ผักเบี้ยใหญ่
ผักเบี้ยใหญ่ เป็นผักที่มีการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อน มักจะพบตามพื้นดิน ตามชายฝั่งริมน้ำที่โล่ง ดินทราย ที่ชื้นแฉะ ที่รกร้างทั่วไป หรือเป็นวัชพืชตามริมถนน สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เบี้ยใหญ่มีรสเปรี้ยว นิยมนำมาทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก หรือนำมาต้มในแกง แถมยังมีคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย เหมือนจะเป็นผักที่พบได้ทั่วไป แต่มีประโยชน์มากมาย แถมต่างประเทศทางยุโรปยังนำมาใช้เป็นไม้ประดับด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักเบี้ยใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Portulaca oleracea L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Purslane” “Common purslane” “Common garden purslane” “Pigweed purslane”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ผักเบี้ยดอกเหลือง” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ผักตาโค้ง” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “ผักอีหลู ตะก้ง” ชาวเงี้ยวแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ผักอีหลู” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “แบขี่เกี่ยง ตือบ้อฉ่าย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักเบี้ย (PORTULACACEAE)
ลักษณะของผักเบี้ยใหญ่
ผักเบี้ยใหญ่ เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขึ้นได้เองอายุปีเดียวที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย มักจะพบตามชายฝั่งริมน้ำที่โล่ง ดินทราย ที่ชื้นแฉะ ที่รกร้างทั่วไป เป็นวัชพืชตามริมถนนและข้างทางเดิน
ลำต้น : ลำต้นเตี้ยเลื้อยทอดไปตามพื้นดิน แตกกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไป ลำต้นอวบน้ำเป็นสีเขียวอมแดง ก้านกลม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นรูปลิ่ม รูปไข่กลับ คล้ายรูปช้อนหรือรูปลิ้น ปลายใบมนมีรอยเว้าเข้าเล็กน้อย โคนใบเรียวเล็กลงจนไปติดกับลำต้น แผ่นใบหนา ผิวใบเรียบเป็นมัน หลังใบเป็นสีเขียวแก่ ท้องใบเป็นสีแดงเข้ม
ดอก : ออกดอกเดี่ยว หรือออกเป็นช่อ ไม่มีก้านดอก ดอกมี 2 เพศ อยู่ในดอกเดียวกัน ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองสด มักออกเป็นกลุ่ม 3 – 5 ดอก กลีบเลี้ยง 4 – 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็กซ้อนกันเป็นคู่ กลีบดอกมี 5 กลีบ สีเหลืองสด แต่ละกลีบเป็นรูปไข่กลับหรือหัวใจคว่ำลง ปลายกลีบมีรอยเว้าเข้า ก้านสั้นมีขนหรือเยื่อบาง ๆ
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมหรือรูปวงรี เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลแล้วแตกออก
เมล็ด : ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก เป็นรูปกลมหรือรูปไต สีดำหรือสีเทาดำเป็นเงา บนเปลือกเมล็ดมีจุดกระ
สรรพคุณของผักเบี้ยใหญ่
- สรรพคุณจากใบ ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้ถูกไฟไหม้ แก้น้ำร้อนลวก แก้อักเสบบวม แก้ไฟลามทุ่ง เป็นยาแก้อาการอักเสบและแผล
– แก้อาการกระหายน้ำ แก้ไอแห้ง แก้ขัดเบา ด้วยการนำใบมาคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำผึ้งและน้ำตาล
– แก้ริดสีดวงทวารปวดบวม ด้วยการนำใบสดผสมกับส้มกบอย่างละเท่ากัน พอน้ำอุ่นใช้ชะล้างวันละ 2 ครั้ง - สรรพคุณจากน้ำคั้นของต้น เป็นยาฟอกโลหิต ช่วยแก้อาการปวดหู แก้ปวดฟัน ช่วยกระตุ้นให้กระเพาะหลั่งน้ำย่อยออกมามาก แก้หนองใน แก้ปัสสาวะขัด รักษาแผลจากแมลงกัดต่อย
– แก้เจ็บคอ แก้เหงือกบวม ช่วยทำให้ฟันทน ด้วยการนำน้ำคั้นมาผสมกับน้ำมันกุหลาบ ใช้อมเป็นยา - สรรพคุณจากต้น แก้เด็กไอกรน
– แก้เด็กหัวล้าน ด้วยการนำต้นมาเคี่ยวให้ข้น แล้วเอาไปผิงกับไฟให้แห้ง บดให้เป็นผงผสมกับไขหมู ทำการทาบริเวณที่มีอาการ
– แก้เด็กเป็นไข้สูง ด้วยการนำต้นสดมาตำพอกวันละ 2 ครั้ง
– แก้บิดถ่ายเป็นเลือด ป้องกันบิด ด้วยการนำต้นสด 550 กรัม ล้างน้ำให้สะอาด เอาไปนึ่ง 3 – 4 นาที ตำคั้นเอาน้ำมา 150 ซี.ซี. ใช้ทานครั้งละ 50 ซี.ซี. วันละ 3 ครั้ง หรือนำต้นสด 1 กำมือ ผสมปลายข้าว 3 ถ้วย นำมาต้มเป็นข้าวต้มทาน
– แก้เด็กท้องร่วง ด้วยการนำต้นสด 250 – 500 กรัม มาต้มกับน้ำใส่น้ำตาลพอประมาณ กินเรื่อย ๆ จนหมดใน 1 วัน กินติดต่อกัน 2 – 3 วัน หรือนำต้นสดมาล้างให้สะอาด ผิงไฟให้แห้งแล้วบดเป็นผงกินครั้งละ 3 กรัม กับน้ำอุ่น วันละ 3 ครั้ง
– แก้ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน ด้วยการนำต้น 1 กำมือ ล้างน้ำให้สะอาด เอาน้ำประมาณ 30 ซี.ซี. ผสมกับน้ำเย็นจนเป็น 100 ซี.ซี. ใส่น้ำตาลพอประมาณ ใช้ทานครั้งละ 100 ซี.ซี. วันละ 3 ครั้ง
– ช่วยแก้บวม รักษาแผลเน่าเปื่อยเป็นหนองเรื้อรัง ด้วยการนำต้นสดมาตำคั้นเอาน้ำมาต้ม เมื่อเย็นแล้วนำมาใช้ทา
– รักษาฝีประคำร้อย ด้วยการนำต้นมาผึ่งให้แห้งในที่ร่ม เผาให้เป็นถ่าน บดเป็นผงผสมกับไขหมู แล้วชะล้างบาดแผล เช็ดให้แห้ง แล้วทำการพอกวันละ 3 ครั้ง
– แก้แผลกลาย แก้มีก้อนเนื้องอก แก้เลือดออกเรื่อย ๆ แก้แผลลามไปเรื่อย ด้วยการนำต้น 500 กรัม มาเผาให้เป็นถ่าน บดเป็นผงผสมกับไขหมูทาบริเวณที่มีอาการ - สรรพคุณจากทั้งต้น ดีต่อฟัน ช่วยแก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ร้อน ดับพิษ ช่วยหล่อลื่นลำไส้ ช่วยรักษาริดสีดวงทวารแตกเลือดออก
- สรรพคุณจากเมล็ด แก้กระหายน้ำ แก้อาการไอ เป็นยาระบายอ่อน ๆ เป็นยาถ่ายพยาธิ เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา
ประโยชน์ของผักเบี้ยใหญ่
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใช้ทานเป็นผักสด ผักสลัด นำมาต้มลวกทานร่วมกับน้ำพริก ใช้ใส่ในแกงจืด ชาวยุโรปนำมาดองใส่เกลือและน้ำส้ม
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ ทวีปยุโรปปลูกต้นผักเบี้ยใหญ่เป็นไม้ประดับ
คุณค่าทางโภชนาการของผักเบี้ยใหญ่
คุณค่าทางโภชนาการของผักเบี้ยใหญ่ ต่อ 100 กรัม
สารอาหาร | ปริมาณที่ได้รับ |
โปรตีน | 2.2 กรัม |
ไขมัน | 0.3 กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 7.9 กรัม |
ใยอาหาร | 1.1 กรัม |
น้ำ | 87.5% |
แคลเซียม | 115 มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก | 1.4 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 40 มิลลิกรัม |
วิตามินเอ | 2,200 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 | 0.06 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.14 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 0.8 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 21 มิลลิกรัม |
ผักเบี้ยใหญ่ เป็นต้นยอดนิยมของชาวยุโรปทั้งในด้านการนำมาทาน และนำมาปลูกเป็นไม้ปลูกประดับ อีกทั้งยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากมาย ค่อนข้างที่จะเป็นยาดีในเด็ก ผักเบี้ยใหญ่มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาฟอกโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นยาทาภายนอก แก้เจ็บคอ แก้เด็กเป็นไข้สูง แก้เด็กหัวล้าน และแก้เด็กท้องร่วงได้ เป็นยาที่มีสรรพคุณต่อเด็ก ๆ เป็นอย่างมาก
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักเบี้ยใหญ่”. หน้า 498-499.
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ผักเบี้ยใหญ่”. หน้า 104.
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักเบี้ยใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [17 พ.ย. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ผักเบี้ยใหญ่”. อ้างอิงใน : หนังสือ พรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [17 พ.ย. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 2 คอลัมน์ : สมุนไพรน่ารู้. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). “ผักเบี้ยใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [17 พ.ย. 2014].
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ระงับปวดและอักเสบของผักเบี้ยใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th. [17 พ.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
1.https://www.plantsofthemiddleeast.com/directory/bahrain/portulaca_oleracea/index.htm
2.https://gardenerspath.com/plants/herbs/grow-purslane/