สมอพิเภก ( Belleric Myrobalan )
สมอพิเภก ( Belleric Myrobalan ) ผลสุกและเปลือกของสมอพิเภกมีสารแทนนินสูง หากรับประทานเกินขนาดทำให้มีอาการมึนเมา คลื่นไส้อาเจียน และทำให้หลับได้

สมอพิเภก คือ

สมอพิเภก ( Belleric Myrobalan ) เป็น ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ผลัดใบ พบได้ทั่วไปตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกและภาคกลาง ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Terminalia bellirica ( Gaertn. ) Roxb. ชื่อสามัญ Beleric myrobalan อยู่ในวงศ์ตระกูล Combretaceae พบว่าในผลสุกและเปลือกของสมอพิเภกมีสารแทนนินสูงถึง 42% เป็นสาร gallic acid, ellagic acid. ส่วนที่ใช้ประโยชน์ ได้แก่ ผลอ่อน ผลแก่ เมล็ดใน ใบ ดอก เปลือก แก่น ราก การขยายพันธุ์สมอพิเภกสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การขยายพันธุ์โดยอาศัยเพศ โดยการเพาะเมล็ด และการขยายพันธุ์โดยวิธีไม่อาศัยเพศ โดยการปักชำและตอนกิ่ง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น
เป็นพันธ์ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีลำต้นตั้งตรง ต้นเดียวแล้วจึงแตกกิ่งก้านบริเวณส่วนยอดแผ่กว้าง บริเวณโคนต้นมักมีรากค้ำยันเป็นหลักขนาดใหญ่ เปลือกหนาสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีจุดสีขาวบริเวณรอบๆลำต้น เมื่อต้นสมอพิเภกมีอายุมากขึ้นผิวไม้ด้านนอกจะแตกเป็นร่องลึกเห็นชัด
ใบ
ใบสมอพิเภกเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกัน รูปไข่กลับ กว้าง 2-10 เซนติเมตร ยาว 4 – 16 เซนติเมตร ปลายใบมนกลมหรือแหลม โคนใบสอบแคบ เนื้อใบค่อนข้างหนาเป็นมัน มีเส้นใบ 6 – 8 คู่ ก้านใบมีความยาว 3 – 9 เซนติเมตร และมักมีตุ่มหูดเล็กๆอยู่กลางก้านใบหรือใกล้ๆโคนใบ จะทิ้งใบในเดือน พฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม และเริ่มแตกใบอ่อนขึ้นมาใหม่ช่วงในเดือนมีนาคมถึงเมษายน
ดอก
ดอกสมอพิเภกมีสีเหลืองมีขนาดเล็กออกเป็นช่อตามง่ามใบ ช่อดอกยาว 3 – 15 เซนติเมตร เป็นดอกย่อยไม่มีก้านดอก ดอกเพศผู้จะอยู่ที่ปลายช่อ ส่วนดอกสมบูรณ์เพศจะอยู่ที่โคนช่อ มีกลีบรองดอกเชื่อมติดกัน มีขนบริเวณด้านล่าง
ผล
มีลักษณะค่อนข้างกลมหรือรูปกลมรีออกรวมกันเป็นพวงโต เปลือกของผลมีลักษณะแข็งและมีขนละเอียดขึ้นเล็กน้อย
เมล็ด มีลักษณะเรียวยาวรูปวงรี กว้าง 0.5 เซนติเมตร และยาว 1.2 เซนติเมตร โดยสมอพิเภกจะออกดอกระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน และผลจะแก่จัดในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน

สรรพคุณตำรายาไทย

  • ช่วยขับเสมหะ
  • ใช้เป็นยาระบาย ยาถ่าย
  • ช่วยลดความดันโลหิตสูง
  • ช่วยรักษาสิว
  • ทำให้ชุ่มคอ
  • ช่วยแก้โรคตา
  • ช่วยแก้ธาตุกำเริบ บำรุงธาตุ
  • ช่วยแก้ไข้
  • ช่วยแก้ริดสีดวง
  • ช่วยแก้ท้องร่วงท้องเดิน
  • ช่วยรักษาโรคท้องมาน
  • ช่วยแก้บิด แก้บิดมูกเลือด 

ประโยชน์ทางด้านตำรายาสมุนไพร

ใบ ใช้รักษาแผลติดเชื้อ
ดอก ใช้แก้ตาเปียกแฉะ
ราก ใช้แก้พิษโลหิต ซึ่งมีอาการทำให้ร้อน
เปลือกต้น ใช้แก้โรคเกี่ยวกับปัสสาวะพิการ
แก่นไม้ ใช้แก้โรคริดสีดวง ต้มน้ำดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ ( มีรสฝาด )
ผลอ่อน ใช้แก้ไข้ แก้ลม เป็นยาระบาย ยาถ่าย ( มีรสเปรี้ยว )
ผลแก่ ใช้แก้โรคในตา บำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้ริดสีดวงทวารหนัก เป็นยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน ( มีรสฝาด )

การศึกษาทางพิษวิทยา

การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดผลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ( คิดเป็น 1,515 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน ) ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ และเมื่อให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมพบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง ( LD50 ) เท่ากับ 6.156 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

ข้อควรระวังในการใช้สมอพิเภก

ถ้ารับประทานสมอพิเภกเกินขนาดจะเป็นอันตรายได้ ทำให้มีอาการมึนเมา คลื่นไส้อาเจียน ผลหากใช้รับประทานมากๆ จะเป็นยาเสพติดและทำให้หลับได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

สมอพิเภก (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://www.dnp.go.th [25 กรกฎาคม 2562].

สมอพิเภก ประโยชน์ และสรรพคุณสมอพิเภก (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://puechkaset.com [25 กรกฎาคม 2562].

สมอพิเภก งานวิจัยและสรรพคุณ 18ข้อ (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://www.disthai.com [24 กรกฎาคม 2562].

สมอพิเภก (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://www.qsbg.org [24 กรกฎาคม 2562].

สมอพิเภก สรรพคุณ รสยา ประโยชน์สมอพิเภก (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://www.karatbarsaec.com [25 กรกฎาคม 2562].