา ส้มตำหรือลวกจิ้มกับน้ำพริก ยอดอ่อนและดอกอ่อนยังนำไปปรุงในแกงส้ม แกงเลียงหรือนำมาผัดได้ด้วย
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ
3. ใช้ในการเกษตร ทั้งต้นนำมาหั่นเป็นฝอยใช้เลี้ยงหมูหรือทำเป็นปุ๋ยหมักได้
4. ใช้ในอุตสาหกรรม ลำต้นนำมาตากแห้งใช้ทำเป็นเครื่องจักสานต่าง ๆ
คุณค่าทางโภชนาการของผักตบไทยต่อ 100 กรัม
คุณค่าทางโภชนาการของผักตบไทยต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ |
ใยอาหาร | 0.7 กรัม |
แคลเซียม | 31 มิลลิกรัม |
เหล็ก | 0.1 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 28 มิลลิกรัม |
เบต้าแคโรทีน | 1,961 ไมโครกรัม |
วิตามินเอ | 324 ไมโคกรัมของเรตินอล |
วิตามินบี1 | 0.01 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.30 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 3.1 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 5 มิลลิกรัม |
ผักตบไทย ทั้งต้นมีรสจืดและนิ่มกรอบจึงเหมาะสำหรับนำมารับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกและปรุงในแกงได้ นอกจากนั้นยังมีดอกสีน้ำเงินปนม่วงอยู่ในน้ำจึงนำมาปลูกประดับในสวนน้ำได้ ชาวเกาะนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ผักตบไทยมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะทั้งต้นและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้พิษในร่างกาย เป็นยาขับลม เป็นยาขับปัสสาวะและแก้รังแคได้ ถือเป็นต้นที่พบได้ทั่วไปในน้ำและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้านและยังมีคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ผักตบไทย (Phak Top Thai)”. หน้า 177.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผักตบไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [18 พ.ย. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ผักตบไทย”. อ้างอิงใน : หนังสือ พรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [18 พ.ย. 2014].
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (นพพล เกตุประสาท). “ผักตบไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : clgc.rdi.ku.ac.th. [18 พ.ย. 2014].