ยูคาลิปตัส
ชื่อสามัญ Eucalyptus[4] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Eucalyptus globulus Labill. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Eucalyptus gigantea Dehnh., Eucalyptus glauca A.Cunn. ex DC., Eucalyptus globulosus St.-Lag., Eucalyptus globulus subsp. globulus, Eucalyptus maidenii subsp. globulus (Labill.) J.B.Kirkp., Eucalyptus perfoliata Desf., Eucalyptus pulverulenta Link) อยู่วงศ์ชมพู่ (MYRTACEAE)[1],[2] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น หนานอัน (จีนกลาง), ยูคาลิป (ไทย), น้ำมันเขียว (ไทย), อันเยี๊ยะ (จีนกลาง), โกฐจุฬารส (ไทย), มันเขียว (ไทย) [1],[2]
หมายเหตุ
ต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกทั่วไปมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eucalyptus camaldulensis Dehnh. เป็นคนละชนิดกับที่กำลังจะกล่าวถึงในบทความนี้ (ชนิดที่ใช้ทำยามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eucalyptus globulus Labill.)[3]
ลักษณะของยูคาลิปตัส
- ต้น เป็นไม้ยืนต้น ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ต้นสูงได้ถึงประมาณ 10-25 เมตร จะมีเรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบมีลักษณะค่อนข้างกลม แตกกิ่งก้านเยอะ เปลือกต้นจะบางเรียบและเป็นมัน ลอกง่าย เปลือกต้นมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลอ่อนปนสีขาว สีเทาสลับขาวและสีน้ำตาลแดงเป็นบางที่ เปลือกนอกแตกร่อนเป็นแผ่น หลุดจากผิวลำต้น ถ้าแห้งจะลอกง่าย มีกิ่งก้านเล็กและเป็นเหลี่ยม มีจุดตากลม[1],[2]
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบออกเรียงสลับกันเป็นคู่ ใบจะห้อยลง ใบเป็นรูปหอก ที่ปลายใบจะแหลม ใบกว้างประมาณ 2-7 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 12-30 เซนติเมตร มีแผ่นใบหนาและเป็นสีเขียวอมน้ำเงิน มีผงคล้ายกับแป้งปกคลุม เห็นเส้นใบชัด มีก้านใบสั้น ก้านใบมีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือจะเป็นกระจุก ออกดอกที่ตามง่ามใบ มีดอกอยู่ประมาณ 2-3 ดอก ดอกมีลักษณะเป็นสีขาว สีเหลืองอ่อน มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้อยู่หลายก้าน ออกดอกเกือบทั้งปี[1],[2]
- ผล เป็นรูปครึ่งวงกลมหรือจะคล้ายกับรูปถ้วย ที่ปลายผลจะแหลม มีผลอ่อนสีเขียว ผลแก่เป็นสีน้ำตาล มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.8-2 เซนติเมตร มีเปลือกผลที่หนา จะมีรอยเส้นสี่เหลี่ยมอยู่ 4 เส้น ที่ปลายผลของผลแก่จะแยกออก[1],[2]
สรรพคุณยูคาลิปตัส
1. ใบ สามารถช่วยแก้ฝีหัวช้าง ฝีมีหนองอักเสบได้ (ใบ)[1]
2. สามารถช่วยแก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ (ใบ)[1]
3. สามารถช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบได้ (ใบ)[2]
4. สามารถนำน้ำมันมาใช้ทาคอ ช่วยแก้ไอ หรือนำมาใช้อมแก้หวัดคัดจมูกได้[3]
5. ใบกับเปลือกราก มีรสขมเผ็ด มีกลิ่นหอม จะเป็นยาเย็น ออกฤทธิ์กับปอด ลำไส้ ทางเดินปัสสาวะ สามารถใช้ใบเป็นยาแก้ไข้ ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดติดเชื้อ (ใบ)[1],[3]
6. สามารถนำน้ำมันมาทาถูนวดที่ตามอวัยวะ แก้อาการฟกช้ำได้[3]
7. สามารถช่วยแก้โรคผิวหนัง ติดเชื้อไวรัสบริเวณผิวหนัง ผดผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ กลากเกลื้อน (ใบ)[1]
8. สามารถช่วยรักษาลำไส้อักเสบ และแก้บิดได้ (ใบ)[1]
9. นำน้ำมันที่กลั่นจากใบสด 0.5 มิลลิเมตร (ประมาณ 8 หยด) มาทานหรือใช้ทำเป็นยาอม สามารถช่วยขับเสมหะได้ (ใบ)[2],[3]
10. นำน้ำมันที่กลั่นจากใบสด 0.5 มิลลิเมตร (ประมาณ 8 หยด) มาทานหรือใช้ทำเป็นยาอม สามารถใช้เป็นยาแก้ไอได้ (ใบ)[2]
หมายเหตุ
ให้นำใบแห้งครั้งละ 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำทานหรือใช้เข้าในตำรับยาอื่น ถ้าใช้ภายนอกให้กะตามความเหมาะสม ถ้าเป็นใบสดให้ใช้ครั้งละ 18-30 กรัม[1]
ประโยชน์ยูคาลิปตัส
1. ใช้เผาถ่าน ด้วยการนำฟืนจากไม้โดยจะให้พลังงานความร้อนถึง 4,800 แคลอรีต่อกรัม และถ่านให้พลังงานความร้อนถึง 7,400 แคลอรีต่อกรัม ใกล้เคียงกับไม้โกงกางที่เป็นถ่านไม้ชั้นดีที่สุด [4]
2. สามารถนำเนื้อไม้มาทำเสา เครื่องใช้สอย ทำเครื่องเรือน ทำเสาเข็ม กระดาษ คอกเลี้ยงสัตว์ ทำรั้ว เฟอร์นิเจอร์ สร้างบ้าน วัสดุก่อสร้างได้ แต่จะต้องอาบน้ำยาเพื่อเป็นการรักษาเนื้อไม้ไว้ก่อน จะช่วยยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น [4]
3. สามารถนำเปลือกไม้มาบดละเอียดผสมขี้เลื้อย กาว ใช้ทำธูปถ้า และผสมกับกำมะถัน สามารถทำยากันยุงได้[5]
4. สามารถนำใบมาสกัดเป็นน้ำมัน ไอระเหยแก้หวัด น้ำยาหอมระเหยได้[4]
5. ใช้ทำยาไล่ยุง ฆ่าแมลง ฆ่ายุงได้ โดยนำใบสดประมาณ 1 กำมือ มาขยี้ จะทำกลิ่นน้ำมันออกมา ช่วยไล่ยุง ไล่แมลงได้
ประโยชน์ของน้ำมันยูคาลิปตัส
- สามารถช่วยบรรเทาอาการหวัด ไอ หวัด ภูมิแพ้ คัดจมูก แก้อาการปวดศีรษะจากหวัดไซนัส ทำให้หายใจโล่ง
- ช่วยแก้เจ็บคอ ช่วยทำให้รู้สึกสดชื่น และใช้เป็นยาธาตุ
- ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน
- บรรเทาแผลสด แผลไฟไหม้ แผลติดเชื้อ หรือใช้ทาถูนวดแก้ปวดกล้ามเนื้อได้
วิธีใช้น้ำมัน
ใช้ผสมน้ำมันพื้นฐาน น้ำมันนวด น้ำมันหอมระเหยต่าง ๆ ได้เกือบจะทุกชนิด อย่างเช่น น้ำมันโจโจ้บา น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ น้ำมันองุ่น น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดมะรุม น้ำมันสวีทอัลมอนด์หรือน้ำมันพืช ที่เป็น Cosmetic grade โดยอัตราส่วนในการใช้น้ำมัน ถ้าใช้กับผิวหน้าไม่ควรใช้เกิน 1% ถ้าใช้กับผิวกายไม่ควรใช้เกิน 3%) หรือหยดลงอ่างอาบน้ำอุ่น สามารถช่วยลดอาการหวัด ปวดกล้ามเนื้อ แก้แพ้อากาศ ไซนัส ปวดข้อและเมื่อยล้า ปวดศีรษะ โดยนำมาผสมครีมหรือโลชันนำมาใช้ทาเพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น และสามารถใช้ใส่โคมไฟฟ้าอโรมาบุหงา ผ้าเช็ดหน้า ไอระเหยจะช่วยลดอาการจามเพราะแพ้อากาศหรือเพราะเป็นหวัดได้ดี ช่วยทำให้หายใจโล่งมากขึ้น ทำให้มีสมาธิดีขึ้น ช่วยขับไล่แมลง
คำแนะนำการใช้น้ำมัน
ให้ใช้ภายนอก ไม่ควรทาน ห้ามสูดดม ห้ามสัมผัสโดยตรง ต้องทำให้เจือจางก่อน เพราะมีความเข้มข้นสูง ถ้าเข้าตาให้นำน้ำสะอาดมาล้างตาหลาย ๆ ครั้ง แล้วรีบไปพบแพทย์ ถ้าโดนผิวหนังต้องรีบล้างออกด้วยน้ำสบู่ ไม่งั้นอาจเกิดอาการแพ้ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่เยอะเกินไป เนื่องจากจะทำให้ปวดศีรษะ ผู้ป่วยเรื้อรังที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับตับ ไต กระเพาะอาหาร ผู้ที่เป็นผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ต้องพึ่งอินซูลิน โรคลมบ้าหมู โรคความดันโลหิตสูงหรือต่ำ และสตรีที่มีครรภ์หรือสตรีที่ต้องให้นมบุตรอายุต่ำกว่า 5 ปีก็ไม่ควรใช้
ข้อควรระวังในการใช้
- ถ้าใช้ในปริมาณที่มากเกินไป จะเกิดอาการระคายเคืองทางเดินอาหาร[2]
- น้ำมันที่ได้จากการสกัด ห้ามทานเกิน 3.5 ซีซีต่อ 1 ครั้ง เนื่องจากจะทำให้มีอาการเป็นพิษกับร่างกาย[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
- สารสกัดที่ได้ ยับยั้งเชื้อ Staphylo coccus ได้ ฤทธิ์ที่ยับยั้งเชื้อขึ้นอยู่ที่ความเข้มข้นของสารสกัด[1]
- สาร Oleum Eucalypti เข้มข้น 6% ช่วยยับยั้งเชื้อวัณโรค Rv, H37 ได้[1]
- สารสกัดที่ได้ ช่วยดับพิษจากเชื้อบาดทะยัก เชื้อคอตีบได้ ด้วยการนำสารสกัดมาใช้ทำเป็นยาฉีดกระต่ายที่ติดเชื้อบาดทะยัก หรือติดเชื้อคอตีบ อัตราส่วน 0.2 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ปรากฏว่าสามารถช่วยยับยั้งการติดเชื้อบาดทะยัก และเชื้อคอตีบได้ และไม่แสดงพิษของเชื้อที่ติดในร่างกายนาน 2 สัปดาห์[1]
- สารสกัดที่ได้ จะมีฤทธิ์ที่สามารถขับพยาธิปากขอได้[1]
- พบน้ำมันหอมระเหยประมาณ 0.92-2.89% ในใบ Oleum Eucalypti ประกอบไปด้วยสาร เช่น 1-Acely 1-4 isopropylide-necyclopentene, Pinocarveol, Pinene, Aromadendrene, Quercitrinm Quercetin Rutin, Cuminaldehyde, Pinocarvon, Cineole และพบ Guaiacol Globulol., Eucalyptin, Tannin ในใบด้วย [1]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ยูคาลิปตัส”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 468.
2. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ยูคาลิป”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [22 พ.ค. 2014].
3. ฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “ยูคาลิป”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/essentialoils/. [22 พ.ค. 2014].
4. งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, โรงเรียนดาราพิทยาคม ตำบลบ้านดารา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์. “ยูคาลิปตัส”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.drpk.ac.th/botany/. [22 พ.ค. 2014].
5. โรงเรียนสองแคววิทยาคม. “ยูคาลิปตัส”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.songkaew.ac.th. [22 พ.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1. https://plantamus.com/