ขวง หรือ “สะเดาดิน” เป็นผักในตำรับยาทั้งหลาย ช่วยแก้ไข้และบำรุงน้ำดี
ขวง หรือ สะเดาดินเป็นไม้ล้มลุก แตกแขนงแผ่ราบไปกับพื้นดิน ใบเดี่ยวขนาดเล็ก ดอกเป็นสีขาวอมเขียว

ขวง

ขวง (Glinus oppositifolius) เป็นไม้ล้มลุกที่เลื้อยไปตามพื้นดินซึ่งสามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทยแต่จะพบได้มากทางภาคเหนือ ดอกมีสีขาวอมเขียวขนาดเล็ก เป็นผักที่มีรสขมคล้ายกับสะเดาทำให้บางพื้นที่เรียกผักชนิดนี้ว่า “สะเดาดิน” นิยมนำมาทานในรูปแบบของผักสดจิ้มกับน้ำพริกหรือทานร่วมกับลาบได้ จากภายนอกขวงเหมือนเป็นพืชบนดินทั่วไปที่ไม่มีอะไรและไม่ค่อยมีใครสนใจ แต่ขวงเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการและยังเป็นส่วนประกอบของตำรับยามากกว่า 7 ตำรับด้วยกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของขวง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Glinus oppositifolius (L.) Aug.DC.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “สะเดาดิน ผักขวง” ภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือเรียกว่า “ผักขี้ขวง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ขี้ก๋วง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์สะเดาดิน (MOLLUGINACEAE)

ลักษณะของผักขวง

ผักขวง เป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีลำต้นเตี้ยหรือทอดเลื้อยแตกแขนงแผ่ราบไปกับพื้นดิน มักจะพบมากในภาคเหนือ ขึ้นตามบริเวณที่ชื้นแฉะ ตามไร่นาและตามสนามหญ้าทั่วไป
ต้น : แตกกิ่งก้านสาขาแผ่กระจายออกไปรอบต้น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวขนาดเล็ก มีการแตกใบออกตามข้อต้น ซึ่งในแต่ละข้อจะมีใบอยู่ประมาณ 4 – 5 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปยาววงรี ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นสีเขียว ก้านใบสั้น
ดอก : ออกดอกเดี่ยวรวมกันอยู่ตามข้อของลำต้นใกล้กับใบ ในข้อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 4 – 6 ดอก ดอกเป็นสีขาวอมเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปยาววงรี เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 3 แฉก ทำให้เห็นเมล็ดที่อยู่ภายในผลได้ชัดเจน
เมล็ด : เมล็ดมีจำนวนมาก เป็นสีน้ำตาลแดงและมีขนาดเท่ากับเม็ดทราย

สรรพคุณของผักขวง

สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาบำรุงธาตุ เป็นยาแก้ไข้หรือแก้ไข้ทั้งปวง เป็นยาแก้หวัด แก้ไอ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ระงับความร้อน เป็นยาระบาย ช่วยบำรุงน้ำดี เป็นยาแก้คัน เป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง เป็นยาฆ่าเชื้อ แก้อาการฟกช้ำบวมอักเสบ
– แก้อาการปวดศีรษะ แก้หวัดคัดจมูก ด้วยการนำต้นสดมาตำผสมกับขิงใช้เป็นยาสุมกระหม่อมเด็ก
– แก้อาการปวดหู ด้วยการนำทั้งต้นผสมกับน้ำมันละหุ่งแล้วนำไปอุ่นใช้เป็นยาหยอดหู
สรรพคุณจากผักขวง
– แก้ไข้ที่เกิดจากดีพิการซึ่งมีอาการปวดศีรษะและไข้สูง โดยตำรับยาในพระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์นำผักขวง เครือเขาด้วย รากขี้กา รากขัดมอน ต้นผีเสื้อ หญ้าเกล็ดหอยและน้ำผึ้งมาผสมเข้าด้วยกัน
– แก้อาการปวดศีรษะและจมูกตึง โดยตำรับยาในพระคัมภีร์โรคนิทานนำผักขวง ใบหญ้าน้ำดับไฟ ใบหางนกยูง ฆ้องสามย่าน เทียนดำ ไพล หัวหอม ดอกพิกุลและดินประสิวขาวมาบดสุมกระหม่อม

ประโยชน์ของผักขวง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวบ้านนำมาทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกและรับประทานร่วมกับลาบ หรือนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริกหรือนำมาแกงรวมกับผักอื่นอย่างแกงแค แกงเมืองหรือแกงกับปลาทูนึ่ง
2. เป็นส่วนประกอบของยา เป็นส่วนประกอบในตำรับพระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ พระคัมภีร์โรคนิทานและพระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการของผักขวง 100 กรัม

คุณค่าทางโภชนาการของผักขวง 100 กรัม ให้พลังงาน 30 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
น้ำ 90.3%
โปรตีน 3.2 กรัม
ไขมัน 0.4 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 3.4 กรัม
ใยอาหาร 1.1 กรัม
เถ้า 1.7 กรัม
แคลเซียม 94 มิลลิกรัม 
ธาตุเหล็ก 1.8 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม
วิตามินบี1 0.03 มิลลิกรัม 
วิตามินบี2 0.45 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 2.7 มิลลิกรัม
วิตามินซี 19 มิลลิกรัม

ผักขวง ถือเป็นผักที่นิยมอย่างมากในการเป็นส่วนประกอบของยาพื้นบ้านหรือตำรับยาของคนในอดีต ถือเป็นผักที่คนไทยในยุคใหม่ไม่ค่อยสนใจกันแต่กลับมีประโยชน์ทางโภชนาการและเป็นยาแก้อาการได้ดี ผักขวงมีสรรพคุณทางยาจากส่วนของทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ทั้งปวง เป็นยาระบาย บำรุงน้ำดี แก้โรคผิวหนังและอาการปวดหูได้ ถือเป็นต้นที่น่าสนใจชนิดหนึ่งในการนำมาปรุงเป็นยาสมุนไพรแก้อาการทั้งหลาย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักขวง”. หน้า 469-470.
วัชพืช, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ขี้ก๋วง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/use/crop_2.htm. [22 พ.ย. 2014].
หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 545, วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556. (ไพบูลย์ แพงเงิน). “ผักขวง…สมุนไพรบำรุงน้ำดี”.
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักขวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [22 พ.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/