เครือปลาสงแดง
เครือปลาสงแดง พบพืชชนิดนี้ได้ตามป่าโปร่ง ป่าพรุ ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณผสม และตามที่โล่งทั่วไป ชื่อวิทยาศาสตร์ Ichnocarpus frutescens (L.) W.T.Aiton อยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1],[2]
ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เครืออีโม้ เครืออีม้อ(ภาคกลาง), เถายอดแดง (อ่างทอง), เครือเจ็น (เชียงใหม่), เต่าไห้ (ตราด), หัวขวาน (ชลบุรี), หุนน้ำ (สระบุรี), ปอต่อไห้ (จันทบุรี), เถาโก (ประจวบคีรีขันธ์), ชัยสง (เลย),เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของเครือปลาสงแดง
- ต้น เป็นไม้เถาเนื้อแข็งเลื้อยชนิดหนึ่ง แตกกิ่งก้านสาขาออกมามาก มีความยาว 2-8 เมตร มีเถาสีน้ำตาลแดง มีขนสั้นๆขึ้นอยู่ตามบริเวณเถาหรือกิ่งอ่อน ซึ่งขนก็มีสีน้ำตาลแดงเช่นกัน มัก[1],[2]
- ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือขอบขนาดแกมใบหอก โคนใบมนเป็นรูปลิ่ม ปลายใบแหลม และขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างอยู่ที่ 3-5 เซนติเมตรและยาว 7-11 เซนติเมตร ลักษณะของแผ่นใบจะมีความหนาและเรียบ มีสีเขียวเข้ม ตามเส้นใบจะมีขนขึ้นส่วนหลังใบจะเกลี้ยง มีเส้นใบหลักอยู่ 5-7 คู่ และก้านใบจะมีความยาวอยู่ที่ 1-2 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอก เป็นดอกช่อ ออกแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่งโดยจะมีดอกย่อยอยู่ราวๆ 11-80 ดอก ดอกมีสีขาวหรือสีเหลืองนวลๆ และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ความยาวของก้านดอกประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ซึ่งก้านดอกจะมีขนสั้นหนานุ่มอยู่ กลีบดอกเรียงบิดเวียนขวา และปลายกลีบบิด ส่วนโคนของกลีบจะเชื่อมติดกันเป็นหลอดลักษณะเป็นรูปถ้วยโดยมีความกว้างอยู่ราวๆ 1-2 มิลลิเมตร และยาว 2-3 มิลลิเมตร ส่วนปลายแยกเป็นกลีบดอกจะแบ่งออกเป็น 5 กลีบ ลักษณะเป็นแฉกมนคล้ายรูปไข่ มีความกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร มีใบประดับดอกอยู่ 2 อัน ลักษณะเป็นรูปไข่ ขอบเรียบ กว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตรและยาว 1-2 มิลลิเมตร โดยใบประดับจะคอยรองรับช่อดอกย่อยอยู่ มีเกสรเพศผู้สีเหลืองผิวเกลี้ยงและมีเกสรเพศเมียที่ติดอยู่เหนือวงกลีบ ดอกออกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม[1],[2]
- ผล ออกเป็นฝักคู่ ผลมีลักษณะคล้ายรูปทรงกระบอก มีความกว้าง 2-5 มิลลิเมตรและยาว 3-11 เซนติเมตร ปลายฝักแหลมฝักจะแตกออกเมื่อแห้ง โดยจะแตกเป็นตะเข็บเดียวซึ่งจะมีเมล็ดสีน้ำตาลซ่อนอยู่ในฝัก ส่วนปลายของเมล็ดจะมีขนขึ้นกระจุกอยู่อย่างเห็นได้ชัด[1],[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
- ในลำต้น พบสาร epi-friedelinol, amyrin, friedelin, beta-sitosterol, lupeol[2]
- พบสาร quercetin-3-O-beta-D-glucopyranoside, quercetin ในดอก[2]
- ในรากพบสาร beta-sitosterol [2]
- ใบ มีสาร proanthocyanidin, kaemferol-3-galactoside (trifolin), สารฟลาโวน apigenin, isovitexin, kaemferol, synapic acid, protocatechuic acid, phenolic acids, ursolic acid acetate, vanillic, syringic และสารอื่น ๆ[2]
สรรพคุณ และประโยชน์เครือปลาสงแดง
1. ทั้งต้นสามารถนำมาใช้เป็นยาแก้อาการลมชักได้[2]
2. ทุกส่วนของลำต้นสามารถนำมาใช้เป็นยาแก้หัดได้(ทั้งต้น)[2]
3. นำมาใช้เป็นยาในการรักษาโรคผิวหนังได้(ราก)[2]
4. สามารถนำทั้งต้นมาทำเป็นยารักษาอาการม้ามโตได้(ทั้งต้น)[2]
5. รากมีสรรพคุณช่วยในการขับปัสสาวะ รักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โดยรากจะเป็นยาเย็น(ราก)
6. ใช้เป็นยาแก้บิด(ทั้งต้น)[2]
7. สามารถนำมาใช้เป็นยาบรรเทาอาการไอได้(ทั้งต้น)[2]
8. นำมาทำเป็นยาแก้อาการลิ้นอักเสบ และเลือดออกที่บริเวณเหงือกได้(ทั้งต้น)[2]
9. ช่วยรักษาอาการตาบอดกลางคืน(ทั้งต้น)[2]
10. ใช้รักษาโรคเพ้อคลั่ง(ทั้งต้น)[2]
11. มีการนำมาใช้เป็นยารักษาเบาหวานในบังกลาเทศ(ราก)[2]
12. มีการนำมาใช้แก้อาการปวดเมื่อย โดยอิงจากตำรับยาพื้นบ้านอีสาน(ราก)[1],[2]
13. ช่วยในการรักษาอาการปวดจากแมลงกัดได้(ทั้งต้น)[2]
14. ทำยาแก้หิดได้ โดยใช้ใบและลำต้นมาต้ม(ใบและลำต้น)[2]
15. สามารถนำใบมาใช้เป็นยารักษาบาดแผลได้(ใบ)[2]
16. สามารถนำมาทำยาแก้ปัสสาวะเป็นเลือดได้(ทั้งต้น)[2]
17. ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยแก้เนื้องอกที่เกิดในช่องท้องได้(ทั้งต้น)[2]
18. ส่วนราก สามารถนำมาทำยาแก้อาการอาหารไม่ย่อยได้(ราก)[2]
19. มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (ราก, ใบและลำต้น)[2]
20. ใบสามารถนำมาใช้ป้องกันฟันผุได้(ใบ)[2]
21. มีการนำมาใช้ทำเป็นยาเพื่อแก้อาการปวดศีรษะ(ใบ)[2]
22. ในอินเดียมีการนำมาใช้เป็นยารักษาวัณโรค (ทั้งต้น)[2]
23. สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปได้
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “เครือ ปลา สง แดง”. หน้า 103.
2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เครือปลาสงแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [14 ม.ค. 2015].
อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.flickr.com/photos/xylopia/4383871289
2. https://www.biolib.cz/cz/image/id237079/
3. https://medthai.com/