"สมอไทย" ราชาสมุนไพร พุทธโอสถ
สมอไทย เป็นสมุนไพรที่มีตำนานมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นสมุนไพรที่ถูกกำหนดให้เป็นพุทธโอสถ

สมอไทย

สมอไทย ( Chebulic Myrobalans ) เป็นสมุนไพรในตำราพุทธโอสถครั้งบรรพกาล ปัจจุบันสมอไทย ยังเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ในบรรดาผลไม้อบแห้งที่วางขายเป็นห่อเล็กๆ ตามท่ารถ ตามตลาดนัดและตามมุมขายของภายในวัด สมอแช่อิ่มเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่น้อยหน้ามะม่วง มะขาม หรือเม็ดบ๊วย ด้วยรสชาติเป็นเอกลักษณ์ที่ยิ่งทานก็ยิ่งอร่อย ใครได้ลองทานสักครั้งก็มักติดใจและต้องหามาทานอีกเมื่อมีโอกาส หลายคนรู้จักสมอในรูปแบบที่ว่านี้เพียงอย่างเดียว เพราะสมอที่เป็นผลสดซื้อหาไม่ได้ง่ายๆ แล้วในปัจจุบัน ทันทีที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ก็จะมีกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปตั้งท่ารออยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่คุ้มที่ชาวสวนจะนำออกมาวางขายเอง เพราะน้อยคนนักที่จะรู้ว่าผลสมอสดๆ เอาไปทำอะไรได้บ้าง แม้ว่าราคาค่างวดในท้องตลาดของสมอจะดูไม่ได้มีมูลค่าสูงมากนัก แต่นี่คือสมุนไพรที่มีตำนานมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลเลยทีเดียว เพราะเป็นสมุนไพรในไม่กี่ชนิดที่ถูกกำหนดให้เป็นพุทธโอสถ และอยู่ในรายการอาหารปานะของพระสงฆ์มาโดยตลอด นี่จึงไม่ได้เป็นเพียงสมุนไพรพื้นบ้านธรรมดาๆ ที่ไม่น่าสนใจอะไร 

สมอไทยเป็นไม้พื้นเมืองที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่พื้นที่ เช่น ส้มหม้อ มาแน่ เป็นต้น สมอเป็นไม่ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีจังหวะผลัดใบเป็นช่วงๆ ลำต้นมีความสูงอยู่ที่ 20-30 เมตร เปลือกหุ้มลำต้นมีสีเทาอมดำ แต่พอแกะออกสักชั้นหนึ่ง เปลือกด้านในกลับมีสีเหลืองแกมน้ำตาล ใบเป็นใบเดี่ยวปลายมน ด้านบนมันเงาแต่ด้านล่างเป็นขุยขน ออกดอกเป็นแบบช่อสีขาวอมเหลืองและมีกลิ่นหอม ผลสมอมีลักษณะกลมรี ยาวบ้างสั้นบ้าง ผิวเกลี้ยงหรือมีสันให้เห็นบางๆ มีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ดอยู่กึ่งกลางด้านใน เมื่อแก่จัดจะมีสีเขียวอมเหลืองหรือเขียวแกมน้ำตาลแดง

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญของลูกสมอไทย

สารออกฤทธิ์ที่น่าสนใจในสมอมีหลายตัวด้วยกัน กลุ่มแรกคือสารกลุ่มฟิโนลิกส์ ( phenolics ) ได้แก่ กรดเคบูโลนิก ( chebulonic acid ) มีคุณสมบัติในการต่อต้านเซลล์มะเร็งอย่างรุนแรง จึงเป็นสารกลุ่มที่ถูกจับตามากที่สุดในวงการแพทย์ เพราะหากนำมาใช้ได้เต็มศักยภาพจะเกิดประโยชน์มหาศาล ต่อมาคือกรดแกลลิก ( gallic acid ) มีหน้าที่ในการต่อต้านการออกซิเดชัน สารคอริลาจิน ( corilagin ) ช่วยต้านความเจ็บปวดบางประเภทได้ นอกจากนี้ก็ยังมี terchebin glucogallin ellagic acid sennoside A chebulin catechol และ tannic acid

สรรพคุณของสมอไทย

สมอไทย ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ ราชาสมุนไพร ” เพราะมีคุณประโยชน์ที่หลากหลายมาก ทั้งยังเป็นส่วนผสมหลักในยาอายุวัฒนะอย่างตรีผลาด้วย นั่นหมายความว่ามีรูปแบบการใช้ประโยชน์จากสมอไทยที่ควรรู้อยู่ไม่น้อย และที่ยกมานี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

สมอไทยบรรเทาอาการเจ็บคอ : สิ่งที่สังเกตได้ทันทีที่ทานผลแก่ของสมอไทย ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของผลสดหรือแปรรูปมาแล้ว เช่น สมอแช่อิ่ม เป็นต้น จะเกิดความรู้สึกชุ่มคอ และบรรเทาอาการเจ็บคอลงได้ หากไม่ชอบทานผลสมอ ก็อาจทำเป็นยาชงใช้อมกลั้วคอแก้อาการก็ได้เช่นเดียวกัน โดยเลือกผลสดแก่ๆ ของสมอไทย นำมาล้างน้ำทำความสะอาดให้ดี ก่อนฝานเนื้อไปตากแห้งด้วยแดดจัดสักประมาณ 3-4 วัน เมื่อเห็นว่าแห้งสนิทดีแล้วก็นำมาบดเป็นผงละเอียด บรรจุใส่โหลที่มีฝาปิดสนิท จะใช้งานเมื่อไรก็ตักมาชงกับน้ำอุ่นได้ทันที ข้อควรระวังคือช่วงของการตากแห้ง ต้องแน่ใจว่าแห้งแล้วจริงๆ ไม่อย่างนั้นโอกาสที่ผงยาชงจากสมอจะกลายเป็นเชื้อราก็จะมีสูงมาก 

สมอไทยสมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ : ผลสดของสมอไทยที่แก่จัดจะมีรสชาติฝาดเด่นชัด ซึ่งรสฝาดนี่เองที่มีสารออกฤทธิ์สำคัญ ที่ทำให้บาดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ทั้งหมดบรรเทาอาการบาดเจ็บลงได้ เรียกว่าสามารถใช้สมอเพื่อสมานแผลภายในได้นั่นเอง วิธีการก็คือ ทานผลสมอไทยสดๆ วันละ 2-3 ผล ยิ่งถ้าเลือกเอาเฉพาะผลที่มีรสฝาดจัดได้ด้วยก็ยิ่งดี

สมอไทยบำรุงหัวใจ : เพียงนำส่วนเปลือกบริเวณลำต้นของ สมอไทย มาล้างทำความสะอาด ก่อนนำมาต้มกับน้ำเพื่อใช้ดื่ม โดยไม่ต้องเคี่ยวให้ข้นนักเพราะจะยิ่งทำให้ดื่มได้ยาก ต้มเพียงน้ำเริ่มเปลี่ยนสีคล้ายกับการต้มชาก็เพียงพอ สารเคมีให้ส่วนเปลือกจะเข้าไปกระตุ้นให้หัวใจทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

สมอไทยชะลอความเสื่อมของวัย : สารฟิโนลิกส์ในสมอมีความโดดเด่นมากในการชะลอความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ จากผลงานวิจัยพบว่าสารตัวนี้สามารถชะลอความชราได้ผลมากถึง 89 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับทำหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระไปด้วย แค่เลือกทานผลสมอที่สุกกำลังดีอย่างน้อยวันละ 1 ผลก็เพียงพอแล้ว

สมอไทยยับยั้งการเกิดและการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง : มีการทดลองเกี่ยวกับสารออกฤทธิ์ในผลสมอไทยที่มีผลต่อเซลล์มะเร็งเอาไว้มากมาย ประเภทของเซลล์มะเร็งที่เคยทดสอบแล้วได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งกระดูก สารฟิโนลิกส์ในผลสมอเป็นพระเอกในประเด็นนี้เช่นเดียวกัน โดยจะทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการเติบโตและค่อยๆ ตายไป หากมีความเสี่ยงแต่ยังไม่ทันเกิด ฟิโนลิกส์ก็จะเปลี่ยนหน้าที่เป็นการป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งที่ว่านั้นเกิดขึ้นได้ วิธีการทานก็ไม่ยุ่งยากอะไรนัก ทั้งยังสามารถเลือกทำได้หลายรูปแบบ ดังนี้

  • สมอไทยน้ำสมอไทยเข้มข้น : เลือกลูกสมอที่แก่จัดมาล้างทำความสะอาดหลายๆ น้ำ เฉือนเปลือกออกแล้วเลือกแต่ส่วนเนื้อในใส่ลงในเครื่องปั่น เมื่อปั่นจะเหลวดีแล้วจึงกรองเอาแต่น้ำ กรอกใส่ขวดเอาไว้ นำมาทานวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 แก้วก่อนอาหารเช้า-เย็น
  • สมอไทยผงสมอชงดื่ม : เลือกเอาลูกสมอที่แก่จัดมาทำความสะอาด แล้วเฉือนเนื้อตากแดดจัดเพื่อให้แห้งสนิท จากนั้นจึงบดเป็นผงละเอียดเก็บใส่กระปุกไว้ เมื่อต้องการใช้ก็ตักมาครั้งละ 1 ช้อนชา ผสมน้ำผึ้ง 2 ช้อนยา ดื่มทุกวันเช้า-เย็นก่อนอาหาร

สมอไทยบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง : วิธีนี้เป็นสูตรโบราณตามตำราที่ว่ากันว่าเป็นยาบำรุงร่างกายขนานเอกเลยทีเดียว ไม่มีผลข้างเคียงเรื่องการกระตุ้นความกำหนัดเช่นเดียวกับยาบำรุงร่างกายอื่นๆ ส่วนประกอบคือ ลูกสมอไทย 1 น้ำสะอาด 1 แก้ว แช่ส่วนผสมทั้งสองไว้ข้ามคืน แล้วทานทั้งเนื้อและน้ำหลังตื่นนอนทันที จะช่วยแก้ความรู้สึกอ่อนเพลีย ร่างกายกลับมาสดชื่น และมีกำลังวังชาที่จะทำกิจกรรมตลอดทั้งวัน 

สมอไทยช่วยย่อยอาหาร : สำหรับคนที่มีปัญหาท้องอืดท้องเฟ้อบ่อยๆ จากการที่อาหารไม่ย่อย ลูก สมอไทย เป็นสมุนไพรที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างดีเยี่ยม ด้วยการทานผลสมอไทยที่สุกแล้วทุกครั้งหลังทานอาหาร สัก 1-2 ผลก็เพียงพอ สารออกฤทธิ์ในสมอจะไปกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมันจะมีผลในระยะยาวด้วย หมายความว่าไม่จำเป็นต้องทานไปตลอดก็ได้ พอทานไปสักพักใหญ่ๆ แล้วเริ่มรู้สึกว่าไม่ค่อยมีอาการท้องอืดแล้วก็หยุดทานได้ทันทีโดยไม่มีผลข้างเคียงใดๆ

แก้ปัญหาเชื้อราที่ผิวหนัง และโรคผิวหนังบางชนิด : โรคผิวหนังที่ว่านี้จะเป็นประเภทที่ไม่ได้รุนแรงมากนัก เช่น กลากเกลื้อน ผื่นคัน เป็นต้น ให้ใช้ส่วนของเปลือกลำต้นสมอไทย หรือจะเป็นส่วนแก่นที่อยู่ด้านในก็ได้ นำมาล้างทำความสะอาดเอาฝุ่นผงและคราบต่างๆ ที่ไม่ต้องการออกไป จากนั้นนำมาต้มน้ำเพื่อผสมน้ำอาบ ทำเช่นนี้เป็นประจำจนกว่าเชื้อราหรือโรคผิวหนังเหล่านั้นจะหายไป

ลดไขมัน ลดความอ้วน : สมอไทย มีสารออกฤทธิ์ที่มีคุณสมบัติเป็นยาระบายอ่อนๆ และช่วยในการดักจับไขมันที่เข้าสู่ร่างกายใหม่ๆ ให้เร่งระบายออก จึงไม่เกิดเป็นไขมันสะสม แต่ก็ไม่ได้ดึงเอาไขมันเก่าที่สะสมไว้แล้วออกมาใช้ ดังนั้นหากจะทานสมอไทยเพื่อลดไขมันหรือลดความอ้วน ก็ต้องออกกำลังการร่วมด้วย วิธีการใช้คือ นำผลอ่อนไปต้มด้วยอัตราส่วน ลูกสมอ 5 ผลกับน้ำสะอาด 1 ถ้วยตวง ค่อยๆ เคี่ยวด้วยไฟอ่อนจนกว่าน้ำจะเริ่มข้น แล้วกรองเอาแต่น้ำเพื่อดื่มให้หมดในรวดเดียว อาจปรุงรสเพิ่มเพื่อให้ทานง่ายด้วยการเติมเกลือลงไปเล็กน้อยขณะที่ต้ม

สมอไทยเป็นสมุนไพรโบราณ ได้ชื่อว่าเป็น“ราชาสมุนไพรไทย” เป็นจัดเป็นผลไม้ป่าที่ให้รสเปรี้ยวอมฝาด ถูกกำหนดให้เป็นพุทธโอสถ และอยู่ในรายการอาหารปานะของพระสงฆ์

ความพิเศษในรสชาติของสมอไทย

อย่างที่เรารู้กันดีว่ารสชาติของสมุนไพรเป็นจุดหนึ่งที่จะระบุได้ว่า สมุนไพรเหล่านั้นมีสรรพคุณไปในทางใดได้บ้าง และแต่ละชนิดก็จะมีรสเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกันอีกด้วย ส่วนใหญ่มักมีเพียงหนึ่งรสชาติหลักเท่านั้น เช่น บอระเพ็ดมีรสขม มะขามป้อมมีรสเปรี้ยวอมฝาด ขิงมีรสเผ็ดร้อน เป็นต้น แต่สำหรับสมอไทย นั้นมีความพิเศษตรงที่ในผลเดียวมีรสชาติที่หลากหลาย ตามแต่ระดับความอ่อนแก่ของผล ซึ่งเมื่อรสชาติเปลี่ยนไปสรรพคุณก็เปลี่ยนตามไปด้วย ดังนี้

  • สมอไทยมีรสเปรี้ยว : เป็นรสชาติหลักขณะที่สมอยังเป็นผลอ่อนอยู่ สรรพคุณหลักคือละลายเสมหะ แก้ไอ บรรเทาอาการระคายคอและกระหายน้ำ
  • สมอไทยมีรสฝาด : สรรพคุณช่วยเรื่องการสมานแผลภายใน ไล่ตั้งแต่ช่องปากที่เป็นเยื่อบุอ่อนๆ ไปจนถึงส่วนของผนังลำไส้ บรรเทาอาการท้องเสีย แก้ปวดบิด ระงับการถ่ายที่มากเกินไปไปได้ด้วย
  • สมอไทยมีรสหวาน : แม้ว่าสมุนไพรรสหวานจะไม่ค่อยมีสรรพคุณทางยามากนัก แต่ก็ยังมีประโยชน์ในเรื่องของการบำรุงร่างกายโดยรวมอยู่ดี หากทำงานหรือกิจกรรมอื่นใดมาทั้งวัน ร่างกายอ่อนเพลียเหนื่อยล้า ก็สามารถทานสมอรสหวานเพื่อเสริมกำลังได้
  • สมอไทยมีรสขม : โดดเด่นด้านบรรเทาอาการไข้ ตัวร้อน ตลอดจนถอนพิษต่างๆ ทั้งจากแมลงสัตว์กัดต่อยและอาหารที่ทานเข้าไป ช่วยบำรุงน้ำดีในร่างกาย กระตุ้นระบบการย่อยอาหารให้มีประสิทธิภาพ
  • สมอไทยมีรสเผ็ด : คงไม่ได้เผ็ดจัดจ้านเหมือนกับพริกขี้หนู แต่ก็รับรู้ได้ว่ามีความเผ็ดร้อนอยู่ รสนี้ช่วยเรื่องการขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ บรรเทาอาการปวด จุกเสียด ในช่องท้องเนื่องจากลมปริมาณมาก และช่วยย่อยอาหาร
  • รสเค็ม : รสนี้ช่วยในเรื่องของความสวยความงาม เพราะจะทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล ช่วยปรับสมดุลระบบน้ำเหลือง ใช้แก้อาการเมารถ เมาเรือ แก้พิษ และช่วยให้นอนหลับสนิทได้ตลอดทั้งคืน
    ลูกสมอไทยแต่ละผลจะไม่ได้มีรสชาติเดียว อย่างเช่น เมื่อยังเป็นผลอ่อนก็มีเปรี้ยวนำ แล้วอาจผสมด้วยฝาดหรือขม เมื่อเป็นผลแก่ความเปรี้ยวลดลง ก็อาจจะกลายเป็นรสหวานคู่กับรสฝาดแทนได้

ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ของสมอไทย

  • ส่วนของเปลือกสำต้น เมื่อแก่ได้ที่สามารถใช้เพื่อย้อมผ้าได้ สีที่ออกมาเป็นโทนดำอมแดง
  • ใบอ่อนใช้เป็นแผ่นห่อยาสูบได้
  • ใบแก่นำมาใช้ย้อมผ้า ได้สีเขียวขี้ม้าหรือสีเหลืองอมน้ำตาล ขึ้นอยู่กับสีใบที่เราเลือกใช้
  • ผลดิบกินเป็นผลไม้สดหรือนำไปดองเกลือ รสเปรี้ยวขมอมฝาด มีแทนนินเป็นจำนวนมาก
  • ผลอ่อนใช้เป็นยาระบาย ผลแก่เป็นยาฝาดสมาน แก้ลมจุกเสียด
  • เยื่อหุ้มเมล็ดแก้ขัดและโรคเกี่ยวกับน้ำดี มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์หลายชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินเอ แคลเซียม ฟอสฟอรัส ช
  • ผลสุก 5 – 6 ผลต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ใช้เป็นระบายอ่อนๆ ใช้น้ำประมาณ 1 ถ้วยแก้ว

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

www.Thaicrudedrug.com วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, e-magazine.info,

Caldecott, Todd (2006). Ayurveda: The Divine Science of Life. Elsevier/Mosby. ISBN 0-7234-3410-7. Contains a detailed monograph on Terminalia chebula(Haritaki; Abhaya) as well as a discussion of health benefits and usage in clinical practice. Available online at http://www.toddcaldecott.com/index.php/herbs/learning-herbs/361-haritaki