ต้นสร้อยทับทิม ยาแก้ไข้มาลาเรียของชาวเขาเผ่าแม้ว แก้เกลื้อนหรือเรื้อนของชาวล้านนา
ต้นสร้อยทับทิม เป็นต้นที่อยู่ในวงศ์ไผ่ ยอดอ่อนและใบอ่อนนิยมนำมารับประทานสด กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีม่วงแกมชมพู

ต้นสร้อยทับทิม

ต้นสร้อยทับทิม (Persicaria barbata) เป็นต้นที่อยู่ในวงศ์ไผ่และมักจะพบตามริมน้ำหรือริมคลองทั่วไป นิยมนำยอดอ่อนและใบอ่อนมารับประทานในรูปแบบของผักสด นอกจากนั้นยังนิยมสำหรับปลูกเป็นพรรณไม้ประดับสวนน้ำทั่วไปอีกด้วย ในด้านของสรรพคุณทางยาสมุนไพรนั้นสร้อยทับทิมถือเป็นต้นที่อยู่ในตำรายาพื้นบ้านล้านนาและเป็นยาสำหรับชาวเขาเผ่าแม้ว

 

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของต้นสร้อยทับทิม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Persicaria barbata (L.) H.Hara
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “สร้อยทับทิม” จังหวัดน่านเรียกว่า “ผักไผ่น้ำ” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ผักแพรวกระต่าย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักไผ่ (POLYGONACEAE)
ชื่อพ้อง : Polygonum barbatum L.

ลักษณะของสร้อยทับทิม

สร้อยทับทิม เป็นพืชล้มลุกที่มักจะพบบริเวณริมน้ำ ริมคลองหรือในที่น้ำท่วมขังตื้น ๆ มักจะขึ้นทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคกลาง
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรงและมีขน สามารถเห็นข้อปล้องชัดเจน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ก้านใบสั้น ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบมีขนที่ริมใบและเส้นกลางใบ ผิวใบทั้งสองด้านมีขนขึ้นปกคลุม มีหูใบหรือกาบใบแผ่เป็นแผ่นบางหุ้มรอบลำต้นและมีขน ทำให้บริเวณข้อโป่งพองออก
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีม่วงแกมชมพู
ผล : เป็นผลแห้งไม่แตกและเป็นมัน

สรรพคุณของสร้อยทับทิม

  • สรรพคุณจากใบ
    – แก้ไข้มาลาเรีย ชาวเขาเผ่าแม้วนำใบมาตำแล้วคั้นเอาน้ำเพื่อดื่มเป็นยา
    – รักษาเกลื้อน เรื้อนและอาการคัน ตำรายาพื้นบ้านล้านนานำใบสดมาผสมกับยาเส้นแล้วคั้นเอาน้ำมาทาแก้อาการ

ประโยชน์ของสร้อยทับทิม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและใบอ่อนนำมาทานเป็นผักสดได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกเป็นพรรณไม้ประดับสวนน้ำทั่วไป

สร้อยทับทิม ถือเป็นพืชยอดนิยมของชนชาวเขาทั่วไปเนื่องจากมีสรรพคุณที่รักษาไข้มาลาเรียซึ่งเป็นไข้ป่าที่ชาวเขาส่วนมากมักจะเป็นกันบ่อย จึงเหมาะสำหรับพื้นที่ที่ไม่มียารักษาโรคเข้าถึง และยังนำยอดอ่อนและใบอ่อนของต้นมารับประทานเป็นผักสดได้ แต่คนเมืองมักจะนำสร้อยทับทิมมาปลูกเป็นไม้ประดับในสวนน้ำทั่วไปมากกว่า สร้อยทับทิมเป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาจากส่วนของใบซึ่งมีสรรพคุณแก้ไข้มาลาเรีย รักษาเกลื้อนหรือเรื้อนและอาการคันได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สร้อยทับทิม”. หน้า 174.
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักแพรวกระต่าย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [17 ต.ค. 2014].