กะเพรา
กะเพรา (Holy basil) เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายของคนไทยว่าเป็นยาสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุนรสเผ็ดร้อน และมักจะนำมาเป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารไทยอย่างเมนู กะเพราหมู หรือ กะเพราหมูกรอบ นอกจากในไทยแล้วนั้นยังนิยมอย่างมากในประเทศอินเดียอีกด้วย ถือเป็นต้นที่นิยมนำมารับประทานเพื่อป้องกันไวรัสโควิด ปัจจุบันนั้นกะเพรายังเป็นผักที่ได้ฉายาว่าเป็นราชินีแห่งสมุนไพร (The Queen of herbs) และยาอายุวัฒนะ (The Elixir of life) อีกด้วย ถือเป็นผักที่คู่ควรแก่การนำมารับประทานเป็นประจำจริง ๆ
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกะเพรา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum tenuiflorum L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Holy basil” และ “Sacred basil”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กะเพราขน กะเพราขาว กะเพราแดง” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “อีตู่ไทย” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “กอมก้อ กอมก้อดง” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ห่อกวอซู ห่อตูปลู อิ่มคิมหลำ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
ชื่อพ้อง : Ocimum sanctum L.
ลักษณะของกะเพรา
กะเพรา เป็นไม้ล้มลุกที่มีโคนต้นแข็ง โดยกะเพราแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1. กะเพราแดง นิยมใช้เป็นยาสมุนไพร
2. กะเพราขาว นิยมนำมาทำอาหาร
ลำต้น : กะเพราแดงมีลำต้นสีแดงอมเขียว กะเพราขาวมีลำต้นสีเขียวอมขาวและยอดอ่อนมีขนสีขาว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวสีเขียวรูปวงรีออกตรงข้ามกัน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเป็นจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบมีขนสีขาว
ดอก : ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกมีสีขาวแกมม่วงแดงจำนวนมาก กลีบเลี้ยงโคนจะเชื่อมติดกัน ปลายเรียวแหลม ด้านนอกมีขน กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ปาก ปากบน 4 แฉก ปากล่าง 1 แฉกและยาวกว่าปากบน มีขนประปราย เกสรตัวผู้มี 4 อัน
ผล : เป็นผลแห้งขนาดเล็ก เมื่อแตกออกจะมีเมล็ดสีดำไปจนถึงน้ำตาลคล้ายรูปไข่
สรรพคุณของกะเพรา
- สรรพคุณจากกะเพรา เป็นยาอายุวัฒนะ
- สรรพคุณจากใบ ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นและป้องกันอาการหวัด บำรุงธาตุไฟ แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน ช่วยขับลมแก้อาการปวดท้อง ช่วยขับลมในกระเพาะ ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง แก้ลมซานตาง ช่วยขับน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกาย ลดระดับไขมันเลว (LDL) เพิ่มไขมันชนิดดี (HDL) ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน
– แก้อาการปวดและปวดมวนท้อง ด้วยการนำใบมาคั้นแล้วรับประทานสด 1 ถ้วยตะไล
– แก้ลมพิษ ด้วยการนำใบประมาณ 1 กำมือ มาตำผสมกับเหล้าขาวแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นลมพิษ
– รักษากลากเกลื้อน ด้วยการนำใบสดประมาณ 20 ใบ มาขยี้ให้น้ำออกแล้วนำมาทาบริเวณที่มีอาการวันละ 2 – 3 ครั้งจนกว่าจะหายดี
– แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการนำใบมาตำผสมกับเหล้าขาวแล้วทาบริเวณที่ถูกกัด แต่ห้ามรับประทานเด็ดขาดเพราะจะมีสารยูจีนอล (Eugenol) ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและอาจถึงขั้นโคม่าได้
– ช่วยเพิ่มน้ำนมให้สตรีหลังคลอดบุตร ด้วยการนำใบสดประมาณ 1 กำมือ มาใส่แกงเลียงแล้วทานเป็นประจำในช่วงหลังคลอด - สรรพคุณจากใบสด
– รักษาหูด ด้วยการนำใบกะเพราแดงสดมาขยี้แล้วทาบริเวณที่เป็นหูดทุกเช้าเย็น จนกว่าหัวหูดจะหลุดออกมาแต่ไม่ควรโดนผิวหนังบริเวณอื่นและดวงตาเพราะส่งผลให้ผิวหนังเน่าเปื่อยได้ - สรรพคุณจากราก
– แก้โรคธาตุพิการ ด้วยการนำรากแห้งมาชงหรือต้มกับน้ำร้อนเพื่อดื่ม - สรรพคุณจากเมล็ด
– แก้อาการฝุ่นเข้าตา ด้วยการนำเมล็ดไปแช่น้ำเพื่อให้พองตัวเป็นเมือกขาวแล้วนำมาพอกบริเวณตา - สรรพคุณจากน้ำสกัดจากทั้งต้น ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ ช่วยย่อยไขมัน ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยขับน้ำดี
- สรรพคุณจากน้ำมันใบ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด
ประโยชน์ของกะเพรา
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ เป็นส่วนประกอบในเมนูผัดกะเพรา แกงเลียง แกงป่า แกงคั่ว แกงเขียวหวาน แกงส้มมะเขือขื่น ผัดกบ ผัดหมู ผัดปลาไหล พล่าปลาดุก พล่ากุ้งหรือจะนำใบกะเพรามาทอดแล้วใช้โรยหน้าอาหารได้
2. ส่วนประกอบของยาสมุนไพร ยารักษาตานขโมยสำหรับเด็กและอื่น ๆ
3. สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย นำใบและกิ่งสดมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยด้วยการต้มกลั่นจนได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.08 – 0.1 ซึ่งมีราคากิโลกรัมละ 10,000 บาท
4. ใช้ในการไล่ยุง นำใบสดและกิ่งสดมาขยี้แล้ววางใกล้ตัว ทั้งนี้น้ำมันกะเพราที่สกัดมาจากใบจะมีคุณสมบัติช่วยไล่ยุงได้ดีกว่าต้นสดและยังช่วยล่อแมลงได้อีกด้วย
5. ช่วยดับกลิ่นปาก
กะเพรา มีรสเผ็ดร้อนและช่วยให้อาหารมีรสกลมกล่อม เป็นผักที่คนไทยรู้จักกันอย่างกว้างขวางและเป็นผักยอดนิยมที่มักจะอยู่ในเมนูอาหารประจำวัน ซึ่งเมนูยอดฮิตเลยก็คือ “ผัดกะเพรา” ซึ่งเป็นอาหารที่คู่ควรกับคนไทยมายาวนาน และที่สำคัญเป็นที่รู้กันดีว่ากะเพรานั้นเป็นยาสมุนไพรและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งนี้สรรพคุณนั้นมีมากมายกว่าที่รู้กันโดยพื้นฐาน กะเพรามีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ป้องกันอาการหวัด รักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน ถือเป็นผักที่หาได้ง่ายและมีรสชาติดีเมื่อนำมาปรุง และที่สำคัญเป็นยาสมุนไพรที่ดีต่อร่างกายจริง ๆ
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, กรมชลประทาน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN)
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/