ทุเรียนเทศ ผลไม้รสหวานอมเปรี้ยวที่ช่วยต้านมะเร็งได้
ทุเรียนเทศ ผลสีเขียว เปลือกผลมีหนาม ผลสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยว มีเนื้อสีขาวและฉ่ำน้ำ

ทุเรียนเทศ

ทุเรียนเทศ หรือเรียกกันว่า “ทุเรียนน้ำ” (Soursop) เป็น ผลที่มีลักษณะคล้ายทุเรียน เชื่อว่าคนไทยทุกคนต้องรู้จักทุเรียนแต่ยังไม่รู้จักทุเรียนเทศ เป็นผลที่มีฤทธิ์ทางยาและนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร มีการเพาะปลูกมากในภาคใต้ของประเทศไทย เป็นผลชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์และให้สารที่จำเป็นต่อร่างกายสูง สามารถนำส่วนประกอบของต้นทุเรียนเทศมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของทุเรียนเทศ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Annona muricata L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญ 2 ชื่อ คือ “Soursop” และ “Prickly custard apple”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ทุเรียนแขก” ภาคเหนือเรียกว่า “มะทุเรียน” ภาคใต้เรียกว่า “ทุเรียนน้ำ” ภาคอีสานเรียกว่า “หมากเขียบหลด”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)

ลักษณะของทุเรียนเทศ

ทุเรียนเทศ มีการเพาะปลูกมากในแถบอเมริกากลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพืชที่ชอบพื้นที่ที่มีความชื้นสูง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวสีเขียวเข้ม ตัวใบมีความมันเงา
ดอก : ออกดอกตามกิ่งก้านและลำต้นตลอดทั้งปี มีกลีบดอกแข็ง
ผล : ผลสีเขียว เปลือกผลมีหนาม หากผลสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยว มีเนื้อสีขาวและฉ่ำน้ำ
เมล็ด : เมล็ดแก่สีดำ

การนำไปใช้ประโยชน์ของทุเรียนเทศ

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ประกอบอาหารอย่างแกงส้ม นำมารับประทานเป็นผลไม้สด ทำเป็นน้ำผลไม้ แปรรูปเป็นผลไม้กวนต่าง ๆ ไอศกรีม เยลลี่ ซอส รวมไปถึงผลไม้กระป๋อง
2. ใช้ในการเกษตร เมล็ดนำมาใช้ทำยาเบื่อและทำเป็นยาฆ่าแมลงศัตรูพืช
3. ใช้เป็นยาสมุนไพร ผลดิบนำมาตำแล้วพอกเป็นยาฝาดสมาน

ประโยชน์ของทุเรียนเทศ

  • สรรพคุณด้านป้องกันโรค
    – มีฤทธิ์ในการต่อต้านไวรัสและเซลล์มะเร็ง จากงานวิจัยในอเมริกาบอกว่าให้นำส่วนของใบ เมล็ด และลำต้นของทุเรียนเทศมาสารสกัด
    – รักษาโรคผิวหนัง ด้วยการนำใบมาขยี้ผสมกับปูนแล้วนำมาทา
  • สรรพคุณด้านการผ่อนคลาย ใบเป็นยาระงับประสาท
    – ทำให้นอนหลับสบาย ด้วยการนำใบมาชงดื่ม หรือนำใบมาใส่ไว้ในหมอนหนุน
    – แก้เครียด ด้วยการนำรากและเปลือกมาชงชาแล้วดื่ม
  • สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ ต้านการอักเสบ น้ำสกัดจากเนื้อช่วยขับพยาธิ
    – ลดอาการเจ็บปวดและลดการเกร็ง ด้วยการนำรากและเปลือกมาชงชาแล้วดื่ม
    – แก้อาการเมา ด้วยการใช้ใบขยี้ลงในน้ำผสมกับน้ำมะนาว 2 ลูก แล้วนำมาจิบเล็กน้อย จากนั้นเอาน้ำที่เหลือลูบหัว
    – บรรเทาอาการไข้ ด้วยการนำใบมาใช้ปูให้ผู้ป่วยที่เป็นไข้นอน เมื่อตื่นมาจะมีอาการดีขึ้น
    – แก้อาการไอ อาการปวดตามข้อ ด้วยการนำใบมาขยี้ผสมกับปูนแล้วนำมาทา
  • สรรพคุณด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ผลสุกช่วยรักษาเลือดออกตามไรฟัน
  • สรรพคุณด้านระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ผลดิบช่วยรักษาโรคบิด
    – แก้อาการท้องอืด ด้วยการนำใบมาขยี้ผสมกับปูนแล้วนำมาทาบริเวณท้อง
  • สรรพคุณด้านเลือดในร่างกาย เมล็ดช่วยสมานแผลและห้ามเลือด
  • สรรพคุณด้านน้ำนมแม่ ช่วยเพิ่มน้ำนมกับหญิงให้นมบุตร

ข้อมูลทางโภชนาการของผลทุเรียนเทศดิบ

ข้อมูลทางโภชนาการของผลทุเรียนเทศดิบต่อ 100 กรัม โดยคิดเป็น % ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ ให้พลังงาน 66 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหาร
คาร์โบไฮเดรต 16.84 กรัม
น้ำตาล 13.54 กรัม
เส้นใย 3.3 กรัม
ไขมัน 0.30 กรัม
โปรตีน 1.00 กรัม
วิตามินบี1 0.070 มิลลิกรัม (6%)
วิตามินบี2 0.050 มิลลิกรัม (4%)
วิตามินบี3 0.900 มิลลิกรัม (6%)
วิตามินบี6 0.059 มิลลิกรัม (5%)
วิตามินบี9 14 ไมโครกรัม (4%) 
วิตามินซี 20.6 มิลลิกรัม (25%)
แคลเซียม 14 มิลลิกรัม (1%)
เหล็ก 0.6 มิลลิกรัม (5%)
แมกนีเซียม 21 มิลลิกรัม (6%)
ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม (4%)
โพแทสเซียม 278 มิลลิกรัม (6%)
สังกะสี 0.1 มิลลิกรัม (1%)

ข้อควรระวัง

1. ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะทุเรียนเทศมีสาร “แอนโนนาซิน” (Annonacin) ที่มีคุณสมบัติในการทำลายเซลล์สมอง จนเกิดโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) ได้
2. ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะเมล็ดและเปลือกของทุเรียนเทศมีสารอัลคาลอยด์อยู่หลายชนิดที่เป็นพิษต่อร่างกาย

ทุเรียนเทศ เป็นผลไม้ที่นิยมในทางภาคใต้แต่ยังไม่ได้มีการสนับสนุนทางเศรษฐกิจมากเพียงพอ เป็นผลไม้ที่ค่อนข้างหายากในตลาดทั่วไปโดยเฉพาะในเมือง ส่วนมากที่พบมักจะอยู่ในรูปของผลไม้กวนหรือผลไม้กระป๋อง สรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาระงับประสาท ช่วยแก้เครียดและทำให้นอนหลับง่าย ช่วยแก้ไข้และต้านโรคมะเร็ง ถือเป็นผลไม้ที่ควรได้รับความสนใจจากคนไทยมากขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม