ว่านสิงหโมรา เป็นยาฟอกเลือด บำรุงโลหิตในสตรี

0
1430
ว่านสิงหโมรา
ว่านสิงหโมรา เป็นยาฟอกเลือด บำรุงโลหิตในสตรี เป็นพรรณไม้ล้มลุก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวก้านใบมีหนามแหลมคม ดอกออกเป็นช่อแท่งกลมและยาว ผลขนาดเล็ก เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง
ว่านสิงหโมรา
เป็นพรรณไม้ล้มลุก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวก้านใบมีหนามแหลมคม ดอกออกเป็นช่อแท่งกลมและยาว ผลขนาดเล็ก เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง

ว่านสิงหโมรา

ว่านสิงมโหรา เป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดกลางลำต้นสั้นแตกหน่อเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวก้านใบมีหนามแหลมคมเรียงตัวเป็นวงโค้งตามก้านใบและดอกออกเป็นช่อ จัดอยู่วงศ์บอน (ARACEAE) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Cyrtosperma johnstonii (N.E.Br.) N.E.Br. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Alocasia johnstonii N.E.Br.) ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ผักหนามฝรั่ง (จังหวัดกรุงเทพมหานคร), ว่านสิงหโมรา (จังหวัดกรุงเทพมหานคร) เป็นต้น[1]

ลักษณะว่านสิงหโมรา

  • ลักษณะของต้น ลำต้นจะมีลักษณะเป็นสีชมพูอ่อน ขยายพันธุ์โดยการแยกหัว การเพาะเมล็ด จะเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายที่สามารถระบายน้ำได้ดี มีความชื้น ชอบแสงแดดรำไร ตอนปลูกให้กลบดินแค่พอมิดหัว ควรเพาะในกระถางให้ต้นโตพอสมควร แล้วจึงค่อยนำไปปลูกในดินโคลน ดินเลน หรือดินร่วน ๆ คลุกใบพืชผุพัง รดน้ำอย่าให้น้ำท่วมขัง มักจะพบเจอขึ้นที่ตามบริเวณลำธารที่พื้นเป็นดินโคลนเลนตามป่าดิบชื้นที่มีแสงแดดรำไร[1],[3],[4],[6]
  • ลักษณะของใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเป็นกระจุกใกล้กับราก แทงออกจากหัวใต้ดิน ใบเป็นรูปเงี่ยงใบหอกถึงรูปหัวลูกศร สามารถมีความยาวได้ถึงประมาณ 60 เซนติเมตร ที่ปลายใบจะแหลม ส่วนที่โคนใบจะเป็นรูปเงี่ยงลูกศร ที่ขอบใบเรียบ ท้องใบมีลักษณะเรียบ ส่วนที่หลังใบก็เรียบเช่นกัน ก้านใบมีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร จะมีจุดประเป็นสีน้ำตาล สีขาว สีชมพู สีเขียว ที่ขอบก้านใบจะมีหนามทู่ ลักษณะเส้นใบของใบอ่อนจะเป็นสีชมพูสด ที่แผ่นใบจะมีแต้มสีน้ำตาลแดง มีเส้นใบเป็นสีเขียวถึงสีน้ำตาล ที่โคนใบจะเป็นพูยาว ที่กาบใบมีลักษณะเป็นรูปเรือ ที่ด้านนอกจะเป็นสีม่วงเข้ม ส่วนที่ด้านในจะเป็นสีเขียวแกมเหลือง[1],[2],[3]
  • ลักษณะของดอก ดอกจะออกเป็นช่อเป็นแท่งกลมและยาว จะแทงออกจากกาบใบ ส่วนใหญ่ดอกย่อยเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ใบประดับมีลักษณะคล้ายกับกาบสีน้ำตาลหุ้มไว้หนึ่งด้าน มีขนาดใหญ่[1]
  • ลักษณะของผล มีขนาดเล็ก เป็นผลสด มีเนื้อนุ่มหุ้มข้างนอกไว้ มีเปลือกหุ้มเมล็ดแข็งมาก[1],[4]

สรรพคุณว่านสิงหโมรา

1. สามารถนำก้านใบมาปรุงเป็นยาดูดพิษ กำจัดสารพิษต่าง ๆ ในร่างกายได้ (ก้านใบ)[4]
2. มีสรรพคุณที่เป็นยาแก้โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต ด้วยการปรุงเป็นยานำต้นมาหั่นละเอียด (รวมใบ ลำต้น เหง้า) มาล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำไปตากแดดให้แห้งเป็นเวลาประมาณ 2-3 วัน แล้วเอามาต้มกับน้ำ แล้วก็นำน้ำที่ได้มาดื่มเป็นประจำ หรือใช้ดื่มแทนน้ำเปล่า (ข้อมูลส่วนนี้ยังไม่มีรายงานทางเภสัชวิทยายืนยันว่ามีฤทธิ์ดังกล่าวหรือไม่)
3. ใบ มีรสร้อน สามารถนำมาตำพอกผสมเหล้า ใช้เป็นยาพอกฝีที่ไม่เป็นหนองให้แห้งหายได้ (ใบ)[5]
4. สามารถนำก้านใบมาดองกับเหล้าใช้ทานเป็นยาแก้โรคอยู่ไฟไม่ได้ หรือโดนเลือดลมกระทำ ที่เป็นเหตุทำให้ผอมแห้งแรงถอย ให้ดื่มก่อนอาหารครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ (ก้านใบ[3], ทั้งต้น[4])
5. ดอก มีสรรพคุณที่ช่วยทำให้ประจำเดือนมาปกติ โดยนำดอกมาปิ้งกับไฟให้เหลืองแล้วนำมาดองเหล้า ทานเป็นยาแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติของสตรี (ดอก)[3],[5]
6. เหง้า ก้านใบ กาบต้น สามารถช่วยในการย่อยอาหารได้ (เหง้า,ก้านใบ,กาบต้น)[3]
7. ก้านใบสามารถช่วยบำรุงกำลังได้ (ก้านใบ)[4]
8. ต้นกับใบของต้น มีรสร้อน สามารถใช้เป็นยาอายุวัฒนะได้ (ต้น, ใบ)[4]
9. นำก้านใบมาหั่นชิ้นเล็กมาดองกับเหล้า สามารถทานเป็นยาช่วยฟอกเลือดบำรุงโลหิต ช่วยเจริญอาหารได้ เหมาะกับสตรี ให้ดื่มก่อนอาหารครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ (ก้านใบ)[1],[2],[3] ยังสามารถใช้ส่วนของเหง้า กาบต้น ทั้งต้นมาดองกับเหล้าทาน จะมีสรรพคุณที่บำรุงโลหิตได้ (เหง้า,กาบต้น,ทั้งต้น)[3],[4],[5]
10. ก้านใบสามารถช่วยบำรุงเส้นเอ็น ช่วยบำรุงกล้ามเนื้อได้ (ก้านใบ)[4]
11. เหง้า มีรสร้อน สามารถนำมาฝนกับน้ำหรือนำมาฝนกับเหล้า ใช้ปิดปากแผลที่โดนแมงป่อง ตะขาบกัดต่อย สามารถบรรเทาอาการปวดได้ (เหง้า)[3],[4]
12. สามารถนำช่อดอกมาปิ้งไฟดองกับเหล้า ทานเป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวารได้ (ช่อดอก)[1],[2]
13. ต้นกับใบ มีรสร้อน มีสรรพคุณที่สามารถช่วยรักษามดลูกสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตรใหม่ได้ (ต้นและใบ)[4]
14. ทั้งต้นจะมีรสร้อน สามารถนำมาดองกับเหล้าใช้ดื่มเป็นยาช่วยขับน้ำคาวปลาของสตรีได้ (เหง้า,ก้านใบ,กาบต้น,ทั้งต้น)[3],[4]
15. ต้นกับใบสามารถใช้เป็นยาแก้ลมวิงเวียนบ่อย หน้ามืด ซูบซีดได้ โดยนำต้นกับใบมาหั่นชิ้นบางผสมมะตูมอ่อน กล้วยน้ำว้าห่าม แล้วเอามาดองกับเหล้าเป็นเวลา 15 วัน หรือจะบดเป็นผงผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน ทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 เวลา เช้าเย็น (ต้น, ใบ)[4]
16. สามารถนำทั้งต้นมาดองกับเหล้าใช้ทานเป็นยาช่วยบำรุงธาตุในร่างกายได้ (ทั้งต้น)[4],[5]
17. ก้านใบ ต้น ใบ สามารถช่วยรักษาโรคโลหิตจางได้ (ก้านใบ,ต้น, ใบ)[4]

ประโยชน์ว่านสิงหโมรา

  • เชื่อกันว่ามีอานุภาพด้านป้องกันภูตผีปีศาจ และเชื่อว่าเป็นว่านที่คุ้มครองป้องกันภัยพิบัติไม่ให้เข้ามา นิยมปลูกตามริมคลอง หน้าบ้าน ที่พักอาศัย เมื่อว่านออกดอกให้หาผ้าขาวบริสุทธิ์มาผูกไว้รอบกระถาง ให้ดีควรปลูกวันอังคารหรือวันพฤหัสบดีข้างขึ้น ให้รดน้ำด้วยน้ำที่เสกด้วยคาถา อิติปิโสฯ หรือ นะโมพุทธายะ 3 จบตลอด ผู้ปลูกจะสมใจปองในสิ่งที่พึงประสงค์เอาไว้ (สามารถใช้หนามเป็นเครื่องกันภูตผีปีศาจได้)[6]
  • ปลูกเป็นไม้ประดับ เมื่อเจ็บไข้ก็สามารถนำมาทำเป็นยาได้[5]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. อภัยภูเบศรสาร ฉบับที่ 40 ประจำเดือนตุลาคม 2549. “สิงหโมรา”. หน้า 3.
2. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ว่านสิงหโมรา” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [13 มิ.ย. 2014].
3. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สิงหโมรา (Singha Mora)”. หน้า 304.
4. ๑๐๘ พรรณไม้ไทย. “ว่านสิงหะโมรา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com. [13 มิ.ย. 2014].
5. สมุนไพรดอทคอม. “สิงหโมรา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.samunpri.com. [13 มิ.ย. 2014].
6. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “
สิงหโมรา”. หน้า 98.

อ้างอิงรูปจาก
1.https://davesgarden.com/