ถั่วฝักยาว มีสรรพคุณมากกว่าที่คิด ช่วยแก้ตกขาว บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ

0
1809
ถั่วฝักยาว มีสรรพคุณมากกว่าที่คิด ช่วยแก้ตกขาว บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ
ถั่วฝักยาว ฝักมีลักษณะกลม ฝักยาว มีรสชาติกรอบนอก
ถั่วฝักยาว มีสรรพคุณมากกว่าที่คิด ช่วยแก้ตกขาว บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ
ถั่วฝักยาว ฝักมีลักษณะกลม ฝักยาว มีรสชาติกรอบนอก

ถั่วฝักยาว

ถั่วฝักยาว (Yard long bean) เป็น ผักที่นิยมอย่างมากในเอเชียรวมถึงในประเทศไทย เป็นส่วนประกอบของอาหารหลายอย่างโดยเฉพาะอาหารขึ้นชื่อของเราเลยก็คือ “ส้มตำ” เป็นผักประเภทถั่วที่มีรสชาติกรอบนอก เป็นหนึ่งในผักที่ค่อนข้างมีรสชาติถูกปาก เป็นผักที่คนทั่วไปรู้จัก มีลักษณะกลมยาวสีเขียวที่ดูเพียงครั้งเดียวก็รู้ได้ว่าคือถั่วฝักยาว แน่นอนว่ามีสรรพคุณต่อร่างกายมากมาย แต่มีประโยชน์ในด้านไหนบ้างคาดว่าคนทั่วไปยังไม่รู้มากนัก

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของถั่วฝักยาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vigna unguiculata (L.) Walp. และ Vigna unguiculata subsp. sesquipedalis (L.) Verdc.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Yard long bean”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ถั่วนา ถั่วขาวหรือถั่วฝักยาว” ภาคเหนือเรียกว่า “ถั่วหลา ถั่วปีหรือถั่วดอก”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ชื่อพ้อง : Vigna sinensis (L.) Savi ex Hausskn., Vigna sinensis (L.) Savi ex Hassk., Vigna unguiculata subsp. Unguiculata

ลักษณะของถั่วฝักยาว

ถั่วฝักยาว เป็นไม้เลื้อยสีเขียวอ่อนที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและอินเดีย
ใบ : เป็นใบประกอบแบบฝ่ามือ ลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีขาวหรือน้ำเงินอ่อน
ฝัก : ฝักมีลักษณะกลม
เมล็ด : มีเมล็ดจำนวนมาก

การนำไปใช้ประโยชน์ของถั่วฝักยาว

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร เป็นส่วนหนึ่งในอาหารพวก ส้มตำ ผัดผัก แกงส้มถั่วฝักยาว เป็นต้น
2. เป็นวัตถุดิบในด้านอุตสาหกรรมแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง

ประโยชน์ของถั่วฝักยาว

  • สรรพคุณด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 บำรุงฟัน ป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
  • สรรพคุณด้านกระดูก บำรุงกระดูกและป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน
  • สรรพคุณด้านความงาม ลดความอ้วนเนื่องจากมีสรรพคุณเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมันและโปรตีน
  • สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการเกิดโรคหวัด
  • สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ
    – แก้อาเจียน ด้วยการใช้เมล็ดแห้งหรือสดนำมาคั้นหรือต้มกินกับน้ำ
    – รักษาฝีเนื้อร้าย ด้วยการใช้รากสดไปเผาแล้วบดละเอียดผสมกับน้ำแล้วทาบริเวณที่มีอาการ
    – รักษาอาการปวดบวม ปวดตามเอวและรักษาแผลที่เต้านม ด้วยการใช้เปลือกฝักประมาณ 100 – 150 กรัม มาต้มกินหรือนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่ปวด
  • สรรพคุณด้านระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย
    – แก้อาการเบื่ออาหารของเด็กจากกระเพาะทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้รากสดมาผสมกับรากเถาตดหมาตดหมู แล้วนำมาตุ๋นกินกับเนื้อวัว
    – แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นท้อง เรอเปรี้ยว ด้วยการเคี้ยวฝักสดกิน
    – รักษาอาการปัสสาวะเป็นหนอง ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 60 – 100 กรัม มาต้มกับน้ำ
    – แก้อาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย ด้วยการใช้เมล็ดแห้งหรือสดมาคั้นสดหรือต้มกินกับน้ำ
    – แก้ตกขาว ด้วยการใช้เมล็ดแห้งหรือสดผสมกับผักบุ้งแล้วนำมาตุ๋นกับเนื้อไก่พร้อมรับประทาน
  • สรรพคุณด้านป้องกันโรค
    – รักษาโรคหนองใน ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 60 – 100 กรัม มาต้มกับน้ำ หากโรคหนองในไหลให้ใช้รากสดไปเผาแล้วบดจนละเอียด ผสมกับน้ำแล้วใช้ทา
  • สรรพคุณช่วยบำรุงอวัยวะ
    – บำรุงม้ามและไต ด้วยการใช้เมล็ดแห้งหรือสดนำมาคั้นหรือต้มกินกับน้ำ หรือจะใช้รากนำมาตุ๋นกินเนื้อก็ได้ บำรุงไตอีกวิธีคือ ใช้ถั่วสดหรือเมล็ดนำมาต้มกับน้ำผสมกับเกลือ
  • สรรพคุณด้านอื่น ๆ ช่วยทำให้เนื้อเยื่อเจริญเร็วขึ้น
    – แก้กระหายและชุ่มชื่น ด้วยการใช้เมล็ดแห้งหรือสดนำมาคั้นสดหรือต้มกินกับน้ำ

คุณค่าทางโภชนาการของถั่วฝักยาว

คุณค่าทางโภชนาการของถั่วฝักยาวต่อ 100 กรัม โดยคิดเป็น % ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ ให้พลังงาน 47 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหาร
คาร์โบไฮเดรต 8.35 กรัม
ไขมัน 0.4 กรัม
โปรตีน 2.8 กรัม
วิตามินเอ 43 ไมโครกรัม (5%) 
วิตามินบี1 0.107 มิลลิกรัม (9%)
วิตามินบี2 0.11 มิลลิกรัม (9%)
วิตามินบี3 0.41 มิลลิกรัม (3%)
วิตามินบี5 0.55 มิลลิกรัม (11%)
วิตามินบี6 0.024 มิลลิกรัม (2%)
วิตามินบี9 62 ไมโครกรัม (16%)
วิตามินซี 18.8 มิลลิกรัม (23%)
แคลเซียม 50 มิลลิกรัม (5%)
เหล็ก 0.47 มิลลิกรัม (4%)
แมกนีเซียม 44 มิลลิกรัม (12%)
แมงกานีส 0.205 มิลลิกรัม (10%)
ฟอสฟอรัส 59 มิลลิกรัม (8%)
โพแทสเซียม 240 มิลลิกรัม (5%)
สังกะสี 0.37 มิลลิกรัม (4%)

ข้อควรระวัง

1. ระมัดระวังในการเลือกซื้อและการทำความสะอาดถั่วฝักยาว เนื่องจากตรวจพบว่ามีสารไซเพอร์เมทริน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ปวดท้องหากรับประทานเข้าไปและเมโทมิลซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชั้นดี สารพวกนี้เป็นสารที่อยู่ในกลุ่มคาร์บาเมตและไพรีทรอยด์ เป็นสารพวกยาฆ่าแมลงที่เป็นพิษมากมายโดยเฉพาะมะเร็ง
2. ผู้ที่มีอาการท้องผูก ไม่ควรรับประทานเมล็ดของถั่วฝักยาว

ถั่วฝักยาว เป็นถั่วที่มีลักษณะโดดเด่น ใคร ๆ ก็รู้จักเพราะหาได้ง่าย มีรสชาติที่ไม่ฝาดขมเหมือนผักอื่น ๆ มักจะพบในอาหารพวกส้มตำและผัดเผ็ด มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ เพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบขับถ่าย และอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นผักที่รับประทานได้เรื่อย ๆ หรือจะนำมาจิ้มกับน้ำพริกก็มีรสชาติดีเหมือนกัน

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม