พญามุตติ
เป็นพรรณไม้ประเภทล้มลุก ดอกเป็นดอกเดี่ยว ดอกย่อยสีเหลืองออกเป็นกระจุกแน่น ผลเป็นผลแห้ง เมล็ดเป็นลอน

พญามุตติ

ต้นพญามุตติจัดเป็นพรรณไม้ที่เติบโตตามพื้นที่ที่มีความชื้น และตามทุ่งนา[1],[2] ชื่อวิทยาศาสตร์ Grangea maderaspatana (L.) Poir. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Grangea aegyptiaca (Juss. ex Jacq.) DC., Artemisia maderaspatana L., Tanacetum aegyptiacum Juss. ex Jacq. ชื่ออื่น ๆ หญ้าจามหลวง (เชียงใหม่), พญามุตติ (สุพรรณบุรี), กาดน้ำ, กาดนา เป็นต้น[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1]

ลักษณะของต้นพญามุตติ

  • ต้น เป็นพรรณไม้ประเภทล้มลุก มีอายุได้เพียงฤดูเดียวเท่านั้น ลำต้นชูตั้งขึ้น ลำต้นมีความสูงอยู่ที่ 10-55 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านได้มาก โดยกิ่งก้านนี้จะแผ่มาจากบริเวณตรงโคนต้น มีลักษณะชูขึ้นสูงหรือลำต้นอาจจะทอดเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดินก็ได้ ผิวมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม และมีต่อมขึ้นกระจายอยู่ทั่วลำต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
  • ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกเรียงสลับกัน เป็นรูปหอกกลับหรือรูปไข่กลับ ตรงปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม บริเวณโคนใบสอบแคบเรียว ส่วนขอบใบจะจักเว้าลึกลงไปข้างละประมาณ 3-4 หยัก แต่ละหยักนั้นมีลักษณะค่อนข้างมน สีเขียวอ่อน เนื้อใบอวบแผ่ออกเป็นปีก และตรงบริเวณผิวใบมีขนขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน[1],[2] ไม่มีก้านใบ มีขนาดความกว้างอยู่ที่ 1-4 เซนติเมตร และความยาวอยู่ที่ 2-8 เซนติเมตร
  • ดอก เป็นดอกเดี่ยว ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงช่วงเดือนเมษายน[1],[2] ดอกย่อยสีเหลืองออกเป็นกระจุกแน่น โดยดอกจะออกตรงบริเวณปลายยอดตรงข้ามกับใบ รูปร่างกลม ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลางของช่อดอกอยู่ที่ 1-1.5 เซนติเมตร ตรงก้านดอกมีขนอ่อนนุ่มสีขาวขึ้นปกคลุม และดอกย่อยมีเป็นจำนวนมาก ดอกเพศเมียจะมีลักษณะของกลีบดอกที่เรียงตัวกันเป็นชั้น ๆ ที่วงนอกเป็นจำนวนมาก กลีบดอกจะมีสีเป็นสีเหลืองอ่อน โดยจะเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ตรงปลายหลอดจะแยกออกเป็นแฉก 2 แฉก แต่ละแฉกจะมีความยาวอยู่ที่ 0.1-0.3 มิลลิเมตร รังไข่เป็นทรงรูปรีสีเขียว มีความยาวอยู่ที่ 3-3.5 มิลลิเมตร ผิวเกสรด้านนอกมีต่อมขึ้นอยู่ และมีก้านชูเกสรที่มีความยาวอยู่ที่ 1.8-2.2 มิลลิเมตร ส่วนบริเวณปลายยอดเกสรจะแยกออกเป็น 2 แฉก แต่ละแฉกยาวประมาณ 0.1-0.3 มิลลิเมตร ดอกสมบูรณ์เพศจะเรียงตัวกันอยู่ภายในชั้นวงใน โดยกลีบดอกจะเป็นสีขาวแกมเหลืองสด ปลายกลีบดอกแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก แต่ละแฉกยาว 0.1-0.3 มิลลิเมตร โดยจะมีเฉพาะดอกรูปหลอดเท่านั้นที่กลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดที่ฐาน หลอดนี้มีความยาวอยู่ที่ 1-1.5 มิลลิเมตร ผิวด้านนอกมีต่อมขึ้นประปราย ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อันอยู่เชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้มีสีเหลืองอ่อนแกมเทา ก้านชูเกสรมีรูปร่างเป็นแท่งยาว โดยมีความยาวอยู่ที่ 0.2-0.3 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้นี้จะติดอยู่ที่บริเวณฐานของหลอดกลีบดอก อับเรณูของเกสรจะมีลักษณะเป็นรูปกระสวย มีความยาวอยู่ที่ 0.1-0.2 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศเมีย โดยจะมีรังไข่เป็นทรงรูปรี มีความยาวอยู่ที่ 3.5-4 มิลลิเมตร ผิวด้านนอกเกสรมีต่อมขึ้น ส่วนก้านชูเกสรเพศเมียมีอยู่ 1 อัน มีความยาวอยู่ที่ 1 มิลลิเมตร ตรงปลายยอดเกสรจะแยกออกเป็น 2 แฉก แต่ละแฉกมีความยาวอยู่ที่ 0.1-0.2 มิลลิเมตร ผิวมีต่อมขึ้นปกคลุม และมีชั้นใบประดับเป็นสีเขียวปนขาว ลักษณะของดอกเกสรเพศเมียนั้นจะเป็นรูปร่างใบหอก วงใบประดับมีอยู่ด้วยกัน 3 ชั้น ผิวมีเนื้อสัมผัสที่หนาแข็ง และมีขนขึ้นปกคลุมเป็นประปราย วงนอกสุดของเกสรจะมีรูปร่างเป็นรูปสามเหลี่ยม ที่มีขนาดกว้างอยู่ที่ 2-2.5 มิลลิเมตร และมีความยาวอยู่ที่ 2.5-3 มิลลิเมตร วงที่สองเป็นรูปร่างสามเหลี่ยม มีขนาดความกว้างอยู่ที่ 2-2.5 มิลลิเมตร และมีความยาวอยู่ที่ 3-3.5 มิลลิเมตร วงในสุดเป็นรูปร่างหอก มีขนาดความกว้างอยู่ที่ 1-1.5 มิลลิเมตร และมีความยาวอยู่ที่ 4-4.5 มิลลิเมตร
  • ผล มีลักษณะของผลเป็นผลแห้ง เมล็ดเป็นลอน ๆ โดยลักษณะของเมล็ดจะเป็นรูปทรงกระบอกกลม[2] และมีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร

สรรพคุณ และประโยชน์ต้นพญามุตติ

1. ตำรายาพื้นบ้านทางภาคอีสานจะนำทั้งต้น นำมาตำจากนั้นก็นำมาใช้พอกบริเวณที่มีอาการ โดยจะมีสรรพคุณแก้อาการปวดบวม (ทั้งต้น)[2]
2. ทั้งต้นมีรสชาติที่เผ็ดร้อน โดยทั้งต้นนี้จะมีสรรพคุณเป็นยาในการช่วยบำรุงธาตุ และทำให้เจริญอาหารยิ่งขึ้น (ทั้งต้น)[1],[2]
3. ในตำรายาของไทยจะใช้ทั้งต้นนำมาทำเป็นยาขับระดูของสตรี (ทั้งต้น)[2]
4. ทั้งต้นนำมาช่วยระงับอาการทางประสาทได้ (ทั้งต้น)[2]
5. ทั้งต้นนำมาทำเป็นยาแก้อาการท้องร่วงได้ (ทั้งต้น)[1]
6. ทั้งต้นใช้นำมาทำเป็นยาที่ออกฤทธิ์รักษาอาการท้องขึ้น อาการท้องอืดท้องเฟ้อ และช่วยขับลมในท้อง [1],[2]
7. ทั้งต้นและส่วนของรากนำมาตำ จากนั้นก็นำไปพอกหรือนำไปทาบริเวณที่มีอาการ โดยจะมีสรรพคุณในการรักษาโรคอีสุกอีใส (ทั้งต้นและราก)[2]
8. ในตำรายาของไทยจะนำใบมาทำเป็นยารักษาอาการไอ (ใบ)[1],[2]
9. น้ำคั้นจากใบนำมาใช้สำหรับหยอดหู ออกฤทธิ์รักษาอาการเจ็บหูได้ (ใบ)[1],[2]
10. ใบมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อโรค โดยจะนำมาทำเป็นยาปฏิชีวนะช่วยในการชำระบาดแผล (ใบ)[1],[2]
11. ประเทศอินเดียจะนำใบมาทำเป็นยารักษาอาการปวดท้อง และนำมาใช้เป็นยาระบายอีกด้วย (ใบ)[2]
12. ประเทศอินเดียจะนำใบมาทำเป็นยาป้ายลิ้นสำหรับใช้ขับระดูและแก้อาการฮีสทีเรีย (ใบ)[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นพญามุตติ

1. สารสกัดแอลกอฮอล์จากต้น มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต ต้านเชื้อบิด ลดการบีบตัวของลำไส้ กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกในสัตว์ทดลอง
2. การทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดแอลกอฮอล์จากทั้งต้น พบว่ามีความเป็นพิษปานกลาง โดยมีค่า LD50 = 681 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[2]
3. มีการทดลองในสตรีมีครรภ์ผลพบว่าสารสกัดจากต้น จะออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกซึ่งอาจจะทำให้แท้งได้[2]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “พ ญ า มุ ต ติ”. หน้า 523-524.
2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “พญามุตติ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [11 พ.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.floraofbangladesh.com/2021/05/namuti-or-madras-carpet-grangea.html
2.https://www.biolib.cz/en/image/id109826/