สะเดา

สะเดา

สะเดา เป็นไม้ยืนต้นสูงใหญ่ที่มีส่วนประกอบเป็นยาสมุนไพรได้หลากหลายมาก เป็นต้นที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันพอสมควร ส่วนของยอดอ่อนและดอกอ่อนจะนิยมนำมาทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก และเมนูโดดเด่นเลยก็คือ น้ำปลาหวานสะเดา ที่สำคัญสะเดาถือเป็นผักที่มีแคลเซียมสูงสุดเป็นอันดับ 3 ด้วย ส่วนของไม้นำมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้ ใช้ในการเกษตรได้ แถมคนไทยโบราณเชื่อว่าเป็นไม้มงคลที่ดีงามอีกตังหาก

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของสะเดา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Azadirachta indica A.Juss.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Neem” “Neem tree” “Nim” “Margosa” “Quinine” “Holy tree” “Indian margosa tree” “Pride of china” “Siamese neem tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “สะเดา สะเดาบ้าน” ภาคเหนือเรียกว่า “สะเลียม” ภาคใต้เรียกว่า “เดา กระเดา กะเดา” คนกรุงเทพเรียกว่า “สะเดาอินเดีย” คนทั่วไปเรียกว่า “ควินิน” ส่วยเรียกว่า “จะดัง จะตัง” ไทลื้อเรียกว่า “ผักสะเลม” ชาวลัวะเรียกว่า “ลำต๋าว” ชาวขมุเรียกว่า “สะเรียม” ชาวกะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “ตะหม่าเหมาะ” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “กาเดา เดา ไม้เดา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กระท้อน (MELIACEAE)
ชื่อพ้อง : Azadirachta indica var. siamensis Valeton, Melia azadirachta L.

ลักษณะของสะเดา

สะเดา เป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มี 3 ชนิด ได้แก่ สะเดาไทย สะเดาอินเดีย สะเดาช้าง
ต้น : เป็นทรงเรือนยอดพุ่มหนาทึบตลอดปี
ราก : รากแข็งแรง หยั่งลึก
เปลือก : เปลือกของลำต้นหนา มีสีน้ำตาลเทาหรือสีเทาปนดำ ผิวเปลือกแตกเป็นสะเก็ด เนื้อไม้มีสีแดงเข้มปนสีน้ำตาล แกนไม้มีสีน้ำตาลแดง มีความแข็งแรงและทนทานมาก
ใบ : มีสีเขียวเข้มหนาทึบ เมื่ออ่อนจะมีสีแดง เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบย่อย 4 – 7 คู่ ใบเป็นรูปหอกกึ่งรูปเคียวโค้ง โคนใบเบี้ยวชัดเจน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย ผิวก้านมีต่อม 1 คู่
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงขนาดใหญ่ตามง่ามใบ ดอกมีขนาดเล็กสีขาวหรือสีเทา มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ที่ปลายเป็นช่อกระจุก 1 – 3 ดอก ใบประดับย่อยเป็นรูปใบหอก กลีบเลี้ยงเป็นรูปทรงแจกัน กลีบดอก 5 กลีบเป็นรูปช้อนแคบ
ผล : มีลักษณะกลมวงรี คล้ายผลองุ่น ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียว มีรสหวานเล็กน้อย
เมล็ด : ลักษณะกลมวงรี ผิวค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ตามยาวเป็นสีเหลืองซีดหรือเป็นสีน้ำตาล

สรรพคุณของสะเดา

  • สรรพคุณจากดอก ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย เป็นยาขมเจริญอาหาร ช่วยแก้พิษโลหิตกำเดา ช่วยแก้ริดสีดวงในลำคอ ช่วยในการย่อยอาหาร
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยบำรุงธาตุไฟ ขับน้ำย่อยอาหาร ช่วยบำรุงโลหิต เป็นยาขมเจริญอาหาร ช่วยรักษาโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเอดส์ ช่วยลดความเครียด ช่วยทำให้นอนหลับสบาย ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกและมะเร็ง ช่วยแก้ไข้ สร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ช่วยรักษาแผลในช่องปาก แก้ปากมีกลิ่นเหม็น มีฤทธิ์ระบายอ่อน ๆ ช่วยรักษาเบาหวาน ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล ช่วยแก้โรคในลำคอ ช่วยแก้อาการท้องผูก ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยทำให้อุจจาระละเอียด ช่วยบำรุงน้ำดี แก้แผลรองเท้ากัด รักษาฝี แก้พิษฝี เป็นยาฝาดสมาน ช่วยรักษาโรคผิวหนัง แก้น้ำเหลืองเสีย ช่วยแก้ลมพิษ แก้ผดผื่นคัน ช่วยแก้อาการคันในร่มผ้า ช่วยแก้ประดงเข้าข้อ ช่วยฆ่าเชื้อ เป็นยาฆ่าแมลง ฆ่าเหา
  • สรรพคุณจากผล ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกและมะเร็ง ช่วยแก้โรคหัวใจ ยาถ่ายพยาธิ แก้พยาธิทั้งปวง เป็นยาระบาย
  • สรรพคุณจากแก่น ช่วยบำรุงธาตุไฟ ขับน้ำย่อยอาหาร ช่วยบำรุงโลหิต แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้จับสั่น ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน ช่วยแก้ลม ช่วยขับเสมหะ
  • สรรพคุณจากลำต้น เป็นยาบำรุงร่างกาย เป็นยาขมเจริญอาหาร ช่วยแก้ไข้ สร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ช่วยแก้ไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่น ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ช่วยแก้อาการปวดท้อง เป็นยาระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
  • สรรพคุณจากยอดอ่อน ช่วยบำรุงและรักษาสายตา แก้ปากเปื่อยหรือริมฝีปากเป็นแผล
  • สรรพคุณจากผลอ่อน เป็นยาขมเจริญอาหาร ช่วยแก้ไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่น ช่วยขับลม ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ แก้ปัสสาวะผิดปกติ ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาขมเจริญอาหาร ช่วยแก้กษัยหรือโรคซูบผอม ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกและมะเร็ง ช่วยแก้ไข้ สร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ช่วยแก้ไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่น ช่วยทำให้ฟันที่โยกคลอนแข็งแรงขึ้น ช่วยรักษาโรครำมะนาด เหงือกอักเสบ ช่วยรักษาโรครำมะนาด แก้เหงือกอักเสบ แก้กองเสมหะ ช่วยแก้อาการท้องเดิน ช่วยแก้อาการท้องร่วง ช่วยแก้บิด แก้อาการบิดเป็นมูกเลือด ช่วยรักษาแผลพุพองมีน้ำเหลืองไหล ฆ่าเชื้อโรค แก้แผลงูกัดและถูกแมงป่องต่อย เป็นยาฝาดสมาน ช่วยแก้โรคหิด แก้โรคเรื้อน ช่วยแก้ประดงเข้าข้อ เป็นยากระตุ้น
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาขมเจริญอาหาร ช่วยแก้ไข้ สร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ช่วยแก้ไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่น ช่วยแก้อาการไอ ช่วยแก้ลม ช่วยแก้เสมหะที่จุกคอและแน่นอยู่ในอก แก้เสมหะติดคอ ช่วยรักษาริดสีดวงในลำไส้ แก้อาการปวดท้อง แก้ปวดเจ็บในลำไส้ แก้ถ่ายออกมาเป็นเลือด รักษาโรคกระเพาะ ช่วยรักษาโรคผิวหนัง เป็นยาระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เป็นยากระตุ้น
  • สรรพคุณจากก้านใบ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ปวดศีรษะ แก้น้ำมูกไหล แก้อาการอ่อนเพลีย แก้เบื่ออาหาร แก้ครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายจะเป็นไข้ ช่วยแก้หัด
  • สรรพคุณจากยาง ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ในร่างกาย
  • สรรพคุณจากเปลือกรากแก้ว ช่วยทำให้อาเจียน ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
  • สรรพคุณจากกระพี้ ช่วยแก้อาการเพ้อคลั่ง ช่วยบำรุงน้ำดี ช่วยแก้น้ำดีพิการ ช่วยแก้ถุงน้ำดีอักเสบ
  • สรรพคุณจากกิ่งอ่อน ช่วยทำให้เหงือกและฟันสะอาดแข็งแรง ช่วยทำลายแบคทีเรียในช่องปาก ช่วยแก้อาการเสียวฟัน ช่วยแก้อาการเจ็บคอ
  • สรรพคุณจากไม้สะเดาที่ใช้สีฟัน ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ
  • สรรพคุณจากน้ำมันเมล็ด รักษาโรคเรื้อนกวาง แก้สะเก็ดเงิน แก้หิด ช่วยรักษาโรคผิวหนัง ช่วยบรรเทาอาการผิวแห้ง
  • สรรพคุณจากสะเดาทั้ง 5 ช่วยแก้ประดงเส้น

ประโยชน์ของสะเดา

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและดอกอ่อนนำมาใช้ทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก ที่สำคัญนิยมใช้ทำน้ำปลาหวานสะเดา
2. ใช้ในอุตสาหกรรม ไม้สะเดานำมาใช้ในการก่อสร้างได้ ใช้ในอุตสาหกรรมสารเคมี ใช้สกัดทำสีย้อมผ้าโดยเปลือกต้นจะให้สีแดง ส่วนของยางจะให้สีเหลือง เมล็ดใช้ทำเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง
3. ใช้ในการเกษตร เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช เศษที่เหลือของเมล็ดนำมาใช้ทำปุ๋ยได้ด้วย
4. เป็นไม้ปลูกประดับ ให้ความร่มเงา
5. เป็นไม้มงคล คนไทยเชื่อว่าสะเดาเป็นไม้ที่ช่วยป้องกันปีศาจได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

สะเดา เป็นไม้ดั้งเดิมของไทยที่มีอายุยืน ให้ความร่มเงา สวยงาม และยังประกอบไปด้วยประโยชน์นานาชนิด โดยเฉพาะการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม ใช้ในการเกษตรได้อีกด้วย สะเดามีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกต้นและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยบำรุงร่างกาย ดีต่อระบบย่อยอาหาร ดีต่อระบบขับถ่ายในร่างกายและแก้อาการปวดได้ เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามจริง ๆ

เอกสารอ้างอิง
สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “สะเดา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [14 พ.ย. 2013].
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “สะเดา (สะเดาไทย)“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [14 พ.ย. 2013].
หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. (เต็ม สมิตินันทน์).
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Siamese neem tree“. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไทย ตอนที่ 7. (ก่องกานดา ชยามฤต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [14 พ.ย. 2013].
KU eMagazine มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “สะเดามากคุณค่า เกินคาดเดา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th/e-magazine. [14 พ.ย. 2013].
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา (พืชสวน). “สะเดาไทย พืชสารพัดประโยชน์“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.aopdh06.doae.go.th. [14 พ.ย. 2013].
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “ชนิดของสะเดา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doae.go.th. [14 พ.ย. 2013].
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th. [14 พ.ย. 2013].
นวัตกรรมการบริหารงานวิจัย การสร้างขุมความรู้เพื่อรองรับการวิจัยเชิงพื้นที่ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “ผักพื้นบ้าน สะเดา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th. [14 พ.ย. 2013].
โรงเรียนสองแคววิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่. “สะเดา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.songkaew.ac.th. [14 พ.ย. 2013].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
1.https://www.flickr.com/photos/dinesh_valke/31761735438
2.https://www.floraofqatar.com/azadirachta_indica.htm